จากโปรเจ็ค AIS Academy ที่เอไอเอสนำมาใช้พัฒนาศักยภาพบุคลากรในองค์กร 13,000 คนเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการจัดงานโปรเจ็คใหญ่อย่าง Academy for Thais ที่มีคนเข้าร่วมงานนับหมื่นคน ล่าสุดดูเหมือนว่าเอไอเอสจะพร้อมแล้วสำหรับการปั้นแพลตฟอร์มด้านการเรียนรู้ให้คนในวงกว้างได้เข้าถึง กับการเปิดตัวบริษัท LearnDi (เลิร์นดิ) พร้อมจับมือพาร์ทเนอร์ในแวดวง EdTech อีกหลายราย เพื่อให้เป็น Hub ด้านองค์ความรู้สำหรับคนทำงาน – องค์กรยุคใหม่
สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่เอไอเอสเห็นจนนำมาสู่การเปิดตัวบริษัทใหม่ – แพลตฟอร์มใหม่ครั้งนี้ ได้รับการบอกเล่าจากคุณกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท AIS และกลุ่มอินทัช และกรรมการบริษัท เลิร์นดิ จำกัด ว่า มีปัจจัยหลักจาก 3 ส่วน นั่นคือ
- กระแส Digital Disruption ที่เกิดขึ้นในช่วง 4 – 5 ปีก่อนที่กระทบต่อคนทำงานให้ต้องพัฒนาตัวเองในทักษะต่าง ๆ เพิ่มเติมเพิ่มโอกาสในการทำงานใหม่ ๆ ในอนาคต (ซึ่งในช่วงนั้น เอไอเอสได้พัฒนา AIS Academy ขึ้นมาสำหรับเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้สำหรับฝึกอบรมพนักงานในองค์กร รวมถึงต่อยอดไปสู่การจัดงาน CSR อย่าง Academy for Thais ด้วย)
- Covid-19 ที่เข้ามาท้าทายผู้คนทั่วโลกพร้อมกัน และส่งผลให้รูปแบบการเรียนรู้ – การฝึกอบรมขององค์กรต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล โดยการฝึกอบรมแบบเดิม ๆ ที่มีการจองห้องขนาดใหญ่ – นัดหมายเวลาอบรมพร้อมกัน ฯลฯ จะหายไป เปลี่ยนเป็นการจัดอบรมออนไลน์แทนเพื่อความปลอดภัยของพนักงาน
- ตัวพนักงานเองที่เปลี่ยนแปลงไป ข้อนี้เป็นสิ่งที่เอไอเอสพบเองว่า พนักงานรุ่นใหม่จะสนใจสร้าง Career opportunity ด้วยตัวเอง แทนการรอให้หัวหน้า – องค์กรเป็นผู้ป้อนให้เหมือนในอดีต
ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ทำให้เอไอเอสจับมือกับพาร์ทเนอร์ในแวดวง EdTech อย่าง Humanica, Invent, SEAC, Conicle, NEO Academy by CMMU, Beyond Training และ Doctor A to Z และสร้างแพลตฟอร์มกลางชื่อ LearnDi ขึ้นมา เพื่อให้เป็นฮับด้านองค์ความรู้ และทักษะใหม่ ๆ ทั้ง Hard Skill และ Soft Skill โดยในช่วงเริ่มต้น LearnDi จะมีเนื้อหาทั้งสิ้น 250 หลักสูตร แบ่งออกเป็น 9 หมวดใหญ่ ได้แก่
- Information Technology
- Entrepreneur
- Communication
- Language
- General
- Health Care and Wellness
- Financial
- Marketing
- Management
ด้านคุณสุนทร เด่นธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Humanica ซึ่งเป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์ของเลิร์นดิกล่าวเสริมว่า “วัตถุประสงค์ในการเปิดบริษัทเลิร์นดิ คือเราอยากช่วยพนักงานของบริษัทลูกค้าให้ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความสุขมากขึ้น เติบโตต่อไปในองค์กรได้ และรู้ว่าจะต้อง UpSkill – ReSkill ตัวเองอย่างไรจึงจะตอบโจทย์องค์กรในอนาคต”
พร้อมกันนั้น คุณสุนทรยังได้กล่าวถึงจุดที่เลิร์นดิแตกต่างกับแพลตฟอร์มการเรียนรู้อื่น ๆ 4 ข้อ ได้แก่
- มีแบบวัดศักยภาพส่วนบุคคล ภายใต้การร่วมมือกับคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในด้านต่าง ๆ เช่น Creativity, Agility, Digital Literacy, Leadership, Complex Problem Solving ฯลฯ เพื่อให้พนักงานเข้าใจถึงจุดเด่นของตนเอง
- มีระบบช่วยวิเคราะห์สิ่งที่พนักงานควรเรียน เพื่อลดความเสี่ยงในการเรียนแบบสะเปะสะปะ (แต่พนักงานเองก็สามารถเลือกเรียนในสิ่งที่ต้องการได้เองเช่นกัน)
- องค์กรสามารถทำงานร่วมกับทีมเลิร์นดิเพื่อสร้างเนื้อหาที่ตอบโจทย์กับพนักงานในองค์กรได้เอง โดยทางเอไอเอสจะมีการจัดทำสตูดิโอเพื่อผลิตเนื้อหาในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งอาจรวมถึงคอนเทนต์แบบ AR/VR ได้ด้วย ทั้งนี้ เนื้อหาดังกล่าวจะอยู่ในระบบ และเปิดให้พนักงานขององค์กรนั้น ๆ เข้าไปเรียนรู้ได้แบบไม่จำกัด
- เมื่อเรียนจบ ผู้เรียนจะได้รับ Digital Badge สำหรับยืนยันว่าได้รับการอบรมในเนื้อหาดังกล่าวมาจริง โดย Digital Badge นี้จะติดตัวผู้เรียนไปตลอด ไม่ว่าจะยังอยู่ในองค์กรที่ส่งไปเรียนหรือย้ายไปทำงานที่ใหม่แล้วก็ตาม (เพื่อลดการเกิด Fraud)
สำหรับราคาเริ่มต้นในการใช้บริการมีหลายระดับ โดยคุณกานติมาบอกว่า เป็นราคาที่คนไทยเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ หรือธุรกิจ SME ก็ตาม และในระยะต่อไป จะมีการเพิ่มพาร์ทเนอร์ และคอนเทนต์จากภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาในแพลตฟอร์มให้มากขึ้นด้วย
“องค์ความรู้ที่ดี ต้องผ่านการกลั่นกรองอย่างเหมาะสม และต้องเข้าถึงง่าย เพื่อให้คนที่ต้องการมีโอกาสเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน” คุณกานติมากล่าวปิดท้าย