วันนี้(24 กรกฎาคม 2564) คุณเจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ส่ง จดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนพี่น้องชาวไทย ระบุ “เราจะพยายามอย่างสุดความสามารถ” อาทิตย์หน้าพร้อมส่งวัคซีนให้กับรัฐบาลไทยอีก 2.3 ล้านโดส รวมเป็นยอดส่งมอบ 11.3 ล้านโดส ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม
สำหรับเนื้อหาในจดหมาย มีดังนี้
สรุป “แอสตร้าเซนเนก้า” บอกอะไรคนไทย
โดยสรุปใจความที่น่าสนใจในจดหมายดังกล่าว มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
– แอสตร้าเซนเนก้าในประเทศไทย แสดงความกังวลและเป็นห่วงกับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา ได้มีการหารือกับกรมควบคุมโรคมาโดยตลอดเกี่ยวกับผลกระทบจากการกลายพันธุ์ของไวรัส และแนวทางที่แอสตร้าเซนเนก้าจะสามารถช่วยสนับสนุนโครงการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ และ พยายามจะเร่งผลิตและส่งมอบวัคซีนที่มีคุณภาพเพื่อปกป้องคุณและคนที่คุณรักให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยให้คำสำญญาว่า “เราจะพยายามอย่างสุดความสามารถ”
– วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า เป็น “ชีววัตถุ” ที่เริ่มต้นด้วยการเพาะเลี้ยงเซลล์ที่เป็นส่วนประกอบในกระบวนการผลิต จึงมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน จำนวนเซลล์ ‘ที่สามารถนำไปใช้’ เพื่อการผลิตวัคซีนในแต่ละรอบการผลิตจึงมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตระยะแรกจากศูนย์การผลิตวัคซีนแห่งใหม่ ถึงแม้จะมีข้อจำกัดมากมาย แต่แอสตร้าเซนเนก้า คาดการณ์ว่าจะสามารถจัดสรรวัคซีนให้กับประเทศไทยได้โดยเฉลี่ย 5-6 ล้านโดสต่อเดือน
– จนถึงขณะนี้ แอสตร้าเซนเนก้าได้ส่งมอบวัคซีนให้กับกระทรวงสาธารณสุขแล้ว 9 ล้านโดส และมีกำหนดส่งมอบอีก 2.3 ล้านโดสในสัปดาห์หน้า รวมเป็นยอดส่งมอบ 11.3 ล้านโดส ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากแผนการจัดหาวัคซีนจำนวน 61 ล้านโดสให้กับประเทศไทย
– แอสตร้าเซนเนก้า จะพยายามจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมจากศูนย์การผลิตของแอสตร้าเซนเนก้าทั่วโลกกว่า
20 แห่ง เพื่อส่งมอบวัคซีนเพิ่มเติมให้กับประเทศไทยและประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกกำลังประสบกับภาวะขาดแคลนวัคซีนป้องกันโควิด-19 การขาดแคลนวัตถุดิบและส่วนประกอบที่จำเป็นในการผลิตวัคซีน เช่นกัน แต่ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถนำเข้าวัคซีนเพิ่มเติมมาให้กับคนไทยได้ในเดือนต่อๆ ไป
– ข้อมูลจากการใช้วัคซีนล่าสุดจากประเทศแคนาดาแสดงให้เห็นว่า วัคซีนป้องกันโควิด -19 ของแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม มีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อรุนแรงในระดับที่ต้องเข้านอนรับการรักษาในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าได้มากถึง 87%