การแพร่ระบาดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนเพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยติดเชื้อหลายคนไม่สามารถกักตัวอยู่ที่บ้านได้ กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งศูนย์พักคอย (Community Isolation) เพื่อรับผู้ป่วยติดเชื้อให้มาพักรักษาตัวแยกออกมาจากบ้าน ระหว่างรอส่งต่อรักษาในโรงพยาบาล โดยจะจัดตั้งอย่างน้อย 1 เขต 1 ศูนย์พักคอย ให้ครบทั้ง 50 สำนักงานเขต
ตอนนี้ (ณ วันที่ 31 ก.ค.) กทม. เปิดศูนย์พักคอยแล้ว 40 แห่ง จะทยอยเปิดให้ได้ 60 แห่ง โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมจัดตั้งศูนย์พักคอยให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่ว กทม. รองรับผู้ป่วยโควิดได้ 7,499 ราย ทั้งจากการตรวจหาเชื้อในระบบเฝ้าระวัง และจากการตรวจหาเชื้อเชิงรุก Bangkok CCRT ที่ลงพื้นที่ค้นหาผู้ป่วยในชุมชนตรวจด้วยวิธี Antigen test kit (ATK) หากตรวจพบผู้ติดเชื้อที่ไม่สามารถแยกกักตัวรักษาที่บ้าน (Home Isolation :HI) ได้ จะนำผู้ป่วยเข้าศูนย์พักคอย (Community Isolation :CI) ในโซนที่แยกเฉพาะสำหรับผู้ที่มีผลจาก ATK จากนั้นจะมีหน่วยตรวจ RT-PCR มาตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้งที่ศูนย์พักคอย
ตอนนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อที่มีอาการระดับเหลืองและแดงเพิ่มมากขึ้นทุกวันที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ถึงแม้ว่า กทม. จะขยายศักยภาพโรงพยาบาลอย่างเต็มกำลังแล้วก็ตาม ทั้งขยายศักยภาพเตียงผู้ป่วยเหลือง-แดงในโรงพยาบาลหลัก เพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลสนามให้สามารถรองรับผู้ป่วยระดับเหลืองได้มากขึ้น และสร้างไอซียูสนาม (Modular ICU) รองรับผู้ป่วยสีแดงเพิ่ม แต่ก็ยังไม่สามารถรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นทุกวันได้อย่างรวดเร็ว กทม. จึงปรับศูนย์พักคอย 7 แห่งให้เป็นโรงพยาบาลสนาม ให้สามารถรองรับผู้ป่วยเหลืองได้เพิ่มขึ้นอีก 1,036 เตียงด้วย
กทม. เร่งควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานการณ์วิกฤตนี้ ด้วยการค้นหาผู้ติดเชื้อที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง การขยายศักยภาพโรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาลสนาม การจัดตั้งศูนย์พักคอยให้ครบทั้ง 50 เขต เพื่อเร่งนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบให้เร็วที่สุดและให้ได้มากที่สุด พร้อมกัน ยังได้ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปด้วย เพื่อให้การแพร่ระบาดของโรคลดลง
เร่งดูแลผู้ป่วยโควิดด้วย BKK HI/CI Care
กทม. ได้ปรับวิธีการตรวจเชิงรุกโดยมีทีม CCRT ตรวจหาเชื้อด้วย Antigen Test Kit ที่รู้ผลการตรวจเร็วขึ้น เพื่อแยกผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อโควิด-19 ให้ได้มากที่สุดก่อน โดยผู้ที่มีผลตรวจจาก ATK ถ้าผลตรวจเป็นลบสามารถกลับบ้านได้ แต่หากเป็นผู้เสี่ยงสูงแนะนำให้แยกตัวจากผู้อื่น
แต่หากมีผลติดเชื้อจะส่งตรวจ Rt-PCR ซ้ำอีกที่จุดตรวจเดียวกัน หรือส่งเข้าศูนย์พักคอย (Community Isolation :CI) แยกโซนเฉพาะผู้ที่มีผลจาก ATK ซึ่งผู้มีผลติดเชื้อจะต้องเซ็นยินยอมในใบ Informed consent จากนั้นจะมีหน่วยตรวจ Rt-PCR มาตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้งที่ศูนย์พักคอย เพื่อให้ได้ผลยืนยันการติดเชื้อก่อนเข้าสู่ระบบการรักษา
ผู้ป่วยที่มีผลตรวจยืนยันเป็นผู้ติดเชื้อและต้องการแยกรักษาตัวอยู่ที่บ้าน (Home Isolation : HI) หน่วยเชิงรุกจะส่งข้อมูลเข้าระบบ BKK HI/CI Care หรือผู้ป่วยสามารถติดต่อเข้าระบบการรักษาได้ที่ สายด่วนโควิดเขต ทุกเขต เพื่อเติมเต็มโทรสายด่วน 1330 ที่จะได้รับการดูแลติดตามอาการจากแพทย์ และได้รับชุดอุปกรณ์ HI เครื่องวัดออกซิเจน ปรอทวัดไข้ หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ โดยจะมีจิตอาสาส่งยาและอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้ออาหาร ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในระบบการรักษา และถ้าผู้ป่วยที่รักษาแบบ HI มีอาการรุนแรงขึ้น ตามคำวินิจฉัยจากหมอที่ดูแล จะนำส่งเข้ารักษาใน รพ.สนาม Hospitel หรือ รพ. ต่อไป
สำหรับผู้ที่มีผลการตรวจเป็นบวกจาก ATK ด้วยตนเองหรือจากสถานที่เอกชน จะต้องตรวจ ATK ซ้ำจากสถานพยาบาล โดยแจ้งผ่านสายด่วนโควิดเขต หรือแจ้งที่ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อนัดคิวตรวจหาเชื้อก่อน จึงจะสามารถส่งตรวจซ้ำด้วย Rt-PCR ได้เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะต้องถูกส่งต่อไปศูนย์พักคอยร่วมกับผู้สงสัยติดเชื้อรายอื่น