สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายงดเหล้า จัดเสวนาออนไลน์เนื่องในวันเข้าพรรษา ปี 2564 โครงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ภายใต้แนวคิด “สื่อรักให้พักเหล้า ลดเสี่ยง เลี่ยงโควิด” เพื่อขับเคลื่อนสังคมแห่งการปลอดเหล้าและอบายมุข โดยมีประชาคมงดเหล้าทั่วประเทศเข้าร่วมฟังทางออนไลน์กว่า 250 คน
โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลา 18 ปี ที่ สสส. ได้ริเริ่มโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา โดยพัฒนามาจากทุนทางศาสนา ในการลดอบายมุขในช่วงเข้าพรรษาของคนไทย ซึ่งปัจจุบันโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาได้กลายเป็นกิจกรรมหลักที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและเข้าร่วมการณรงค์เพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยวันเข้าพรรษาปีนี้ยังอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงเน้นการรณรงค์รูปแบบออนไลน์ New Normal เพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม ภายใต้แนวคิด “สื่อรักให้พักเหล้า ลดเสี่ยง เลี่ยงโควิด” เน้นส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนจากโครงการโพธิสัตว์น้อยลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า ร่วมเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนให้คนในครอบครัวงดดื่มเหล้าตลอด 3 เดือนในวันเข้าพรรษา ด้วยการเขียน “จดหมายสื่อรัก” เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง จุดประกายความคิดให้พ่อแม่อยากเลิกเหล้าเพื่อลูก โดยเชิญชวนสถานศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรมผ่าน www.คำพ่อสอน.com ทั้งนี้ มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการกว่า 2,000 แห่ง
“ความสำเร็จของโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาของ สสส. พบว่า ในปี 2563 มีคนไทยร่วมงดดื่มเหล้าในช่วงเข้าพรรษามากถึง 12.05 ล้านคน แบ่งเป็น งดตลอด 3 เดือนเข้าพรรษา 6.95 ล้านคน งดบางช่วง 2.3 ล้านคน และไม่งดแต่ลดการดื่มลง 2.8 ล้านคน สามารถประหยัดเงินค่าซื้อเหล้าได้ 6,326 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 1,885 บาท/คน ซึ่งผลของการลด ละ เลิกดื่มเหล้า พบว่าประชาชนมีสภาพร่างกายดีขึ้น ร้อยละ 40.7 สุขภาพจิตดีขึ้น ร้อยละ 24.0 สะท้อนให้เห็นว่าการหยุดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นผลดีกับคุณภาพชีวิตทุกมิติ ในสถานการณ์โควิด-19 เด็กๆ ต้องอยู่บ้านเรียนออนไลน์กับผู้ปกครอง ช่วงเข้าพรรษานี้ สสส. ขอเชิญชวนประชาชนทุกคนใช้ช่วงเวลานี้สานสัมพันธ์ในครอบครัว โดยงดเหล้าเข้าพรรษาและงดอบายมุขทุกชนิด เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพกายและใจที่ดี เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนอย่างชัดเจน ทั้งความรุนแรงในครอบครัว เศรษฐกิจครัวเรือนที่ย่ำแย่ และมีส่วนทำให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่” ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า
ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า การรณรงค์ปีนี้จะปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็น New normal เน้นกิจกรรมกลุ่มขนาดเล็ก โดยใช้อาสาสมัครชมรมคนเลิกเหล้า “คนหัวใจเพชร” กว่า 142 แห่ง เช่น เครือข่ายพระสงฆ์ เครือข่ายโรงงานอุตสาหกรรม ภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายอำเภอนักรณรงค์งดเหล้า และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ มาร่วมกันช่วยขับเคลื่อนในพื้นที่ โดยใช้กระบวนการ 3 ช. คือ ชวน ช่วย เชียร์ คนเลิกเหล้าครบพรรษา และปรับรูปแบบทำงานรณรงค์ให้สามารถปฏิญาณตนผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.sdnthailand.com
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด และอาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถานการณ์นักดื่มหน้าใหม่ในเด็กและเยาวชนยังน่าเป็นห่วง จากผลสำรวจในกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และผู้ปกครองที่ใกล้ชิดนักเรียน จำนวน 15,578 คน เปรียบเทียบระหว่างปี 2562-2563 พบนักเรียนที่เคยทดลองดื่มหรือจิบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากถึงร้อยละ 47.6 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34 ในปี 2562 คิดเป็นการเริ่มต้นดื่มในเด็กนักเรียนประมาณเฉลี่ยปีละร้อยละ 21 นอกจากนี้นักเรียนที่เคยดื่มอย่างน้อย 2 หน่วยมาตรฐาน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.4 จากเดิม ร้อยละ 4 ขณะที่การดื่มแบบเมาหัวราน้ำ (Binge) คือดื่มไม่ต่ำกว่า 4 หน่วยมาตรฐานต่อครั้ง มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์นักดื่มหน้าใหม่ในเด็กและเยาวชนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ส่วนหนึ่งมาจากการที่พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง และญาติพี่น้องหยิบยื่นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นครั้งแรก
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การสนับสนุนการลด ละ เลิกอบายมุขผ่านระบบการศึกษาโครงการโพธิสัตว์น้อย ลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า เป็นกิจกรรมที่ทำให้ครอบครัวหลีกเลี่ยงหรืองดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขณะนี้ สพฐ. อยู่ระหว่างการปรับหลักสูตรการเรียนเพื่อสอนให้เด็กรู้จักวิเคราะห์ถึงโทษของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศมากกว่า 4 แสนคน เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันหลักสูตร นอกจากจะรณรงค์ให้นักเรียนและผู้ปกครอง ลด ละ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และในฐานะที่ครูเป็นบุคลากรทางการศึกษา ควรจะเป็นแบบอย่างที่ดี ให้กับนักเรียนและประชาชน
นางกาญจนา สิริรัตน์ชัยกุล ครูผู้สอนโครงการโพธิสัตว์น้อย ลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า จากโรงเรียนวัดโสมนัส กรุงเทพฯ กล่าวว่า กิจกรรมพี่สอนน้องเขียนจดหมายขอพ่อแม่เลิกเหล้า โดยเด็กชั้น ป.5 และ ป.6 จะสอนน้อง ป.1 ให้เขียนจดหมายชวนผู้ปกครองให้เลิกเหล้าในช่วงเข้าพรรษา สำหรับพ่อแม่ที่ตัดสินใจไม่ดื่มเหล้าวันเข้าพรรษา พี่จะสอนน้องเขียนจมหมายขอบคุณอีกครั้งที่พ่อแม่ไม่ดื่มเหล้า ถือเป็นกิจกรรมที่เห็นผลชัดเจนและเหมาะกับสถานการณ์ช่วงโควิด-19 มาก และสามารถทำที่บ้านได้ ผู้ปกครองหลายระบุว่ามีความยินดีมากตั้งแต่ที่ลูกเขียนจดหมายมาขอไม่ให้ดื่มเหล้าก็ยังไม่กลับไปดื่มอีกเลย ทุกอย่างที่ดีเริ่มต้นจากครอบครัวที่มีความสุข เป็นความประทับใจมาก
ทั้งนี้ สสส. – เครือข่ายงดเหล้า จึงรวมพลัง 2,000 โรงเรียน 142 ชุมชน รณรงค์ “สื่อรักให้พักเหล้า ลดเสี่ยง เลี่ยงโควิด” จัดกิจกรรมพี่สอนน้องเขียน “จดหมายสื่อรัก” วอนพ่อ-แม่เลิกเหล้าและประสบความสำเร็จไปกว่า 400 โครงการที่เครือข่ายงดเหล้าร่วมมีส่วนดูแลให้ในเรื่องของการรณรงค์งดเหล้า พร้อมกับเชื่อมั่นในการปล่อยหนังโฆษณา กระตุ้นใช้ “เด็ก” แทนการเชื่อมสายใยและเรื่องราวของครอบครัวให้เป็นแรงผลักดัน เพิ่มกำลังใจให้กับผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา ในปีนี้ อีกทั้งปี64 ยังคงมีเรื่องของสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดจึงเชื่อมั่นว่า สามารถรณรงค์กิจกรรมงดเหล้านี้จะสำเร็จในด้านป้องกันกลุ่มนักดื่มสูงวัย พร้อมป้องกันความเสี่ยงจาก กลุ่มนักดื่มหน้าใหม่อีกด้วย
ท่านที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารของเครือข่ายงดเหล้าผ่านช่องทาง
Facebook : เครือข่ายงดเหล้า