นายอภิชาติ จูตระกูล ประธานอำนวยการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เผยถึงแนวคิดการจัดการของเสีย Sansiri Waste to Worth ว่า “ขยะเป็นปัญหาใหญ่อันดับต้น ๆ ของประเทศไทยและของโลกที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมและสิ่งแวดล้อม การที่ขยะปะปนกันจนไม่สามารถแยกได้อย่างมีประสิทธิภาพที่ปลายทาง ทำให้ไม่สามารถจัดการขยะมูลฝอยได้ตามที่ควรจะเป็น จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษระบุว่า มีขยะกว่า 80% ถูกนำไปกำจัดแบบไม่ถูกวิธี”
“ด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างจุดเปลี่ยนด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย แสนสิริวางเป้ารุกภารกิจด้าน Waste Management ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของวิสัยทัศน์ Sansiri Sustainability 2020 ผลักดันการจัดการขยะอย่างยั่งยืนให้ครอบคลุมทั้งในโครงการที่อยู่อาศัย องค์กร และไซต์ก่อสร้าง โดยล่าสุดเราได้ร่วมมือกับโคคา-โคล่า ในโครงการ “โค้กขอคืน x Sansiri Waste to Worth” ซึ่งเป็นการส่งเสริมการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางกับลูกบ้าน ตลอดจนพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อลดปริมาณวัสดุรีไซเคิล ไปสู่ Landfill หรือบ่อขยะ ให้น้อยที่สุด”
“โค้กขอคืน x Sansiri Waste to Worth” ภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทยอันประกอบไปด้วย บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นเมื่อปลายปี 2562 และเป็นการต่อยอดโครงการ “โค้กขอคืน” ซึ่งเป็นความร่วมมือที่ต่อยอดมาจากผลการทดลองทางเศรษฐศาสตร์เพื่อสร้างพฤติกรรมการแยกขยะ ด้วยแนวคิดการสะกิด อันเป็นความร่วมมือระหว่างโคคา-โคล่า แสนสิริ และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพบ 2 เงื่อนไขสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้คนไทยแยกขยะได้สำเร็จคือ การขจัด “ความยุ่ง” และ “ความยาก” โดยได้นำผลการศึกษาดังกล่าวมาปรับใช้ในการออกแบบถังขยะที่เอื้อต่อการแยก และการสื่อสารกับลูกบ้านในโครงการ T77 Community ให้เห็นถึงความสำคัญ และวิธีการที่เหมาะสมในการแยกขยะ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และกระตุ้นให้เกิดการลงมือปฏิบัติจริงในระยะยาว
นายพรวุฒิ สารสิน ประธานกรรมการ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด กล่าวว่า “หนึ่งในเป้าหมายหลักของโคคา-โคล่า ภายใต้วิสัยทัศน์ระดับโลก World Without Waste คือการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์เพื่อนำกลับมารีไซเคิลในปริมาณเทียบเท่ากับปริมาณบรรจุภัณฑ์ที่จำหน่ายออกสู่ตลาดให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ก่อน พ.ศ.2573 และเพื่อจะบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายดังกล่าว กลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า จึงต้องอาศัยความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีเป้าหมายสอดคล้องกัน และแสนสิริก็ถือเป็นพันธมิตรที่เห็นความสำคัญของการร่วมกันผลักดันให้เกิดการแยกขยะที่ต้นทาง ตั้งแต่ภายในที่อยู่อาศัย อันเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดปริมาณขยะ และนำวัสดุที่รีไซเคิลได้กลับมารีไซเคิลให้ได้มากที่สุด และเพื่อเป็นการลด “ความยุ่ง” และ “ความยาก” อันเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การแยกขยะที่ต้นทางไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร โคคา-โคล่า จึงได้เชิญสตาร์ตอัพแพลตฟอร์มการจัดเก็บขยะสมัยใหม่อย่าง GEPP เข้ามาช่วยดูแล เพื่อให้โครงการนี้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและประสบผลสำเร็จ”
“ตั้งแต่ต้นปี 2563 เราเก็บรวบรวมและนำส่งบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม และวัสดุรีไซเคิลอื่น ๆ ใน 6 โครงการที่อยู่อาศัยของ T77 Community ได้แก่ BLOCS 77, THE BASE Sukhumvit 77, THE BASE PARK EAST Sukhumvit 77, THE BASE PARK WEST Sukhumvit 77, mori HAUS และ hasu HAUS รวมลูกบ้าน 4,027 ครัวเรือน เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โดยมี GEPP เข้ามาเสริมการทำงานของแสนสิริ เพื่อให้ความรู้กับพนักงานและเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการและแยกขยะ ตลอดจนประสานงานและจัดตารางการจัดเก็บขยะ พร้อมเก็บรวบรวมข้อมูลการคัดแยกขยะในแต่ละพื้นที่โครงการ เพื่อพัฒนาการจัดเก็บให้เป็นระบบมากขึ้น” นายอภิชาติ กล่าวเสริม
จากผลสำรวจของ GEPP พบว่า ลูกบ้านในโครงการ T77 Community มากกว่า 50% มีความเข้าใจดีเกี่ยวกับการแยกขยะอย่างเหมาะสม ขณะที่การแยกวัสดุรีไซเคิลออกจากขยะประเภทอื่น ๆ นั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อเทียบจากก่อนเริ่มโครงการฯ โดยในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายนนั้น แสนสิริสามารถนำส่งวัสดุรีไซเคิลเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลไปแล้วถึง 23,852.60 กิโลกรัม และสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ 17,917 kgCO2e[1]
“ทั้งนี้ แสนสิริเดินหน้าต่อยอดความสำเร็จนี้ไปยังโครงการที่อยู่อาศัยอื่น ๆ รวม 100 โครงการ และตั้งเป้านำวัสดุรีไซเคิล 100,000 กิโลกรัม เข้าสู่กระบวนการจัดการรีไซเคิล อย่างเหมาะสมภายในปี 2563 ยิ่งไปกว่านั้น เราไม่เพียงแค่ให้ความสำคัญกับ Waste Journey ในที่อยู่อาศัย แต่ยังครอบคลุมไปถึงใน Siri Campus ออฟฟิศของแสนสิริและไซต์ก่อสร้าง เพราะการจัดการขยะและรีไซเคิลอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน เพื่อลดปริมาณขยะไปสู่ Landfill ให้น้อยที่สุดเป็นความตั้งใจสูงสุดด้าน Waste Management ของแสนสิริในปีนี้” นายอภิชาติ กล่าวสรุป
[1] ข้อมูลโดย GEPP อ้างอิงการคำนวณค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการรีไซเคิลขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)