HomeDigitalศูนย์วิจัยเทเลนอร์เปิด 5 เทรนด์เทคโนโลยีที่โลกยุค 2021 ไม่ควรมองข้าม

ศูนย์วิจัยเทเลนอร์เปิด 5 เทรนด์เทคโนโลยีที่โลกยุค 2021 ไม่ควรมองข้าม

แชร์ :

 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เชื่อว่าสำหรับหลายคนคงได้ฟังเทรนด์ด้านผู้บริโภคกันมาหลายเวทีแล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าปี 2021 ที่กำลังเริ่มต้นนี้ เราคงได้ทดลองใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ ๆ อีกมากมาย แถมเป็นชีวิตที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวพันมากขึ้นเรื่อย ๆ เสียด้วย

ด้วยเหตุนี้ ทางศูนย์วิจัยเทเลนอร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยภายใต้เทเลนอร์กรุ๊ป จึงได้ออกมาเผยถึง 5 เทรนด์เทคโนโลยีที่กำลังจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการใช้ชีวิตในปี 2021 และอีกหลายปีต่อไปจากนี้ให้เราได้ฟังกัน โดยคุณบียอน ทาล แซนเบิร์ก ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทเลนอร์ บอกว่าทั้ง 5 เทรนด์ที่กล่าวมาประกอบด้วย

loneliness tech robot

1. เรามาถึงยุคที่ต้องใช้เทคโนโลยีคลายความเหงา (Anti-Loneliness Tech)

น่าเสียดายที่ข้อแรกไม่ใช่เทคโนโลยี 5G และก็ต้องบอกว่าทั้ง 5 ข้อไม่มีคำว่า 5G แทรกเข้ามาแต่อย่างใด โดยคุณบียอนให้เหตุผลว่าที่ไม่กล่าวถึง 5G เนื่องจากมันคือพื้นฐานของทุกอย่างในอนาคตอยู่แล้ว

แต่สิ่งที่ศูนย์วิจัยเทเลนอร์พบและมองว่ามันคือเทรนด์หนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญก็คือ “ความเหงา” เห็นได้จากสถิติในประเทศต่าง ๆ มีผู้คนยอมรับว่าตัวเองรู้สึกเหงามากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นในนอร์เวย์ที่พบตัวเลขนี้คนเหงาเพิ่มขึ้นถึง 10% ในช่วง Pandemic ขณะที่ประเทศไทยนั้น ผลการสำรวจจากมหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อประมาณ 2 ปีก่อนพบว่ามีตัวเลขความเหงาอยู่ที่ราว 40% เลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ เราจึงพบว่า บริษัทเทคโนโลยีที่ให้ความสำคัญกับการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนจึงได้รับความสนใจมากขึ้น เช่น การพัฒนาหุ่นยนต์เสมือนมนุษย์ (โซเฟีย) เมื่อหลายปีก่อน หรือการพัฒนาหุ่นยนต์น่ารัก ๆ อย่างหุ่นยนต์แมวน้ำพาโล เพื่อมาเป็นเพื่อนคลายเหงาให้ผู้สูงอายุ แต่ถ้าไม่อยากไปถึงขั้นนั้น บางทีแชทบอทที่ชวนคุยเก่ง ๆ ก็ช่วยคลายเหงาได้เช่นกัน

2. เทคโนโลยีสีเขียว สิ่งที่ห้ามมองข้าม

ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ให้เหตุผลของการยกเทคโนโลยีสีเขียวขึ้นเป็นหนึ่งเทรนด์ด้านเทคโนโลยีว่า ความท้าทายของการแพร่ระบาด Covid-19 จะผ่านมาแล้วก็จะผ่านไป แต่สิ่งที่จะอยู่กับเรานานกว่านั้นก็คือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม (Climate Change) โดยข้อมูลจาก World Economic Forum ระบุว่า เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 15%

“ปีที่แล้วเราโฟกัสกับการต่อสู้กับ Covid-19 เป็นหลัก แต่พอสถานการณ์ Covid-19 เริ่มดีขึ้น เราก็พบว่า มนุษย์ต้องกลับไปรับมือกับปัญหาสภาพแวดล้อมเหมือนเดิม เรื่องตลกร้ายก็คือ การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 กลับส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อม เพราะเราใช้รถใช้เครื่องบินน้อยลงมาก ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศลดลง” คุณบียอนกล่าว

การพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียวจึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อโลกในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยรักษาป่า เช่น การส่งโดรนเข้าไปสำรวจในป่า และยิงลูกดอกไปปักไว้ที่ต้นไม้เพื่อศึกษาความสมบูรณ์ของป่า หรือเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรที่มีความแม่นยำสูง เช่น การนำหุ่นยนต์น้ำหนักเบามาช่วยดูแลฟาร์ม กำจัดวัชพืช รดน้ำใส่ปุ๋ย ฯลฯ ที่ช่วยลดการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ลดการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างสิ้นเปลืองได้นั่นเอง

cyber security ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ ความปลอดภัย ข้อมูล

3. โลกต้องการโซลูชันเพื่อจัดการพาสเวิร์ด

ทุกวันนี้ มนุษย์มีพาสเวิร์ดให้จดจำมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเพราะในช่วง Pandemic เรามีการสมัครเข้าใช้บริการดิจิทัลเพิ่มขึ้นหลายตัว แถมความคาดหวังของการตั้งพาสเวิร์ดของบรรดาผู้เชี่ยวชาญก็สูงลิ่ว เช่น พาสเวิร์ดของแต่ละแพลตฟอร์มต้องไม่ซ้ำกัน พาสเวิร์ดต้องเดาทางยาก และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งในความเป็นจริง ยากที่จะทำได้ตามนั้นทั้งหมด

เมื่อมนุษย์ทำไม่ได้ หลายคนก็เลยเลือกวิธีที่ง่ายกว่า นั่นคือการตั้งพาสเวิร์ดซ้ำกันบ้าง หรือใช้ตัวเลขที่เดาทางได้ง่ายบ้าง ซึ่งเมื่อถูกเจาะระบบ หรือเกิดข้อมูลรั่วไหลออกไปสู่ภายนอก แฮกเกอร์ที่ได้ข้อมูลเราไปก็สบายแฮ เพราะเขาสามารถใช้ข้อมูลพาสเวิร์ดดังกล่าวไปลองป้อนในแพลตฟอร์มอื่น ๆ จนในที่สุดก็แฮกข้อมูลเราไปได้จากทุกแพลตฟอร์ม

ดังนั้น ศูนย์วิจัยเทเลนอร์จึงคาดการณ์ว่า บริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ จะมีการนำโซลูชั่นที่เกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เอื้อให้ผู้ใช้งาน ใช้งานได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น แต่ยังคงระดับความปลอดภัยเช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็น โซลูชั่นที่ใช้สำหรับการจัดการพาสเวิร์ด (Password manager) หรือการใช้อัตลักษณ์บุคคล (Biometric) เพื่อการยืนยันตัวเอง เช่น ลายนิ้วมือหรือการสแกนม่านตา แทนการจำตัวเลขพาสเวิร์ด ซึ่งโซลูชั่นต่างๆ จะได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น เพื่อให้ตอบโจทย์ประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้งานดิจิทัล

แต่สำหรับคนที่อยากรักษาความลับแบบธรรมดาที่สุด คุณบียอนแนะนำอีกข้อหนึ่งว่า การจดพาสเวิร์ดลงบนกระดาษและเก็บไว้ในที่ปลอดภัยก็เป็นสิ่งที่ทำได้เช่นกัน เพราะแฮกเกอร์ไม่สามารถเข้ามาแฮกสิ่งที่จดอยู่บนกระดาษได้นั่นเอง

4. Society-as-a-Service (SaaS)

เทรนด์การทำงานที่ไหนจากก็ได้ (working from anywhere) กำลังเกิดขึ้นแล้ว ตัวเลขหนึ่งที่สะท้อนได้ดีก็คือ จำนวนนาทีการใช้งาน Microsoft Teams ในเดือนมีนาคม 2020 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน ที่เพิ่มขึ้นกว่า 22 เท่าตัว หรือการคอลล์บน Microsoft Teams ที่เพิ่มขึ้นจาก 20,000 คอลล์ต่อเดือนเป็น 200,000 คอลล์ ในเดือนมีนาคม 2020

ดังนั้น ในปี 2564 นี้ ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ คาดการณ์ว่า โลกแห่งการทำงานจะเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า Society-as-a-service ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกปัจจัยพื้นฐานในการทำงานให้แก่พนักงานสามารถทำงานที่ใดก็ได้ ขณะเดียวกัน บริษัทเอกชนควรเพิ่มทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการทำงานของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปลอดภัยทางไซเบอร์ (cybersecurity) สุขอนามัยทางดิจิทัล (Digital hygiene) ตลอดจนเครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ ที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานแบบ Remote working ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม การจะก้าวสู่โลกการทำงานแบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบได้นั้น สิ่งสำคัญคือการปรับวิธีคิดหรือ Mindset ของพนักงานให้สามารถปรับตัวและยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้ ซึ่งบริษัทควรคำนึงถึงการเพิ่มพูนทักษะหรือ upskilling ทั้งในระดับองค์กรและบุคคล

การทำงานจากระยะไกลยังมีผลต่อบริษัทที่ต้องการรักษาพนักงานเก่ง ๆ เอาไว้ด้วย โดยคุณบียอนยกตัวอย่างประเทศกรีซที่มีนโยบายลดภาษีรายได้ 50% ให้กับคนทำงานต่างชาติที่ทำงานด้านดิจิทัลจากระยะไกลได้ เพื่อดึงดูดคนเก่ง ๆ เอาไว้ในประเทศนั่นเอง

edtech ai app homework แอปตรวจการบ้าน จีน

5. Covid-19 เร่งการมาของ EdTech

เทรนด์เทคโนโลยีข้อสุดท้ายของศูนย์วิจัยเทเลนอร์ก็คือ Covid-19 เร่งการมาของ EdTech เหตุที่กล่าวเช่นนั้นเพราะมีความจริงข้อหนึ่งที่ว่า Covid-19 ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษามากขึ้น โดยในประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่ำ เมื่อ Covid-19 แพร่ระบาด เด็กจำนวนมากถูกตัดขาดออกจากระบบการศึกษาไปเลย ซึ่งหนึ่งในเคสที่ผู้บริหารศูนย์วิจัยเทเลนอร์ยกมาพูดในงานก็คือ เคสของเด็กนักเรียนไทยที่ต้องออกไปนั่งเรียนนอกบ้าน เพราะในบ้านไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตนั่นเอง

ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ยังพบด้วยว่า ในช่วง Covid-19 มีเด็ก 1,600 ล้านคนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ หรือถึงแม้จะมีการเรียนการสอนออนไลน์ แต่เด็กในประเทศยากจนสามารถเข้าถึงการเรียนนี้จากบ้านตัวเองได้เพียง 6% ตรงข้ามกับเด็กในประเทศร่ำรวยที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้จากที่บ้านถึง 87%

ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจึงเป็นโอกาสสำคัญของกลุ่มนักพัฒนาเทคโนโลยี EdTech ให้เข้ามาเติมเต็มช่องว่างดังกล่าว และจากเทรนด์เทคโนโลยีทั้ง 5 ข้อนี้ สิ่งที่ผู้บริหารศูนย์วิจัยเทเลนอร์กล่าวทิ้งท้ายก็คือ ปัญหา Climate Change นั้นรุนแรงกว่าที่คิด และอยู่กับมนุษย์ไปอีกนาน ต่างจากไวรัส Covid-19 ที่อาจจบลงในสักวันหนึ่ง ดังนั้น เทคโนโลยีที่ช่วยลดปัญหาโลกร้อนจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญและร่วมมือกันอย่างมากต่อจากนี้ไปนั่นเอง

Credit Photo : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like