HomeBrand Move !!โควิดทำรายได้อีเวนท์หายไป 70% “อินเด็กซ์” แก้เกมอย่างไรให้รอด เปิดบิ๊กโปรเจกต์มิวเซียม “ถ้ำหลวง” 50 ไร่

โควิดทำรายได้อีเวนท์หายไป 70% “อินเด็กซ์” แก้เกมอย่างไรให้รอด เปิดบิ๊กโปรเจกต์มิวเซียม “ถ้ำหลวง” 50 ไร่

แชร์ :

index creative covid 2021

ธุรกิจแรกที่กระทบหนักจาก โควิด-19 ต้องยกให้ “อีเวนท์” เรียกว่ากลายเป็นศูนย์ในช่วงล็อกดาวน์ไตรมาส 2 หลังคลายมาตรการแล้วก็ยังไม่กลับมาปกติ บริษัทอีเวนท์ไปต่อไม่ไหวก็ทยอยเลิกจ้าง เปลี่ยนธุรกิจ และปิดกิจการในที่สุด

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เบอร์หนึ่งธุรกิจอีเวนท์ “อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ” ก็สาหัสไม่ต่างจากทุกราย ประเมินปี 2563  ธุรกิจ 3 กลุ่มมีรายได้ 460 ล้านบาท จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 1,400 ล้านบาท ลดลงไป 70%  หรือรายได้หายไปเกือบ 1,000 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมอีเวนท์ มาร์เก็ตติ้ง มีมูลค่าราว 1.4 หมื่นล้านบาท ปีนี้คาดสูญเม็ดเงิน 60% จากวิกฤติโควิด

“แม้จะเป็นปีแห่งความพินาศของอีเวนท์ แต่เรายังพอพยุงธุรกิจมาได้ โดยไม่เลิกจ้างพนักงานที่มีอยู่ 350 คน แต่ก็จำเป็นต้องขอลดเงินเดือน” คุณเมฆ เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวและย้ำว่าการจะอยู่รอดได้จากโควิดในปี 2563 ต้องมี Speed ในการปรับตัว เปลี่ยนธุรกิจทันทีเมื่ออีเวนท์ไม่สามารถทำได้

index Kill & Klean

แก้เกมโควิด เปิด 4 ธุรกิจใหม่

หากย้อนไปดูธุรกิจอีเวนท์ในช่วงโควิด เดือนมีนาคมถึงมิถุนายน งานทั้งหมดถูกเลื่อนและยกเลิกเกือบ 100% สิ่งที่อินเด็กซ์ฯ ทำทันทีเมื่อมีมาตรการล็อกดาวน์ช่วงปลายเดือนมีนาคม คือเปิดธุรกิจใหม่ เริ่มด้วย

1. Kill & Klean ในเดือนเมษายน เป็นบริการ Hygienic Solution การทำความสะอาดและพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อภายในอาคารและสถานที่ต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโควิด โดยใช้พนักงานของอินเด็กซ์ฯ ทำงานทั้งหมด ปัจจุบันมีแฟรนไชส์ 25 ราย ใน 6 ประเทศกลุ่มอาเซียน กระจายอยู่ใน 28 เมือง

2. แพลตฟอร์ม “คืนปล่อยของ” (Night Collection) พื้นที่ประมูลและขายสินค้าออนไลน์ เปิดตัวในเดือนมิถุนายน มีทั้ง Facebook Live เปิดประมูลสินค้า Line@night-collection เพื่อสมัครนำสินค้ามาปล่อยขายแบบไม่จำกัดประเภทและราคา  อินเด็กซ์ฯเป็นผู้ทำ Live Streaming เปิดประมูลและผู้ดำเนินรายการขายสินค้าให้ โดยมีรายได้จากค่าธรรมเนียมดำเนินการ 10% ของราคาที่ขายได้

3. Hybrid Concert  ด้วยโมเดลการจัดคอนเสิร์ตในรูปแบบที่ ออร์กาไนเซอร์, สถานที่จัดงาน (Hall) และศิลปิน มาร่วมกันทำงานโดยไม่ต้องมีผู้จ้าง แต่ทุกคนลงทุนในทรัพยากรที่ตัวเองมี ขายบัตรเข้าชมคอนเสิร์ตทั้งออนกราวด์และสตรีมมิ่ง จากนั้นนำรายได้มาแบ่งกัน จัดครั้งแรกเดือนกรกฎาคม กับคอนเสิร์ต “เจ-เจตริน วรรธนะสิน และ ติ๊นา-คริสติน่า อากีล่าร์” เดือนสิงหาคม จัดคอนเสิร์ต “บุรินทร์ บุญวิสุทธิ์” และวงเครสเซนโด และมีแผนจะจัดต่อเนื่องในปีหน้า

4. ANYA Meditec ธุรกิจบริการทางการแพทย์เพื่อดูแลสุขภาพ เปิดตัวในเดือนตุลาคม ด้วยการเปลี่ยนโรงแรมเป็นโรงพยาบาล ปัจจุบันมีพันธมิตร 5 โรงแรม ได้แก่ Peninsula Hotel Bangkok, Staybridge Suites ทองหล่อ, โรงแรมชาเทรียม ริเวอร์ไซด์, รอยัล คลิฟ บีช พัทยา และศิริปันนาวิลล่า รีสอร์ท เชียงใหม่ โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลต่างๆ ที่เข้ามาเป็นเครือข่าย เริ่มที่บริการการทดสอบประสิทธิภาพในการนอน (Sleep Test) เฟสต่อไปจะให้บริการ Anti Aging วางแผนขยายบริการทั่วประเทศ โดยร่วมมือกับโรงแรมและโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ

5. House of Illumination การจัดแสดงศิลปะดิจิทัลใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณเซ็นทรัลแกลอรี ชั้น 8 เซ็นทรัลเวิลด์ จัดระหว่าง วันที่ 28 ตุลาคม 2563 ถึง วันที่ 28 ตุลาคม 2565

“หากดูจำนวนธุรกิจใหม่ที่เปิดตัวในช่วงโควิด มีจำนวนมากกว่าช่วงเวลาปกติด้วยซ้ำ เพราะเป็นสิ่งที่บริษัทต้องคิด ให้เร็ว เพื่อหาทางรอดจากวิกฤติให้ได้ เมื่อมีไอเดียจึงทำทันทีและใช้คนของอินเด็กซ์ฯ ที่มีอยู่ เปลี่ยนจากงานอีเวนท์มาพัฒนาธุรกิจใหม่ เพื่อให้ทุกคนอยู่รอดไปด้วยกัน”

index illumination

ปี 64 กับกลยุทธ์ “Creating For Now” วางแผนแค่ 6 เดือน 

สถานการณ์โควิดวันนี้ ทำให้โลกอยู่ในภาวะที่เรียกว่า VUCA จาก 4 มิติ ไม่ว่าจะเป็น ความผันผวน (Volatile), ความไม่แน่นอน (Uncertain), ความซับซ้อน (Complex) และความคลุมเครือไม่ชัดเจน (Ambiguous)  จึงเป็นความท้าทายในการทำธุรกิจปี 2564  อินเด็กซ์ฯ ก็ต้องปรับไปตามสถานการณ์ ด้วยกลยุทธ์ Creating For Now” สร้างธุรกิจเพื่อปัจจุบัน

“วันนี้ไม่มีใครวางแผนยาว 5 ปี หรือ 1 ปี กันอีกแล้ว เพราะสถานการณ์เปลี่ยนเร็วจากสิ่งที่คาดเดาไม่ได้  อินเด็กซ์ฯ เราวางแผนระยะสั้นราย 6 เดือน เพื่อลดความเสี่ยงธุรกิจและต้องเปลี่ยนให้ทัน ปรับตัวตลอดเวลา”

ปีหน้าสิ่งที่จะทำมากขึ้น คือสร้าง New Business ในกลุ่ม Non-Event ด้วยการพัฒนา  Own Project ลดการพึ่งพากลุ่มมาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส (Marketing Service) ที่ยังอยู่ในภาวะหดตัวอย่างรุนแรงจากพิษโควิด งาน  Own Project ที่สรุปแล้วในครึ่งปีแรก 2564 เป็นการสร้าง “แลนด์มาร์ค” ใหม่ๆ ในเมืองรอง เจาะตลาดท่องเที่ยว ด้วยโปรเจกต์  Village of Illumination เพื่อต่อยอดจัดงานทั้งในประเทศและต่างประเทศตลอดทั้งปี

index Village of Illumination

เริ่มจากงานแสดงไลท์เฟสติวัล Village of Illumination ที่สิงห์ปาร์ค เชียงราย วันที่ 1 มกราคม 2564 -14 กุมภาพันธ์  2564,  งาน “ฮักไลท์” แสดงประติมากรรมไฟครั้งแรกในภาคอีสาน ที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์ อุดรธานี  วันที่ 7- 21 กุมภาพันธ์ 2564 , เมืองโบราณเทศกาลฤดูร้อนยามค่ำคืน  สมุทรปราการ วันที่ 19 มีนาคม -18 เมษายน 2564,  MOCA Project งานแสดง Art Alive ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย บางเขน  วันที่ 1 พฤษภาคม – 31 กรกฎาคม 2564

นอกจากนี้ยังมีงาน เทรดแฟร์ในต่างประเทศ ได้แก่ Myanmar Food Bev , Myanmar Retail Sourcing Expo, Myanmar Build & Deco วันที่ 30 กันยายน – 2 ตุลาคม 2564 และ Cambodia Architect & Décor, Cambodia Health and Beauty Expo วันที่ 25 -27 พฤศจิกายน 2564

ส่วนงานก่อสร้างไทยแลนด์พาวิลเลียน ในงาน World Expo 2020 Dubai ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 31 มีนาคม 2565 ปัจจุบันโครงสร้างหลักของอาคารสร้างเสร็จแล้ว 100% ยังคงเหลือในส่วนของงานสถาปัตยกรรม และระบบวิศวกรรม

index tham luang

สร้างมิวเซียม “ถ้ำหลวง” 50 ไร่ ดึงนักท่องเที่ยว         

หากดูจากงานที่อยู่ในมือช่วงครึ่งปีแรก 2564 จะมีรายได้ประมาณ 1,200 ล้านบาท  แบ่งสัดส่วนเป็น  มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส (อีเวนท์) 474 ล้านบาท, ครีเอทีฟ บิสซิเนส ดีเวลอปเมนต์ 371 ล้านบาท และ Own-Project 351 ล้านบาท  แต่ทั้งปี 2564  อินเด็กซ์ฯ วางเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 1,968 ล้านบาท หากทำได้ตัวเลขนี้ ถือว่าสูงกว่าช่วงก่อนโควิดปี 2562 ที่มีรายได้ 1,486 ล้านบาท

โดยธุรกิจที่จะขยายในครึ่งปีหลังยังเน้นไปที่ Own-Project  เพราะธุรกิจอีเวนท์ยังต้องใช้ เวลาฟื้นตัวและรอดูสถานการณ์โควิดว่าจะระบาดซ้ำอีกหรือไม่ รวมทั้งการเปิดประเทศรับท่องเที่ยว

ปีหน้าอินเด็กซ์ฯ จะลงทุนบิ๊กโปรเจกต์ สร้าง Museum & Experience “ถ้ำหลวง” ที่จังหวัดเชียงราย บนพื้นที่ 40-50 ไร่ ใกล้กับถ้ำหลวง โดยเป็นการร่วมลงทุนกับนักลงทุนในจังหวัดเชียงรายและกรุงเทพฯ โดยจะเป็นมิวเซียมที่บอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ 13 หมูป่าที่รอดชีวิต ถือเป็น World Event ที่คนทั่วโลกรู้จักและต้องการมามีประสบการณ์กับเรื่องเล่าในมิวเซียม คาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าชมวันละ 2,000 คน ทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ มีโอกาสสร้างรายได้ราว 100 ล้านบาทต่อปี เป็นอีกธุรกิจในกลุ่ม Own-Project

ปี 2564 สัดส่วนรายได้จาก Own-Project น่าจะอยู่ที่ 30%  เพิ่มเป็น 40% ในปี 2565  หลังเปิดบริการ มิวเซียม “ถ้ำหลวง”  เป้าหมายสัดส่วนที่อินเด็กซ์ฯ อยากได้ คือ 50%  เพื่อทำให้ธุรกิจไม่มีความเสี่ยงจากอีเวนท์ที่มีความอ่อนไหวจากสถานการณ์ต่างๆ

 “แนวโน้มธุรกิจอีเวนท์มาเก็ตติ้งปีหน้า ถ้าใครยังอยู่ในธุรกิจเดิมก็รอวันตายอย่างเดียว หากสายป่านหมดลง  เราคงไม่รอตลาดฟื้น แต่เราจะฟื้นธุรกิจด้วยตัวเอง จากการสร้าง Own-Project  เป็นการปรับตัวไม่ใช่แค่เพื่อให้อยู่รอดจากโควิด แต่มองการสร้างรายได้ระยะยาว”


แชร์ :

You may also like