ปี 2020 เป็นปีแห่งความท้าทายของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลก ทั้งโรงภาพยนตร์ สตูดิโอผลิตหนัง ไปจนถึงคนทำหนัง เหตุหลักมาจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้โรงหนังทั่วโลกต้องปิดให้บริการชั่วคราว ในขณะที่หนังฟอร์มใหญ่ ต่างเลื่อนกำหนดการฉายออกไป เพื่อรอดูเหตุการณ์
วิกฤต COVID-19 ทำเอาผลประกอบการของ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป” ผู้นำธุรกิจโรงภาพยนตร์ของไทย ตกอยู่ในสภาวะขาดทุนทั้ง 9 เดือนของปีนี้! และแทบไม่มีหนังฟอร์มยักษ์เข้าฉาย
ไตรมาส 3/2020
รายได้ 896 ล้านบาท / ขาดทุนสุทธิ 125 ล้านบาท
9 เดือน/2020
รายได้ 2,879.67 ล้านบาท / ขาดทุนสุทธิ 855.02 ล้านบาท
ถึงกับทำให้ คุณวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) บอกว่า “ตั้งแต่เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์เข้าตลาดหลักทรัพย์มา ไม่เคยขาดทุน…”
จากวิกฤต COVID-19 ทำให้เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ สู้ด้วยหนังไทยเป็นหลัก และคุณวิชาเชื่อว่าในปี 2021 ผลประกอบการของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ จะกลับมาโตแบบ V Shape ด้วยกลยุทธ์ 3T
COVID-19 ทำอุตสาหกรรมภาพยนตร์กลายเป็นปีแห่ง “The Dark Year” – เมเจอร์ฯ สู้วิกฤตด้วยหนังไทย
คุณวิชา เล่าว่า ตอนแรกที่เกิด COVID-19 คิดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะธุรกิจของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เป็น Local Consumption แต่สิ่งที่คิดไม่ถึงคือ COVID-19 ไปแพร่ระบาดหนักที่สหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ทั้งธุรกิจโรงภาพยนตร์มีปัญหา และสตูดิโอผู้ผลิตเลื่อนหนังของตนเอง โดยภายใน 2 เดือน โรงภาพยนตร์ทั่วโลกปิดไปกว่า 200 ประเทศ ขณะเดียวกันหนังฮอลลีวูดฟอร์มใหญ่ ที่มีกำหนดฉายปีนี้ เลื่อนไปปี 2021
“เมเจอร์ฯ เริ่มกลับมาเปิดให้บริการโรงหนังในช่วงเดือนมิถุนายน ถึงแม้ตอนนั้นรู้ว่าไม่มีหนังฉาย แต่ไม่อยากให้ผู้บริโภครู้สึกว่าโรงหนังปิดไปยาว
ขณะที่คำถามเข้ามาตอนนั้น คือ 1. คนกลัวเข้ามาดูโรงหนังไหม และ 2. มีคอนเทนต์หรือเปล่า เราโดนสองเด้ง เหมือนซูเปอร์มาร์เก็ตไม่มีของขาย ก็ไม่รู้จะเปิดอย่างไร
แต่ผมก็นักสู้อยู่แล้ว ในหนังเจมส์บอร์นบอก No Time To Die เราถามฝรั่ง ฝรั่งบอกเดี๋ยวจะส่งหนังให้ แต่จนแล้วจนรอด หนังใหญ่เลื่อนหมด ผมบอกเมเจอร์ฯ ต้องสู้ด้วยหนังไทย ตอนนั้นกลับมาเปิดโรงด้วยเรื่องมนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ ที่ทำรายได้ 43 ล้านบาท”
เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ พบว่าผู้บริโภคยังมีไลฟ์สไตล์การดูภาพยนตร์ และหนังหลายเรื่องที่เข้าฉาย ประสบความสำเร็จด้านรายได้ อย่างเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เรื่องอีเรียมซิ่งเข้าฉายในโรง ตอนแรกเมเจอร์ฯ ตั้งเป้ารายได้เรื่องนี้ไว้ที่ 100 ล้านบาท แต่หลังจากเข้าฉาย มีรายได้เกิน 200 ล้านบาทแล้ว
“นับเป็นการตอกย้ำให้คนทำหนังไทย ทุกคนไม่กลัว COVID-19 และทุกคนมองภาพในเชิงบุกมากขึ้นกว่าต้นปีที่ผ่านมา จบปี 2020 ถ้าเป็นภาษาของอุตสาหกรรมหนัง คือเป็นปี The Dark Year หรือจอมืดสำหรับอุตสาหกรรมหนังทั่วโลก ซึ่งตอนนี้หลายประเทศ โรงหนังยังไม่เปิดเลย
แต่ตัวเลขของเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม อาจเซอร์ไพรส์กับสตูดิโอผู้ผลิต และตลาดพอสมควร เพราะว่ามีทั้งอีเรียมซิ่ง บวกกับเรื่องอ้าย คนหล่อลวง, เรื่อง Demon Slayer, Wonder Women 1984 และจะมีเรื่อง Monster Hunter อีก
เราต้องปรับตัว เป็น Fast และ Flexible อย่างหนังไทย ตอนแรกทุกค่ายขอเลื่อนหมด ไปไตรมาส 4 ของปีนี้ หรือปี 2021 เลย แต่ผมบอกไม่ได้ เราต้องสู้ เพราะฉะนั้นเรามีศักยภาพดึงหนังไทยกลับมาฉายได้ ก็ช่วยประคองไปได้ ไม่อย่างนั้นถ้าไตรมาส 3 เราไม่ทำอะไรเลย ไม่เปิดโรงเลย เราจะขาดทุนมหาศาล เพราะไม่มีรายรับ หรือรายรับน้อยมาก”
ปี 2021 สร้าง Business Model ใหม่ หารายได้หลายทาง “Content Provider” ผลิตป้อนโรง และสตรีมมิ่ง – ต่อยอดความสำเร็จ “ป๊อปคอร์น” สู่ธุรกิจขายเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต
ปี 2021 “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป” จัดทัพใหม่ เพื่อสร้าง Business Model ด้วยกลยุทธ์ “3T” เพื่อผลักดันให้การเติบโตของบริษัทฯ กลับมาโตแบบ “V Shape” ประกอบด้วย
1. Thai Movie ปรับสู่ Content Provider ร่วมทุนสร้างหนังไทย – ขยายเข้าแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง
ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 หนังไทยกลายเป็นคอนเทนต์หลักที่ช่วยประคองธุรกิจเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ จึงเป็น “โอกาสทอง” ของหนังไทยที่จะโชว์คอนเทนต์อย่างเต็มที่สู่ตลาด
ประกอบกับเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ นอกจากทำโรงภาพยนตร์แล้ว อีกด้านหนึ่งยังเป็น “Content Provider” ด้วยเช่นกัน โดยใช้โมเดลร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์หลายราย ทั้งไทย และต่างประเทศ ร่วมกันสร้างหนังไทย เช่น ร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์จีน พาร์ทเนอร์เกาหลี CJ E&M พาร์ทเนอร์ไทย เช่น Workpoint, คุณวิสูตร พูลวรลักษณ์ และผู้กำกับยอร์ช-ฤกษ์ชัย
ความได้เปรียบของคอนเทนต์หนังไทยที่เมเจอร์ฯ ร่วมทุนสร้างนั้น คือ การมี “Business Ecosystem” ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ เป็นพาร์ทเนอร์กับผู้สร้าง ไปจนถึงปลายน้ำ คือ Network โรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ฯ ที่มีกว่า 172 สาขา 817 โรง ทั้งในไทย และประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว และกัมพูชา
การมีจำนวนโรงภาพยนตร์ครอบคลุมตั้งแต่ Prime Location ในเมืองใหญ่ ไปจนถึงในระดับอำเภอ ตำบล บวกกับ Big Data ที่มี ทำให้เมเจอร์ฯ สามารถวางแผนได้ตั้งแต่ต้นว่าภาพยนตร์ไทยที่ร่วมทุนสร้างแต่ละเรื่อง กลุ่มเป้าหมายคือใคร เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ Tier ไหน โลเกชั่นใด
และหลังจากหนังออกจากโรงภาพยนตร์ นำคอนเทนต์ขยายไปบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง (Streaming) เพื่อนำพาคอนเทนต์นั้นๆ เข้าถึงฐานคนดูทั่วโลก
การเกิดขึ้นของ “แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง” ทำให้ Landscape อุตสาหกรรมหนังเปลี่ยนไปคือ
จากในอดีต Window แรกคือ โรงภาพยนตร์
Window 2 คือ Pay Per View, สายการบิน
Window 3 เป็น Home Entertainment เช่น DVD, VCD
Window 4 คือ ฟรีทีวี เคเบิลทีวี
แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว ตลาด VCD, DVD จากเดิมเคยทำรายได้หลักให้กับผู้ผลิตคอนเทนต์ แต่ทุกวันนี้รายได้ทั้ง Pay per view, DVD, VCD, Cable TV น้อยลง และกำลังถูกแทนที่ด้วย “แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง”
“ตอนนี้ต้องยอมรับว่าแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งมาแรงในตลาดโลก พอเป็นสตรีมมิ่ง ทุกคนวิ่งหาคอนเทนต์ และคอนเทนต์หนังไทย ตอนนี้เนื้อหอม ทุกคนมอง และให้ราคาดีมาก
ในอดีตมี Home Entertainment เช่น DVD เป็นรายได้หลัก เมื่อทำหนังเสร็จ เข้าโรงฉาย จะต่อด้วย DVD แต่ทุกวันนี้เป็นสตรีมมิ่ง ดังนั้นเราต้องโฟกัส และพัฒนาอุตสาหกรรมหนัง ให้ทั้งฉายในโรงที่ไทย และเป็นสินค้าส่งออก ทำสินค้า local ออก global ให้ได้ ผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ไม่ว่าจะเป็นค่าย Netflix, Disney+, HBO Max รวมถึงแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งจากเอเชีย ซึ่งสามารถนำพาคอนเทนต์ไปทั่วโลก ดังนั้นเราต้องพัฒนาหนังไทย เป็นฮอลลีวูดให้ได้”
ในปี 2020 เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ร่วมทุนผลิตภาพยนตร์ไทย 11 เรื่อง ขณะที่ปี 2021 จะผลิตภาพยนตร์ไทยเพิ่มขึ้นเป็น 20 กว่าเรื่อง จาก 6 ค่ายในเครือ ได้แก่ M Pictures, M๓๙, Transformation Film, CJ Major Entertainment, TAI Major และ รฤก โปรดักชั่น ถือเป็นการผลิตเพิ่มขึนเท่าตัว จากที่เครือเมเจอร์ฯ เคยผลิตปีละ 10 – 12 เรื่อง
เมื่อเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ขยับมาโฟกัสการเป็น “Content Provider” มากขึ้น และผลักดันคอนเทนต์ให้ไปอยู่บนแพลฟตอร์มสตรีมมิ่ง ตอบโจทย์การเพิ่มโอกาสสร้างรายได่เพิ่มขึ้น นั่นคือ
1. ร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์ สร้างหนังไทย ทำให้เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ได้ Margin จากส่วนของการเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ ตามสัดส่วนการลงทุนสร้างคอนเทนต์หนังเรื่องนั้นๆ นอกเหนือจากรายได้จากหนังที่เข้าฉาย
ยกตัวอย่าง ในอดีตเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เป็นโรงภาพยนตร์อย่างเดียว เมื่อเอาหนังมาฉายที่โรงเมเจอร์ฯ รายได้แบ่งคนละครึ่งกับผู้ผลิต
แต่สำหรับโมเดลการร่วมลงทุนสร้างคอนเทนต์ด้วยกัน จะทำให้เมเจอร์ฯ ได้ทั้งรายได้ของหนัง ที่แบ่งกันระหว่างผู้ผลิต กับเมเจอร์ฯ ในฐานะเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์ และเนื่องจากเมเจอร์ฯ เป็นผู้ร่วมลงทุนสร้างคอนเทนต์ด้วย จึงมีรายได้เพิ่มจากส่วนของผู้ผลิตคอนเทนต์อีกทาง ตามสัดส่วนที่ตกลงกับพาร์ทเนอร์
เช่น กรณีอีเรียมซิ่ง ทำรายได้ 200 ล้านบาท ทางเมเจอร์ฯ และผู้ผลิตคอนเทนต์ นอกจากได้คนละ 100 ล้านบาทแล้ว เมเจอร์ฯ ยังได้รายได้จากส่วนของผู้ผลิตคอนเทนต์อีกด้วย นั่นคือ ในจำนวนเงิน 100 ล้านบาทของผู้ผลิตนั้น “เมเจอร์ฯ” จะได้ Margin จากส่วนนี้เพิ่มเข้ามา
“อย่างหนังอีเรียมซิ่ง รายได้ 200 ล้านบาท ทางเมเจอร์ฯ ได้ 100 ล้านบาท – ผู้ผลิตหนังได้ 100 ล้าน แต่ในรายได้ส่วนผู้ผลิตนั้น เมเจอร์ฯ เป็นเจ้าของ 70% เท่ากับว่าหนังเรื่องนี้ เมเจอร์ฯ ได้ไป 170 ล้านบาท จาก 200 ล้านบาท
เพราะฉะนั้น Business Model ที่เราทำใหม่นี้ ถ้าหนังเรื่องไหนทำเงินได้ดี จะทำให้ Margin ที่เมเจอร์ฯ ได้รับ มากขึ้น แต่ถ้าหนังไม่ได้เงิน เราก็ไม่ได้ Margin หรือถ้าขาดทุน อาจดึงเรานิดหน่อย”
2. รายได้จากสตรีมมิ่ง
“เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” ไม่ได้มองแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเป็นคู่แข่งที่จะมาแย่งฐานคนดูจากธุรกิจโรงภาพยนตร์ หากแต่มองสรีมมิ่ง เป็นช่องทางกระจายคอนเทนต์ภาพยนตร์ไทยไปในวงกว้าง ทั้งในระดับเอเชีย และระดับโลก
ปัจจุบันเมเจอร์ ยังไม่ได้ Exclusive คอนเทนต์กับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งรายใด โดยโมเดลการสร้างรายได้จากการนำคอนเทนต์หนังไทย ขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง โดยมีหลายโมเดล เช่น รายได้จากการขายขาด, รายได้รูปแบบ Revenue Sharing
“หนังทุกเรื่องของเรา จะเข้าสตรีมมิ่ง เพราะสตรีมมิ่ง คือ Window ที่เข้ามาทดแทนตลาด Home Entertainment แล้ว และทุกวันนี้สตรีมมิ่งใหญ่ขึ้น
ในอุตสาหกรรมหนังทั่วโลก ถ้าหนังเข้าฉายในโรงแล้ว จะเข้าสตรีมมิ่ง แต่ถ้าเรื่องไหนที่ลงสตรีมมิ่งเลย จะไม่เข้าโรงหนัง ซึ่งข้อดีของการที่หนังเรื่องนั้นๆ เคยฉายในโรงมาก่อน ทำให้มี Story Detail ของคอนเทนต์นั้นๆ เป็นที่รู้จัก และเมื่อลงสตรีมมิ่ง คนจะเข้าไปดูคอนเทนต์ที่เขารู้จัก
แต่เราไม่ได้ขายให้สตรีมมิ่งเจ้าเดียว ใครให้เรามาก เราก็ขาย เพราะฉะนั้นเป็นโอกาสของหนังไทย ไม่ใช่แค่เข้าโรงหนังในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือในเอเชียอีกต่อไปแล้ว แต่ผลักดันไปถึงสตรีมมิ่ง ซึ่งทุกวันนี้คนในโลก blend ไปหมด คนไทย และคนทั่วโลกดูหนังเราได้หมด เพราะไปด้วยแพลตฟอร์ม หรือ New Model ไปหมดแล้ว”
นอกจากเป็นหนังในเครือเมเจอร์ฯ แล้ว ยังมี Content Provider ข้างนอก มีหนังไทยป้อนเข้าฉายโรงหนัง เช่น GDH 4 เรื่อง, สหมงคลฟิลม์ 7 เรื่อง, ไฟว์สตาร์ 3 เรื่อง และหนังไทยค่ายอื่นๆ
“เราหวังให้หนังไทยเติบโต มีส่วนแบ่งการตลาด 50% เพื่อพัฒนาก้าวสู่ “Tollywood” (Thailand + Hollywood) of the world ที่คนทั่วโลกรู้จัก นอกเหนือจาหนังฮอลลีวูด และบอลลีวูดในอินเดีย”
2. Technology นำเสนอโปรโมชั่น และเข้าถึงลูกค้าแบบ Personalization
เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ วางนโยบาย Major 5.0 เพื่อยกระดับองค์กรไปสู่ “Total Digital Organization” ในปี 2021 จึงได้ใช้งบไม่ต่ำกว่า 100 – 200 ล้านบาทในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น และฉลาดขึ้น ที่ตอบโจทย์องค์กร และการให้บริการผู้บริโภค เช่น
– หลังจากนำตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ E Ticket มาให้บริการลูกค้า ได้พัฒนาต่อเป็น Seamless Ticket ที่ลูกค้าสามารถซื้อตั๋วหนังผ่านแอปฯ และนำมาสแกนที่ตู้ แล้วเดินเข้าโรงหนังได้ทันที
– ระบบ AI & ML เป็นระบบ Movie Recommendation Engine เพื่อส่งมอบโปรโมชั่นที่ตรงใจลูกค้ามากขึ้นแบบ Personalization หรือ One-on-One Offering เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้าที่แตกต่างกัน
– เปลี่ยนมาใช้ Cashless ด้วยการให้บริการบัตรเงินสด M Cash
– ขยายฐานการขายตั๋วผ่านพาร์ทเนอร์ ทุกธนาคาร และระบบ Payment ต่างๆ
– พัฒนาแอปพลิเคชันเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ให้เป็น Super App เพื่อเป็นช่องทางการขายตั๋วผ่าน Mobile Ticketing 100%
– Integrate ระบบขายตั๋ว ระบบ M GEN และ Movie Content ในแอปฯ เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ และการใช้ Data มาวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อทำ Maximize Yield Management คล้ายระบบ Revenue Optimization ของสายการบิน เพื่อให้การจัดโปรแกรมรองฉายได้ตรงใจแบบ Real-time มากขึ้น
– เปิดตัว M GEN Next ปรับแพลตฟอร์ม Loyalty ครั้งใหญ่ ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าที่เป็นกลุ่ม Heavy User จะเหมาะกับโปรแกรม M PASS และลูกค้าทั่วไป หรือ Light User เหมาะกับ M GEN NEXT
3. Trading ต่อยอดความสำเร็จธุรกิจป๊อปคอร์น สู่การขยายช่องทางขายผ่าน Modern Trade
ด้วยความที่ช่วง COVID-19 “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” ทดลองขายป๊อปคอร์น ผ่านแอปพลิเคชัน Food Delivery เพื่อจัดส่งตรงจากโรงภาพยนตร์ ไปให้ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นป๊อปคอร์น ถังใหญ่ ขนาด 355 ออนซ์, Pop To Go บรรจุในถุงซิปล็อค ขนาด 75 ออนซ์, POP STAR เป็นป๊อปคอร์นพรีเมียม บรรจุในกระป๋อง ขนาด 60 ออนซ์
รวมทั้งขยายช่องทางการขายป๊อปคอร์น เข้าไปในอีเว้นท์ต่างๆ เช่น กีฬา คอนเสิร์ต Pop To Go ในห้างสรรพสินค้า
หลังจากจำหน่ายป๊อปคอร์น ทั้งรูปแบบ Delivery และเข้าไปตามงานอีเว้นท์ ปรากฏว่าได้การตอบรับที่ดีจากลูกค้า ทำให้ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” มองสเต็ปต่อไปถึงการสร้างธุรกิจใหม่ นั่นคือ “Trading”
เริ่มด้วยการขยายไลน์สินค้า เปิดตัว “ป๊อปคอร์น พรีเมียม POPSTAR” ใน 3 รูปแบบคือ แบบซอง, แบบเข้าไมโครเวฟ, และป๊อปคอร์นบรรจุกระป๋อง พร้อมทั้งเตรียมขายผ่าน Modern Trade เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต
ทั้งนี้ ป๊อปคอร์นของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ที่ขายหน้าโรงภาพยนตร์ กับที่ Modern Trade แตกต่างกันตรงที่ป๊อปคอร์นที่ขายหน้าโรงภาพยนตร์ เป็นป๊อปคอร์นสด คือ ผลิต แล้วจำหน่ายให้ลูกค้าทันที ขณะที่ป๊อปคอร์นในบรรุจภัณฑ์ที่วางขายใน Modern Trade เป็นป๊อปคอร์นแบบทรงกลม หรือทรงเห็ด โดยเมเจอร์ฯ ใช้วิธีจ้างผู้ผลิตหลายราย ให้ผลิตสินค้า และให้บริษัทข้างนอก กระจายสินค้าเข้าร้านค้า
“ทำป๊อปคอร์นขายผ่าน Delivery ช่วงแรก รายได้ไม่กี่แสน ตอนนี้ทำไปทำมา เดือนที่แล้ว เราขึ้นอันดับ 1 ใน Shopee ทำให้เราเห็นว่าเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ มีฐานแฟนเยอะกว่าที่เราคิด
เพราะฉะนั้นวันนี้ แตกต่างจากสมัยก่อนที่เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ขายสินค้าอยู่แต่ในสาขาของเรา แต่วันนี้เราจะไม่อยู่เฉยๆ แล้วขายของที่โรงภาพยนตร์อย่างเดียว ไม่ได้แล้ว เราจะเปิดเกมรุกขายทุกอย่างที่มีแบรนด์ มีโปรดักต์อยู่”
ทั้งนี้ ปี 2019 เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ มีรายได้จากการขายป๊อคอร์นอย่างเดียว 2,000 กว่าล้านบาท
ปี 2021 ตั้งเป้ายอดขายป๊อปคอร์นที่จำหน่ายนอกโรงภาพยนตร์ ไม่ว่าจะผ่านช่องทาง Modern Trade, งานอีเว้นท์ อยู่ที่ 200 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของยอดขายรวมป๊อปคอร์น 2,000 ล้านนบาท
ต่อไปในกลุ่มธุรกิจ Trading “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” ไม่ได้มองแค่ขายป๊อปคอร์นเท่านั้น แต่มองถึงการต่อยอดความสำเร็จของคอนเทนต์ภาพยนตร์ของเครือเมเจอร์ฯ ที่ร่วมทุน มาสู่การขาย License คอนเทนต์นั้น เช่นเดียวกับโมเดล Disney ที่ขาย License
ตามดูหนังฮอลลีวูด เข้าฉายปี 2021 และอัพเดทแผนขยายสาขาเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์
ส่วนภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่เข้าฉายในปีหน้า มีประมาณ 210 เรื่อง ส่วนหนึ่งเป็นภาพยนตร์ที่เลื่อนฉายจาก ปีนี้ ในช่วง COVID-19 เป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่คาดว่าจะทำเงิน
เช่น Black Widow, Godzilla VS Kong, Fast & Furious 9, Mission : Impossible 7, Spider-Man Sequel, The Matrix 4, Venom 2, The Conjuring 3, Mortal Kombat, The King’s Man, Morbius, No Time to Die, A Quiet Place Part 2, Infinite, Top Gun 2 : Maverick, Minions : The Rise of Gru, Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings, Jungle Cruise, The Suicide Squad 2, Dune, The Eternals
สำหรับแผนการขยายสาขาในปี 2021 “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” เตรียมลงทุนขยายสาขาในต่างจังหวัด 8 สาขา 24 โรง และสาขาในกัมพูชา อีก 2 สาขา 6 โรง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการชมภาพยนตร์ไทย โดยเฉพาะภาพยนตร์ภูมิภาค (Regional Film) คือ ภาพยนตร์ที่นักแสดงพูดภาษาถิ่นของแต่ละภาค
เนื่องจากที่ผ่านมามีภาพยนตร์ Regional Film ได้รับการตอบรับจากลูกค้าในแต่ละภูมิภาคเป็นอย่างดี ภาคอีสาน เช่น ภาพยนตร์เรื่อง นาคี ๒ ทำรายได้กว่า 400 ล้านบาท, ส่ม ภัค เสี่ยน ทำรายได้ไปกว่า 200 ล้านบาทไทบ้านเดอะ ซีรีส์ ภาคใต้ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง โนราห์, มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ ส่วนภาษาเหนือ ในปีหน้าจะมีภาพยนตร์เรื่อง ส้มป่อย เป็นต้น
ทั้งนี้ ปัจจุบัน “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป” มีสาขาที่เปิดให้บริการรวมทั้งสิ้น 172 สาขา 817 โรง 185,874 ที่นั่ง แยกเป็น
– สาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 47 สาขา 357 โรง 81,388 ที่นั่ง
– สาขาในต่างจังหวัด 117 สาขา 421 โรง 96,037 ที่นั่ง
– สาขาในต่างประเทศ 8 สาขา 39 โรง 8,449 ที่นั่ง
“เมเจอร์ฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์มา ไม่เคยขาดทุน ในฐานะ CEO เราคุยกับนักลงทุน หรือ Shareholder เขาเข้าใจว่าเจอ COVID-19 และยังเชื่อมั่นเราอยู่ แต่คำถามที่ผู้ถือหุ้นถามคือ คนยังดูหนังอยู่หรือเปล่า ซึ่งเราพบว่าคนไทยยังมีไลฟ์สไตล์การดูหนัง เห็นได้จากเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม Animation “Demon Slayer” เข้าฉาย IMAX วันแรกทำรายได้ 10 ล้านบาท และถึงวันนี้หลักร้อยล้าน จากเดิมตั้งเป้ารายได้ไว้ 30 ล้านบาท นี่คือพลังของคอนเทนต์
ผมถือว่า COVID-19 เป็นประสบการณ์ที่ทำให้เราแข็งแรงขึ้น ทำอะไรใหม่ๆ อย่างวันนี้เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เป็น Content Provider ที่ลุกขึ้นมาทำคอนเทนต์มากขึ้น และต่อยอดสู่แลพตฟอร์มสตรีมมิ่ง รวมทั้งทำ Trading ซึ่งเราตั้งเป้าปี 2021 ตัวเลขของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ จะกลับมาโตแบบ “V Shape” ให้ได้
การทำธุรกิจวันนี้ ต้อง Try and Error เมื่อคิดได้ ต้องกล้าทดลองทำ และกล้าเปลี่ยนแปลง เพราะการทำธุรกิจโมเดลเดิมๆ ไม่พอแล้ว” คุณวิชา กล่าวทิ้งท้าย