สิงคโปร์ขึ้นแท่นชาติแรกของโลกที่อนุญาตให้เนื้อสัตว์สังเคราะห์ (Lab-Grown Meats) จากสตาร์ทอัพสหรัฐฯ “Eat Just” ทำตลาดในเชิงพาณิชย์ได้ โดยเมนูเริ่มต้นสำหรับเนื้อสัตว์สังเคราะห์ก็คือ “นักเก็ต”
การอนุญาตดังกล่าวมีขึ้นในวันนี้ กับเนื้อสัตว์สังเคราะห์ (ไก่) ของ “Eat Just” ที่หน่วยงานด้านอาหารของสิงคโปร์บอกว่า ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย และสามารถนำมาผลิตเป็นอาหารได้
ส่วนหนึ่งของความพยายามดังกล่าวอาจมาจากการที่สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีพื้นที่ไม่มากนัก และกว่า 90% ของสินค้าอุปโภคบริโภคต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ต้องมองหาเทคโนโลยีด้าน AgriTech เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับประเทศ เห็นได้จากการที่รัฐบาลสิงคโปร์มีแผนจะสร้างฮับด้าน Agri-Food Tech ในปี 2021 นี้ หรือกรณีที่ค่ายเทมาเส็ก (Temasek) จับมือกับ Bayer เพื่อพัฒนาเมล็ดพันธุ์สำหรับการทำฟาร์มแนวตั้ง (Vertical Farming) ด้วยเช่นกัน
สำหรับทางค่าย Eat Just นั้น หลังจากได้รับอนุญาตก็เปิดเผยว่าได้จับมือกับบริษัทผู้ผลิตของสิงคโปร์ในการผลิตเนื้อไก่สังเคราะห์นี้แล้ว และจะนำเสนอเนื้อดังกล่าวกับร้านอาหารต่าง ๆ ในอนาคตอันใกล้ โดยในช่วงแรก เมนูที่จะทำจากเนื้อไก่สังเคราะห์จะเป็นนักเก็ต และมีแผนจะเสนอขายเนื้อส่วนสันใน (Fillet) ในอนาคตด้วย
นอกจากนั้นก็ต้องยอมรับว่า มีหลายฝ่ายออกมาแสดงความยินดีกับการอนุญาตของหน่วยงานด้านอาหารในสิงคโปร์ให้เนื้อสัตว์สังเคราะห์สามารถทำตลาดเชิงพาณิชย์ได้ ยกตัวอย่างเช่น Bruce Friedrich ผู้อำนวยการของ Good Food Institute กลุ่มที่สนับสนุนการบริโภคโปรตีนทางเลือก ที่บอกว่า อุตสาหกรรมนี้จะเติบโตมากยิ่งขึ้น เนื่องจากรัฐบาลประเทศอื่น ๆ ก็จะอ้างอิงสิงคโปร์เป็นตัวอย่างนั่นเอง
ในด้านนักลงทุนก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีเช่นกัน โดยบริษัทที่มีการลงทุนในตลาดเนื้อสัตว์สังเคราะห์ได้แก่ ซอฟท์แบงค์ (SoftBank), Atomico, เทมาเส็ก (Temasek) ไทสัน ฟู้ดส์ (Tyson Foods) และ Cargill
ข้อมูลจาก the UN Food and Agriculture Organization ยังบอกด้วยว่า ไก่เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูงมาก เนื่องจากมีการเพาะเลี้ยงมากเป็นอันดับสองรองจากหมู และในแต่ละปี จะมีไก่ที่ต้องถูกฆ่าประมาณ 69,000 ล้านตัวเพื่อเป็นอาหารมนุษย์ ซึ่งการเลี้ยงไก่ในระดับนั้นต้องใช้อาหารสัตว์เป็นจำนวนมาก นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมบางส่วนมองว่า การบริโภคไก่ ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้พื้นที่ป่าแอมะซอนลดลงได้เลยทีเดียว
Gen Z เมินเนื้อสัตว์สังเคราะห์
แม้จะมีข้อมูลที่ชี้ว่าเนื้อสัตว์สังเคราะห์มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมโลกมากมาย แต่ในอีกด้านก็มีงานวิจัยจากออสเตรเลีย ที่ University of Sydney และ Curtin University พบว่า ชาว Gen Z ถึง 72% ไม่โอเคกับเนื้อสัตว์สังเคราะห์นี้เลย (แม้ว่าพวกเขาจะไม่อยากเห็นสัตว์ถูกฆ่า และกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยก็ตาม) โดยพวกเขามองว่ามันเป็นเรื่องน่าขยะแขยงมาก ๆ ในการผลิตเนื้อดังกล่าวขึ้นมา และ Gen Z ราว 41% ให้เหตุผลว่า น่าจะมีโปรตีนทางเลือกอื่น ๆ ที่พวกเขาสามารถเลือกบริโภคได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเนื้อสัตว์สังเคราะห์นั่นเอง