ของต้องมียุคนี้ไม่ใช่กระเป๋าแบรนด์หรู หากแต่เป็น “อินเทอร์เน็ต” ดีแทคประกาศกลยุทธ์ปี 2021 ต้องให้ทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ได้หลัง Covid-19 ทำให้เกิดการเดินทางกลับบ้านครั้งใหญ่ จนการใช้งาน Data ต่างจังหวัดโตสูงกว่ากรุงเทพฯ 9 เท่า
ประกาศกลยุทธ์สำหรับปี 2021 ไปแล้วเรียบร้อยสำหรับดีแทค โดยในปีนี้ทางดีแทคบอกว่า 3 ประเด็นหลักที่บริษัทจะให้ความสำคัญก็คือ การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสำหรับทุกคน การยกระดับชีวิตของผู้บริโภค และการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ
คุณชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) อธิบายถึงสาเหตุที่ให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็นหลักว่ามาจากการเปลี่ยนแปลงด้านการใช้งานเครือข่ายอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 (เดือนมกราคม 2020 – มกราคม 2021) โดยการใช้งานดาต้าในส่วนภูมิภาคโตมากกว่าการใช้งานในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ถึง 9 เท่า ไม่เพียงเท่านั้น ยังพบการใช้งานสมาร์ทโฟนในต่างจังหวัดก็เติบโตเร็วกว่ากรุงเทพฯ ถึง 3 เท่าเช่นกัน
ข้อมูลจากดีแทคเผยด้วยว่า หลังจากเกิดการเดินทางข้ามจังหวัดครั้งใหญ่ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากการล็อกดาวน์ประเทศ ดีแทคพบการใช้งานอินเทอร์เน็ตในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และนครศรีธรรมราชเติบโตเพิ่มขึ้นสูงสุด ขณะที่จังหวัดอย่าง กรุงเทพมหานคร ชลบุรี กระบี่ ตาก และภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเติบโตต่ำสุดรั้งท้ายตาราง และสะท้อนให้เห็นว่า พื้นที่ในต่างจังหวัดมีการปรับตัวสู่ดิจิทัลมากขึ้น
กลุ่มผู้ใช้งานใหม่ 4 กลุ่ม
ผลจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ถือเป็นการแจ้งเกิดของกลุ่มผู้ใช้งานใหม่อีก 4 กลุ่มที่มีพฤติกรรมแตกต่างกัน โดยคุณประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทคโนโลยี ดีแทค กล่าวถึงผู้บริโภคทั้ง 4 กลุ่มว่า
กลุ่มแรกคือกลุ่ม “เน็ตภูธรหน้าใหม่” (The New Rurals) คนกลุ่มนี้ทำให้การใช้งานสมาร์ทโฟนในระดับภูธรเติบโตเหนือกว่ากรุงเทพถึง 3 เท่า (จังหวัดที่มีการเติบโตด้านการใช้งานสมาร์ทโฟนมากที่สุดได้แก่ กาฬสินธุ์, สุโขทัย และน่าน)
ไม่เฉพาะกลุ่มเน็ตภูธรหน้าใหม่ กลุ่มผู้ใช้งานที่ดีแทคพบว่าเติบโตขึ้นยังมีอีก นั่นคือกลุ่มที่ชื่อว่า “ขยันผ่านเน็ตทางไกล” หรือ The Remote Deskers คนเหล่านี้คือกลุ่มคนทำงานที่ต้องเปลี่ยนมาทำงานจากข้างนอกออฟฟิศ หรือกลุ่มเด็กนักเรียนที่ต้องเรียนออนไลน์ ซึ่งการเกิดขึ้นของคนกลุ่มดังกล่าว ทำให้การใช้งานแอปพลิเคชันเพื่อการประชุมออนไลน์อย่าง Zoom เติบโตขึ้นถึง 5050% เช่นเดียวกับแอปพลิเคชัน Google Hangout ที่เติบโตขึ้น 740% เลยทีเดียว
ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกลุ่มต่อมาที่แจ้งเกิดในวงการคือกลุ่ม “อยู่ติดบ้านด้วยเน็ตบันเทิง” (The non-stop Streamer) การเกิดของผู้ใช้งานกลุ่มนี้ส่งผลให้แอปพลิเคชันเพื่อความบันเทิงเช่น YouTube, TikTok พุ่งสูงอย่างมีนัยสำคัญ รวมไปถึงการใช้งานแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น ลาซาด้า – ช้อปปี้ด้วย
กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่ดีแทคเรียกว่า THE CRITICAL USER หรือ กลุ่มผู้ใช้งานที่พึ่งพาระบบอินเทอร์เน็ตเป็นหลักในการปฏิบัติภารกิจ โดยคนกลุ่มนี้คือผู้ให้บริการแก่ประชาชนและชุมชน เช่น โรงพยาบาลและบริการฉุกเฉิน รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรม – กลุ่มธุรกิจ
เปิด 5 เทรนด์การเข้าถึงผู้บริโภคของแบรนด์
จากทิศทางการใช้ Data ที่เปลี่ยนไป และเกิดกลุ่มผู้ใช้งานใหม่ ๆ ที่มีพฤติกรรมแตกต่างกันนั้น ทำให้การเข้าถึง หรือการสร้างประสบการณ์ของแบรนด์ต้องเปลี่ยนไปด้วย
คุณฮาว ริเร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด ดีแทค กล่าวว่า สิ่งที่แบรนด์ต้องให้ความสำคัญกับผู้บริโภคในปัจจุบันคือเรื่อง Digital First หรือการสร้างประสบการณ์ผู้บริโภคโดยให้ความสำคัญกับดิจิทัลเป็นอันดับแรก พร้อมยกตัวอย่างผู้ใช้มือถือระบบเติมเงินและผู้ใช้ในชนบทห่างไกล หากคนกลุ่มนี้สามารถใช้บริการได้อย่างราบรื่น ก็จะนำไปสู่ความรู้สึกดีต่อแบรนด์ตามมา หรือกรณีการพัฒนาแอปพลิเคชันภาษาเมียนมาร์ – จีน ดีแทคก็มองว่าสามารถสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้นได้เช่นกัน
เทรนด์ที่สองที่ผู้บริหารดีแทคเผยก็คือ เรื่องของการนำเสนอประสบการณ์แบบเฉพาะตัว หรือ 360-degree Personalization ที่เกิดจากการนำข้อมูลลูกค้ามาวิเคราะห์และออกแบบข้อเสนอต่าง ๆ ทำให้สามารถเสนอบริการที่ตรงกับความต้องการ ในเวลาที่ต้องการ และภายใต้สถานที่ที่ถูกต้องได้ ซึ่งการทำเช่นนี้มาจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นตัวช่วย ซึ่งดีแทคประเมินความสำเร็จนี้จากการใช้งานแอปดีแทครายเดือนที่เติบโตขึ้น 30% ในปี 2020
เทรนด์ที่สามที่แบรนด์อย่างดีแทคมองเห็นคือเรื่องของ “Digital Inclusion” หรือประสบการณ์การใช้งานดิจิทัลที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะแต่ผู้ที่มีอุปกรณ์ที่ดีที่สุด หรือใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสุดจึงจะเข้าถึงได้ โดยตัวอย่างของข้อนี้คือ การออกแบบแอปพลิเคชันภาษาเมียนมาร์ เพื่อรองรับกลุ่มผู้ใช้งานแรงงานต่างด้าว, การสร้าง WeChat mini program สำหรับผู้ใช้งานชาวจีน หรือการจัดกิจกรรมจาก dtac reward สำหรับลูกค้าระบบเติมเงินให้สามารถสะสม dtac reward Coins แลกสิทธิพิเศษอื่น ๆ ได้ เป็นต้น
รุกธุรกิจใหม่ “การเงิน-การแพทย์”
ไม่เพียงให้บริการด้านโทรคมนาคม คุณฮาว ริเร็นเผยว่า เทรนด์ที่ดีแทคให้ความสำคัญอีกข้อก็คือ การมองหาโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ด้วย โดยในการแถลงกลยุทธ์วันนี้ ผู้บริหารดีแทคเผยว่า อยู่ระหว่างการจับมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการให้บริการด้านการเงิน โดยอาจอยู่ในรูปแบบการโอนเงินต่างประเทศ ซึ่งผู้ที่จะจับมือกันนั้นต้องมีไลเซนส์การให้บริการถูกต้องตามที่หน่วยงานด้านการกำกับดูแลกำหนด หรือในส่วนของธุรกิจประกันสุขภาพ – ร้านขายยาก็อาจมีการจับมือพัฒนาโปรดักท์ใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน
เทรนด์ข้อสุดท้ายที่ดีแทคมองว่าสำคัญคือการเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคไว้วางใจ หรือก็คือการให้ความสำคัญกับ “Trust” (Trust Matters) ซึ่งในจุดนี้ คุณฮาว ริเร็นบอกว่า ดีแทคแสดงออกผ่านการจัดการข้อมูลลูกค้าโดยมีนโยบายที่เข้มงวดเกี่ยวกับความยินยอมและคู่ค้า รวมถึงการให้ความสำคัญกับการเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ (Trusted and secure internet provider) เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลและผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ยังมีบริการที่ช่วยเหลือลูกค้าในภาวะที่เศรษฐกิจเผชิญกับความท้าทาย เช่น บริการใจดีให้ยืม ใจดีให้โอน และบริการดิจิทัลอื่น ๆ ที่อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าในเวลาที่ต้องการ
จากความเปลี่ยนแปลงดังที่กล่าวมานี้ ดีแทคบอกว่า ได้นำไปสู่การเปิดตัวหลากหลายโครงการ เช่น “ดีแทค เน็ตทำกิน” (Net for Living) ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยฝึกอบรมผู้ค้ารายย่อย 100 ราย ในช่วงไตรมาสแรกของปี และจะขยายผลให้ครอบคลุมผู้ประกอบการรายย่อย ที่มีรายได้น้อยให้สามารถประกอบธุรกิจค้าขายได้บนพื้นที่ออนไลน์เพิ่มเติม โดยหวังว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ครัวเรือนจากพื้นที่ขายออนไลน์ 15% ต่อปี
ในส่วนของเยาวชน ดีแทคจะยังคงดำเนินโครงการ Safe Internet อย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการดังกล่าวจะสอนทักษะด้านดิจิทัลให้กับนักเรียนและครูในปีนี้อีก 200,000 คน และเป้าหมายสุดท้ายคือ การมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ลดลง 50%
ตั้งเป้าขยายสถานีฐาน 4,400 ภายในไตรมาส 1
ส่วนการขยายสถานีฐาน ดีแทคเผยว่า ตั้งเป้าจะขยาย 4,400 สถานีฐานทั่วประเทศภายในไตรมาสที่ 1 และนำคลื่น 700 MHz หรือคลื่นความถี่ต่ำมาใช้เพิ่มความครอบคลุมของสัญญาณให้มากยิ่งขึ้น โดยดีแทคเปิดให้บริการ 5G และ 4G บนคลื่น 700 MHz ด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด Dynamic Spectrum Sharing (DSS) ทำให้สามารถใช้งานคลื่นเดียวทั้ง 5G และ 4G ไม่ต้องแบ่งแบนด์วิดท์ด้วยประสิทธิภาพเต็มที่สูงสุดด้วย
นอกจากนั้นในส่วนของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ดีแทคเผยว่าได้เร่งขยายเทคโนโลยี 5G-ready massive MIMO เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน และเปิดให้บริการ 4G-TDD บนคลื่น 2300 MHz (ให้บริการบนคลื่น NT หรือทีโอทีเดิม) แล้วจำนวน 20,400 สถานีฐานอีกด้วย
*หมายเหตุ Opensignal ให้ดีแทคเป็นผู้ชนะรางวัลด้านดาวน์โหลดเร็วสุดในประเทศไทยติดต่อกันจาก 2 รายงานประจำเดือนเมษายน และพฤศจิกายน 2020