การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทั่วโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบันต่างตระหนักถึงความสำคัญที่ต้องเร่งเดินหน้าในการลดการใช้ทรัพยากรให้มากที่สุดโดยการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy ) มาใช้ในทุกกระบวนการของการดำเนินชีวิตและการดำเนินธุรกิจ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่หลายองค์กรได้ตื่นตัวออกมาร่วมกันในการหาโซลูชั่น เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านกระบวนการใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสู่กระบวนการรีไซเคิล ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนรีไซเคิล ซึ่งทุกประเทศยอมรับและได้มีการสร้างความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้มี Mindset และมีทัศนคติต่อ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการรีไซเคิล และพร้อมที่จะเปิดรับแนวคิดและนำไปสู่การปฎิบัติการได้จริง
จุดเริ่มต้นที่เห็นเป็นรูปธรรม จากแนวคิดที่เกิดขึ้นมาสู่การระดมความคิดเห็นของผู้นำทางความคิดทางด้าน Circular Economy กว่า 40 ผู้นำทางความคิดในเวที “GC Circular Living Symposium 2020: Tomorrow Together” งานประชุมนานาชาติ ที่จัดขึ้นโดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จํากัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมกับพันธมิตร ภายใต้แนวคิด Circular in Action จากแนวคิดสู่การปฏิบัติจริง เพื่อตอบโจทย์การดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ปฏิวัติการใช้ทรัพยากรโลกอย่างรู้คุณค่าและยั่งยืน เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า ที่มาร่วมถ่ายทอดความคิดและแบ่งปันประสบการณ์ที่จะนำไปสู่การสานต่อและเกิดความร่วมมือระหว่างกัน โดยนำจุดเด่นของแต่ละองค์กรมารวมพัฒนากระบวนรีไซเคิลให้เป็นโอกาสของการเข้าถึงผลิตภัณฑ์รักษ์โลกที่มีมาตรฐานระดับสากล
“ต้องยอมรับว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกคนตระหนัก แต่การแก้ปัญหาดังกล่าวให้จับต้องได้ทันทีต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจะต้องทำให้เกิดขึ้นในทางปฎิบัติ” ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จากัด (มหาชน) หรือ GC ย้ำถึงเป้าหมายที่ชัดเจน และสะท้อนมุมมองต่ออีกว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่การปฎิบัติได้จริง ต้องมาจาก 4 ปัจจัย คือ 1) Thought Leader ผู้นำความคิด นวัตกรและนักธุรกิจจากทั่วโลกมาร่วมแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ในการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้เพื่อขับเคลื่อนโลกร่วมกัน 2) Innovation นวัตกรรมจะช่วยสร้างสรรค์สิ่งใหม่ มีสินค้าที่ผลิตด้วยแนวคิด Circular Economy ออกมาได้จริง 3) Business Model การออกแบบธุรกิจให้เกิดขึ้นจริง และสามารถพึ่งพาตนเองได้ 4) Ecosystem การสร้างระบบนิเวศเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนสามารถอยู่ร่วมกันได้ ผ่านการนำนวัตกรรม และแพลตฟอร์ม การออกแบบผลิตภัณฑ์ นำไปสู่การทำธุรกิจที่ยั่งยืนได้ ที่สำคัญได้เห็นการปฎิบัติที่เกิดผลอย่างชัดเจน ทุกคนร่วมมือกันช่วยสร้างโลกที่ดีขึ้น และสร้างอนาคตที่ดีกว่าได้
ดร.คงกระพัน กล่าวต่อไปว่า GC เป็นผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ ที่ต้องการยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทยทั้งด้านสุขภาพ การใช้ชีวิตที่สะดวกสบาย ที่จะนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และเกิดความสมดุลระหว่างทรัพยากรธรรมชาติและสังคม ดังนั้นกลยุทธ์ในการทำงานของ GC จึงได้ความสำคัญกับการสร้างความสามารถในการแข่งขันที่เน้นให้ความยั่งยืนโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งตอนนี้ที่กำลังทำ คือ ความพยายามสร้างให้ครบวงจนตั้งแต่การแยก การเก็บ โลจิสติกส์ และการนำกลับมาใช้ใหม่ของพลาสติก ที่สำคัญต้องทำให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม
แน่นอนว่าความสำคัญของการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน นอกเหนือจากการขยายการเติบโตทางธุรกิจแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งระบบสถาบันการเงินได้มองเห็นความสำคัญการปล่อยสินเชื่อสำหรับธุรกิจที่เน้นความยั่งยืน จะได้รับโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่ง น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความเห็นว่า การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ตามความหมายของสหประชาชาติ จะต้องดำเนินการเพื่อการพัฒนาตอบโจทย์คนในยุคปัจจุบันโดยต้องไม่ลดทอนความสามารถในการใช้ชีวิตของคนในอนาคตด้วย ซึ่ง GC เป็นองค์กรที่มีการขับเคลื่อน Circular Living มาอย่างต่อเนื่อง ในบทบาทของธนาคารนั้นพร้อมให้การสนับสนุนคู่ค้า และลูกค้า อุตสาหกรรมต่างๆ ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม
คุณปฏิภาณ สุคนธมาน ผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า GC มีเป้าหมายในการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ ที่ไม่ได้มองเรื่องการเติบโตทางธุรกิจ หรือตัวเลขของรายได้เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญคือการผลิตสินค้าที่สามารถสร้างความแตกต่างและให้คุณค่าที่ได้จากกระบวนการรีไซเคิลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย GC มีเป้าหมายที่ชัดเจนที่จะลดปริมาณการใช้พลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้ง (Single Use Plastic) จำนวน 150,000 ตันต่อปี หรือคิดเป็น 20 % ภายในปี 2030 มาสู่พลาสติกที่มีมูลค่าสูง โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิต รวมถึงการ Reuse น้ำในกระบวนการผลิต ที่มีความต้องการใช้น้ำเป็นจำนวนมากสูงถึง 150,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยใช้กระบวนการรีไซเคิลน้ำผ่านระบบการกรองน้ำ R.O. (Reverse Osmosis) ทำให้สามารถลดการใช้น้ำจากระบบสาธารณะน้อยลง ถึง 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
การสร้างวงจรของระบบรีไซเคิลที่จะให้สมบูรณ์แบบได้สำหรับบุคคลทั่วไปที่จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน จะต้องมีการสร้างระบบการบริหารจัดการการคัดแยกขยะให้ไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งการกำหนดสีของถังขยะ ประเภทของขยะที่ต้องการคัดแยก จุดร่วมขยะที่สามารถรีไซเคิลได้และระบบการจัดเก็บที่ได้มาตรฐานก่อนนำเข้สู่การรีไซเคิล ที่เรียกว่า Eco System ที่ปัจจุบันถือเป็นเรื่องที่ยากที่สุดของกระบวนการรีไซเคิล แม้ว่าทุกคนจะเห็นด้วยกับหลักการ แต่ในทางปฎิบัติจริงกลับเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และไม่เข้าใจในระบบที่ทำได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นที่สุดคือต้องเริ่มดำเนินการและจำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจในรูปแบบต่างๆที่สามารถขับเคลื่อนกลไกลรีไซเคิลให้เกิดขึ้นได้จริง ทั้งในเรื่องของการสนับสนุนของภาครัฐ และ การสร้าง Value Credit ให้กับผู้ประกอบการ
เช่นเดียวกับทาง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นายธีรพงศ์ จันศิริ, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท กล่าวว่าไทยยูเนี่ยน เป็นกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลที่มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และใช้แรงงานเยอะมาก รวมถึงรายได้มาจากการส่งออกไปต่างประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งในต่างประเทศได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการดูแลแรงงานให้ถูกกฎหมาย และผลิตภัณฑ์ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทางบริษัทได้มีการดำเนินการในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม และแรงงานมาโดยตลอด เพื่อให้เป็นไปมาตรฐาน รวมถึงสร้างการเปลี่ยนแปลง ให้เรือประมงทุกลำที่เป็นคู่ค้า มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ปฎิบัติถูกต้องกฎหมาย และวิสัยทัศน์ขององค์กรที่มุ่งเน้นการสร้างความน่าเชื่อถือ และดูแลทรัพยากรธรรมชาติและแรงงาน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต
พลังขับเคลื่อน Circular Economy กำลังถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในการปรับโหมดทางความคิดเพื่อเข้าสู่ปฎิบัติการเต็มรูปแบบในการลงมือทำจริงของการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาโซลูชั่นต่างๆให้สามารถตอบสนองการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลาสติกที่เป็นวัสดุที่มีประโยชน์และมีคุณค่าในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพียงแต่ขาดการบริหารจัดการที่สมบูรณ์แบบเท่านั้น หากสร้างกลไกได้สำเร็จ “พลาสติกจะให้คุณค่าที่สร้างความแตกต่างให้กับโลกมากขึ้น”