มหกรรมโอลิมปิกโตเกียว 2020 ที่หลายคนเฝ้ารอมาตลอดหลายปี กำลังจะเปิดฉากขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการในวันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ จนกลายเป็นโอลิมปิก 2020 ซึ่งจัดขึ้นในปี 2021
ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ก่อนเริ่มการแข่งขันจริง มีหลายประเด็นร้อนที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลญี่ปุ่น ความไม่ชัดเจนในเรื่องผู้ชมในสนาม การติดเชื้อของนักกีฬาในหมู่บ้านนักกีฬา ฯลฯ จนทำให้โอลิมปิกโตเกียว 2020 ครั้งนี้ มีหลายปรากฏการณ์ที่ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์เลยทีเดียว โดย BrandBuffet ขอสรุปมาใน 5 หัวข้อดังนี้
1. มหกรรมโอลิมปิกที่ (อาจ) มีต้นทุนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์
โอลิมปิกโตเกียว 2020 กำลังจะถูกบันทึกไว้เป็นอีกหนึ่งมหกรรมที่มีต้นทุนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การจัดโอลิมปิก เนื่องจากเป็นมหกรรมที่เจ้าภาพต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการป้องกันการแพร่ระบาดของ Covid-19 จำนวนมหาศาล โดยคาดการณ์ว่าจะสูงถึง 1.64 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 14,960 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจัดงานโอลิมปิกทั่วไป มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ได้เคยทำวิจัยไว้พบว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น (ประเมินจากการจัดงานในระหว่างปี 1960 – 2016 และไม่นับรวมการจัดงานพาราลิมปิกส์)
ค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งที่มีการเปิดเผยออกมาเมื่อเดือนธันวาคมก็คือ งบประมาณมูลค่า 96,000 ล้านเยนที่ผู้จัดงานอย่าง The Tokyo Organizing Committee of the Olympic and Paralympic Games ต้องละลายไปกับค่าใช้จ่ายหลาย ๆ อย่าง หนึ่งในนั้นคือค่าใช้จ่ายมูลค่า 16,000 ล้านเยนสำหรับตรวจสุขภาพให้กับนักกีฬา และผู้เกี่ยวข้องกับมหกรรมดังกล่าวทุกคน ส่วนอีก 80,000 ล้านเยนนั้น พบว่าได้แบ่งให้กับรัฐบาลญี่ปุ่น และกรุงโตเกียวนำไปบริหารจัดการเพื่อลดการแพร่ระบาดของ Covid-19
ค่าใช้จ่ายอีกตัวที่เพิ่มขึ้นมาก็คือค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ เช่น ค่าใช้จ่ายในการดูแลหมู่บ้านนักกีฬาที่มีการเช่าใช้นานขึ้น ค่าใช้จ่ายในการจัดหาบริการทางการแพทย์ ค่าเช่ายานพาหนะที่นานขึ้นเช่นกัน ค่าใช้จ่ายเรื่องระบบรักษาความปลอดภัย ค่าใช้จ่ายเรื่องระบบขายตั๋ว ค่าไฟ ค่าเช่าอุปกรณ์ หรือแม้แต่ค่าใช้จ่ายในการรีฟันด์ ฯลฯ
2. มหกรรมโอลิมปิกที่ไม่มีรายได้จากการขายตั๋ว
เมื่อพูดถึงต้นทุนก็ต้องพูดถึงรายได้ด้วย น่าเสียดายที่โอลิมปิกโตเกียวครั้งนี้ไม่สามารถขายตั๋วได้ตามที่ตั้งใจไว้ แม้จะเลื่อนการจัดการแข่งขันมาแล้วถึงหนึ่งปีก็ตาม ซึ่งนั่นทำให้ตัวเลขรายได้ที่ญี่ปุ่นตั้งเป้าไว้ที่ 90,000 ล้านเยนจากการขายตั๋วประมาณ 630,000 ใบไม่อาจเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ
3. มหกรรมโอลิมปิกที่ไร้เสียงเชียร์ในสนาม
สำหรับการแข่งขันในมหกรรมโอลิมปิกครั้งนี้ สำหรับชาวโลก คงเป็นอีกหนึ่งอีเวนท์ที่จะทำให้เราได้ยิ้มและเชียร์นักกีฬากันบ้างท่ามกลางการระบาดของ Covid-19 ที่ยังเพิ่มสูง แม้จะเป็นการรับชมผ่านทางหน้าจอทีวีก็ตาม แต่สำหรับชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงโตเกียว น่าเสียดายที่พวกเขาก็ได้รับสิทธินี้เช่นกัน
ส่วนหนึ่งมาจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีขึ้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2021 ทำให้การแข่งขันต่าง ๆ ของโอลิมปิกครั้งนี้ต้องไร้ผู้ชมไปโดยปริยาย (สำหรับมาตรการก่อนหน้าที่มีการประกาศเอาไว้ก็คือ ทางผู้จัดมหกรรมโอลิมปิกอนุญาตให้มีผู้เข้าชมการแข่งขันได้สูงสุด 10,000 ราย หรือ 50% ของความจุที่รองรับได้ ในกรณีที่สนามแข่งขันมีขนาดเล็ก จากนั้นได้มีการปรับลดลงเหลือ 5,000 รายต่อการแข่งขัน จนมาถึงบทสรุปสุดท้ายนั่นคือ การรีฟันด์ตั๋วให้กับผู้ที่ซื้อไป)
4. มหกรรมโอลิมปิกที่ประเทศเจ้าบ้าน “ไม่โอเค”
การสำรวจความคิดเห็นของชาวญี่ปุ่นก่อนหน้านี้ยังพบด้วยว่า 80% ต้องการให้ยกเลิกการแข่งขัน หรือไม่ก็เลื่อนไปก่อน
ไม่เพียงเท่านั้น บรรดาผู้บริหารระดับสูงของแบรนด์ดังในญี่ปุ่นยังปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในพิธีเปิด – ปิดการแข่งขันมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย โดยที่ผ่านมามีทั้งประธานบริษัทโตโยต้า ซึ่งเป็นสปอนเซอร์หลักของโอลิมปิกออกมาปฏิเสธการเข้าร่วม แล้วก็ยังมีแบรนด์อย่างนิชชิน, NTT, Yamato, Fujitsu, Sumitomo Chemical, Asahi ล่าสุดก็รวมถึงผู้บริหารของพานาโซนิคที่ออกมาปฏิเสธการเข้าร่วมงานครั้งนี้แล้วเช่นกัน
สำหรับเหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้ผู้บริหารญี่ปุ่นไม่พอใจคือเรื่องของการสื่อสาร ที่คณะผู้จัดงานสื่อสารกับบรรดาสปอนเซอร์น้อยกว่าที่ควรจะเป็น โดยบริษัทบางรายบอกว่า เพิ่งได้รับการติดต่อจากคณะผู้จัดงานเมื่อไม่นานมานี้เอง ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งก็คือการพบว่า ประชาชนชาวญี่ปุ่นออกมาแสดงความไม่พอใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กับการจัดมหกรรมดังกล่าว ผ่านทางโซเชียลมีเดีย จึงไม่แปลกหากแบรนด์จะมองว่า การรักษาระยะห่างจากมหกรรมโอลิมปิก อาจช่วยรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์ไม่ให้เสียไปด้วยได้นั่นเอง
นอกจากเรื่องธุรกิจแล้ว “การเมือง” ระหว่างประเทศก็คุกรุ่นเบา ๆ เมื่อนักกีฬาเกาหลีใต้แขวนป้ายที่มีข้อความว่า “ฉันมีชาวเกาหลีใต้ 50 ล้านคนคอยหนุนหลังอยู่” ฟังดูก็เป็นประโยคให้กำลังใจนักกีฬาทั่วไป แต่เบื้องหลังก็คือ เป็นประโยคที่ นายพล อี ซุน-ซิน อดีตผู้นำกองทัพเรือเกาหลีใต้ ในศตวรรษที่ 16 ซึ่งนำทหารเข้าทำสงครามกับญี่ปุ่น และเป็นฝ่ายเอาชนะไปได้เป็นผู้กล่าวไว้ นั้นทำให้ ฝ่ายเจ้าภาพไม่พอใจ จนคณะกรรมการโอลิมปิกสากลต้องสั่งให้ทีมงานฝ่ายเกาหลีใต้เก็บป้ายดังกล่าวไป
ยังไม่นับจำนวนนักกีฬาหรือทีมงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจพบเชื้อ Covid-19 เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งถึงก่อนวันแข่งขัน พบมี 55 รายแล้ว ความหลากหลายของผู้คนทำให้เป็นที่น่าหวั่นเกรงว่า Covid-19 สายพันธุ์ใหม่ ๆ จะแพร่สู่ประเทศ ทำให้คนญี่ปุ่นยิ่งรู้สึกกังวลใจมากขึ้น ก็ได้แต่หวังว่า Bubble ที่กักกันนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ให้อยู่ในวงจำกัด รวมทั้งการตรวจเข้มและถี่ของคณะกรรมการจัดงาน จะช่วยสกัดกั้นการแพร่ระบาดให้อยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ควบคุมไว้เท่านั้น
5. มหกรรมโอลิมปิกที่ไม่ช่วยพลิกเศรษฐกิจญี่ปุ่น แถมอาจจะพังกว่าเดิม
การไม่อนุญาตให้มีผู้ชมในสนามการแข่งขันไม่เพียงทำให้ผู้จัดงานพลาดโอกาสทำรายได้จากเงินค่าตั๋ว แต่กำลังทำให้โรงแรม – ที่พักต่าง ๆ รอบกรุงโตเกียวเจอการแคนเซิลครั้งมโหฬารด้วย เนื่องจากสถิติผู้ที่ซื้อตั๋วเข้าชมการแข่งขันนั้นพบว่า 30% มาจากเมืองที่อยู่นอกพื้นที่กรุงโตเกียว และส่วนใหญ่วางแผนจะหาโรงแรมพักอย่างน้อยหนึ่งคืน โดย Dai-Ichi Life Research Institute คาดการณ์ว่า การตัดสินใจไม่ให้มีผู้ชมในสนาม อาจทำให้มีธุรกิจต่าง ๆ ล้มละลายมากขึ้นในอนาคตอันใกล้
ส่วนหนึ่งที่ทำให้โรงแรมต่าง ๆ ในญี่ปุ่นไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อาจมาจากการลงทุนอัปเกรดโรงแรมของตนเองไปก่อนหน้านี้ เพื่อเตรียมรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้าร่วมชมมหกรรมโอลิมปิก โดยข้อมูลจาก Bloomberg Economics ระบุว่า ในปี 2019 อุตสาหกรรมโรงแรมของญี่ปุ่นมีการลงทุนรีโนเวทโรงแรมที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเตรียมการรับนักท่องเที่ยวไปมากถึง 1.5 ล้านล้านเยนเลยทีเดียว
ทั้งนี้ Dai-Ichi Life Research Institute ระบุว่า ธุรกิจที่น่ากังวลคือ โรงแรมขนาดเล็กที่ไม่มีสายป่านยาวเท่ากับเชนโรงแรมขนาดใหญ่ และไม่สามารถแข่งขันในด้านราคาได้นั่นเอง
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า การแข่งขันที่ “ญี่ปุ่น” หมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นโอลิมปิก ที่ยิ่งใหญ่ ยกระดับประเทศไปสู่สายตาชาวโลกได้เหมือนกับที่ปี 1964 เคยทำมาแล้ว กลับกลายเป็นว่า ต้นทุนการจัดการสูง แถมยังไม่มีรายได้จากตั๋วเข้าชม และการที่ไม่มีผู้เข้าชม นั่นแปลว่ารายได้อื่นๆ เช่น ค่าที่พัก, ค่าตั๋วเดินทาง, การจับจ่ายของนักท่องเที่ยว ก็ไม่มีไปด้วย เหนือสิ่งอื่นใด ก็คือ “ประสบการณ์” ที่ผู้ชมทั่วโลกจะได้สัมผัสความเป็นญี่ปุ่น ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่หมดมนต์เสน่ห์ลงไปอย่างสิ้นเชิง ไม่นับว่าญี่ปุ่นยังต้องกลืนเลือด กัดฟันเดินหน้าจัดโอลิมปิกต่อไป ท่ามกลางเสียงความรู้สึกที่ไม่เห็นด้วยของคนในประเทศ และมู้ดแอนด์โทนของคนทั่วโลกที่ชั่วโมงนี้คงไม่มีกระจิตกระใจเชียร์นักกีฬาของชาติตัวเองได้กระหึ่มเหมือนเคย