HomePR Newsประสานพลังชุมชน-รัฐ-เอกชน แก้ปัญหาขยะพลาสติกล้นทะเล เตรียมเปิดวิสาหกิจชุมชนแปรรูปขยะพลาสติกครบวงจรแห่งแรก ต้นแบบที่บ้านอำเภอ ชลบุรี [PR]

ประสานพลังชุมชน-รัฐ-เอกชน แก้ปัญหาขยะพลาสติกล้นทะเล เตรียมเปิดวิสาหกิจชุมชนแปรรูปขยะพลาสติกครบวงจรแห่งแรก ต้นแบบที่บ้านอำเภอ ชลบุรี [PR]

แชร์ :

เมื่อเร็วๆ นี้ ชุมชนบ้านอำเภอ เทศบาลตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี ร่วมกับ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) และ บริษัท พรีเชียส พลาสติค แบงค็อก จำกัด ได้ประกาศความร่วมมือเป็นพันธมิตรเพื่อเปิดตัว วิสาหกิจชุมชนแปรรูปขยะพลาสติคช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติคล้นทะเลฝั่งตะวันออก โดยเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นชุมชนอัพไซคลิ่ง (Upcycling) ที่นำขยะพลาสติกจากทะเลมาแปรรูปเป็นวัสดุก่อสร้างได้สำเร็จพร้อมจำหน่ายเพื่อใช้งานเป็นแห่งแรกของประเทศไทย เป็นการจับมือระหว่าง ชุมชนคนในพื้นที่ กับ หน่วยงานรัฐระดับเทศบาล บริษัทเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหาขยะพลาสติคในทะเลให้กลายเป็นการสร้างประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมและสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน นำร่องต้นแบบแห่งแรกที่ชุมชนบ้านอำเภอ เทศบาลตำบลนาจอมเทียน จังหวัดชลบุรี และมีเป้าหมายภายใน 5 ปี จะแปรรูปขยะทะเลเป็นวัสดุก่อสร้างทั้งหมด พร้อมขยายผลสู่ชุมชนอื่นในพื้นที่ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

กว่าจะจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเพื่อประกอบกิจการเพื่อสังคม แปรรูปขยะในวันนี้ได้นั้น ชุมชนได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน อาทิเช่น สนับสนุนงบประมาณในการออกสูตรผสมสำหรับทำบล็อกจากเศษขยะพลาสติกทะเลจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้แผนงานวิจัยทะเลไทยไร้ขยะ รวมไปถึงได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน อาทิ MQDC ช่วยด้านการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการพัฒนาวัสดุก่อสร้างไปใช้งานจริงในภาคอสังหาริมทรัพย์โดยมีพันธมิตร บริษัท พรีเชียส พลาสติค แบงค็อก จำกัด สนับสนุนการจัดเวิร์คช้อปสาธิตการใช้อุปกรณ์อัดบดขยะ ผลักดันให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนบ้านอำเภอให้สามารถผลิตสินค้าและได้มีการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

นางอัจฉรา ทับขัน ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนบ้านอำเภอเพื่อแปรรูปขยะพลาสติคจากทะเลมาเป็นวัสดุก่อสร้างสำเร็จรูปพร้อมใช้งานนี้ ถือว่าเป็นกลไกหนึ่งในการบริหารจัดการขยะพลาสติคในทะเล ที่เริ่มต้นจากความร่วมมือของชุมชนบ้านอำเภอ กับเทศบาลนาจอมเทียนที่ช่วยกันเก็บขยะพลาสติคจากทะเลไว้ ซึ่งขยะเหล่านี้มีมากถึง 1,140 ตัน/ปี และขยะจากกิจกรรมการประกอบอาชีพประมงในพื้นที่ 18.18 ตัน/ปี เมื่อเก็บไว้แล้วเราก็หาทางทำให้มันมีมูลค่าขึ้นมา การที่เราได้รับความร่วมมือช่วยเหลือจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ในประเทศไทยรวมถึงได้เรียนรู้โนฮาวจากภาคเอกชนเกี่ยวกับการแปรรูปขยะพลาสติคจนถึงขั้นผลิตออกมาเป็นวัสดุก่อสร้างและนำไปใช้งานได้ในที่สุดนั้น นับว่ามีความยั่งยืนในการช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติคในทะเล  จากสภาพแวดล้อมในพื้นที่ๆ มีปัญหาจากขยะได้ทำลายสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล สัตว์และพืขทะเลมีความลำบากในการดำรงชีวิต  ฉะนั้น การเปิดวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนแบบบูรณาการนี้จึงเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เป็นการยกระดับการบริหารจัดการขยะพลาสติคอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

“ในส่วนของเทศบาลนาจอมเทียนเราได้สนับสนุนผลักดัน เรื่องการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม  และกำหนดเป้าหมายให้ชายหาดบ้านอำเภอ เป็นสถานที่ทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม แบบครบวงจร อันดับต้นๆ ของประเทศ ทั้งกิจกรรม เก็บขยะทะเล พาย SUP เก็บขยะในคลอง วิสาหกิจชุมชน Up Cycling   งานวิ่งเก็บขยะ ระดับประเทศ และงานแสดงนวัตกรรมด้านอัพไซคลิ่งระดับโลก โดยความร่วมมือจากศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC by MQDC) โดยเทศบาลเตรียมผลักดันกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมหลายฉบับ เพื่อให้เทศบาลตำบลนาจอมเทียน เป็นเทศบาลต้นแบบด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมของ EEC  อาทิ การปรับปรุงพื้นที่สาธารณะ การห้ามสูบบุหรี่บนชายหาด การจัดหารถเก็บขยะบนชายหาด และการติดตั้งเครื่องดักขยะในลำคลอง รวมทั้งจัดกิจกรรมช่วยกระตุ้นให้ชุมชนเห็นความสำคัญของการจัดเก็บขยะในพื้นที่ย่างต่อเนื่องและเลือกให้เหมาะสมกับพื้นที่ เช่นรณรงค์ให้ชุมชนเก็บขยะมาแลกกับไข่ไก่ เพื่อช่วยลดปัญหาค่าครองชีพและส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไปด้วย ที่สำคัญเป็นการแลกเปลี่ยนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” นางอัจฉรากล่าว

นายเวคิน ตั้งกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) พันธมิตรจากภาคอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า MQDC ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกลุ่มอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) จิตอาสาชุมชนในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โรงเรียน สถาบันการศึกษา เทศบาลตำบลนาจอมเทียน ตลอดจนเอกชนในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาและกระตุ้นจิตสำนึกรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ทำร่วมกัน อาทิ กิจกรรมรณรงค์เก็บขยะทะเลประจำเดือน งานเดินวิ่งเก็บขยะ “รักษ์ทะเล เสน่ห์บ้านอำเภอ” แคมป์เยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม (Little Heroes) โครงการขวดแลกกล้า (นำขวดน้ำมาแลกต้นกล้าเศรษฐกิจ) โครงการพากล่องนมกลับบ้าน โดยตั้งเป้าลดขยะในพื้นที่ 2.5 ตัน / เดือน ตลอดจนโครงการขยะ10 ชิ้นเรียนภาษาอังกฤษฟรี เพื่อส่งเสริมทักษะวิชาความรู้ให้กับเด็กในพื้นที่ ซึ่งหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ผ่อนคลายลง กิจกรรมต่างๆ ก็จะสามารถดำเนินการได้ตามแผนงานต่อไป

โดย MQDC เล็งเห็นว่า ตลอดระยะเวลาในการร่วมอนุรักษ์ในพื้นที่กว่า 3 ปี ชุมชนบ้านอำเภอถือเป็นชุมชนที่เข้มแข็งในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กอปรกับมีความตั้งใจในการร่วมหาแนวทางต่างๆ เพื่อลดปริมาณขยะในพืนที่และนำมาเป็นวัสดุทดแทนที่เกิดประโยชน์ เราจึงผสานความร่วมมือกับศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC by MQDC) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แนะนำพันธมิตรเครือข่ายเข้ามาร่วมต่อยอดในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานเป็นวัสดุก่อสร้างเพื่อใช้งานในโครงการอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ MQDC จึงซื้อวัสดุก่อสร้างอัพไซคลิ่งจากวิสาหกิจชุมชนนี้ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของชุมชนให้ก้าวหน้าได้ตามเป้าหมาย เป็นการสร้างรายได้แก่ชุมชนในระยะยาว ซึ่งทุกฝ่ายต่างได้ประโยชน์โดยเฉพาะชุมชนและผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ที่จะได้สภาพแวดล้อมที่ดีกลับคืนไปและยังมีรายได้ทางเศรษฐกิจกลับไปอีกด้วยสอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กรของ MQDC และพันธมิตรที่ร่วมโครงการนี้

“MQDC จะจัดซื้อวัสดุก่อสร้างแปรรูปจากขยะพลาสติคที่ผลิตจากวิสาหกิจชุมชน มาใช้ใน 2 รูปแบบ ได้แก่ ใช้ในพื้นที่บางส่วนของโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อพัฒนาสถานที่ต่างๆ ในชุมชนโดยรอบ โดยเริ่มจากการสั่งซื้ออิฐบล็อกมูลค่า 250,000 บาท เพื่อมอบให้โรงเรียนบ้านอำเภอ นำไปจัดสร้างกำแพงของโรงเรียนต่อไป”นายเวคิน กล่าว

นายอนุสรณ์ สายนภา ประธานกลุ่มอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ตัวแทนชุมชนบ้านอำเภอ กล่าวว่า การผลักดันให้เกิดวิสาหกิจชุมชนบ้านอำเภอให้เกิดขึ้นภายในปี 2564 จะมีการนำขยะพลาสติกทะเลรวมที่ไม่ต้องคัดแยกผลิตเป็นคอนกรีตบล็อกก่อกำแพงโรงเรียนบ้านอำเภอ และผลิตเป็นบล็อกปูพื้นสำหรับปูพื้นที่สาธารณะในแลนด์มาร์คของชุมชนบ้านอำเภอ และคาดว่าภายในระยะเวลา 5 ปี หลังจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนสำเร็จ ขยะทะเลจะถูกนำไปใช้ผลิตเป็นวัสดุก่อสร้างทั้งหมด และชุมชนบ้านอำเภอจะเป็นพี่เลี้ยงสามารถขยายผลไปสู่ชุมชนพันธมิตรอื่นๆ และอาจขยายผลในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ต่อได้

“วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมนี้จัดตั้งขึ้นจากกลุ่มอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล) ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พบเห็นขยะทั้งจากชุมชนวันละ 37 ตัน และขยะตามฤดูการที่พัดมาจากทะเล เป็นปัญหาที่ยากต่อการแก้ไข จนทราบว่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้คิดค้นงานวิจัยด้านวัสดุก่อสร้างที่ผลิตมาจากขยะพลาสติก ได้ประสานงานระหว่างสถาบันและชุมชนเรื่อยมา จึงเกิดเป็นวิสาหกิจชุมชน บ้านอำเภอ ที่นำขยะพลาสติกมาผ่านกระบวนการเปลี่ยนรูปเป็นวัสดุก่อสร้างเพื่อจำหน่าย แห่งแรกในประเทศไทย มีเป้าหมายให้เป็นเป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างงาน สร้างอาชีพ และห้องทดลองเพื่อพัฒนาวัสดุใหม่ๆ เป็นผู้นำในการรณรงค์เรื่องการจัดการขยะชุมชนอีกด้วย คาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ หากสถานการณ์โควิดผ่อนคลายลงทางวิสาหกิจชุมชนก็จะมี เครื่องจักรเข้ามาเพิ่ม เพื่อดำเนินการอัพไซคลิ่งขยะพลาสติคต่อไป”นายอนุสรณ์กล่าว

ดร.ประชุม คำพุฒ หัวหน้าหน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และรองผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจเชิงพาณิชย์ สำนักความร่วมมืออุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี กล่าวว่า  “สถาบันได้เข้ามามีส่วนร่วมกับชุมชนในการให้ความรู้ทั้งด้านวิชาการผ่านงานเสวนา กิจกรรมรณรงค์เก็บขยะทะเล แคมป์เยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงการฝึกสอนชุมชนในการทดลองทำอิฐจากวัสดุทดแทนรวมทั้งจัดหาอุปกรณ์เพื่อจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน โดยได้จัดหาเครื่องจักรในการบดขยะพลาสติกและอุปกรณ์สำหรับขึ้นรูปอิฐบล็อกและอิฐปูพื้นเพื่อช่วยสนับสนุนโครงการนี้อีกทางหนึ่ง”

นายดอมินิก ภูวสวัสดิ์ จักรพงษ์ ผู้บริหาร บริษัท พรีเชียส พลาสติค แบงค็อก จำกัด กล่าวว่า ได้ให้การสนับสนุนการจัดสร้างโรงเรือนเพื่อการประกอบวัสดุก่อสร้างดังกล่าว มูลค่า 150,000 บาท และสนับสนุนเครื่องจักรสำหรับบดและหลอมพลาสติกเพื่อขึ้นเป็นชิ้นงานต่างๆ รวมทั้งจัดทำเวิร์คช้อปสาธิตการแปรรูปขยะพลาสติอัพไซคลิ่งให้กับเยาวชนและผู้ที่สนใจ เพื่อให้สามารถมีตัวอย่างและมุมมองในด้านการแปรรูปขยะโดยใช้เครื่องจักรขนาดเล็กที่เหมาะสมสามารถแปรรูปขยะพลาสติคในชีวิตประจำวันได้ตลอดเวลา

สำหรับชุมชน หรือ ผู้สนใจ ที่จะเข้ามาเรียนรู้หรือสนับสนุนด้านการจัดการขยะพลาสติคอัพไซคลิ่ง สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ นายอนุสรณ์ สายนภา ประธานกลุ่มอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก โทร. 081 901 5679 หรือติดตามข่าวสารได้ที่ FB: รักษ์ทะเลเสน่ห์บ้านอำเภอ


แชร์ :

You may also like