HomeBrand Move !!ปิดฉาก 35 ปี “โตคิว” กับ 10 เรื่องน่ารู้ตำนานห้างญี่ปุ่นลำดับที่ 4 ที่เข้ามาลงทุนในไทย

ปิดฉาก 35 ปี “โตคิว” กับ 10 เรื่องน่ารู้ตำนานห้างญี่ปุ่นลำดับที่ 4 ที่เข้ามาลงทุนในไทย

แชร์ :

Tokyu

หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อปี 2562 “โตคิว” ห้างสรรพสินค้าสัญชาติญี่ปุ่น สาขาพาราไดซ์ พาร์ค (เปิดให้บริการในปี 2558) ได้ปิดตัวลง ถัดมาในปี 2563 โตคิว สาขาเอ็มบีเค เซ็นเตอร์” ซึ่งเป็นสาขาแรกในไทย (เปิดให้บริการในปี 2528) ประกาศปิดกิจการเช่นกัน หลังจากขาดทุนสะสมมาหลายปี ซ้ำยังมาเจอกับสถานการณ์ COVID-19

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

นับเป็นการปิดฉาก “ห้างสรรพสินค้าโตคิว” (Tokyu Department Store) ในประเทศไทย โดยจะเปิดให้บริการวันสุดท้ายในวันที่ 31 มกราคม 2564 นี้

เส้นทางตลอดระยะเวลา 35 ปีของห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นรายนี้ นับเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของธุรกิจค้าปลีกในไทย ที่ควรถูกบันทึกไว้ถึงเรื่องราวการเดินทาง ที่อยู่คู่กับสังคมไทยและคนไทย

Brand Buffet ชวนคุณผู้อ่านมาติดตาม 10 เรื่องน่ารู้ พร้อมภาพบรรยากาศ “โตคิว” ที่กำลังจะปิดตัว และเป็นตำนานห้างฯ ญี่ปุ่นในประเทศไทย

tokyu

ห้างสรรพสินค้าโตคิวที่เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ เปิดให้บริการในไทยมา 35 ปี

 

1. โตคิว เป็นห้างสรรพสินค้าสัญชาติญี่ปุ่นลำดับ 4 ที่เข้ามาลงทุนในไทย

โตคิว เข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทยเมื่อปี 2528 ต่อจากห้างสรรพสินค้าไทยไดมารู ห้างสรรพสินค้าโซโก้ และห้างสรรพสินค้าจัสโก้

โดยเปิดให้บริการที่อาคารมาบุญครองเซ็นเตอร์ ซึ่งในยุคนั้นบริหารโดย “บริษัท มาบุญครองอบพืชและไซโล จำกัด” หรือเอ็มบีเค ในปัจจุบัน

tokyu

 

2. โตคิว = 109

คำว่า “โตคิว” ในภาษาญี่ปุ่น พ้องเสียงกับเลข 109” ดังนั้นบางอาคารของโตคิวกรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น จึงได้ตั้งชื่ออาคารว่า 109

และขณะนี้ทางห้างฯ ได้จัดทำกระเป๋าที่ระลึกรุ่นพิเศษ Memorial Shopping Bag ก่อนปิดกิจการในไทย จำหน่ายในราคา 109 บาท หรือรับฟรีเมื่อสะสมใบเสร็จครบ 3,500 บาท ที่เคาน์เตอร์ลูกค้าสัมพันธ์ ชั้น 1 จำนวน 1,000 ใบ และทุกใบมีหมายเลขกำกับ

tokyu

บรรยากาศลูกค้ามาช้อปปิ้งห้างสรรพสินค้าโตคิว ก่อนปิดกิจการในไทย

 

3. โตคิว เป็นผู้เช่าพื้นที่รายใหญ่อันดับ 2 ของธุรกิจศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ (MBK Center) บนพื้นที่ 12,000 ตารางเมตร

ในรายงานประจำปี 2562 ของ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) รายงานรายชื่อ 10 ผู้เช่าหลักของศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562) พบว่า บริษัท กรุงเทพ-โตคิว สรรพสินค้า จำกัด บนพื้นที่ขนาด 12,000 ตารางเมตร มี 4 ชั้น ครอบคลุมสินค้าหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแผนกเครื่องสำอาง เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายสตรี เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายบุรุษ เสื้อผ้าของเด็ก เสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา เครื่องเขียน ฯลฯ

โตคิว นับเป็นผู้เช่าพื้นที่รายใหญ่อันดับ 2 รองจากบริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เช่าพื้นที่ 14,954 ตารางเมตร

ขณะที่ผู้เช่ารายหลักอื่นๆ ประกอบด้วย บริษัท เอ็ม บี เค ฟู้ด ไอแลนด์ จำกัด เช่าพื้นที่ขนาด 3,087.24 ตารางเมตร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) 1,543.28 ตารางเมตร บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด 1,361.00 ตารางเมตร บริษัท บิ๊ก ฟู้ดคอร์ท จำกัด 632.13 ตารางเมตร บริษัท บิ๊กคัต จำกัด 616.97 ตารางเมตร บริษัท สยามเวลเนสกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 615.49 ตารางเมตร บริษัท เอฟ ฟารีดา อารี บิวตี้ คลีนิค จำกัด 475.93 ตารางเมตร และ บริษัท บาจา (ประเทศไทย) จำกัด เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ 434.65 ตารางเมตร

tokyu

โตคิวเปิดให้บริการวันสุดท้าย 31 มกราคม 2564 ก่อนโบกมือลาจากตลาดไทย

 

4. ติดตั้งมอนิเตอร์ยักษ์ในห้างฯ มิติใหม่การสื่อสารรายการส่งเสริมการขายในยุค 80’s – 90’s

ห้างสรรพสินค้าโตคิว เปิดให้บริการครั้งแรกพร้อมจอทีวีขนาดใหญ่ 20 นิ้ว จำนวน 16 เครื่องเรียงกันเป็นมอนิเตอร์ขนาดยักษ์ เพื่อเผยแพร่รายการส่งเสริมการขายผ่านจอทีวีดังกล่าว พร้อมทั้งเปิดมิวสิควิดีโอจากค่ายเพลงต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทำให้ในเวลานั้นโตคิว เป็นอีกแหล่ง Hang Out ของวัยรุ่นยุค 80’s และนอกจากย่านสยามสแควร์แล้ว ที่นี่ยังเป็นแหล่งที่บรรดาแมวมองมามองหานักแสดงนักร้องหน้าใหม่อีกด้วย

 

5. ครั้งหนึ่งเคยจัดการประกวด “MISS TOKYU” เส้นทางสู่ดวงดาว

เชื่อว่าอีกหนึ่งเรื่องที่หลายคนไม่รู้คือ ห้างสรรพสินค้าโตคิว เคยเป็นผู้สนับสนุนเส้นทางสู่ดวงดาวในยุคแรกๆ ของประเทศไทย ด้วยการจัดการประกวด “MISS TOKYU” ที่ห้างฯ โตคิว และพันธมิตรร่วมกันจัดขึ้น โดยหลายคนได้เข้าสู่วงการบันเทิง และมีชื่อเสียงในยุคนั้น

tokyu

 

6. เป็นหนึ่งในห้างแรกที่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า

รถไฟฟ้าบีทีเอสเปิดให้บริการครั้งแรกในประเทศไทยในวันที่ 5 ธันวาคม 2542  ห้างสรรพสินค้าโตคิว ถือเป็นห้างฯ แรกที่ทำการเชื่อมต่อจากสถานีรถไฟฟ้าตรงเข้าสู่ตัวห้างฯ เพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับลูกค้ามากขึ้น

tokyu

มีทางเชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอส

 

7. 35 ปี กับถุงช้อปปิ้งกว่า 25 ดีไซน์

ตลอดระยะเวลา 35 ปีที่ผ่านมา ห้างสรรพสินค้าโตคิวให้บริการลูกค้าด้วยถุงช้อปปิ้งมากกว่า 25 ดีไซน์ และห้างฯ ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้ถุงกระดาษรีไซเคิลมากว่า 20 ปี

 

8. ส่งความสุขทุกปีใหม่ด้วยขนมโมจิ

ด้วยความเป็นห้างสรรพสินค้าสัญชาติญี่ปุ่น ดังนั้นในทุกปีใหม่ พนักงานห้างฯ จะร่วมแรงร่วมใจกันทำขนมโมจิแบบดั้งเดิม เพื่อสืบสานประเพณีของชาวญี่ปุ่น และแจกขนมโมจิให้กับลูกค้าได้รับประทาน เพื่อความมงคล และโชคดีต้อนรับปีใหม่

tokyu

ถุงกระดาษ และถุงผ้าดีไซน์ ของห้างโตคิวในยุคต่างๆ

 

9. ครอบครัวโตคิว

ห้างสรรพสินค้าโตคิว มองว่าพนักงานทุกคนคือสมาชิกของครอบครัวโตคิวที่มีค่า และประมาณ. 75% ของพนักงานทั้งหมด อยู่กับครอบครัวโตคิวมายาวนานกว่า 20 ปี ดังนั้น แม้ต่อไปห้างฯ จะไม่อยู่แล้ว แต่ทุกคนคือครอบครัวตลอดไป

 

10. ความผูกพันกับสังคมไทย

ไม่เพียงแต่ผูกพันกับพนักงานในองค์กรเท่านั้น แต่ห้างสรรพสินค้าโตคิว ยังผูกพันกับประเทศไทย โดยที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น งานวิ่งมินิมาราธอนที่สวนลุมพินี และบริจาครายได้จากการจัดงานให้กับสวนลุมพินี เปิดรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ ปี 2547 และจัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมไทยต่างๆ เช่น งานลอยกระทง สงกรานต์

tokyu

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา บริษัท กรุงเทพ-โตคิว สรรพสินค้า จำกัด ดำเนินธุรกิจ ห้างสรรพสินค้าโตคิว สาขาเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ประสบกับภาวะขาดทุนติดต่อกันมาหลายปี

ปี 2558: รายได้รวม 1,398,461,082 บาท / ขาดทุน 48,640,948 บาท

ปี 2559: รายได้รวม 1,377,362,195 บาท / ขาดทุน 48,228,227 บาท

ปี 2560: รายได้รวม 1,290,790,220 บาท / ขาดทุน 288,437,791 บาท

ปี 2561: รายได้รวม 1,237,651,050 บาท / ขาดทุน 90,034,335 บาท

ปี 2562: รายได้รวม 1,140,851,741 บาท / ขาดทุน 193,564,674 บาท

tokyutokyu tokyu

tokyu

แผนกซูเปอร์มาร์เก็ตเริ่มทยอยเก็บสินค้า และชั้นวางของ

tokyu

tokyu

ปิดฉากห้างสรรพสินค้าโตคิว อีกหนึ่งตำนานห้างสัญชาติญี่ปุ่นในไทย

 

Source: ห้างสรรพสินค้าโตคิว, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า


แชร์ :

You may also like