“ยูนิลีเวอร์” เปิดตัวนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ขวดน้ำยาซักผ้าที่ทำมาจาก “กระดาษ” แทนการใช้ขวดพลาสติก โดยแบรนด์ต้นแบบที่ทดลองเปลี่ยนคือ “OMO” (โอโม) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Persil, Skip และ Breeze (ยกเว้นประเทศไทย ที่มีทั้งแบรนด์โอโม และบรีส) โดยพัฒนาร่วมกับกลุ่มบริษัท Pulpex ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง Unilever, Diageo, Pilot Lite และสมาชิกในอุตสาหกรรมอื่นๆ
กระดาษที่นำมาใช้ทำบรรจุภัณฑ์ ทำมาจากเยื่อกระดาษที่มาจากแหล่งยั่งยืน และภายในขวดมีการฉีดพ่นสารเคลือบกันน้ำ ซึ่งได้รับการจดสิทธิบัตร ทำให้ขวดกระดาษนี้ สามารถบรรจุผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคที่เป็นของเหลวได้ เช่น น้ำยาซักผ้า แชมพู ครีมนวด ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ประกอบด้วยสารลดแรงตึงผิว น้ำหอม และสารออกฤทธิ์อื่นๆ
จะลดปัญหาขยะพลาสติกได้ ต้อง “Rethink” ตั้งแต่การออกแบบบรรจุภัณฑ์
Richard Slater ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท ยูนิลีเวอร์ กล่าวว่า เพื่อจัดการกับปัญหาขยะพลาสติก เราจำเป็นต้องคิดใหม่ทั้งหมดว่าเราจะออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าอย่างไร ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ต้องสร้างความร่วมมือกันทั้งอุตสาหกรรม
“นวัตกรรมวัสดุทางเลือก เป็นส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์การพัฒนาบรรุจภัณฑ์ยั่งยืนของยูนิลีเวอร์ และมีบทบาทสำคัญในความมุ่งมั่นของเราที่จะลดการใช้พลาสติกใหม่ (Virgin Plastic) ลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2025”
เนื่องจากผู้บริโภคตระหนักถึงผลกระทบของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อโลกมากขึ้น โดยปัจจุบันการเลือกซื้อสินค้า ผู้บริโภคได้พิจารณาปัจจัยด้านความยั่งยืน รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ และสินค้าที่มีส่วนช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
ผลิตภัณฑ์น้ำยาซักผ้า OMO ในขวดกระดาษนี้ เตรียมเปิดในบราซิลช่วงต้นปี 2022 จากนั้นจะเปิดตัวในยุโรป และประเทศอื่นๆ ตามมา
Corporate Purpose มุ่งลดการใช้พลาสติก
“ยูนิลีเวอร์” ได้กำหนดพันธกิจลดการใช้พลาสติกใน 3 แกน ภายใต้กรอบของการพัฒนานวัตกรรม ดังนี้
“Less Plastic” ลดปริมาณการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์สูตรเข้มข้น สำหรับเจือจางกับน้ำเปล่า เพื่อลดขนาดบรรจุภัณฑ์
ตัวอย่างเช่นน้ำยาซักผ้า OMO สูตรเข้มข้น 6 เท่า ให้นำไปผสมน้ำและเทลงในขวดขนาด 3 ลิตร โดยบรรจุภัณฑ์ประกอบด้วยพลาสติกน้อยกว่า 72% และใช้พลาสติกรีไซเคิลหลังการบริโภค (Post-Consumer Recycled : PCR) 50%
ยูนิลีเวอร์มองว่าไม่ใช่แค่ดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่ผู้บริโภคยังได้ความคุ้มค่าคุ้มราคาจากผลิตภัณฑ์สูตรเข้มข้น ที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย 20 – 25% ต่อการซัก เมื่อเปรียบเทียบกับ OMO สูตรมาตรฐาน
“Better Plastic” สินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล ตัวอย่างเช่นปัจจุบันแบรนด์ Dove ในยุโรป และอเมริกาเหนือ เปลี่ยนไปใช้ขวดรีไซเคิล 100% แล้ว และยูนิลีเวอร์ยังเตรียมเปลี่ยนหลอดยาสีฟันเป็นวัสดุรีไซเคิลภายในปี 2025
“No Plastic” ใช้วัสดุทางเลือกที่ไม่มีส่วนผสมพลาสติก เช่น อลูมิเนียม แก้ว กระดาษ หรือวัสดุที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์ได้
ตัวอย่างเช่นแบรนด์ Seventh Generation เปิดตัวกลุ่มผลิตภัณฑ์ Zero-plastic, แบรนด์ผลิตภัณฑ์ชา PG Tips นำฟิล์มพลาสติกออกจากกล่อง นอกจากนี้เปิดตัวถุงชาทำมาจากวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegradable)
นอกจากนี้ ในชิลี “ยูนิลีเวอร์” จับมือกับ “Algramo” นำเสนอโมเดล Refill ส่งตรงถึงบ้านผู้บริโภค ขณะที่ในสหราชอาณาจักร ร่วมมือกับเชนค้าปลีกรายใหญ่ “Asda” และ “Beauty Kitchen” ให้บริการตู้ Refill สินค้าอุปโภคบริโภคในเครือยูนิลีเวอร์
ขณะที่เป้าหมายใหญ่ของยูนิลีเวอร์ ปักหมุดใน 3 ด้านใหญ่ที่จะต้องบรรลุผลภายในปี 2025 ประกอบด้วย
– ลดการใช้พลาสติกใหม่ลงครึ่งหนึ่ง และลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำพลาสติก 100% ให้ได้มากกว่า 100,000 ตัน
– รวบรวม และแปรรูปบรรจุภัณฑ์พลาสติก เพื่อให้แน่ใจได้ว่าบรรจุภัณฑ์นั้น ถูกนำกลับไปใช้ใหม่ รีไซเคิล หรือย่อยสลาย
– เพิ่มการใช้วัสดุพลาสติกรีไซเคิลหลังการบริโภคในบรรจุภัณฑ์อย่างน้อย 25%
- อ่านเพิ่มเติม: “ยูนิลีเวอร์” เปิดตัว “ตู้ Refill” แชมพู-เจลอาบน้ำ-น้ำยาซักผ้า โมเดลการขายที่ลดการใช้พลาสติก