นับเป็นบิ๊กโปรเจกต์ที่สร้างหลายปรากฎการณ์กับ “เมดพาร์ค” (MedPark) โรงพยาบาลเอกชนขนาด 550 เตียงในกรุงเทพฯ ไซซ์ใหญ่ที่เกิดขึ้นในรอบ 30 ปี อยู่บนที่ดินเช่าของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี แห่งทีซีซี กรุ๊ป ย่านใจกลางเมืองพระราม 4 เครือโรงพยาบาลมหาชัยเป็นผู้ถือหุ้นหลัก มีหมอที่ทำงานร่วมถือหุ้น มูลค่าลงทุน “หมื่นล้าน” และเป้าหมาย Medical Destination ของภูมิภาค
หลังจากโรงพยาบาลมหาชัย เปิดให้บริการในปี 2532 เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกของจังหวัดสมุทรสาคร ที่ก่อตั้งโดย 3 นายแพทย์ คือ นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช, นพ.วิญญู เอี่ยมชีรางกูร และ นพ.สิทธา พิทักษ์อรรณพ จากนั้นปี 2539 เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในชื่อ M-CHAI
ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเครือข่าย 6 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลมหาชัย โรงพยาบาลมหาชัย 2 โรงพยาบาลมหาชัย 3 โรงพยาบาลมหาชัยแม่กลอง โรงพยาบาลเพชรรัชต์ และโรงพยาบาลมหาชัยพร้อมแพทย์ รวมทั้งกลุ่มโรงพยาบาลพันธมิตร ได้แก่ โรงพยาบาลเจ้าพระยา โรงพยาบาล ซาน เปาโล หัวหิน ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี กรุงเทพฯ นครปฐม กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ดูแลประชาชนกว่า 5 ล้านคน และนักท่องเที่ยวปีละ 1 ล้านคน
เปิดโครงการแฟลกชิพ MedPark หมื่นล้าน
ปี 2559 เครือโรงพยาบาลมหาชัย ได้จัดตั้ง บริษัท ทีพีพี เฮลท์แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน MedPark ในย่านพระราม 4 บนที่ดินเช่าช่วงจาก บริษัท เกษมทรัพย์สิริ จำกัด ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พัฒนาโครงการมิกซ์ยูสแห่งใหม่ The PARQ ที่เพิ่งเปิดตัวไปในเดือนกันยายน 2563 ส่วน MedPark เช่าพื้นที่ด้านหน้าริมถนนพระราม 4 เนื้อที่ 6 ไร่ ระยะเวลาเช่า 30 ปี ต่อสัญญาได้อีก 30 ปี
ทีพีพี เจ้าของโครงการเมดพาร์ค เริ่มต้นโดย ศ.นพ.สิน อนุราษฎร์ อดีตผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชน และ นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช จดทะเบียนบริษัทมูลค่า 2,500 ล้านบาท ถือหุ้นโดย โรงพยาบาลมหาชัย 42.5% ทีพีพี โฮลดิ้ง 25% ซึ่งเป็นการร่วมถือหุ้นโดยแพทย์ประจำที่ทำการรักษาในเมดพาร์ท และผู้ถือหุ้นอื่นๆ ทั้งกลุ่มแพทย์และนักลงทุนอีก 32.5%
โรงพยาบาลเมดพาร์ค ขนาด 550 เตียง เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2560 เป็นอาคารสูง 25 ชั้น พื้นที่ 90,000 ตารางเมตร เปิดให้บริการเฟสแรกในเดือนตุลาคม 2563 ลงทุน 7,000 ล้านบาท แต่ทั้งโครงการรวม 10,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนต่อเนื่องในช่วง 3 ปีจากนี้
นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช รองประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีพีพี เฮลท์แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า “เมดพาร์ค” เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจากหลากหลายสาขา จึงเป็นโรงพยาบาลที่คุณหมอเป็นเจ้าของและร่วมถือหุ้นจำนวนมาก วางเป้าหมายเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์เฉพาะทางระดับ (Super Tertiary care)
ในมุมของเครือโรงพยาบาลมหาชัย ผู้ถือหุ้นใหญ่ MedPark ถือเป็นการสร้างโครงการแฟลกชิพของตัวเอง ในพื้นที่กรุงเทพฯ แห่งแรก หลังจาก 30 ปีเปิดโรงพยาบาลอยู่รอบนอกกรุงเทพฯ มีเป้าหมายให้บริการ Integrated Health Care Service เป็นการเชื่อมต่อการดูแลผู้ป่วย ทั้งส่งต่อจากกรุงเทพฯ ไปรักษาต่อในเครือข่ายต่างจังหวัด หรือจากต่างจังหวัดเข้ามารักษาในกรุงเทพฯ ในอนาคตจะขยายสู่สถาบันแห่งการเรียนรู้ ทำงานวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์ต่อไป
แพทย์เฉพาะทาง 30 สาขา ศูนย์บริการโรคซับซ้อน
เมดพาร์คให้บริการห้องตรวจผู้ป่วยนอก 300 ห้อง และรองรับผู้ป่วยในได้สูงสุด 550 เตียง มีจำนวนเตียงผู้ป่วยวิกฤติหรือ ICU/CCU 30% หรือ 130 เตียง เมื่อเปิดเต็มโครงการ (โรงพยาบาลทั่วไปที ICU 10% เท่านั้น) เฟสแรกให้บริการห้องตรวจผู้ป่วยนอก 150 ห้อง เตียงผู้ป่วยใน 205 เตียง รวม ICU/CCU 65 เตียง มีลานเฮลิคอปเตอร์บนชั้นดาดฟ้า เพื่อรับผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉินทางอากาศ
โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางกว่า 30 สาขา แพทย์มากกว่า 350 คน ในจำนวนนี้กว่า 70% จบการศึกษาและการฝึกงานจากต่างประเทศ ทั้งแพทย์ที่จบอเมริกันบอร์ด และผ่านหลักสูตรการอบรมในอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และไต้หวัน เป็นต้น เป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ เน้นการรักษาโรคยากหรือโรคซับซ้อน รวมทั้งผู้ป่วยที่มีหลายโรค ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญหลายด้านในการรักษาพร้อมกัน เมดพาร์คได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอแล้ว 4 ศูนย์ ได้แก่ หัวใจ มะเร็ง ไต และ แล็บ
เป้าหมาย Medical Destination อาเซียน
ด้านกลุ่มเป้าหมาย เมดพาร์ค วางสัดส่วนตลาดไทย 70% และกลุ่มต่างชาติ 30% ซึ่งประเทศไทยยังมีโอกาสขยายฐานรายได้จากต่างชาติมารักษาพยาบาลในไทย ปี 2562 มีชาวต่างเข้ามาปีละ 3 ล้านคน สร้างรายได้ราว 1.2 แสนล้านบาท ขณะที่สิงคโปร์ ต่างชาติประมาณ 8 แสนคน แต่การรักษาต่อเคสสูงกว่าไทย 4 เท่า เนื่องจากเป็นการรักษาโรคซับซ้อน
ที่ผ่านมาประเทศไทยเน้นกลุ่ม Medical Tourism ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางเข้ามาดูแลตรวจสุขภาพ (Check-up) ทั้งที่แพทย์ไทยมีความสามารถในการรักษาโรคยากและซับซ้อนได้เช่นเดียวกับสิงคโปร์ ดังนั้นหากสามารถดึงต่างชาติมารักษาโรคซับซ้อนได้ ประเทศไทยก็จะรายได้ต่อเคสจากค่ารักษาได้เท่ากับสิงคโปร์ และมีรายได้สูงกว่า เพราะจำนวนคนที่มารักษามากกว่า
ปัจจุบันแพทย์มีความพร้อมในการดูแลรักษาโรคซับซ้อน หลังเปิดตัวเมคพาร์ค ที่มีเครื่องมือและสถานที่ในการดูแลรักษา หากมีโครงการอื่นๆขยายเพิ่มเติมในรูปแบบเดียวกับเมดพาร์ค ประเทศไทยมีโอกาสดึงต่างชาติ ทั้ง เอเชีย ยุโรป สหรัฐ มารักษาโรคซับซ้อนที่ประเทศไทยมากขึ้น เพราะเมื่อเปรียบเทียบโรคเดียวกัน ไทยยังมีค่ารักษาต่ำกว่าสิงคโปร์ 50% และต่ำกว่ายุโรปและสหรัฐฯ 2-3 เท่า
“เมดพาร์ค เราวางเป้าหมายสร้างโรงพยาบาลให้เป็นจุดหมายปลายทางของผู้ป่วยไทยและทั่วอาเซียน (Medical Destination of ASEAN) รวมทั้งผลักดันให้ไทยเป็นประเทศที่รักษาโรคซับซ้อนระดับภูมิภาคที่แข่งขันได้กับทุกประเทศ”