การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ใช่แค่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของผู้คนเท่านั้น แต่ยังสร้างความท้าทายให้กับ “ผู้นำ” องค์กรอย่างมาก เพราะจะต้องขบคิดหาวิธีเพื่อพาองค์กรผ่านวิกฤตและอยู่รอดอย่างยั่งยืนต่อไปได้ คำถามคือ แล้วท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ ผู้นำแบบไหนที่คนทั่วโลก “อยากได้” เพื่อที่จะสามารถรับมือกับความท้าทายในโลกใหม่ และ Post Covid ที่ไม่เหมือนเดิม
มาฟังคำตอบเรื่องนี้กันชัดๆ จาก “เอคเซนเชอร์” ที่ได้นำเสนอรายงาน Technology Vision 2021 ในหัวข้อ Leaders Wanted: Masters of Change at a Moment of Truth ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นจากผู้บริหารธุรกิจและเทคโนโลยีชั้นนำกว่า 6,200 ราย ใน 31 ประเทศ 14 อุตสาหกรรม พร้อมเทรนด์เทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้าที่เหล่าผู้นำองค์กรต้องรับมือต่อไป
ผู้นำยุคโควิด ต้องกล้าปรับตัว และนำการเปลี่ยนแปลง
ผลการสำรวจชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ผู้นำที่คนทั่วโลกต้องการในขณะนี้ ไม่ใช่แค่ผู้นำที่มีความเก่งเท่านั้น แต่ต้องเป็น “ผู้นำในการเปลี่ยนแปลง” กล้า “ปรับตัว” นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานมากขึ้นเพื่อทรานฟอร์มองค์กรสู่ความเป็นดิจิทัล เพราะผลการศึกษาพบว่า องค์กรที่มีพื้นฐานด้านดิจิทัลแข็งแรงไม่เพียงช่วยให้ปรับตัวได้เร็ว แต่ผู้นำยังสามารถต่อยอดสร้างรายได้ให้องค์กรได้มากกว่าขึ้น โดยเร็วกว่าองค์กรที่ตามอยู่ถึง 5 เท่าในปัจจุบัน
“การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นเหมือนกดปุ่มฟาสต์ฟอร์เวิร์ดไปสู่อนาคต หลายองค์กรปรับตัวโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในแบบใหม่เพื่อรักษาธุรกิจให้อยู่รอด และพัฒนาไปในแบบที่ไม่คิดว่าจะทำได้มาก่อน ในขณะที่มีอีกหลายองค์กรต้องประสบกับความจริงที่เจ็บปวด มีทั้งความไม่พร้อมและขาดพื้นฐานด้านดิจิทัลที่จำเป็นต่อการปรับองค์กรให้ได้อย่างรวดเร็ว”
คุณนิธินันท์ สมบูรณ์วิทย์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าว และขยายความให้ฟังว่า ผู้นำไม่ได้มองการปรับตัวเพียงเพื่อให้องค์กรอยู่รอดในสภาวะนี้เท่านั้น แต่ยังมองไปถึงสถานการณ์หลังจากนี้ด้วย โดยเชื่อว่าองค์กรที่สามารถพัฒนาสิ่งใหม่ๆ หรือนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการตลาดได้หลังจากโควิด-19 จะเป็นผู้กำหนดอนาคต
โดย 92% ของผู้บริหารไทยระบุว่า องค์กรกำลังสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยความเร่งด่วนเพื่อนำมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และ 91% ของผู้บริหารต่างประเทศเห็นตรงกันว่า การจะเจาะตลาดแห่งอนาคตนั้น องค์กรจะต้องเป็นผู้กำหนดวิถีด้วยตนเอง ซึ่งการที่องค์กรจะกำหนดทิศทางแห่งอนาคตนั้น จะต้องยึดหลักสำคัญ 3 ประการ ประกอบไปด้วย
1.ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี เพราะหมดยุคแห่งการเป็นผู้ที่ตามได้เร็วแล้ว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอด ผู้นำของวันข้างหน้าคือ ผู้ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำในการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจ
2.ผู้นำจะไม่รอให้เกิดภาวะ New Normal แต่จะสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา พัฒนาตามสภาวะความเป็นจริงใหม่โดยใช้แนวคิดและรูปแบบที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง
3.ผู้นำย่อมเป็นผู้ที่รับผิดชอบมากขึ้นในฐานะพลเมืองโลก โดยการออกแบบและนำเทคโนโลยีมาช่วยเสริมสร้างสิ่งดี ๆ นอกเหนือจากประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับองค์กร เพื่อร่วมสร้างโลกที่ยั่งยืนและคำนึงถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
เพราะโลกเปลี่ยน องค์กรต้องปรับมุมมองใหม่
นอกจากคุณลักษณะของผู้นำที่ต้องกล้าปรับตัวและนำการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นแล้ว ผลสำรวจยังพบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
- 67% ของผู้บริหารไทย และ 63% ของผู้บริหารทั่วโลก เชื่อว่าองค์กรของตนเองได้เร่งกระบวนการปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลในช่วงเวลาที่ผ่านมา
- 95% ของผู้บริหารไทย และ 99% ของผู้บริหารทั่วโลก เชื่อว่าสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น เป็นบททดสอบขององค์กรในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตในด้านต่างๆ ทั้งสถาปัตยกรรม โครงสร้างทางเทคโนโลยี กลยุทธ์องค์กร พนักงาน และกระบวนการทำงานขององค์กร
- 83% ของผู้บริหารไทย และ 92% ของผู้บริหารทั่วโลก เชื่อว่าองค์กรของตนเองต้องมีการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ อย่างเร่งด่วน แล้วสิ่งใหม่ๆ เหล่านั้นต้องเป็นสิ่งที่สามารถนำมาใช้ได้จริง และเห็นผลจริงเป็นรูปธรรม
- 82% ของผู้บริหารไทย และ 91% ของผู้บริหารทั่วโลก เชื่อว่าการกำหนดความต้องการของตลาดในอนาคต เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องคิดค้นและกำหนดขึ้นมาว่าควรจะออกมาในรูปแบบใด
ขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึงการทรานฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัล ผลสำรวจพบว่า การมาของโควิด-19 ทำให้องค์กรต่างๆ มีการปรับตัวสู่ดิจิทัลรวดเร็วขึ้น โดยสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ทำธุรกิจได้ภายใน 1-2 ปี จากเดิมที่เคยต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี เนื่องจากต้องรับมือกับสถานการณ์วิกฤต โดยองค์กรที่มีพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลที่แข็งแรงจะสามารถปรับตัวได้เร็วกว่าและเกิดการสะดุดของธุรกิจน้อยกว่าเมื่อเทียบกับองค์กรที่ยังไม่ปรับตัวสู่ดิจิทัล
“ตอนนี้ต้องยอมรับว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว ทั้งรูปแบบการดำเนินธุรกิจ รูปแบบการทำงาน รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคจะไม่ใช่ภาพเดิมอีกต่อไปแล้ว องค์กรจึงต้องเริ่มมีมุมมองใหม่ๆ” คุณนิธินันท์ บอกถึงอุปสรรคสำคัญของการปรับตัวสู่ดิจิทัล แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 พบว่า องค์กรไทยต่างๆ ไม่เฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่มีความตื่นตัวและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นในทุกส่วนงาน จากเดิมที่จะเห็นในส่วนงานขายเป็นหลัก
สำหรับองค์กรที่ยังไม่สามารถปรับตัวสู่ดิจิทัลหรืออยู่ระหว่างการปรับตัวนั้น คุณนิธินันท์ แนะว่า องค์กรไม่จำเป็นต้องปรับสู่ดิจิทัลทั้งหมด แต่ควรเริ่มจากการ “กำหนดเป้าหมาย” และ “วัตถุประสงค์” ในการนำดิจิทัลมาใช้ในองค์กรให้ชัด รวมถึงสามารถวัดผลได้ ก็จะทำให้ก้าวไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้ง่ายขึ้น
ส่อง 5 เทรนด์เทคโนโลยีที่องค์กรต้องรับมือในอีก 3 ปี
ไม่เพียงแต่โควิด-19 จะเข้ามาสร้างความท้าทายให้กับผู้นำองค์กร ในรายงาน Accenture Technology Vision 2021 ยังได้เผย 5 เทรนด์เทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นที่องค์กรจะต้องเร่งปรับตัวและรับมือช่วง 3-5 ปีจากนี้ด้วย ได้แก่
1.Stack strategically – การกำหนดโครงสร้างทางเทคโนโลยีอย่างมีกลยุทธ์ เพื่อสร้างสถาปัตยกรรมแห่งอนาคต
การแข่งขันของอุตสาหกรรมยุคใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว เป็นยุคที่ธุรกิจไม่ได้แข่งขันกันแค่การช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด แต่เป็นการแข่งขันกันที่สถาปัตยกรรมหรือโครงสร้างทางไอทีขององค์กร ทำให้องค์กรไม่ได้มองเพียงการวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ แต่ต้องวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจและเทคโนโลยีไปพร้อมกัน
โดยผลสำรวจพบว่า 67% ของผู้บริหารในไทย และ 77% ของผู้บริหารทั่วโลก เชื่อว่าโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ ขณะที่ 85% ของผู้บริหารในไทย และ 89% ของผู้บริหารทั่วโลก มองว่า ขีดความสามารถขององค์กรในการสร้างมูลค่าทางธุรกิจให้เพิ่มขึ้น มีปัจจัยสำคัญมาจากสถาปัตยกรรมทางเทคโนโลยีขององค์กร
2.Mirrored World – การสร้างโลกดิจิทัลคู่ขนานอันชาญฉลาด
เป็นเทรนด์ในการสร้างโลกจำลองที่มีข้อมูลมากมายเสมือนโลกจริง โดยใช้ข้อมูลและระบบอัจฉริยะเพื่อสร้างโลกจริงบนดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาโมเดลต่างๆ และนำ AI มาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อแนะนำทางเลือกที่ดีที่สุด ซึ่งจะนำมาสู่โอกาสใหม่ และการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ให้กับตลาด
โดยผลสำรวจพบว่า 77% ของผู้บริหารในไทย และ 65% ของผู้บริหารทั่วโลก มีแนวโน้มลงทุนในโลกเสมือนจริง และ AI เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีข้างหน้า และ 90% ของผู้บริหารในไทย และ 87% ของผู้บริหารทั่วโลก เชื่อว่า โลกดิจิทัลคู่ขนานอันชาญฉลาด และ AI มีความสำคัญใน Ecosystem ของการทำธุรกิจ
3.I, Technologist – ทุกคนสามารถจะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี ด้วยการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม
เพราะตอนนี้พนักงานทุกคนจากทุกฝ่ายสามารถเป็นผู้สร้างสรรค์ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แก้ไขจุดที่เป็นปัญหา และช่วยให้ธุรกิจก้าวทันต่อความต้องการใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด จากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
โดย 88% ของผู้บริหารในไทย และ 86% ของผู้บริหารทั่วโลก เชื่อว่า การเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม มีความสำคัญต่อการจุดประกายนวัตกรรมให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร ขณะที่ 87% ของผู้บริหารในไทย และ 90% ของผู้บริหารทั่วโลก มองด้วยว่า นอกจากการสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีในการทำงานแล้ว องค์กรยังต้องให้ความสำคัญในความปลอดภัยของข้อมูล และการกำกับดูแลการเข้าถึงข้อมูลเพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมในองค์กรมากขึ้น
4.Anywhere Everywhere – ทำงานจากที่ไหนก็ได้
จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้บุคลากรขององค์กรสามารถระบุสภาวะแวดล้อมในการทำงานได้เอง ทำให้ผู้บริหารและองค์กรต้องปรับมุมมองในการทำงานให้เข้ากับรูปแบบการทำงานแบบใหม่เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น เวลาเข้าออกงาน และสถานที่ในการทำงาน
โดย 57% ของผู้บริหารในไทย และ 47% ของผู้บริหารทั่วโลก พบว่า องค์กรต่างๆ ได้ทำการลงทุนในเครื่องมือต่างๆ เพื่อสนับสนุนการทำงานจากทางไกลในช่วงปีที่ผ่านมา ขณะที่ 80% ของผู้บริหารในไทย และ 81% ของผู้บริหารทั่วโลก เชื่อว่า องค์กรชั้นนำจะเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน โดยเริ่มให้พนักงานมีส่วนร่วมในการกำหนดสภาวะแวดล้อมการทำงานได้ด้วยตนเอง
5.From Me to Me – รอดได้ด้วยการเชื่อมโยงของข้อมูล
ในช่วงที่ทุกคนต้องหันมาใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การมีระบบที่สามารถเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันจากทุกฝ่าย จะช่วยให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้ดีขึ้น ทั้งยังทำให้เกิดแนวทางใหม่ๆ ในการทำธุรกิจมากขึ้น โดย 93% ของผู้บริหารในไทย และ 90% ของผู้บริหารทั่วโลก มองว่า องค์กรต้องปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลอย่างเร่งด่วน โดยต้องมีคลาวด์ เทคโนโลยีเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงาน