ผู้บริหารฟู้ดแพนด้า (Foodpanda) เปิดตัวเลขร้านอาหารบนแพลตฟอร์มต้องปิดตัวเพราะพิษ Covid-19 แล้ว (ทั้งชั่วคราวและถาวร) ถึง 25,000 ราย พร้อมเผยพฤติกรรมผู้บริโภคในช่วงการระบาดของ Covid-19 ระลอกสามหันมาสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มลดลง เปลี่ยนเป็นทำอาหารรับประทานเองมากขึ้น สะท้อนว่าผู้บริโภคมีเงินในกระเป๋าน้อยลงกว่าเดิม
นอกจากนั้น ผู้บริหารฟู้ดแพนด้ายังชี้ว่ามาตรการลดค่าคอมมิชชั่นเหมาะสำหรับช่วยผู้ประกอบการร้านอาหารใน “ระยะสั้น” เท่านั้น เพราะถ้าต้องลดค่าคอมมิชชั่นระยะยาวจะกระทบกับทั้ง Ecosystem นั่นคือไรเดอร์ – ร้านอาหาร – ผู้บริโภค ซึ่งถ้าทั้งสามส่วนนี้อยู่ไม่ได้ แพลตฟอร์มในฐานะตัวกลางผู้ให้บริการก็จะอยู่ไม่ได้ด้วยเช่นกัน
การแถลงดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้ ฟู้ดแพนด้า รวมถึงแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่อื่น ๆ ในไทยได้ออกมาประกาศลดค่าคอมมิชชั่น และหาแนวทางสนับสนุนร้านอาหารบนแพลตฟอร์มที่ได้รับผลกระทบจากระบาดของ Covid-19 ระลอก 3 ในรูปแบบต่าง ๆ กันไปพอสมควร โดยสำหรับทางฟู้ดแพนด้าได้มีมาตรการสนับสนุนไปแล้วกว่า 200 ล้านบาท รวมถึงโครงการ #SupportSME ที่ลดค่าคอมมิชชั่นลงเหลือ 25% และการให้โค้ดส่วนลดต่าง ๆ กับทางร้านอาหาร ซึ่งทางบริษัทเผยว่า เป็นงบประมาณช่วยเหลือที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่บริษัทให้บริการ เนื่องจากฟู้ดแพนด้ามีร้านอาหารพาร์ทเนอร์ในประเทศไทยเป็นจำนวนมากนั่นเอง
อย่างไรก็ดี คุณอเล็กซานเดอร์ เฟลเดอร์ (Mr. Alexander Felde) ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ดแพนด้า ประเทศไทย จำกัด ได้ออกมาอธิบายเพิ่มเติมถึงแนวทางที่แพลตฟอร์มจะทำได้เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยว่า การลดค่าคอมมิชชั่นอาจไม่ใช่คำตอบในระยะยาว
“ในช่วงโควิด เราเสียใจที่เห็นร้านอาหารปิดตัวลงไปทั้งชั่วคราวและถาวรราว 20,000 – 25,000 แห่ง แต่ในอีกด้านหนึ่งเราก็มีร้านอาหารใหม่ ๆ ที่เข้ามาบนแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปัจจุบัน เรามีร้านอาหารที่แอคทีฟบนแพลตฟอร์ม (หมายถึงมีออเดอร์ทุกวัน) มากกว่า 140,000 กว่าแห่งบนฟู้ดแพนด้า”
สำหรับเหตุผลที่มาตรการเหล่านี้เหมาะจะเป็นมาตรการช่วยเหลือใน “ระยะสั้น” นั้น คุณอเล็กซานเดอร์อธิบายว่า “ค่าคอมมิชชั่นคือรายได้หลักของแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ ซึ่งถ้าเราขยายเวลาของมาตรการการช่วยเหลือออกไป ในอนาคต แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ก็ต้องเริ่มลดค่าใช้จ่าย ซึ่งค่าใช้จ่ายของแพลตฟอร์มที่มากที่สุดคือเรื่องการทำการตลาด ถ้าเราต้องลดค่าการตลาดลง ก็จะทำให้ร้านค้ามียอดขายลดลง ลูกค้าก็จะได้ดีลดี ๆ น้อยลง ส่งผลให้เงินในกระเป๋าของลูกค้าลดลงด้วย เมื่อลูกค้ามีเงินน้อยลง มีการใช้จ่ายลดลง ไรเดอร์ก็จะมีรายได้ลดลงในที่สุด ด้วยเหตุนี้ จากโมเดลธุรกิจที่เรามี จึงไม่แนะนำให้ใช้วิธีลดค่าคอมมิชชั่นในระยะยาว เพราะจะกระทบกับทุกภาคส่วนในท้ายที่สุด”
แนวทางที่ผู้บริหารฟู้ดแพนด้ามองว่าจะทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนจึงเป็นการเพิ่มยอดขาย และรายได้ให้กับร้านค้า ซึ่งการจะไปให้ถึงจุดนั้น คุณอเล็กซานเดอร์เผยว่า อยากให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันเสนอความคิดเห็น หรือมีการทำงานร่วมกัน จึงจะเป็นแนวทางที่เกิดประโยชน์มากที่สุด
วิเคราะห์พฤติกรรมคนสั่งอาหาร “มีเงินน้อยลง”
คุณอเล็กซานเดอร์ยังได้กล่าวถึงพฤติกรรมการสั่งอาหารของลูกค้าที่เปลี่ยนไปในช่วง Covid-19 ระลอก 3 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาด้วยว่า เห็นความแตกต่างอย่างมาก โดยในการระบาดระลอก 1 – 2 นั้น การสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 3 สัปดาห์แรก จากนั้นจึงจะค่อย ๆ ปรับตัวลดลง และเปลี่ยนไปทำอาหารรับประทานเอง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า
ขณะที่ในการระบาดระลอก 3 นี้ ฟู้ดแพนด้าพบว่า ผู้บริโภคหันมาสั่งอาหารจากแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นเพียง 1 สัปดาห์แรกเท่านั้น จากนั้นยอดการสั่งอาหารก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนยอดขายสินค้ากลุ่มแพนด้ามาร์ท (สินค้าอุปโภคบริโภค) เพิ่มสูงแทน ซึ่งสะท้อนว่าผู้บริโภคในปัจจุบัน ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้นนั่นเอง
คุณอเล็กซานเดอร์ยังได้กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “สถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 นั้นถือว่าท้าทายทุกคน แต่การเปลี่ยนแปลงไม่ควรเป็นการมองผลลัพธ์ระยะสั้น แต่เราอาจต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจ เข้าใจทุก ๆ ภาคส่วนที่อยู่ในแพลตฟอร์ม เพราะเราเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้ว เราจะผ่าน Covid-19 ไปได้ด้วยกัน”
“ในฐานะที่เป็นแพลตฟอร์มตัวกลาง เราพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็นจากสังคม แต่ก็ไม่แนะนำให้เปลี่ยนแปลง Ecosystem เพื่อช่วยแค่บางภาคส่วน เพราะในท้ายที่สุด อาจนำมาซึ่งผลกระทบที่ไม่ได้เป็นประโยชน์กับภาพรวมก็เป็นได้”
ทั้งนี้ คุณอเล็กซานเดอร์กล่าวว่า การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับกรณีดังกล่าว