HomeBrand Move !!ความท้าทาย “อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย” เมื่อโลกเปลี่ยนสู่ยุค “รถยนต์ไฟฟ้า” และ Insights คนไทยต่อ EV

ความท้าทาย “อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย” เมื่อโลกเปลี่ยนสู่ยุค “รถยนต์ไฟฟ้า” และ Insights คนไทยต่อ EV

แชร์ :

Electric Vehicles (EV)

Credit Photo : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก กำลังมุ่งมาทาง “ยานยนต์ไฟฟ้า” ที่นับวันยอดขายรถยนต์ใหม่ มาจากรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยในปี 2020 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก อยู่ที่ราว 3.24 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ที่มียอดขาย 2.26 ล้านคัน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ถึงแม้ยังเป็นตลาดที่เล็กกว่ารถเครื่องยนต์สันดาป หรือรถใช้พลังงานน้ำมัน แต่เวลานี้รัฐบาลในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ ประเทศแถบยุโรป จีน ญี่ปุ่น กำหนดวิสัยทัศน์ด้าน Green Economy และหนึ่งในนโยบายของการสร้างพลังงานสะอาดคือ ส่งเสริมทั้งผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ และประชาชน ให้หันมาผลิต และใช้รถยนต์ไฟฟ้า

เมื่อมองมาที่ประเทศไทย ได้ชื่อว่า Detroit of Asia” ศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคเอเชีย แต่มาวันนี้เมื่อยุคสมัยกำลังเปลี่ยนผ่านจาก “รถเครื่องยนต์สันดาป” หรือรถใช้พลังงานน้ำมัน ไปสู่ยุค “ยานยนต์ไฟฟ้า” กลับพบว่าประเทศไทยขยับตัวช้า!

อย่างไรก็ตาม ถ้าในมุมของผู้บริโภคไทย พบว่าคนไทยส่วนใหญ่รู้จักรถยนต์ไฟฟ้า และเวลานี้เริ่มเห็น Demand ในตลาดนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งความต้องการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในทุกวันนี้ ไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มคนมีรายได้สูงเหมือนเช่นในอดีต หากแต่ได้ขยายมายังกลุ่มคนมีรายได้ระดับกลาง (30,000 – 70,000 บาทต่อเดือน)

นี่จึงเป็นสัญญาณได้ว่าประเทศไทยต้องเร่งส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าโดยเร็ว ก่อนที่จะก้าวตามไม่ทันการแข่งขันในตลาดโลก!

Ipsos” (อิปซอสส์) บริษัทสำรวจและวิจัยระดับโลก ได้เปิดผลสำรวจ EV Perception Study 2020” ที่ศึกษาตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทย และมุมมองของผู้บริโภคไทยที่มีต่อรถยนต์ไฟฟ้า โดยผสมผสานกระบวนการวิจัย ผ่านการใช้แบบสอบถามออนไลน์ในกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 500 คน ร่วมกับการวิเคราะห์ความคิดเห็นในสังคมออนไลน์ ประเด็นด้านรถยนต์ไฟฟ้า กว่า 4,480 บทสนทนา ด้วยเครื่องมือ Social Intelligence Analytics (SIA)

คุณอิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายองค์กรลูกค้าและการตลาด และ คุณอภิรักษ์ รัตนวิเชียร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจสายงานวิจัยรถยนต์ บริษัท อิปซอสส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ให้ข้อมูลในงานวิจัยชิ้นนี้ว่า ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถ EV ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายประเทศทั่วโลก เช่น นอร์เวย์ เริ่มเห็นยอดขายรถยนต์ EV เพิ่มขึ้นมาในสัดส่วนมากขึ้นเรื่อ่ยๆ จนแทบจะเทียบได้กับยอดขายรถยนต์สันดาป

เพราะฉะนั้นกล่าวได้ว่า ณ ตอนนี้ไม่มีการโต้เถียงกันอีกต่อไปแล้วว่า รถยนต์ไฟฟ้าคือรถยนต์ที่จะกำหนดทิศทางของตลาดรถยนต์ทั้งในทศวรรษนี้ และในอนาคต อย่างไรก็ตามสำหรับตลาดรถยนต์ EV ในไทย ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคเอเชีย กลับอยู่ในช่วงเริ่มตั้งไข่เท่านั้น

Tesla Gigafactory Shanghai

Photo Credit : Tesla

 

50% ของคนไทยรู้จัก EV และขยายจากคนรายได้สูง มายังคนรายได้ปานกลาง

ผลสำรวจครั้งนี้สอบถามกลุ่มตัวอย่างถึงการรับรู้ และคุ้นเคยกับรถ EV มากน้อยแค่ไหน พบว่า

  • 44% รู้จักรถ EV เป็นอย่างดี
  • 55% รู้จัก แต่ยังไม่ได้รู้ข้อมูลรายละเอียดมากนัก
  • 2% ไม่รู้จักรถ EV

เพราะฉะนั้นเท่ากับว่าคนไทยมากถึง 98 – 99% รู้จักรถยนต์ EV

แต่ข้อมูลที่น่าสนใจคือ คนที่รู้จักรถ EV เป็นอย่างดี ปัจจุบันไม่ได้อยู่แค่คนรายได้สูง A – B เท่านั้น แต่ได้ขยายมายังกลุ่มคนรายได้ปานกลาง B – C ที่สนใจพิจารณาจะซื้อ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย อายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มครอบครัว มีลูก และมีรายได้ปานกลาง (Mid-income) โดยเฉลี่ย 30,000 – 70,000 บาทต่อเดือน ประกอบธุรกิจ SME ของตัวเอง

Electric Vehicles (EV)_Ipsos Research

 

คนไทยสนใจซื้อรถ EV ภายใน 5 ปีนี้ ด้วยเหตุผลหลักด้านสิ่งแวดล้อม

เมื่อถามว่ามีความสนใจซื้อรถ EV มาใช้หรือไม่ พบว่า 58% ของกลุ่มตัวอย่างบอกว่า มีความสนใจ และพิจารณาจะซื้อรถ EV แบ่งเป็น

  • 13% พิจารณาจะซื้อรถ EV ภายใน 1 ปีนี้
  • 35% พิจารณาจะซื้อรถ EV ภายใน 2 – 3 ปีนี้

นั่นหมายความว่า คนไทยมากถึง 48% สนใจซื้อรถ EV ภายใน 5 ปีนี้

  • 8% บอกว่าสนใจจะซื้อรถ EV ภายใน 6 – 10 ปี
  • 2% บอกว่าสนใจจะซื้อรถ EV ภายใน 11 – 15 ปี

อย่างไรก็ตามมี 40% ของคนที่รู้จักรถ EV แต่ไม่สนใจจะซื้อ

Electric Vehicles (EV)_Ipsos Research

เมื่อเจาะลึกในกลุ่มคนที่สนใจจะซื้อรถ EV ภายใน 5 ปีนี้ (58%) ถามถึงเหตุผลที่พิจารณา ประกอบด้วยปัจจัยหลักดังนี้

  • 47% ด้านสิ่งแวดล้อม
  • 24% ใช้รถ EV ประหยัดกว่ารถเครื่องยนต์สันดาป
  • 18% รถ EV ดูแลง่ายกว่ารถเครื่องยนต์สันดาป
  • 9% เครื่องยนต์ EV เงียบ
  • 2% มีการลดภาษีรถยนต์ EV

Electric Vehicles (EV)_Ipsos Research

 

ราคารถ – สถานีชาร์จไฟ – ระยะขับขี่ ตัวแปรสำคัญต่อตลาด EV ประเทศไทย

แต่เมื่อสอบถามกลุ่มคนที่รู้จักรถ EV แต่ไม่สนใจจะซื้อ (40%) พบว่ามี 3 ปัจจัยหลักที่เป็นกำแพงใหญ่ของตลาดรถ EV ในประเทศไทย

  • 36% ของคนกลุ่มนี้บอกว่า ราคารถ EV ในไทยยังมีราคาแพง หากเทียบกับรถเครื่องยนต์สันดาป
  • 24% มองว่าสถานีชาร์จยังมีจำกัด ไม่ครอบคลุมทั่วถึง
  • 18% บอกว่าระยะทางการขับขี่ต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้งยังต่ำ
  • 11% บอกว่ากังวลเรื่องความปลอดภัยของรถ EV
  • 5% บอกว่าใช้เวลาชาร์จนาน
  • 1% บอกว่าโมเดลรถ EV ที่มีให้เลือกก ยังน้อย

Electric Vehicles (EV)_Ipsos Research

อย่างไรก็ตามปัจจัยที่จะเปลี่ยนใจคนที่รู้จักรถ EV แต่ไม่สนใจซื้อ ให้หันมาพิจารณา มีอยู่ 3 ปัจจัยหลักคือ

– ราคารถถูกลง

– มีคนใช้มากขึ้น ทำให้รู้สึกมั่นใจที่จะซื้อ

– มีการส่งเสริมจากภาครัฐ ทั้งทำให้ราคารถถูกลง มีสถานีชาร์จไฟกระจายทั่วถึง

ทั้ง 3 ปัจจัยดังกล่าว ทำให้ทั้งคนที่สนใจซื้อรถ EV อยู่แล้ว ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันทำให้คนที่ยังไม่พิจารณาจะซื้อ ได้หันมาสนใจเช่นกัน

Electric Vehicles (EV)_Ipsos Research

 

วิเคราะห์ Social Listening “Tesla – MG – Nissan” เป็นแบรนด์รถไฟฟ้าที่คนไทยพูดถึงมากสุด

การสำรวจครั้งนี้ ได้วิเคราะห์ Social Listening เพื่อศึกษาบทสนทนาเกี่ยวกับรถยนต์ EV บนสื่อ Social Media แพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งแพลตฟอร์มที่คนไทยนิยมใช้เป็นพื้นที่พูดคุยเรื่องรถ EV มากสุด คือ การตั้งกระทู้ (Forum) เช่น Pantip.com (55%)

ตามมาด้วย Facebook (25%) Twitter (10%) และแพลตฟอร์มวิดีโอ เช่น YouTube, TikTok (10%)

Electric Vehicles (EV)_Ipsos Research

เมื่อเจาะลึกถึงเรื่องที่คนบน Social Media สนใจคุยกันเกี่ยวกับรถยนต์ EV มากสุดพบว่า

  • 22.7% ระยะทางการขับขี่ต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง/ความจุแบตเตอรี่
  • 21.2% สถานีชาร์จ
  • 11.0% ราคารถ EV
  • 8.4% สมรรถนะของรถ
  • 7.6% ภาพลักษณ์ของแบรนด์
  • 7.1% เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • 6.3% รถยนต์ EV รุ่นใหม่ที่กำลังเปิดตัว
  • 4.2% เปรียบเทียบระหว่างรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) กับรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) และรถยนต์ไฟฟ้า Plug-in Hybrid (PHEV)
  • 0.9% ฟีเจอร์ขั้นสูงที่มากับรถ EV
  • 10.7% อื่นๆ

หัวข้อที่พูดคุยกันในออนไลน์ พบว่าความคิดเห็นส่วนใหญ่ไปในทิศทางเชิงลบ คือ ระยะทางการขับขี่ ความจุแบตเตอรี่ สถานที่ชาร์จ ยังไม่ทั่วถึง และราคารถ EV ในไทยแพงเกินไป

ขณะที่ความคิดเห็นในทิศทางเชิงบวก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสมรรถนะของรถ และภาพลักษณ์แบรนด์ผู้ผลิต โดยแบรนด์รถยนต์ใดก็ตามที่นำเสนอรถ EV ในไทย จะได้รับการชื่นชมจากผู้บริโภคไทย

Electric Vehicles (EV)_Ipsos Research

Electric Vehicles (EV)_Ipsos Research

ขณะที่แบรนด์รถ EV ที่คนพูดถึงมากที่สุดบน Social Media คือ

  • 22.77% Tesla (เทสล่า)

Tesla ถูกพูดถึงเชิงบวกในด้าน Brand Image มากสุด (17.55%) ซึ่งเหตุผลที่คนไทยชื่นชม ชื่นชอบรถ EV จากสหรัฐฯ แบรนด์นี้ เพราะคนไทยมองว่า Tesla เป็นแบรนด์ปฏิวัติตลาดรถ EV ด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำต่างๆ เช่น เป็นรถยนต์ที่ Self-driving ทำให้สามารถจุดกระแสให้คนหันมาสนใจ EV บวกกับชื่อเสียงของ Elon Musk ผู้ร่วมก่อตั้ง และซีอีโอ

ส่งผลให้ทุกวันนี้ Tesla กลายเป็นผู้กำหนดเทรนด์รถ EV ดังนั้น ถึงแม้ปัจจุบัน Tesla ยังไม่ได้เข้ามาทำตลาดในไทย (ปัจจุบันยังเป็นผู้นำเข้าอิสระ) แต่คนไทยรู้จักทั้งแบรนด์​ และซีอีโอ จึงเป็นแบรนด์ EV ที่คนไทยชื่นชมมากสุด

  • 15.94% MG (เอ็มจี)

MG เป็นแบรนด์ EV ที่จำหน่ายในไทย แต่ยังมีบางความคิดเห็นที่กังวลในเรื่องแบตเตอรี่หมดเร็ว เมื่อเทียบกับระยะทางขับขี่ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง

  • 10.33% Nissan (นิสสัน)

ความคิดเห็นบนสังคมออนไลน์ที่มีต่อ Nissan ได้รับคำชมเรื่องสมรรถนะการขับขี่ โดยเฉพาะรุ่น Nissan Kicks e-Power และรุ่น Nissan Leaf

  • 4.88% Toyota (โตโยต้า)
  • 2.30% Honda (ฮอนด้า)

ทั้ง Toyota และ Honda ถึงแม้เป็นเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในไทย แต่สำหรับรถ EV แล้ว กลับเป็นที่พูดถึงน้อยเมื่อเทียบกับ 3 แบรนด์ข้างต้น โดยรถยนต์พลังงานไฮบริด (HEV) ที่ทั้งสองค่ายจำหน่ายในไทย ถูกนำมาเปรียบเทียบกับรถยนต์ EV แบรนด์อื่นในตลาด โดยความคิดเห็นของผู้บริโภคบนออนไลน์ เป็นเชิง Negative ว่ายังไม่ยอมผลิตรถยนต์ EV ในไทย ซึ่งทำให้ทั้ง Toyota และ Honda ที่เป็นเจ้าตลาดรถยนต์ในไทย เริ่มถูกทิ้งห่างจากแบรนด์คู่แข่งในตลาดรถ EV ในไทย

Electric Vehicles (EV)_Ipsos Research

Electric Vehicles (EV)_Ipsos Research

 

โจทย์ใหญ่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปลี่ยนผ่านสู่ยุค EV ต้องประสานความร่วมมือ “ภาครัฐ” และ “ภาคเอกชน”

จากผลวิจัยดังกล่าว ทำให้เห็นแล้วว่าปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่รู้จักรถยนต์ไฟฟ้า และมีความสนใจที่จะซื้อ หากแต่ด้วยข้อจำกัดบางประการ ทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ทุกวันนี้ยังคงเป็น Niche Market

เพราะฉะนั้นเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมยายนต์ไทย เปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค EV จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องผสานความร่วมมือระหว่าง “ภาครัฐ” และ “ภาคเอกชน” ร่วมกันปลดล็อคข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้ตลาดรถยนต์ EV พัฒนาไปสู่ Mass Market

– ภาครัฐควรดำเนินการลดกำแพงภาษีนำเข้ารถยนต์ EV

– ภาครัฐสนับสนุนให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยมากขึ้น เพื่อดึงดูดผู้ผลิตที่มีเทคโนโลยีเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทย

เมื่อภาครัฐดำเนินการใน 2 ข้อนี้ เชื่อว่าจะทำให้ราคารถยนต์ EV ในไทยจะลงมาอยู่ในระดับที่ผู้บริโภคไทยรับได้ นั่นคือ ต้องต่ำกว่า 1 ล้านบาท ถึงจะดึงดูดคนไทยหันมาซื้อรถ EV

– ภาครัฐ จับมือกับภาคเอกชน เพื่อขยายสถานที่ชาร์จให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

– ภาคเอกชน พัฒนารถ EV ที่ตอบโจทย์ทั้งระยะทางการขับขี่ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ซึ่งตลาดไทยต้องการ 400 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ทำราคาให้เอื้อมถึงได้ และสมรรถนะรถ

– ผู้ผลิตรถยนต์ที่ต้องการขาย EV ควรสื่อสารถึงสิ่งแวดล้อม ราคารถอยู่ในระดับเข้าถึงได้ การดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน และมีต้นทุนถูกกว่าเครื่องยนต์สันดาป ซึ่งแบรนด์ไหนที่นำเสนอรถ EV ตั้งแต่แรกๆ และจุดขายเหล่านี้ให้กับคนไทยตั้งแต่ตลาดเพิ่งเริ่มต้น ย่อมมีความได้เปรียบทางการแข่งขัน

ทั้งนี้ Ipsos คาดการณ์ว่าหากภาครัฐให้การส่งเสริม EV และมีรถในราคาเข้าถึงได้ จะทำให้ตลาดรถ EV ในไทย เปลี่ยนจาก Niche Market ไปเป็น Mass Market ได้ภายใน 5 ปี

“ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถสำคัญของเอเชีย แต่ตอนนี้ในตลาดรถ EV ถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ไทยอาจเริ่มตามหลังนิดหหนึ่งแล้ว เพราะหลายประเทศ เช่น Tesla แสดงความสนใจลงทุนในอินโดนีเซีย ทำให้เห็นว่า ณ ตอนนี้ โครงสร้างภาพรวมของเมืองไทยอาจเริ่มช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถ้ายังไม่ปรับตัว อาจถูกประเทศในอาเซียนแซงได้

ดังนั้น หากภาครัฐให้การสนับสนุนตลาด EV ในประเทศไทย เชื่อว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้ไม่ยาก แต่ถ้าปรากศจากการสนับสนุนที่ดีแล้ว ในไม่ช้าประเทศไทยอาจเสียชื่อ Detroit of Asia ไปก็เป็นได้” 

Electric Vehicles

Credit Photo : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

 

จับตา “จีน – สหรัฐฯ” สองมหาอำนาจเศรษฐกิจในอุตสาหกรรม EV ระดับโลก

จีนต้องการเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ที่ผ่านมาจึงมีทั้งกลุ่มทุนจีนเข้าซื้อกิจการ และซื้อหุ้นในบริษัทยานยนต์ระดับโลกในฝั่งยุโรป ขณะเดียวกัน จีนพยายามผลักดันรถยนต์ EV ของตนเองตีตลาดโลก อย่างเวลานี้รถ EV แบรนด์จีนทยอยเข้ามาทำตลาดในไทยแล้ว

เช่น MG เป็นแบรนด์ถือกำเนิดขึ้นในอังกฤษ ต่อมา SAIC (Shanghai Automotive Industry Corporation) หนึ่งในยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์ของจีนเข้าซื้อกิจการ ปัจจุบันเข้ามาผลิตและทำตลาดในไทยแล้ว ด้วยการร่วมทุนระหว่าง SAIC กับเครือซีพี ตั้งบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด เพื่อผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ MG ในไทย โดยมีบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัดดูแลด้านการการตลาด จัดจำหน่าย และบริหารหลังการขาย

หรือล่าสุดแบรนด์ Great Wall Motor (GWM) ได้ขยายฐานตลาดมายังอาเซียน หมุดหมายที่สำคัญหนึ่งในนั้น คือตลาดไทย โดยวางเป้าหมายบุกตลาดด้วยรถยนต์ไฟฟ้า

หรือ BYD ที่ทำตลาดกว่า 200 เมือง ในกว่า 50 ประเทศ ด้วยการทำตลาดรถ EV ทุกเซ็กเมนต์ ภายใต้กลยุทธ์  “7 + 4” นั่นคือ 7 หมายถึงการพัฒนารถไฟฟ้าใน 7 ประเภท ได้แก่ รถโค้ช แท็กซี่ รถโลจิสติกส์ รถขนปูน รถบัส หรือรถโดยสารประจำทาง รถยนต์ส่วนบุคคล รถทำความสะอาดถนน ขณะที่ 4 คือ พัฒนารถไฟฟ้าใช้ในพื้นที่เฉพาะ เช่น รถในคลังสินค้า รถบัสในสนามบิน รถถ่ายโอนสินค้าทางเรือ

การขยับตัวของยานยนต์จีน เป็นการขยับทั้งองคาพยพ นั่นคือ ทั้งภาครัฐ – ภาคเอกชน – ภาคประชาชนเดินไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานสะอาด คือ 1 ใน 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตของจีนตามนโยบาย Made in China 2025

และล่าสุดจีนได้ประกาศแผน New Energy Vehicles (NEV) 2021 – 2035 เพื่อยกระดับทั้งการผลิต และขายรถยนต์พลังงานสะอาด ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) รถยนต์ไฟฟ้า Plug-in Hybrid รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) ให้มีคุณภาพ ยั่งยืน และแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2035 ยอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศ 95% จะเป็นรถ BEV

เพราะฉะนั้นแล้วทั้งการเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศ ให้ไปสู่ EV และขยายการลงทุนในต่างประเทศของค่ายผู้ผลิตยานยนต์จีน ทำให้เวลานี้รถ EV จีนกลายเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกให้กับผู้บริโภค

เชื่อว่าเมื่อจีนเอาจริงกับสิ่งใดแล้ว ย่อมต้องการเป็นเบอร์ต้นๆ ของอุตสาหกรรมนั้นๆ ในตลาดโลกอย่างแน่นอน เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในหลายตลาด ทั้งอีคอมเมิร์ซ สินค้าเทคโนโลยี เช่น Smart Device และ Gadget ที่วันนี้แบรนด์จีน ก้าวขึ้นมาเป็น Global Brand ได้สำเร็จ

MG - NEW MG EP - Charging

ขณะที่สหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศเดินหน้านโนบายสิ่งแวดล้อม โดยไม่กี่วันหลังรับตำแหน่งไบเดน มีแผนจะเปลี่ยนรถยนต์ของรัฐบาลที่ปัจจุบันมีกว่า 650,000 คัน มาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในสหรัฐฯ ตามนโยบาย Buy America และจะสร้างการจ้างงาน 1 ล้านตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

นอกจากการส่งเสริมรัฐบาลแล้ว ในฝั่งผู้ผลิตรถยนต์ EV จากสหรัฐฯ ก็แข็งแกร่งในตลาดโลก อย่าง “Tesla” รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติอเมริกา เป็นผู้นำยอดขาย EV ในตลาดโลก ด้วยจำนวนกว่า 499,550 คันในปี 2020

รวมทั้ง Tech Company ระดับโลกอย่าง “Apple” มีแผนจะผลิต Apple Car รถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติเช่นกัน โดยมีกระแสข่าวว่า Apple ใกล้บรรลุข้อตกลงเป็นพาร์ทเนอร์กับ Hyundai ใช้ฐานการผลิตโรงงาน Kia Motors (Kia Motors บริษัทในเครือ Hyundai) ที่เมืองเวสต์พอยต์ รัฐจอร์เจีย ยิ่งทำให้ทั่วโลกต่างจับตามองอุตสาหกรรม EV สหรัฐฯ มากขึ้น

“เมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศแล้วว่าต้องการเปลี่ยนรถยนต์ของรัฐบาลทั้งหมดไปเป็น EV ตรงนี้ส่งสัญญาณทั่วโลกแล้วว่า ต่อไปสหรัฐฯ ต้องการผลักดันรถยนต์ EV อย่างเต็มที่ ซึ่งสหรัฐฯ เป็นเจ้าเทคโนโลยี EV ที่มี Tesla เป็นผู้นำด้านนี้อยู่แล้ว แตกต่างจากสมัยก่อนที่บริษัทรถยนต์ฝั่งยุโรป เช่น ผู้ผลิตรถยนต์เยอรมัน เป็นผู้นำด้านการผลิตรถยนต์คุณภาพ

เพราะฉะนั้นเป็นเหตุผลที่ว่า ตอนนี้ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยอะไรก็ตาม จะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือว่าพลังจากการผลักดันของยักษ์ใหญ่ ถึงอย่างไรทิศทางอุตสาหกรรมรถทั่วโลก มายัง EV แน่นอน

กลับมามองที่ประเทศไทยว่าตอนนี้เรายอมเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ทันโลกไหม เปลี่ยนแปลงจากอุตสาหกรรมเครื่องยนต์สันดาป ให้เป็น EV หรือเราจะยังต้องการรักษาตลาดสันดาปในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นสุดท้ายแล้วรัฐบาล และผู้ผลิตต้องคุยกัน แต่ถึงอย่างไรโลกไปทาง EV แน่นอนคุณอิษณาติ สรุปทิ้งท้าย

Tesla model 3

Photo Credit : Tesla


แชร์ :

You may also like