เมื่อปีที่แล้ว มีการจัดอันดับขององค์กรไม่แสวงกำไรชื่อ Break Free From Plastic พบว่า แบรนด์น้ำอัดลมอย่าง โคคา-โคลา (Coca-Cola) เป็นแบรนด์ที่สร้างผลกระทบด้านพลาสติกให้กับโลกมากที่สุด (ตามมาด้วย Pepsi และ Nestle) โดยมีรายงานว่า ในหนึ่งปี Coca-Cola ใช้พลาสติกราว 3 ล้านตันในการผลิตขวดบรรจุภัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้
อย่างไรก็ดี Coca-Cola เผยว่า บริษัทพยายามเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบที่มาจากการรีไซเคิลมากขึ้น รวมถึงทดสอบบรรจุภัณฑ์ทางเลือกด้วย โดยหนึ่งในนั้นคือบรรจุภัณฑ์จากกระดาษ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทที่ต้องการเป็น Zero Waste Company หรือก็คือการที่สามารถหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% ภายในปี 2030 โดย Coca-Cola มีการจับมือกับบริษัทสัญชาติเดนมาร์กชื่อ Paper Bottle Company หรือ Paboco เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษมาใช้กับน้ำอัดลมแทน
ใช้กระดาษบรรจุน้ำอัดลม?
ความท้าทายในจุดนี้คือเรื่องของก๊าซที่บรรจุในขวดเพื่อให้น้ำอัดลมมีความซาบซ่า ซึ่งบรรจุภัณฑ์แบบเดิมอย่างขวดแก้ว ขวดพลาสติก หรือกระป๋องโลหะสามารถเก็บกักความซ่านี้เอาไว้ได้ แต่เมื่อเป็นขวดกระดาษ มันจึงมีความยากว่าจะทำอย่างไรให้กระดาษยังสามารถรักษาคุณภาพน้ำอัดลมเอาไว้เหมือนเดิม
ความลับนี้ได้ถูกเปิดเผยออกมาเพียงว่า ขวดดังกล่าวเป็นการขึ้นรูปจากกระดาษผสมไฟเบอร์หนึ่งแผ่นเต็ม ๆ (เพื่อไม่ให้มีรอยต่อ) ซึ่งจะทำให้มันแข็งแรงพอที่จะรับแรงกดดันจากกระบวนการบรรจุขวด ไม่เพียงเท่านั้น การที่มันทำจากกระดาษ ทำให้สามารถปรินท์ฉลากลงบนขวดโดยตรงเลยเช่นกัน และภายในขวดก็มีการใช้สารที่ทำจากพืชเคลือบเอาไว้อีกทีเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำอัดลมสัมผัสกระดาษโดยตรง และการที่มันทำจากพืช ก็เพื่อให้ผู้คนบริโภคได้อย่างปลอดภัย
หลังจากพัฒนานานกว่า 7 ปี ทาง Coca-Cola และ Paboco ก็พร้อมแล้วสำหรับการวางจำหน่ายน้ำผลไม้ยี่ห้อ Adez ที่จะใช้ขวดกระดาษดังกล่าวบรรจุ (มีพลาสติกอยู่แค่บริเวณฝาขวด) โดยจะวางขายในฮังการีเป็นจำนวน 2,000 ขวด เช่นเดียวกับแบรนด์ผู้ผลิตว้อดก้าอย่าง Absolut ที่บอกว่า ขอลองนำขวดกระดาษที่ผลิตด้วยกรรมวิธีดังกล่าว 2,000 ใบไปใส่เครื่องดื่มรสราสเบอร์รี่ผสมคาร์บอเนทเพื่อจำหน่ายในอังกฤษ และสวีเดนด้วย
ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่า ขวดกระดาษดังกล่าวจะกลายเป็น Niche Products ช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ที่ปรับเปลี่ยนมาใช้ได้ระยะหนึ่งเลยทีเดียว โดยเฉพาะในบรรดากลุ่ม Geek ที่ชื่นชอบนวัตกรรม ส่วนจะเข้ามาทดแทนขวดพลาสติกได้อย่างเต็มที่เมื่อใดนั้น อาจต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่า พลาสติกมีต้นทุนในการผลิตที่ถูกกว่า อีกทั้งยังมีสถานที่รับรีไซเคิลกระจายอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกด้วยนั่นเอง