HomeInsightjobsDB เปิด 5 สายงานสุดฮอต ที่คนทำงานสมัครมากที่สุดในช่วงไตรมาส 3

jobsDB เปิด 5 สายงานสุดฮอต ที่คนทำงานสมัครมากที่สุดในช่วงไตรมาส 3

แชร์ :

 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ในช่วงเดือน ก.ค. – ก.ย. 2563 ถือเป็นช่วงที่ประเทศไทยเริ่มกลับมาเปิดเมืองอีกครั้ง หลังจากที่ทุกอย่างแทบจะหยุดชะงักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่พ่นพิษใส่อย่างหนักมาตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบไปทุกภาคส่วน ตลาดแรงงานก็หดตัวตามไปด้วย ทำให้เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย หลายๆ บริษัทเริ่มกลับมาจ้างงาน และคนทำงานเริ่มกลับมาหางานกันอีกครั้ง รวมถึงเด็กจบใหม่ทั้งหลายที่เริ่มทยอยเข้าสู่ตลาดงานมากขึ้น มาดูกันว่าสายงานไหนที่คนทำงานค้นหา และสมัครมากที่สุด

จากผลสำรวจของ jobsDB พบว่า มีผู้เข้ามาหางานในช่วงเดือน ก.ค. – ก.ย. 2563 มากกว่า 3.5 ล้านคน ผ่านช่องทางโทรศัพท์มือถือ 70% และโน้ตบุ๊ก 30% ในจำนวนนี้มีการสมัครงานกว่า 2.5 ล้านคน โดยเป็นคนที่มีวุฒิปริญญา 78% และมีคนที่จบระดับปริญญาโท 17% ในจำนวนนี้ มีคนที่มีประสบการณ์ทำงานแล้ว 1-4 ปี เป็นสัดส่วน 28% และ 5-9 ปี สัดส่วน 20% เรียกได้ว่าเป็นจำนวนไม่น้อยเลยสำหรับคนที่อยู่ในตลาดงานอยู่แล้ว และต้องการจะเปลี่ยนงาน ส่วนนักศึกษาจบใหม่ หรือคนที่มีประสบการณ์ทำงานน้อยกว่า 1 ปี พบว่า มีการเข้าเว็บหางานอยู่ที่ 31%

ขณะที่สายงานที่ได้รับการค้นหามากที่สุด 5 อันดับแรกในช่วงเดือน ก.ค. – ก.ย. 2563 คือ

1.งานขาย งานบริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ (14%)

2.งานไอที (13%)

3.งานวิศวกรรม (11%)

4.งานการตลาด งานประชาสัมพันธ์ (11%)

5.งานธุรการและงานทรัพยากรบุคคล (9%)

ส่วน 5 อันดับสายงานที่คนสมัครมากที่สุดในช่วงเดือน ก.ค. – ก.ย. 2563  คือ

1.งานขาย งานบริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ (13%)

จุดรวมของตำแหน่ง Sales, Customer Service และ Business Development ก็คือ สามารถเห็นปัญหา วิเคราะห์และหาทางแก้ได้อย่างสร้างสรรค์ และสื่อสารออกไปได้ดี นี่คือคุณสมบัติที่บริษัททั้งหลายมองหาในตัวคนที่จะมาทำงานในตำแหน่งเหล่านี้ ดังนั้น ควรเตรียมตัวด้วยการฝึกคิดวิเคราะห์ให้มาก รวมทั้งพยายามคิด solution ที่ดีสำหรับปัญหาต่าง ๆ อาจจะเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันก็ได้ เช่น ปัญหาเล็ก ๆ ในครอบครัว และลองสื่อสารทางแก้แบบที่ให้ทุกฝ่ายพอใจ แค่นี้ก็จะเป็นการเตรียมตัวง่าย ๆ ในทุก ๆ วันเพื่อจะไปสมัครตำแหน่งเหล่านี้แล้ว

2.งานวิศวกรรม (10%)

ตำแหน่งงานด้านวิศวกรเป็นสายอาชีพที่ค่อนข้างจำเพาะ ซึ่งคนที่จะสมัครงานนี้ก็จะจบวิศวะกันมาอยู่แล้ว วิธีเตรียมตัวคงจะหนีไม่พ้นการทบทวนความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ได้ร่ำเรียนมา รวมถึงเรียนรู้ความรู้เฉพาะทางเพิ่มเติมของงานวิศวะสายที่เราเรียนมา เพื่อเพิ่มความแตกต่างให้กับตัวเอง รวมถึงความรู้ด้าน ISO, QC การใช้เครื่องมือวัด และฝึกทักษะการสื่อสารและเจรจาต่อรอง ซึ่งจะเป็นแต้มต่อที่ได้เปรียบเมื่อต้องไปสมัครงานจริง

น้องๆ นักศึกษาจบใหม่ พร้อมลุยหางานหลังโควิด-19 : ขอบคุณภาพจาก Shutterstock

3.งานไอที (8%)

สำหรับงานด้าน IT บริษัทมักมองหาคนที่มีความสามารถที่จะทำงานได้จริง ซึ่งอาจจะโดนคำถามเชิงลึกในสายงานได้ วิธีการเตรียมตัวก็คือ ทบทวนความรู้ไปให้ดี และอัปเดตความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติม นอกจากนี้บริษัทยังมองหาคนที่ พร้อมเรียนรู้ หนักเอาเบาสู้ และไม่เกี่ยงงาน เพราะทักษะทางด้าน IT สอนกันเพิ่มเติมได้ ถ้ามีพื้นฐานมาอยู่แล้ว ก็ขอให้คนที่กำลังหางานสาย IT อยู่ เตรียมตัวให้ดี เพื่อที่จะไปตอบคำถามทดสอบทัศนคติเหล่านี้ที่อาจจะเจอตอนสัมภาษณ์ได้

4.งานธุรการและงานทรัพยากรบุคคล (8%)

งาน Admin และ HR เป็นตำแหน่งที่จะเข้ามาเติมเต็มบริษัทให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เป็นผู้อยู่เบื้องหลังทุกการขับเคลื่อนของบริษัท ทำให้ทักษะทางด้านการสื่อสารจำเป็นอย่างมาก เพราะ Admin และ HR จะต้องสามารถเข้าถึงพนักงานทุกคนได้ ตามมาด้วยการเป็นคนช่างสังเกต เอาใจใส่ และละเอียดรอบคอบ ที่สำคัญคือ มีความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพราะทั้ง HR และ Admin ไม่ได้มีหน้าที่ทำเอกสารอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้พนักงานองค์กรสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและมีความสุขไปด้วย ดังนั้นควรเตรียมตัวฝึกทักษะด้านการสื่อสาร ฝึกคิดแบบ Positive Thinking และแก้ปัญหาด้วยวิธีที่สร้างสรรค์

5.งานบัญชี (6%)

นอกจากความละเอียดรอบคอบ และแม่นทฤษฎีด้านบัญชี ซึ่งเป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของนักบัญชีที่บริษัทส่วนใหญ่ต้องการแล้ว การเป็นคนพร้อมเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อมาพัฒนางานด้านบัญชีที่เป็นอยู่และสามารถที่จะใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อกับฝ่ายอื่น ๆ ในบริษัทได้ ก็เป็นสิ่งที่บริษัททั้งหลายมองหาในตัวนักบัญชีอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าอยากสมัครงานสายบัญชี ควรเตรียมตัวด้วยการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ทบทวนความรู้ด้านบัญชีที่มีอยู่เดิม อัปเดตความรู้ด้านข้อกฎหมายเกี่ยวกับบัญชีและภาษีอากร รวมไปถึงเรียนรู้ภาพรวมการทำงานของทั้งบริษัท เพื่อแสดงให้เห็นว่า เราเป็นนักบัญชีที่สามารถเชื่อมต่อและทำงานกับแผนกอื่น ๆ ได้อย่างเข้าใจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด


แชร์ :

You may also like