ต้องถือว่าเป็นบุคคลในแวดวงธุรกิจที่มีเส้นทางชีวิตแปลกใหม่ตลอดเวลา สำหรับ “โจ้ – ธนา เธียรอัจฉริยะ” โดยทางเลือกครั้งใหม่ในวัย 50+ ของเขาที่เพิ่งเกิดขึ้นหมาด ๆ คือการตัดสินใจรับตำแหน่ง “ประธานคณะกรรมการ” ให้กับบลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัทที่ปรึกษาสัญชาติไทยที่ตั้งเป้าจะเติบโตในฐานะ Tech Company รวมถึงตั้งเป้าเป็นผู้นำด้าน Digital Transformation ให้กับองค์กรขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียด้วย
“จริง ๆ ไม่ได้อยากเป็นหรอก บอร์ดน่ะ”
น่าสนใจที่ประโยคแรกที่คุณธนากล่าวถึงตำแหน่งใหม่นี้ก็คือการบอกว่า ในวัย 50+ เขาไม่ได้อยากรับตำแหน่งเป็นคณะกรรมการ หรือบอร์ดอีกแล้ว!!
“ตอนนี้ก็ 50 กว่าแล้ว ถ้าเลือกได้ไม่อยากทำงานที่ต้องเจอกระดาษเยอะ ๆ หรอก อยากทำงานที่สนุก งานครีเอทีฟ งานที่ทำแล้วเกิด Value เช่น งานที่พาคนสองคนมาเจอกัน เป็นพาร์ทเนอร์กันแบบนี้ชอบ แต่ที่รับตำแหน่งนี้เพราะคิดว่าเราก็ต้องการที่ที่เราจะได้อัปเดตตัวเองด้วยเรื่องใหม่ ๆ อัปเดตเรื่องเทคโนโลยี แล้วบลูบิคก็ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าทำได้ในระดับดีมาก เขาทำดีลใหญ่ ๆ สำเร็จมามากมาย เช่น ออกแบบ Infrastructure ให้กับงานที่มีความซับซ้อนสูงของสถาบันการเงิน ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจรีเทล”
หนึ่งในตัวอย่างผลงานที่คุณธนากล่าวถึงคือการบริหารจัดการโครงการเชิงกลยุทธ์ (Strategic PMO) ให้กับการร่วมทุนของ 6 ธนาคารยักษ์ใหญ่ของไทยได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารทหารไทย ในการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านบล็อกเชนสำหรับภาคธนาคารในชื่อ BCI (Thailand) ตั้งแต่ Day 1 จนสำเร็จเสร็จสิ้นในปี 2019 ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวยังถือเป็นครั้งแรกของโลกที่ธนาคารไทยและต่างชาติร่วมใช้บล็อกเชนบนระบบเดียวกัน และนำไปสู่การลดต้นทุนทางธุรกิจครั้งสำคัญเลยทีเดียว
คุณธนาขยายความในจุดนี้ว่า “โลกของบริษัทขนาดใหญ่ ทุกคนรู้ว่าถ้าไม่เปลี่ยนตัวเองเป็นดิจิทัลคือตายแน่ ๆ ซึ่งในช่วงแรกเราก็พยายามทำกันเอง แต่ก็ทำกันแบบ Traditional model คือตั้งฝ่ายไอทีขึ้นมา แล้วก็หวังว่ามันจะเปลี่ยนได้ ซึ่งผลก็อย่างที่เราเห็นกัน คือมันไม่ได้เปลี่ยนองค์กรได้จริง ๆ เราก็จะเห็นว่ามีคนติดปัญหากันเยอะ จนตอนนี้ หลาย ๆ บริษัทเปลี่ยนแนวคิดแล้ว เขาไม่เน้นโตจากภายในแล้ว แต่มาเริ่มเซ็ทธุรกิจขึ้นมาใหม่เลย”
ส่วนที่ว่าบลูบิกจะมาตอบโจทย์การทำธุรกิจขององค์กรระดับ Enterprise ในยุค Digital Transformation ได้อย่างไรนั้น คุณพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) อธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า
“เราพบว่า Pain Point ของบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทยที่เปลี่ยนตัวเองไปสู่ Digital ไม่ได้ หลัก ๆ มี 4 ข้อ หนึ่งคือซื้อเทคโนโลยีมาหลายสิบหลายร้อยล้าน แต่ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากเทคโนโลยีที่ซื้อมาได้ ข้อสองคือมีไอเดีย แต่ทำให้เกิดขึ้นจริงไม่ได้ สามคือขาดองค์ความรู้ และสี่คือขาดทีมงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ”
โจทย์ของบลูบิคคือทำให้ซีอีโอฝันดี
“งานของเราคือทำตัวเป็นจิ๊กซอว์ เข้าไปเติมเต็มส่วนที่ขาดหาย เข้าไปช่วยสร้าง Value ให้ธุรกิจของลูกค้า เพื่อให้เขาโต 10X – 100X” คุณพชรกล่าว
“เราต่างจาก SI (System Integrator) ตรงที่โจทย์ที่บลูบิคได้รับมาจาก C-Level เวลาธุรกิจไปหา SI เขาจะมีแบบเรียบร้อยแล้วว่า อยากได้ระบบ หรือเทคโนโลยีแบบไหน แต่ปัญหาที่บลูบิคได้รับจะค่อนข้างกำกวม เช่น ตอนนี้ซีอีโอนอนไม่ค่อยหลับ นอนไม่หลับเพราะอะไร เพราะอยู่ดี ๆ หุ้นตก กำไรลด เราต้องช่วยซีอีโอแก้ปัญหาที่บางทีเขาก็ไม่รู้ด้วยว่า มันเกิดจากอะไร มีคู่แข่งเข้ามาหรือเปล่า อะไรทำให้เขามีความกังวล”
“สิ่งที่เราทำตอนนี้มี 5 เซอร์วิส เซอร์วิสแรกคือ การเป็นที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และช่วยลูกค้าบริหารจัดการ ซึ่งโจทย์อาจเป็นลูกค้าต้องการทำแพลตฟอร์มขนาดใหญ่มาก ๆ ในเวลาที่สั้นมาก ๆ หรือมีฟีเจอร์ประหลาดมาก ๆ สิ่งเหล่านี้เราต้องเลือกเทคโนโลยีที่ถูกต้อง ออกแบบ Infrastructure ให้โจทย์ของเขาเป็นจริงได้ และสเกลได้ด้วย นั่นคือหน้าที่เรา”
เซอร์วิสสองคือการทำเรื่อง Design consulting ที่ใช้แนวคิดของ Design Thinking เข้าไปช่วยหา Pain point ของลูกค้า หา Customer Journey ดีไซน์ UI/UX ออกมาเพื่อให้สิ่งที่คิดจับต้องได้ ซึ่งที่ผ่านมา บลูบิคได้ช่วยออกแบบแอป Mobile Banking ที่มีคนใช้หลักสิบล้านคน หรือเชนร้านอาหารที่มีหลายร้อยสาขามาแล้วเช่นกัน
“สามคืองานด้าน Digital Excellence & Delivery ข้อนี้เป็นเรื่องเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนสูง เช่น การออกแบบการทำงานระดับ Enterprise-Grade ที่สามารถรองรับคนหลายล้านคนได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งในมุมผู้ออกแบบมีหลายอย่างที่ต้องคำนึงถึง เช่น เรื่องของความสามารถในการสเกล เรื่องของ Trust และต้องรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น บล็อกเชนที่อาจไปปลั๊กเข้ากับบริการของเขาได้ด้วย เรามีหน้าที่ออกแบบโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับกับสิ่งใหม่ ๆ เหล่านี้”
“งานด้านที่สี่คือ Strategic PMO หรือก็คือการบริหารจัดการโครงการขนาดใหญ่ให้เดินไปในทิศทางที่ต้องการ แล้วเสร็จตามเวลา – งบประมาณที่วางไว้ (เช่น โครงการ BCI) และสุดท้ายคืองานด้าน Deeptech, AI, Machine Learning สิ่งที่เราเข้าไปช่วยคือ นำ Data มาสร้างมูลค่า หรือการใช้ Data เพื่อ detect fraud เช่น เราเคยทำกับพฤกษา ใช้เอไอช่วยเลือกโปรดักท์ที่จะนำเสนอให้ลูกค้า ทำให้ฝ่ายขายมียอดเพิ่มขึ้นใน BU ที่อยากจะอัปเซลล์ได้มากกว่า 20%” คุณพชรกล่าว
รายได้ใหม่บน Digital Model
นอกจากเซอร์วิสต่าง ๆ ที่มีแล้ว ความน่าตื่นเต้นอีกข้อที่คุณธนาบอกว่ามองเห็นจากการเป็นประธานกรรมการของบลูบิคคือ แนวคิดเรื่องที่มาของรายได้จากธุรกิจดิจิทัล
“ทุกวันนี้ การรับงานของบลูบิคยังเน้นไปที่เซอร์วิสเป็นหลักคือ เมื่อทำเสร็จแล้วก็ยกแพลตฟอร์มให้บริษัทลูกค้าไป แต่ถ้าบลูบิคเข้าตลาดฯ แล้วระดมทุนมาพัฒนาแพลตฟอร์มได้ ในอนาคต จะเกิดรายได้อีกประเภทนั่นคือ รายได้แบบ Subscription-based จากการเข้าใช้งานของลูกค้า และทำให้เราโตไปกับพาร์ทเนอร์ได้ดียิ่งขึ้น” (ทางบริษัทมีแผนจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI ในเร็ว ๆ นี้)
นอกจากรายได้แบบ Subscription-based แล้ว อีกหนึ่งช่องทางการสร้างรายได้ของบลูบิคคือการ Joint Venture กับบริษัทต่าง ๆ ที่อาจถนัดในช่องทาง Traditional แต่ขาดความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งบลูบิคเชื่อว่ามีโอกาสสร้าง S-Curve ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นได้อีกมากมายเช่นกัน
เลือดบางระจันต้องมา สร้าง Tech Company สัญชาติไทย
“ปัจจัยสุดท้ายที่ทำให้ตัดสินใจเป็นประธานบอร์ดให้บลูบิคก็คือ พอเราอายุขนาดนี้ ก็อยากจะทำงานบนความตั้งใจดี เหมือนตอนทำโรบินฮู้ด (แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ของ SCB10X ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ที่ไม่เก็บค่า GP) ตอนนั้นคือเลือดบางระจันขึ้นเลยนะ (หัวเราะ) เราอยากให้คนไทยเก่ง ๆ ได้มีที่ยืน ไม่ใช่ไปทำงานกับบริษัทต่างชาติกันหมด”
“การทำโรบินฮู้ดทำให้พี่เห็นว่า เราก็ตัวเล็ก ๆ นะ แต่สู้ได้กับต่างชาติ ถ้าเราสามารถช่วยสร้างบริษัทแบบนี้ให้เกิดขึ้นเยอะ ๆ พี่ก็ยินดี เพราะไม่อย่างนั้น งานที่ใช้สติปัญญาจะกลายเป็นแบรนด์ฝรั่งหมด แล้วถ้าเราปล่อยไปเรื่อย ๆ อีกหน่อยก็คงไม่มีบริษัทไทยดี ๆ เหลือ เด็กจบใหม่ก็ต้องไปทำงานให้ฝรั่งหมด อย่างน้อยถ้าเราช่วยเชียร์ให้บริษัทไทยเติบโตขึ้นได้ ก็หวังว่าในอีก 5 ปี น้องที่เก่ง ๆ จบกลับมาก็ยังมีบริษัทไทยให้ทำงานด้วย”
“แต่อย่างที่บอกว่าเราไม่ชอบงานกระดาษ เราอยากเป็นบอร์ดที่สนุกและแอคทีฟ ผมก็เลยชวนกันมาหลายคน ทั้งชลากรณ์ (คุณชลากรณ์ ปัญญาโฉม) ที่กว้างขวางในเรื่องคอนเทนต์ หนึ่ง-ครรชิต (คุณครรชิต บุนะจินดา) มือวางด้านการเงินลำดับต้น ๆ ของเมืองไทย แล้วก็คุณวศิษฐ์ จากศรีสวัสดิ์ (คุณวศิษฐ์ กาญจนหัตถกิจ) ที่แม่นเรื่องออดิทและตลาด Mass มาก สุดท้ายก็หนุ่ย – พงศ์สุข (คุณพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์) ที่เก่งด้านอินฟลูเอนเซอร์ ก็คิดว่าบลูบิคน่าจะพร้อมสำหรับไปสเต็ปต่อไป นั่นคือไปต่อกรกับต่างชาติได้แล้ว” คุณธนากล่าวปิดท้าย
ปัจจุบัน บลูบิคมีพนักงานทั้งสิ้น 130 คน โดยทั้งหมดเป็นคนไทย และตั้งเป้าเพิ่มพนักงานอีก 1 เท่า ส่วนรายได้ของบริษัทนั้น 40% มาจากธุรกิจ Digital Excellence & Delivery โดยกลุ่มลูกค้าหลักคือสถาบันการเงิน ประกันภัย 40% รองลงมาคือ Retail, FMCG, พลังงาน และโทรคมนาคม
ทั้งนี้ แผนในอีก 5 ปีข้างหน้า นอกเหนือจากการเป็นบริษัทที่ปรึกษา บลูบิคตั้งเป้าเติบโตทางด้านเทคโนโลยีด้วยการช่วยบริษัทต่าง ๆ ในการทำ Digital Transformation รวมถึงสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ ๆ ผ่านการ Joint Venture และ Subscription Model จากแพลตฟอร์มที่บริษัทสร้างขึ้น โดยมีแผนจะขยายตลาดในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV