จุดเริ่มต้น “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า” ในปี 2527 โดดเด่นด้วยอาคารสถาปัตยกรรมยุโรป พร้อมลิฟท์แก้ว นวัตกรรมใหม่ของห้างในยุคนั้น หลังจากเจ้าของเดิมขายกิจการให้ คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี แห่งทีซีซี กรุ๊ป ในปี 2530 “พันธุ์ทิพย์” ได้ปรับมาเป็น ห้างไอทีในตำนาน นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นศูนย์กลางร้านค้าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แห่งแรกและใหญ่ที่สุดในเมืองไทย แวดวงไอทียุคนั้นไม่มีใคร ไม่รู้จักพันธุ์ทิพย์ และยังเป็นต้นแบบของคอนเซ็ปต์ไอทีมอลล์ ที่แห่เปิดในทุกมุมเมือง
การพัฒนาเทคโนโลยียุคใหม่ ทำให้ผู้คนเข้าถึงช่องทางการซื้อสินค้าไอที ได้หลากหลาย หมดยุคการไปตึกคอม เพื่อหาซื้อสินค้าหรือเปรียบเทียบราคาอุปกรณ์ไอทีทีละร้าน หรือหาซื้อมือถือตามบูธ เมื่อแพลตฟอร์มออนไลน์ทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่า ปี 2559 “พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ” จึงปรับโฉมครั้งใหม่ด้วยคอนเซ็ปต์ “เทค-ไลฟ์ มอลล์” เติมความเป็นไลฟ์สไตล์ ใส่แม่เหล็กใหม่ E-Sport Arena เข้ามาเจาะคอเกมที่เป็นกระแสนิยม
ล้างภาพห้างไอที “พันธุ์ทิพย์” กับคอนเซ็ปต์ใหม่ ศูนย์ค้าส่ง
มาถึงวันนี้ 36 ปี ห้างไอทีในตำนาน คงต้องปิดฉากลงแล้ว เมื่อ คุณวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ตัดสินใจปรับโฉมใหม่ “พันธุ์ทิพย์” สู่ธุรกิจ Wholesale ด้วยคอนเซ็ปต์ ศูนย์กลางการค้าส่งนานาชาติครบวงจรของภูมิภาค “AEC Trade Center Pantip Pratunam” และเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจค้าส่งทำเลแรกใจกลางเมืองย่านประตูน้ำของ AWC
“วันนี้รีเทลต้องเป็น Destination รวมความน่าสนใจของสินค้าและเซอร์วิสต่างๆ พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ จึงปรับคอนเซ็ปต์ใหม่เป็น Destination Complex ของธุรกิจค้าส่งทำเลกลางเมืองและยังไม่มีรูปแบบนี้ในตลาด AWC จึงมองโอกาสการเป็นศูนย์กลางการค้าส่งนานาชาติ เชื่อมโยงการส่งออกและนำเข้าสินค้าของภูมิภาคผ่านโครงการ AEC Trade Center ที่ยังมีอีกทำเลขนาด 160 ไร่ในตำบลเชียงรากน้อย กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเพิ่มเติม”
เฟสแรกเปิด พ.ย.นี้ ไตรมาส 1 ปีหน้าปรับโฉมทั้งตึก 5 หมื่น ตร.ม.
การเลือกคอนเซ็ปต์ “ค้าส่ง” มาปรับโฉมพันธุ์ทิพย์ คุณอนันต์ ลาภสุขสถิต Chief Wholesales Business Officer บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป บอกว่าเป็นรูปแบบค้าปลีกที่เข้ากับย่านประตูน้ำ ที่มีศูนย์ค้าส่งสินค้าแฟชั่น แพลทินัมเปิดอยู่ก่อนแล้ว แต่พันธุ์ทิพย์ จะมีสินค้าหลายกลุ่ม
หากดูจากเทรนด์ Thaifex งานแสดงนวัตกรรมสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของไทยที่มีผู้ซื้อจากทั่วโลกเดินทางมาทำ Business Matching ในงานที่มีเวลา 4 วัน เช่นเดียวกับงาน STYLE Bangkok ด้านสินค้าไลฟ์สไตล์ ที่จัดปีละครั้ง ก็มีผู้สนใจร่วมงานจำนวนมาก ซึ่งก็พบว่าผู้ส่งออก ส่วนใหญ่ไม่มีหน้าร้านแสดงสินค้า การทำศูนย์ค้าส่งเปิดให้ผู้ผลิตเข้ามาเช่าพื้นที่เปิดร้านทำเลกลางเมืองจัดโชว์สินค้าตลอดทั้งปี 365 วัน เป็นรีเทล คอนเซ็ปต์ที่น่าจะตอบโจทย์ธุรกิจนำเข้าและส่งออก
แม้การค้าขายได้ก้าวสู่โลกออนไลน์แล้ว แต่เห็นได้ว่า อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในโลก ไม่ว่าจะเป็น อเมซอน อาลีบาบา ลาซาด้า ต่างก็มีช่องทางออฟไลน์ หน้าร้าน ไว้โชว์สินค้าด้วยเช่นกัน เพราะการซื้อสินค้าบางอย่างสั่งออนไลน์ได้ หากจำนวนไม่มาก ราคาไม่แพง แต่หากเป็นรูปแบบค้าส่ง การสั่งซื้อ Big Lot หน้าร้านยังมีความจำเป็นที่คู่ค้าต้องการเห็นและสัมผัสสินค้า เจรจาต่อรอง เพื่อความมั่นใจในการนำเข้าไปทำตลาดด้วยปริมาณจำนวนมาก
โดย AEC Trade Center พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ ใช้งบประมาณปรับโฉมราว 300 ล้านบาท เฟสแรกใช้พื้นที่ 30,000 ตารางเมตร เปิดให้บริการเดือนพฤศจิกายนนี้ เริ่ม 2 ชั้นแรก โดยยังมีผู้เช่าเดิมเหลืออยู่บางส่วน เช่น Toy Zone ที่จะเพิ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ให้เป็นคอนเซ็ปต์ค้าส่ง, พื้นที่ศูนย์อาหารเดิมยังอยู่ รวมทั้งร้านค้าไอทีเดิมที่เหลือพื้นที่ไม่มากและยังต้องการอยู่ต่อก็จะเป็นรูปแบบค้าส่ง จากนั้นไตรมาสแรกปี 2564 จะเปิดเต็มพื้นที่ทั้งอาคารกว่า 50,000 ตารางเมตร คาดทั้งโครงการจะมีผู้เช่าพื้นที่ราว 500 ร้านค้า
พื้นที่ในเฟสแรกเดือนพฤศจิกายน จะร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ และสมาคมฯ ต่างๆ คัดเลือกผู้ผลิตสินค้าส่งออก มาเปิดร้านในพันธุ์ทิพย์ โดยไม่เสียค่าเช่าพื้นที่ 6 เดือน เพื่อให้ Buyer ที่สนใจมาเลือกดูสินค้าเพื่อส่งออก รวมทั้งผู้ซื้อเชิงอุตสาหกรรมมาซื้อสินค้าไปใช้งาน
“โฉมใหม่พันธุ์ทิพย์ จะต้องเป็น Wholesale Destination ที่เป็นหน้าตาของประเทศ กลุ่มคู่ค้าประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้ต้องเดินทางมาซื้อสินค้า เป็น Sourcing Hub ของภูมิภาค”
หมวดสินค้าส่งออกที่แข็งแรงของไทยและเป็นเป้าหมายดึงเข้ามาเปิดหน้าร้านในพันธุ์ทิพย์ มีทั้งสินค้าไลฟ์สไตล์ กลุ่มเวลเนส ของใช้ในบ้าน สินค้าตกแต่ง ของเล่น เฟอร์นิเจอร์ไม้ สินค้าแฟชั่น เครื่องประดับ อาหารและสแน็ก หลังสถานการณ์โควิด จะร่วมกับหอการค้าต่างๆ ในกลุ่ม CLMV เพื่อดึงผู้ซื้อเข้ามาดูสินค้าในศูนย์ฯ ให้บริการแบบ “One Stop Shopping” ในราคาต้นทาง
จับมือรัฐวิสาหกิจจีนเปิดพื้นที่ในพันธุ์ทิพย์ หนุนผู้ผลิตไทยส่งออก
นอกจากนี้ AWC ยังได้ประกาศลงนามในความร่วมมือกับสมาคมพัฒนาการค้าและการลงทุน รวมทั้งรัฐวิสาหกิจของจีน 4 องค์กร เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับ AEC Trade Center Pantip Pratunam และผลักดันให้ AEC Trade Center เป็นโครงการแฟลกชิพสำหรับการค้าส่ง ช่วยส่งเสริมการส่งออกและนำเข้าเพื่อสร้างให้เมืองไทยเป็นศูนย์กลางการค้าส่งของภูมิภาค รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการจัดหาสินค้าของภูมิภาค (Sourcing Hub)
สำหรับความร่วมมือกับ 3 พันธมิตรสมาคมพัฒนาการค้าการลงทุนของจีน ประกอบด้วย สมาคมผู้ส่งสินค้าแห่งประเทศจีน (China Shippers’ Association), สมาคมการลงทุนแห่งประเทศจีน (Emerging Industry Center of Investment Association of China) และสมาพันธ์ธุรกิจภายใต้นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางและเขตการค้าเสรี (Belt & Road Investment and Free Trade Alliance: B&R IFTA)
อีกรายเป็นความร่วมมือกับ Zhejiang China Commodities City Group Co., Ltd. (CCC Group) รัฐวิสาหกิจผู้พัฒนาและบริหารตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากเมืองอี้อู (Yiwu) ประเทศจีน ซึ่งจะมาจัดตั้งศูนย์แสดงสินค้า “Yiwu Selection Thailand Showcase” ในพันธุ์ทิพย์ พื้นที่ 200 ตารางเมตร รวมทั้งศูนย์ให้บริการด้านการส่งออกไปยังประเทศจีนผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “IC Mall” เพื่อช่วยเชื่อมโยงช่องทางการตลาดให้แก่ผู้ส่งออกไทยที่ต้องการจะส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีน
“การที่คนไทยมีสินค้าดี ไม่จำเป็นต้องรอให้คู่ค้าคนจีนนำเข้าไปขายในจีน แต่มีทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ที่จะเข้าไปขายได้เอง ผ่านพันธมิตรที่ AWC มีความร่วมมือไว้แล้ว”
การล้างภาพห้างไอที “พันธุ์ทิพย์” และวางคอนเซ็ปต์ใหม่ “ศูนย์ค้าส่ง” เป็นการปรับตัวตามรีเทลเทรนด์ที่เปลี่ยนไป และเป็นการคิกออฟธุรกิจค้าส่ง โดยมีเป้าหมาย 5 ปี กลุ่มนี้น่าจะมีรายได้สัดส่วน 5% ของพอร์ตโฟลิโอ AWC และเป็นการสร้างตำนานบทใหม่ให้กับห้างพันธุ์ทิพย์ กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง