แม้จะมีทั้งการรณรงค์ และออกมาตรการลดการใช้พลาสติก แต่ทุกวันนี้ “ขยะพลาสติก” ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ และมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ปริมาณ “ขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว” (Single-use Plastic) เพิ่มจำนวนมากขึ้น และระบบการจัดการขยะทั่วโลกแทบจะหยุดชะงัก
นักวิทยาศาสตร์ ที่ติดตามปัญหามลพิษจากขยะพลาสติก ได้คาดการณ์ว่าใน 2 ทศวรรษข้างหน้าจากนี้ หรือภายในปี 2040 จะมีขยะพลาสติกมากกว่า 1.3 ล้านตัน ไหลลงสู่มหาสมุทร หรือพื้นที่ฝังกลบขยะทั่วโลก
เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก มีความซับซ้อน และไม่ใช่เรื่องง่าย! หากแต่หัวใจสำคัญต้องมาจากการร่วมมือร่วมใจกัน ทั้งในฝั่งผู้ผลิต และผู้บริโภค ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ฝั่งผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่าง เป็นภาคส่วนที่มีการใช้พลาสติกมากที่สุด อย่างใน “อุตสาหกรรมความงาม” บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ส่วนใหญ่ทำมาจากพลาสติก จึงเป็นหนึ่งในผู้ที่มีส่วนสร้างขยะพลาสติก
“The Body Shop” แบรนด์ความงามสัญชาติอังกฤษ ปัจจุบันอยู่ในเครือ Natura & Co กลุ่มบริษัทเครื่องสำอาง Multi-brand ที่ได้ซื้อธุรกิจ The Body Shop เมื่อปี 2017 ได้กำหนด Brand Purpose อย่างชัดเจนในการส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ ทำมาจาก “พลาสติกรีไซเคิล” ทั้งกับแบรนด์ The Body Shop และกระตุ้นให้แบรนด์ต่างๆ ในอุตสาหกรรมความงาม หันมาใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลด้วยเช่นกัน
เป้าหมายประสงค์ดังกล่าวของ “The Body Shop” ดำเนินการภายใต้โครงการ Community Fair Trade ซึ่งริเริ่มขึ้นในปี 1987 และปัจจุบันได้รับงบประมาณสนับสนุน คิดเป็น 25% ของงบการลงทุนโดยรวมของ The Body Shop
สำหรับการจัดหาขยะพลาสติก เพื่อนำมารีไซเคิลทำเป็นบรรจุภัณฑ์นั้น The Body Shop ได้จับมือกับ “Plastics For Change” องค์กรเพื่อสังคมที่ต้องการใช้ขยะพลาสติก เป็นทรัพยากรลดปัญหาความยากจน และแก้ปัญหามลพิษจากขยะพลาสติก ด้วยการช่วยให้คนเก็บขยะ ได้รับค่าตอบแทนจากการขายขยะพลาสติกอย่างยุติธรรม โดยเริ่มต้นที่เมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย
ขณะเดียวกันขยะพลาสติกที่ถูกรวบรวมไว้ จะถูกส่งไปให้กับผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ที่ต้องการนำพลาสติกใช้แล้ว ไปรีไซเคิลผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อีกครั้ง
Mark Davis ผู้ดำเนินโครงการ Community Fair Trade กล่าวว่า บริษัทต้องการบรรจุภัณฑ์ขวดที่ดีที่สุด ในเวลาและสถานที่ที่เหมาะสม ก็เหมือนกับที่เราคัดสรรวัตถุดิบ เช่น Shea, Brazil Nut, Mango เพื่อนำมาทำเป็นส่วนผสมของสินค้า เพราะฉะนั้นเมื่อคนเก็บขยะในเมืองบังกาลอร์ สามารถซัพพลายวัตถุดิบขยะพลาสติก เพื่อทำให้ผู้ผลิต หรือแบรนด์ต่างๆ นำไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์รีไซเคิลคุณภาพดี ผู้ผลิตควรให้ราคาขยะพลาสติกที่เป็นธรรม เพื่อให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ทั้งนี้การจัดหาวัตถุดิบ เพื่อผลิตเป็นสินค้า โดยปกติซัพพลายเออร์จัดส่งวัตถุดิบให้กับลูกค้าที่เป็นผู้ผลิต/แบรนด์หลายราย เพื่อไม่พึ่งพาผู้ซื้อเพียงรายเดียว เนื่องจากความต้องการวัตถุดิบที่นำไปใช้ในกระบวนการผลิตของแบรนด์ จะมีการเปลี่ยนแปลงตามความต้องการของตลาด
“ในธุรกิจเครื่องสำอาง เป็นธุรกิจแฟชั่น ที่ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนแปลงได้ตลอด เช่น ปีนี้ ผลิตภัณฑ์ Mango Body Butter ขายดี แต่ปีหน้าความต้องการของผู้บริโภคอาจเปลี่ยนไปนิยมใช้ตัวอื่น อย่างไรก็ตามลูกค้าของเรา ยังคงชื่นชอบส่วนผสมหลักๆ ของเรา แต่ทั้งนีความต้องการของลูกค้าก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ”
ในขณะที่ความต้องการ “วัตถุดิบพลาสติก” มีความผันผวนน้อยกว่าวัตถุดิบที่นำมาทำส่วนผสมสินค้า สำหรับ The Body Shop รับประกันว่าจะดำเนินการซื้อขยะพลาสติกผ่าน Plastics For Change ในจำนวนกว่า 500 ตันในปี 2020 และจะซื้อเพิ่มขึ้นเป็น 600 ตันในปี 2021
นอกจาก The Body Shop กำหนดให้การลดปัญหาขยะพลาสติก ด้วยการใช้พลาสติกรีไซเคิลผ่านองค์กร Plastics For Change ที่เน้นการรับซื้อในราคาเป็นธรรมแก่คนเก็บขยะ เป็นส่วนหนึ่งของ Brand Purpose แล้ว แบรนด์ความงามจากอังกฤษ ยังต้องการกระตุ้นให้คู่แข่งจัดหาพลาสติกด้วยวิธีนี้ เนื่องจากจะทำให้ซัพพลายเออร์ คือ คนเก็บขยะสามารถมีลูกค้าที่เป็นผู้ผลิต/แบรนด์มากขึ้น
ขณะเดียวกันการมีองค์กรเพื่อสังคม และแบรนด์ผู้ผลิตรายใหญ่ เข้ามาสนับสนุนคนเก็บขยะ ถือเป็นการช่วยยกระดับอาชีพเก็บขยะ ไม่ได้ทำเพียงเพื่อให้มีรายได้ในการดำรงชีวิตไปวันๆ เท่านั้น หากแต่สามารถพัฒนาอาชีพของตัวเองให้เป็น “ธุรกิจการเก็บขยะ”
“คนเก็บขยะ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการสนับสนุนมากมาย ทั้งการฝึกอบรมด้านธุรกิจ การขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการกระแสเงินสด และพวกเขาต้องได้รับการรับรองในด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม ภายใต้สภาพการทำงานที่เหมาะสม” Mark Davis กล่าว