HomeBrand Move !!KKP แนะ 5 เรื่องต้องเร่งทำ รับมือโควิด-19 ยอมรับหากสถานการณ์เลวร้าย GDP อาจถึงขั้นติดลบ

KKP แนะ 5 เรื่องต้องเร่งทำ รับมือโควิด-19 ยอมรับหากสถานการณ์เลวร้าย GDP อาจถึงขั้นติดลบ

แชร์ :


เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 ยังน่าห่วง หลังเชื้อร้ายโควิด-19 กลับมาระบาดระลอก 3 หนักหน่วงยิ่งขึ้น ทำจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่พุ่งไม่หยุด แตะหลักหมื่นต่อเนื่องกันมาหลายวัน จนรัฐบาลต้องประกาศล็อกดาวน์และเพิ่มมาตรการเข้มในพื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัด ประกอบกับแผนกระจายวัคซีนที่เริ่มต้นช้า ทำให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคเริ่มกังวลกับสภาพเศรษฐกิจ ล่าสุด กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP ได้ประเมินผลกระทบโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ไว้อย่างน่าสนใจ พร้อมแนะรัฐ 5 เรื่องต้องเร่งทำเพื่อควบคุมและลดผลกระทบการระบาดให้เร็วที่สุด

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หากวัคซีนล่าช้า การระบาดกระทบการผลิต อาจฉุดจีดีพีถึงขั้นติดลบ

จากสถานการณ์การฉีดวัคซีนที่เริ่มต้นช้า และปริมาณวัคซีนที่จัดหาได้มีน้อยกว่าที่คาด ทำให้ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัท หลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า การแพร่ระบาดและมาตรการล็อคดาวน์อาจจะมีต่อเนื่องไปอย่างน้อยอีก 3 เดือน เพราะปัจจุบันสัดส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว มีแค่ 3 ล้านกว่าคน หรือคิดเป็น 5% ของประชากร โดยประเมินว่าภายในไตรมาส 3 จะมีประชากร 20% ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส และ 35% ในสิ้นปี แถมปริมาณวัคซีนที่มาค่อนข้างช้า ยังส่งผลให้ประชากรส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันแค่หนึ่งเข็ม ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า การฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประสิทธิผลแค่ 30% ดังนั้น ต้องรอเข็ม 2 ประสิทธิภาพถึงจะขึ้นไปถึง 60-70%

“ในระยะเวลา 3 เดือนข้างหน้าจากนี้เป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างน่าห่วง สิ่งที่กังวล ไม่ใช่เรื่องความสามารถในการฉีดวัคซีน แต่เป็นเรื่องปริมาณและคุณภาพของวัคซีนที่ได้มา และถึงแม้ปัจจุบันจะมีการปิดเมือง และเร่งฉีดวัคซีน แต่ก็สามารถช่วยลดอัตราการติดเชื้อใหม่ได้ในบางพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯ ไม่สามารถจะเปิดเมืองได้ เพราะทันทีที่เปิด จะทำให้เกิดการสัมผัสและส่งผลให้อัตราการติดเชื้อกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีก”

นอกจากความกังวลเรื่องประสิทธิภาพวัคซีน ดร.พิพัฒน์ บอกว่า การแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ยังมีความเสี่ยง 2 เรื่องที่ต้องจับตา คือ 1.การติดเชื้อที่อาจลามเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิต จนโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานผลิตรถยนต์ และโรงงานอาหารบางแห่งต้องหยุดสายการผลิตชั่วคราว และ 2.ถ้าอัตราการติดเชื้อในสถานที่ทำงานเพิ่มขึ้น ภาครัฐอาจจะมีความจำเป็นต้องออกมาตรการเข้มข้นขึ้นจนนำไปสู่การปิดสถานที่ทำงาน โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งหากซัพพลายเชนเหล่านี้มีการสะดุดหรือชะงักโดยเฉพาะกลุ่มอาหาร ย่อมส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั้งหมด

โดย ดร.พิพัฒน์ มองว่า ในกรณีที่ต้องล็อกดาวน์ 3 เดือน และการแพร่ระบาดไม่ลุกลามจนกระทบต่อภาคการผลิต เศรษฐกิจในปีนี้อาจหดตัวเหลือ 0.5% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 1.5% แต่กรณีที่การระบาดรุนแรง การล็อคดาวน์อาจยาวนานและรุนแรงกว่า หรือต้องมีการปรับความเข้มข้นของมาตรการล็อคดาวน์ จนกระทบภาคการผลิตและการส่งออกที่เป็นความหวังสำคัญ อาจทำให้ GDP ในปีนี้มีโอกาสติดลบได้เช่นกัน

แนะรัฐเร่งทำ 5 เรื่อง ทั้งจัดหาวัคซีน-เยียวยา-นโยบายการเงิน

ทั้งนี้ การหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่รุนแรงและยาวนานกว่าการระบาดสองครั้งแรก จะส่งผลอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิต การจ้างงาน กระแสเงินสด ฐานะทางการเงิน และความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ดังนั้น จึงแนะรัฐบาลจำเป็นต้องเร่งทำใน 5 เรื่องตอนนี้ เพื่อควบคุมการระบาดและลดผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์

เรื่องแรก ต้องมีการวางแผนการใช้มาตรการล็อคดาวน์ที่รอบคอบ สอดคล้องกับสถานการณ์และศักยภาพของระบบสาธารณสุข รวมถึงประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนธุรกิจ ประเมินสถานการณ์อย่างรัดกุม ตลอดจนสื่อสารกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา

เรื่องที่ 2 การเพิ่มศักยภาพในการตรวจหาเชื้อ สอบสวนโรค และรักษา พร้อมทั้งเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิผลเพื่อเพิ่มสัดส่วนของประชากรที่มีภูมิคุ้มกัน

เรื่องที่ 3 ต้องออกมาตรการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐที่เพียงพอและเหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบและป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็นถาวรทางเศรษฐกิจ แรงงานและผู้ประกอบการ

เรื่องที่ 4 เตรียมการเพื่อกระตุ้นและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลังโควิด

เรื่องที่ 5 รักษาความเชื่อมั่นและเสถียรภาพของระบบการเงิน

“แม้ปัจจุบันระดับหนี้สาธารณะต่อรายได้ของไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นใกล้เพดานวินัยทางคลังที่ร้อยละ 60 และคาดว่าจะเกินระดับดังกล่าวในปี 2565 แต่ด้วยระดับอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลง รัฐบาลยังมีศักยภาพในการสร้างหนี้เพิ่มขึ้นได้ หากมีความจำเป็น แต่รัฐบาลต้องมีแผนในการปรับลดการขาดดุลในอนาคตเพื่อรักษาวินัยทางการคลังและความเชื่อมั่น และต้องมีการจัดลำดับของการใช้จ่ายในปัจจุบันให้สอดคล้องกับความจำเป็นของสถานการณ์”

KKP โตฝ่าโควิด ปรับเป้าสินเชื่อปีนี้โต 8-12%

แม้จะต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด แต่ผลประกอบการในครึ่งปีแรกของ KKP ยังคงเติบโตได้ดี โดย คุณอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร บอกว่า กลุ่มธุรกิจ KKP มีกำไรสุทธิเท่ากับ 2,817 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.6% จากครึ่งปีแรก 2563 ซึ่งกลยุทธ์หลักมาจากการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มที่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อสำหรับบรรษัท รวมถึงการมีแหล่งที่มารายได้หลากหลายโดยเฉพาะตลาดทุนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด และการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่งผลให้ KKP ปรับเป้าสินเชื่อปีนี้ขึ้นเป็นเติบโต 8-12% จากเดิม 5% สำหรับกลยุทธ์ในครึ่งปีหลัง ยังเน้นไปที่การปล่อยสินเชื่อที่มีหลักประกันเป็นหลัก เพราะเป็นกลุ่มที่ยังมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงองค์กรขนาดใหญ่ ยังเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเติบโตได้เพิ่มขึ้น จากการที่ยังมีความสามารถและต้องการลงทุน


แชร์ :

You may also like