HomeBrand Move !!“อมรินทร์กรุ๊ป” เร่งสปีดทุกธุรกิจ “ทีวี-สิ่งพิมพ์-งานแฟร์-ออนไลน์” เป้าหมายปีนี้ตัวเลขบวก

“อมรินทร์กรุ๊ป” เร่งสปีดทุกธุรกิจ “ทีวี-สิ่งพิมพ์-งานแฟร์-ออนไลน์” เป้าหมายปีนี้ตัวเลขบวก

แชร์ :

นับจากจุดเริ่มต้นนิตยสาร “บ้านและสวน” ฉบับแรกออกวางจำหน่ายในเดือนกันยายน 2519  กว่า 44 ปี ในอุตสาหกรรมสื่อ “อมรินทร์กรุ๊ป” ผ่านมาแล้วหลายวิกฤติ และโควิด-19 ก็เป็นอีกความท้าทายที่ต้องผ่านไปให้ได้ หลังจากประเทศไทยผ่านช่วงยากลำบากจากมาตรการล็อกดาวน์มาแล้ว ครึ่งปีหลังจึงเป็นช่วงเวลาที่ทุกธุรกิจต้องเร่งสปีดหาโอกาสสร้างรายได้ กับเป้าหมายปีนี้ตัวเลขบวก

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หลังจากต้องฝ่าฟันกับกระแสเทคโนโลยี ดิสรัปชั่น ในอุตสาหกรรมสื่อ “สิ่งพิมพ์” และการแข่งขันใน “ทีวีดิจิทัล” ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระทั่ง อมรินทร์กรุ๊ป พลิกธุรกิจกลับมาทำ “กำไร” ได้อีกครั้งตั้งแต่ปี 2561 เส้นทางกำลังไปได้สวย จากกลยุทธ์ Omni Media – Omni Channel เชื่อมแพลตฟอร์ม 5 ธุรกิจ  On Print  Online On Air  On Ground  และ On Shop  มาปีนี้เป็นอันต้องมาสะดุดกับวิกฤติโควิด-19  จนทำให้ผลประกอบการครึ่งปีแรกติดลบ

Brand Buffet พามาอัพเดทเรื่องราวของ อมรินทร์กรุ๊ป กับ คุณระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่บอกว่าหากเปรียบเทียบโควิดกับวิกฤติที่ “อมรินทร์” เคยเจอมาก่อนหน้านี้ ก็ต้องถือว่าโควิด “หนักสุด” เพราะช่วงต้มยำกุ้ง ปี 2540 หรือน้ำท่วมใหญ่ปี 2554  ก็ไม่เคยต้องถูกล็อกดาวน์ปิดหน้าร้าน ต้องหยุดกิจกรรมการขายไปเกือบ 2 เดือน เมื่อร้านหนังสือปิด จึงกระทบทั้งการจำหน่ายและการเป็นผู้พิมพ์ให้กับสำนักพิมพ์อื่น ๆ ก็ต้องชะงักไปด้วย แน่นอนว่ากระทบรายได้สิ่งพิมพ์ทั้งกลุ่ม รวมถึงกลุ่มธุรกิจการจัด Event ที่ต้องหยุดด้วย

สถานการณ์ที่เรียกว่าลำบากสุดในช่วงล็อกดาวน์เดือนมีนาคม-พฤษภาคมผ่านไปแล้ว นับจากนั้นคือจังหวะที่ทุกธุรกิจต้อง “ลุกเร็ว” เพื่อเร่งฟื้นตัวในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ให้ได้

“ปีนี้เรียกว่าทั้งกลุ่มอมรินทร์ ปรับกลยุทธ์อยู่ตลอดเวลาตามสถานการณ์  เพราะตลาดมีความอ่อนไหวสูง ธุรกิจจึงต้องปรับตัวให้เร็ว”

คุณระริน ไล่เรียงให้ฟังที่ละธุรกิจของอมรินทร์กรุ๊ป ตั้งแต่เจอกับโควิดและสิ่งที่ต้องทำในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ กับเป้าหมายอมรินทร์กรุ๊ปยังสามารถกลับมาทำกำไรได้เหมือนปีก่อน

“สิ่งพิมพ์-สำนักพิมพ์” กลับมาแล้ว

เริ่มกันที่ธุรกิจสิ่งพิมพ์-สำนักพิมพ์ (On Print) การแก้ปัญหากลุ่มหนังสือเล่ม ที่หน้าร้านถูกปิด ก็ต้องย้ายไปที่แพลตฟอร์มออนไลน์  แม้ทำยอดขายเติบโตถึง 3 เท่า แต่ก็ไม่สามารถชดเชยรายได้ที่หายไปจากหน้าร้านทั้งหมดได้ หลังล็อกดาวน์ยอดขายหน้าร้านถึงขณะนี้กลับมาได้แล้ว 80% ถือว่ากลับมาได้เร็ว

ส่วนของสำนักพิมพ์เครืออมรินทร์ เริ่มเห็นสัญญาณที่ดี เพราะตัวเลขเป็น “บวก” ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม กลุ่มผู้อ่านฟื้นตัวกลับมาเร็วมากหลังปลดล็อกดาวน์ เพราะเป็นนักอ่านประจำ จึงติดตามหนังสือปกใหม่ของสำนักพิมพ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ

แต่ส่วนที่เป็นผู้พิมพ์ผู้จัดจำหน่ายให้กับสำนักพิมพ์อื่น ๆ ยังคงติดลบอยู่ เพราะสำนักพิมพ์หลายแห่งยังระมัดระวังการออกหนังสือใหม่ในช่วงนี้ ด้วยกังวลเรื่องกำลังซื้อและต้นทุนสต็อก ในจุดนี้จึงต้องทำงานกับสำนักพิมพ์ต่างๆ เพื่อร่วมมือกันออกหนังสือปกใหม่มากขึ้น ทั้งการดูแลสต็อก การจัดกิจกรรมทั้งออนกราวด์และออนไลน์ต่อเนื่องถึงสิ้นปี ให้กับสำนักพิมพ์ที่เป็นลูกค้า ทั้งงานมหกรรมหนังสือ Book Expo ของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ (PUBAT) งานแฟร์หนังสือนิยาย และสนามอ่านเล่นของอมรินทร์

ปัจจุบันช่องทางจัดจำหน่าย “ร้านนายอินทร์” มี 140 สาขา ปกติจะขยายปีละ 10 สาขา ดูตามความเหมาะสมของแต่ละทำเล แต่ปีนี้ชะลอการลงทุนเพราะติดโควิด แต่จะเน้นการขายผ่านออนไลน์และงานแฟร์ ปีนี้จัดแฟร์หนังสือสัญจรกว่า 100 งานทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

สำหรับงานด้านผู้พิมพ์ผู้จัดจำหน่ายให้กับสำนักพิมพ์อื่น ๆ ให้บริการเป็น one stop service ตั้งแต่การเขียน จัดรูปเล่ม ไปจนถึงพิมพ์ จัดจำหน่าย โดยขยายไปสู่ platform digital คือทำวีดิโอ e-book และ website ให้ด้วย

ส่วนของสำนักพิมพ์เครืออมรินทร์เองปีนี้ก็ออกหนังสือปกใหม่รวม 400 ปก เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 50% ที่ตั้งเป้าผลิตมากขึ้น เพราะเห็นว่าสำนักพิมพ์ขนาดเล็กหายไป แต่ยังมีนักอ่านประจำที่อ่านมากขึ้น หากหนังสือตรงกับความต้องการก็พร้อมซื้อ จึงเห็นโอกาสในส่วนนี้

ที่ผ่านมาจึงขยายฐานในหลายเซ็กเมนต์ เพื่อสร้างนักอ่านรุ่นใหม่ เริ่มจากเปิด สำนักพิมพ์ ROSE  เจาะกลุ่มนิยาย Y  รวมทั้งสำนักพิมพ์ใหม่ในกลุ่มซีรีส์เอเชีย จีน เกาหลี ไต้หวัน ส่วนสำนักพิมพ์เดิมก็จะออกหนังสือเซ็กเมนต์ใหม่ๆ อย่าง แพรวสำนักพิมพ์ จะขยายฐานกลุ่มผู้ชายมากขึ้น

เปิดตัว Peony เจาะตลาดอีบุ๊ก

ปกติสำนักพิมพ์ต่างๆ ในเครืออมรินทร์ เริ่มจากออกหนังสือเล่มก่อน หากได้รับความสนใจ จึงทำเป็นรูปแบบ e-book แต่ไตรมาส 4 ปีนี้จะเปิดสำนักพิมพ์ Peony เป็นรูปแบบ e-book ซึ่งจะเป็น Digital Frist สำนักพิมพ์แรกของอมรินทร์ เพื่อจับกลุ่มคนรุ่นใหม่  หลังจากทำเป็นอีบุ๊กแล้ว หากมีความต้องการหนังสือเล่มก็จะพิมพ์ตามมา โดยจะเลือกจากนักเขียนต่างประเทศมาแปล และนักเขียนในประเทศ พร้อมเปิดพื้นที่ให้นักเขียนรุ่นใหม่

“เราเห็นโอกาสจากตลาดนักอ่านรุ่นใหม่ ที่เน้นอ่านงานเขียนหลากหลาย บนแพลตฟอร์มที่สะดวก ในยุคนี้คนเข้าถึงการอ่านมากขึ้นจากแพลตฟอร์มดิจิทัล คนรุ่นใหม่ใช้เวลาบนมือถือมากกว่าการเสพคอนเทนท์รูปแบบอื่น ถ้าเราไม่มีคอนเทนท์ไปอยู่บนดิจิทัลแพลตฟอร์มก็เสียโอกาสเข้าถึงคนกลุ่มนี้”

ปัจจุบันตัวเลขคนอ่านหนังสือเล่มก็ไม่ได้ลดลง เห็นได้จากสำนักพิมพ์รายใหญ่ยังเติบโตได้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา และออกหนังสือใหม่ต่อเนื่อง ตัวอย่างในเครืออมรินทร์ สำนักพิมพ์ Spring Book เจาะกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ กลุ่ม How to สำหรับวัยทำงาน นิยาย ขยายตัวทุกปี กลุ่มหนังสือเด็กเติบโตสูงในช่วงโควิด เพราะพ่อแม่สั่งซื้อออนไลน์ แต่ที่เห็นภาพรวมตลาดหนังสือลดลง มาจากสำนักพิมพ์ขนาดเล็กพิมพ์น้อยลง

“บ้านและสวน” ทำ New High 

หากดูที่กลุ่มนิตยสาร ก็มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีอยู่ 7 ฉบับ คือ บ้านและสวน, ROOM, แพรว, Wedding, ชีวจิต, National Geographic และ สุดสัปดาห์ (ฉบับสะสม Collectible Issue ปีละ 4 เล่ม) แต่ก็ยังต้องปรับตัวตามสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้มีจุดขายดึงนักอ่าน ซึ่งนิตยสารทุกฉบับทำแพลตฟอร์มออนไลน์ควบคู่ไปด้วย เพราะช่วยส่งเสริมนิตยสารเล่มให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

ในกลุ่มนิตยสารยังมีเซ็กเมนต์ที่เติบโตได้ จากเทรนด์ที่มาแรงในช่วงที่คนอยู่บ้าน และกระแสของ ญาญ่า อุรัสยา รวมทั้งบล็อกเกอร์และอินฟลูเอนเซอร์ ถ่ายรูปคู่กับต้นไม้ ได้สร้างเทรนด์ให้คนหันมาสนใจปลูกต้นไม้มากขึ้น ทำให้หนังสือของสำนักพิมพ์บ้านและสวน เติบโตถึง 40% ทำ New High ในปีนี้ เพราะเมื่อซื้อต้นไม้แล้วก็ต้องซื้อหนังสือเพื่อไปศึกษาวิธีการดูแลต้นไม้

“อมรินทร์ทีวี” ยืนเรตติ้งท็อป 5  

มาถึงธุรกิจ “ทีวีดิจิทัล” ปีนี้ถือว่าเติบโตฝ่าวิกฤติโควิดมาได้เช่นกัน หลังจากลงทุน อมรินทร์ทีวี มา 6 ปี  ปี 2562 เป็นปีแรกที่ทำ “กำไร” ส่วนหนึ่งจากปัจจัย กสทช. ยกเลิกเก็บค่าใบอนุญาตงวดที่เหลืออยู่ และ อมรินทร์ ทีวี มีเรตติ้งขยับขึ้นมาต่อเนื่อง ทำให้ขายเวลาโฆษณาได้มากขึ้น คอนเทนท์ละครและรายการมวย สร้างเม็ดเงินโฆษณาได้ดี

ช่วงครึ่งปีแรก 2563 ตัวเลขก็ยังเป็นบวกอยู่ เพราะช่วงโควิด สามารถบริหารจัดการต้นทุนคอนเทนท์ได้ดี และยังได้อานิสงส์ช่วงที่คนอยู่บ้านดูทีวีมากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงรายการข่าว วาไรตี้ ละครใหม่ ทำให้เรตติ้งช่องขยับขึ้นมาอยู่ในกลุ่มท็อป 5  บางเดือนอยู่อันดับ 4

“ไตรมาส 2 เรียกว่าเหนื่อยกันทุกธุรกิจจากการล็อกดาวน์ แต่เราเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวในไตรมาส 3จึ งใส่ละครใหม่เข้ามาในเดือนสิงหาคม เพื่อสร้างโมเมนตัมต่อเนื่องให้เรตติ้งช่องอยู่ในกลุ่มท็อป 5”

ความแตกต่างของอมรินทร์ทีวี คือ มีรายการหลากหลาย ทั้งข่าว วาไรตี้ ละคร กีฬา ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนคอนเทนท์ได้ตามสถานการณ์ ปัจจุบันยังคงผังละครไว้ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 22.00 น. ทำให้ควบคุมเม็ดเงินลงทุนได้ หรือการนำรายการ Club Friday The Series ที่ได้รับความนิยมของ Change 2561 มาออกอากาศ ก็ทำเรตติ้งได้ดีใกล้เคียงละคร เพราะคนดูอมรินทร์ทีวี อาจไม่เคยดูรายการนี้มาก่อน ก็เหมือนได้ละครอีกเรื่องมาเติมในผัง เดิม Club Friday The Series ออกอากาศครั้งแรกทางอมรินทร์ทีวี ทุกคืนวันเสาร์ -อาทิตย์ เวลา 22.00-23.00 น. ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 และได้รับเสียงตอบรับที่ดี จึงย้ายวันมาเป็นทุกคืนวันศุกร์ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม เวลา 22.30 – 23.30 น. เพื่อขยายช่วงเวลาของละคร เป็นทุกคืนวันศุกร์ – อาทิตย์ ในช่วงเวลาของ “สุดสัปดาห์ช่อง 34 ละครดีสี่ทุ่ม” (หลังจบรายการทุบโต๊ะข่าว)

สำหรับ “ข่าว” เป็นรายการที่มีเวลาออกอากาศมากที่สุด เป็นรายการ 7 วัน จึงทำรายได้มาเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับคอนเทนท์ประเภทอื่นๆ ปัจจุบันข่าวเช้า ทำเรตติ้งแตะ 1 อยู่ท็อป 3  ในช่วงเวลาเดียวกับ ช่อง 3 และ ช่อง 7 เรียกว่าเรตติ้งเติบโตเร็ว จึงเป็นอีกช่วงเวลาที่สามารถขายโฆษณาได้เพิ่มขึ้น ส่วน “ทุบโต๊ะข่าว” เรตติ้งดีมาต่อเนื่อง ช่วงต้นปีเพิ่มเวลาก่อนโควิด ประเทศไทยมีสถานการณ์ข่าวมาตลอด คนจึงสนใจดูข่าวมากขึ้น

ช่วงเริ่มต้นทีวีดิจิทัล อมรินทร์ โตมาด้วยข่าวและไลฟ์สไตล์ ต่อมาเติมเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ มากขึ้น ลงทุนละคร วันนี้จึงมีทั้ง ข่าว ไลฟ์สไตล์ และบันเทิง ภาพจำคนจึงดูว่าอมรินทร์ทีวีมีหลายคอนเทนท์ “ข่าว” เป็นจุดได้เปรียบเพราะมีฐานผู้ชมรอดูทุกวัน เมื่อเติมวาไรตี้ ไลฟ์สไตล์ เข้ามาก็มีความแตกต่าง และมีฐานคอนเทนท์เดิมของอมรินทร์อยู่ก่อนแล้ว ทำให้เกิดเป็น Omni Media และ Omni Channel เมื่อมีเม็ดเงินมากขึ้น จึงมีการลงทุนกลุ่มเอ็นเตอร์เทนเมนต์มากขึ้น เพราะคนดูทีวี ก็ต้องการดูคอนเทนท์เพื่อความบันเทิง

“ถ้าไม่มีโควิด ครึ่งปีแรก อมรินทร์ทีวี จะทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และดีกว่าปี 2562 จากเรตติ้งขยับขึ้นมาต่อเนื่อง  แต่ยังมองว่าปีนี้ทีวี จะเป็นธุรกิจที่ยังเติบโตฝ่าวิกฤติมาได้ เพราะไม่ต้องหยุดกิจกรรมช่วงล็อกดาวน์ เหมือนธุรกิจอื่นๆ และมีผู้ชมมากขึ้น”

แต่สิ่งที่จะได้รับผลกระทบมาจากลูกค้าชะลอใช้งบโฆษณาในช่วงโควิด และใช้อย่างระมัดระวังมากขึ้น ในครึ่งปีหลัง จึงต้องปรับแผนการขาย ทำแพ็คเกจที่เหมาะกับสถานการณ์ โดยมั่นใจว่าทั้งปีทีวียังเป็นบวกได้

บุกหนัก “ออนไลน์-อีคอมเมิร์ซ”  

ปัจจุบันสื่อสิ่งพิมพ์ในเครืออมรินทร์ มีแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย รวมกันกว่า 22 ล้านคนต่อเดือน และกว่า 200 ล้านเพจวิวต่อเดือน จึงเป็นช่องทางสำคัญในการต่อยอดแคมเปญการตลาดที่ต้องการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมกลุ่มผู้หญิง, ผู้ชาย, บุคคลที่รักสุขภาพ, แม่และเด็ก และกลุ่มที่มีใจรักในการตกแต่งบ้าน

ไตรมาส 4 จะมีการ cross คอนเทนท์ระหว่าง amarintv.com กับคอนเทนท์ออนไลน์ ฝั่ง Lifestyle เช่น เมื่อคนเข้ามาดูคอนเทนท์จากเว็บไซต์  amarintv.com ก็จะแนะนำคอนเทนท์ ไม่ว่าจะเป็น บ้านและสวน ชีวจิต แม่และลูก เรื่องสุขภาพ โดยระบบจะเลือกคอนเทนท์ที่ตรงกับความสนใจ  เช่นเดียวกัน

เมื่ออ่านคอนเทนท์จากฝั่ง Lifestyle ก็จะแนะนำคอนเทนท์ amarintv.com ให้ผู้อ่านด้วย  ถือเป็นการขยายฐานแฟนทั้งเครือ

เดิมธุรกิจทีวี เริ่มต้นจากฐานแฟนของเครืออมรินทร์ ในรายการประเภทวาไรตี้ แต่หลังจากมีรายการข่าว ละคร ที่ทำเรตติ้งได้ดี ก็เข้าถึงกลุ่มแมสมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้เสพคอนเทนท์ในฝั่ง Lifestyle  จึงเป็นโอกาสที่ดีในการ Cross คอนเทนท์ออนไลน์ร่วมกันทั้งเครือ

ส่วนธุรกิจอีคอมเมิร์ซ Amvata.com ที่เปิดตัวช่วงปลายปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีสินค้าอยู่บนแพลตฟอร์ม 40,000 รายการ ตั้งแต่ต้นปีปัจจุบันมียอดผู้เข้าชมเพิ่มขึ้น 40% กลุ่มสินค้าที่ทำรายได้หลักๆ  คือ Living เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ของใช้ในบ้าน 50% กลุ่มสินค้าสุขภาพ 34%  สินค้าแม่และเด็ก 16%  โดย Amvata จะเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมการขายเข้ากับทุกสื่อในเครืออมรินทร์ และเป็นอีกช่องทางการขายของลูกค้าที่ใช้สื่ออมรินทร์กรุ๊ป

“ไฮบริดแฟร์” มาทั้งออนไลน์-ออนกราวด์

ในกลุ่ม On Ground ของอมรินทร์กรุ๊ป จะมีการจัดงานแฟร์ต่อเนื่องตลอดปี เข้าถึงผู้เข้าร่วมงานกว่า 10 ล้านคนต่อปี งานแฟร์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง อาทิ บ้านและสวนแฟร์ Amarin Baby & Kids Fair กินดีอยู่ดี สุดสัปดาห์ Shopping Market

หลังปลดล็อกดาวน์ ได้ปรับรูปแบบการจัดงานเป็น Hybrid Fair คือมีทั้งออนกราวด์ และออนไลน์บน Amvata.com ปัจจุบันมีคู่ค้าผู้เช่าบูธทั้ง 2 ช่องทาง 25% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การมีแพลตฟอร์ม Amvata ได้เสริมกลยุทธ์ Omni Media – Omni Channel ให้แข็งแกร่งขึ้น เพราะช่วยปิดการขายจาก Amvata อีกทาง

ครึ่งปีหลังของปี 2563 ตั้งเป้าจัดงาน 8 ครั้ง เริ่มที่งาน Amarin Baby & Kids Fair ในเดือนกรกฎาคม ต่อด้วย “บ้านและสวน มิดเยียร์” ในเดือนสิงหาคม ที่แม้ว่าลูกค้าออกบูธลดลง 20% เพราะช่วงล็อกดาวน์ต้องหยุดธุรกิจ ทำให้หลายรายเตรียมไลน์ผลิตสินค้าไม่ทัน แต่จากการสำรวจพบว่าคนมาเดินในงานเพิ่มขึ้น 15% ต้องถือว่าเกินคาด น่าจะเป็นการมาเดินเที่ยวหลังปลดล็อก ทำให้เห็นดีมานด์การซื้อสินค้าตกแต่งบ้าน ซ่อมบ้าน จัดบ้านใหม่ ส่งผลดีกับกลุ่มสินค้าตกแต่งบ้านที่มาออกบูธ มียอดขายเติบโตไปด้วย

งาน “บ้านและสวนแฟร์ 2020” วันที่ 30 ตุลาคม- 8 พฤศจิกายน ที่อิมแพ็ค นอกจากนี้ ยังมีงานแฟร์ “สุดสัปดาห์ Shopping Market” วันที่ 30 ตุลาคม- 8 พฤศจิกายน ที่อิมแพ็ค งาน“เทศกาลงานกิน” วันที่ 9-13 ธันวาคม ที่อิมแพ็ค และงาน “Amarin Baby & Kids ครั่งที่ 19” วันที่ 10-13 ธันวาคม ที่ไบเทค บางนา

“ปีนี้ตามแผนเรายังจัดงานแฟร์ให้ได้เท่าปีก่อน แม้จะถูกล็อกดาวน์ไป 1 ไตรมาส โดยจะจัดถี่ขึ้นในช่วงไตรมาส 4  การจัดแฟร์ทุกงานจะทำควบคู่ไปกับช่องทางอีคอมเมิร์ซ Amvata.com เพื่อเพิ่มโอกาสทางการขายให้ลูกค้าออกบูธมากขึ้นและเข้าถึงคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์

หากให้มองสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นในปีนี้ และยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ถือเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องปรับตัวและประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดไปให้ได้ และต้องคิดเสมอว่าสิ่งที่ดีในช่วงวิกฤติ คือ ทำให้เราต้องเร่งทำบางอย่าง ที่เดิมอาจไม่ได้วางแผนไว้ว่าต้องทำเร็ว อย่างแพลตฟอร์มออนไลน์ และเมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น อมรินทร์ จะมีความพร้อมกลับมาเติบโตกลับมาอย่างรวดเร็ว

เป้าหมายที่ อมรินทร์กรุ๊ป พยายามทำให้ได้ก่อนในปีนี้ คือ การรักษากระแสเงินสด โดยต้องบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายและหาโอกาสสร้างรายได้ใหม่ๆ และหวังว่าเราจะยังสามารถทำกำไรได้ต่อเนื่อง


แชร์ :

You may also like