HomeBrand Move !!“ค้าปลีกไทย” สูญเงิน 5 แสนล้าน เหตุจากโควิด! สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเสนอรัฐ 5 มาตรการเร่งฟื้นฟู

“ค้าปลีกไทย” สูญเงิน 5 แสนล้าน เหตุจากโควิด! สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเสนอรัฐ 5 มาตรการเร่งฟื้นฟู

แชร์ :

อีกหนึ่ง Sector ในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์ COVID-19 คือ ภาคธุรกิจค้าปลีก เพราะเจอโจทย์ใหญ่รอบด้าน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

– เผชิญกับการแพร่ระบาด COVID-19 ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 – 2564 และเมื่อปีที่แล้วถูก Lockdown ในช่วงเวลาหนึ่งของปีก่อน ทำให้ต้องปิดให้บริการ Physical Store ชั่วคราว

– เศรษฐกิจ และกำลังซื้อภายในประเทศถดถอย

– ลูกค้านักท่องเที่ยวต่างประเทศไม่สามารถเดินทางมาได้

– เมื่อจะไปรุก e-Commerce กลายเป็นว่าเจอกับแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ ที่มีความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยี บุคลากร และเครือข่ายธุรกิจทั่วโลก

สิ่งเหล่านี้กลายเป็นพายุโหมกระหน่ำค้าปลีกไทยอย่างหนัก! ทำให้ในปี 2563 ได้ส่งผลกระทบต่อค้าปลีกไทยสูญ 500,000 และคาดว่าไตรมาส 1/2564 ดัชนีค้าปลีก ยังคงติดลบราว 7 – 8%

ด้วยเหตุนี้เอง สมาคมผู้ค้าปลีกไทย” ขอภาครัฐวางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและเร่งด่วน เพื่อลดอัตราการว่างงาน และเพิ่มอัตราการจ้างงานใหม่ เสนอภาครัฐทดลอง เพิ่มทางเลือกการจ้างงาน เป็นรายชั่วโมง จัดเก็บภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่บาทแรก ในกลุ่มธุรกิจ E-Commerce และควบคุม E-Commerce ในการไม่ขายสินค้าด้วยราคาต่ำกว่าทุน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อ SME ไทย และระบบค้าปลีกไทยโดยรวม

 

ปี ’63 COVID-19 ทำค้าปลีกไทยติดลบ 12% สูญเงิน 500,000 ล้านบาท – คาดไตรมาส 1/64 ติดลบ 8%

คุณญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ฉายภาพว่า ธุรกิจค้าปลีกไทยถือเป็นฐานรากสำคัญของระบบเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศ เนื่องจากเป็นระบบที่ครอบคลุมตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ ซึ่งมีผู้ประกอบการในห่วงโซ่ค้าปลีกรวมทั้งหมดในระบบ 1.3 ล้านราย และมีการสร้างงานโดยตรงกว่า 6.2 ล้านราย

ดังนั้น เมื่อค้าปลีกได้รับผลกระทบ เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ดัชนีค้าปลีกสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ปี 2563 ลดลงจาก ปี 2562 จาก 2.8% มาเป็น ติดลบ 12.0% ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ติดลบถึงสองหลัก (ตามตารางดัชนีค้าปลีก สมาคมผู้ค้าปลีกไทย 2020 ที่แนบ) ส่งผลกระทบให้ค้าปลีกไทยในปี 2563 สูญเงิน 500,000 ล้านบาท และคาดว่าไตรมาส 1/2564 ดัชนีค้าปลีก ยังคงติดลบราว 7 – 8%

ทำให้เกิดผลเสียหายในวงกว้าง เกิดอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น รายได้ลดลง หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น SME ทยอยปิดตัวลง กำลังซื้อหดหาย จึงจำเป็นต้องเร่งเยียวยาในระบบค้าปลีกโดยเร็วที่สุด

Thai Retailer Index

 

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เสนอภาครัฐ 5 มาตรการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ และค้าปลีกไทย

จากความเสียหายที่เกิดขึ้น ทาง สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้เสนอ 5 มาตรการวัคซีนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย โดยเน้นการเกิดขึ้นได้จริงอย่างต่อเนื่องและทันที

1. ภาครัฐทดลองเพิ่มทางเลือกสำหรับอัตราค่าจ้างแบบเป็นรายชั่วโมง

เพื่อเป็นการลดอัตราการว่างงาน และเพิ่มการจ้างงานใหม่ในภาคค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการ โดยการจ้างงานประจำจะยังคงมีอยู่เหมือนเดิม แต่เพิ่มอัตราการจ้างงานแบบเป็นรายชั่วโมง เพื่อเป็นทางเลือก และสอดรับการให้บริการช่วงพีคของวันในแต่ละช่วงให้เกิดประสิทธิภาพการบริการลูกค้าสูงสุด ภาคค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการคาดว่าจะสามารถจ้างงานรายชั่วโมงได้ทันทีไม่น้อยกว่า 52,000 อัตรา และ เพิ่มได้ถึง 200,000 อัตราในระยะยาว

 

2. ภาครัฐควรช่วยเหลือ SME โดยให้มีการปล่อยสินเชื่อ (Soft Loan) ผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก

รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันออกมาตรการเพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ SME และ เกษตรกร ทำให้เข้าถึงสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยอัตราพิเศษ

โดยสมาคมฯ ขอเสนอให้ภาครัฐพิจารณาการให้สินเชื่อพิเศษนี้โดยผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก ซึ่งสามารถเข้าถึง SME เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 400,000 ราย ได้โดยตรงและอย่างรวดเร็วและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยแพลตฟอร์มค้าปลีกนี้ ธนาคารจะได้รับการชำระหนี้อย่างตรงเวลาและครบถ้วน เป็นการลดภาระหนี้สูญของธนาคารอีกด้วย

 

3. ภาครัฐต้องเร่งพิจารณาเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนำเข้ากับสินค้าที่ซื้อขายผ่าน E-Commerce/E-Marketplace ที่นำเข้าจากต่างประเทศ

จากข้อมูล ETDA มูลค่า E-Commerce มีมูลค่าราว 300,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีมาตรการควบคุมที่ชัดเจน มีการขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าทุน ไม่มีมาตรการเรื่องการเก็บภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่บาทแรก ทำให้ SME ไทยไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่ง SME ไทยมีการเสียภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มเต็มจำนวนตั้งแต่บาทแรก ถือว่าเป็นการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Trade) และจะสร้างความเสียหายให้กับระบบค้าปลีกไทยในระยะยาว

 

4. ภาครัฐต้องหามาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ

โดยมุ่งไปยังกลุ่มที่มีกำลังซื้อระดับกลางถึงสูงกว่า 8 ล้านราย เพื่อผันเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย ด้วยมาตรการ ลดภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ ทั้งนี้จากวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศได้ กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อเหล่านี้ ซึ่งคุ้นเคยกับการเดินทางไปต่างประเทศ และช้อปปิ้งสินค้าปลอดภาษี ยังมีความต้องการที่จะซื้อสินค้าแบรนด์ต่างๆ ทำให้ต้องหาซื้อสินค้าผ่านทาง Cross Borders หรือ Grey Market

ทางสมาคมฯ เสนอให้กระตุ้นการบริโภคในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูงนี้ โดยเฉพาะสินค้าไลฟ์สไตล์นำเข้า ซึ่งปัจจุบันอัตราภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ในไทยสูงถึง 30% ซึ่งสูงที่สุดใน 15 ประเทศในแถบเอเชีย ทำให้คนหันไปซื้อสินค้าที่ต่างประเทศแทน จึงเสนอให้ทดลองปรับลดภาษีนำเข้าชั่วคราวตามประเภทสินค้า เป็นแบบขั้นบันได เช่น ลดจากเดิม 30% เป็น 20% 15% และ 10% เพื่อให้มีส่วนต่างของอัตราภาษีและไม่เกิดผลกระทบกับแบรนด์ไทย ซึ่งจะสามารถสร้างเงินสะพัดได้กว่า 20,000 ล้านบาท ต่อไตรมาส

 

5. ภาครัฐควรพิจารณาอนุญาตให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าที่หลากหลาย และราคาต่ำได้มากขึ้น จากงานวิจัย พบว่า สินค้าที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อหาเป็นประจำส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคไม่กี่ชนิด อาทิ ข้าวสาร น้ำมันพืช น้ำตาล ซึ่งผลิตโดยผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ทำให้การกระจายรายได้ไปไม่ถึงผู้ผลิตสินค้ารายเล็กอื่นๆ การเปิดให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าร่วมโครงการ ซึ่งนอกจากจะช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้บัตรแล้ว ยังเป็นการกระจายรายได้สู่ผู้ผลิตสินค้าในวงกว้างมากขึ้น ทั้งเกษตรกร ชุมชน และ ผู้ประกอบการ SME

“สมาคมค้าปลีกไทยมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับและให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีกทั่วประเทศ และพร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างสูงสุดกับรัฐบาล เพื่อร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง ผมเชื่อว่าการร่วมมือของทุกภาคส่วนจะเป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยก้าวผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกันได้อย่างดีที่สุด” คุณญนน์ กล่าวปิดท้าย

Thai Retailer

คุณญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย

 


แชร์ :

You may also like