HomeInsightสำรวจโควิดระลอก4 คนไทย 1 ใน 3 การเงินเข้าขั้น ‘แย่’ ชะลอซื้อบ้าน-รถยนต์ ใช้จ่ายแต่ของจำเป็น

สำรวจโควิดระลอก4 คนไทย 1 ใน 3 การเงินเข้าขั้น ‘แย่’ ชะลอซื้อบ้าน-รถยนต์ ใช้จ่ายแต่ของจำเป็น

แชร์ :

covid


Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

ทั่วโลกอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 มาแล้วกว่า 18 เดือน ประเทศไทยเจอการระบาดมาแล้ว 4 ระลอก สาหัสสุดกับครั้งปัจจุบันที่เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่พุ่งสูงหลักหมื่นรายต่อวัน รัฐออกมาตรการล็อกดาวน์รายพื้นที่ แต่สิ่งที่กระทบไม่ต่างกันคือ กำลังซื้อผู้บริโภค “ถดถอย” พบ 36% หรือ 1 ใน 3 คนไทย บอกการเงินเข้าขั้น “แย่”

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ผลวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคในสถานการณ์โควิด-19 ใน 6 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย) โดย Ipsos บริษัทวิจัยตลาดและสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคระดับโลก จัดทำมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ครั้งแรก พฤษภาคม 2563 ครั้งที่ 2 กันยายน 2563 ครั้งที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564  และล่าสุดครั้งที่ 4 เดือนมิถุนายน 2564

โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ขึ้นไป จำนวน 3,000 คน (ประเทศละ 500 ราย) ซึ่งอยู่ในสถานการณ์โควิดระบาดครั้งใหม่ของสายพันธุ์เดลตา ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในอาเซียนหลายประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่กระทบต่อธุรกิจ เศรษฐกิจ และสังคม

สำหรับผลสำรวจฉบับล่าสุด คุณอุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิปซอสส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้สรุปการเปลี่ยนแปลงผู้บริโภคในอาเซียน เปรียบเทียบกับประเทศไทย ที่เจอกำลังเจอกับสถานการณ์โควิดระลอก 4 ไว้ดังนี้

1. ชาวไทย 80% กังวลภาวะเศรษฐกิจ หวั่นเจอล็อกดาวน์อีก

หากเปรียบเทียบการสำรวจความเชื่อมั่นเศรษฐกิจครั้งก่อนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กับครั้งล่าสุดเดือนมิถุนายน 2564  คนไทย 80% ยังกังวลกับสถานการณ์โควิดและปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

โดยประเทศไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มองว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้าเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น ขณะที่ สิงคโปร์และมาเลเซีย มองว่าเหมือนเดิมหรือทรงตัว  ส่วนอินโดนีเซีย มองว่ายังไม่ดีขึ้น เพราะปี 2563 ยังไม่เจอกับมาตรการล็อกดาวน์ เหมือนประเทศอื่นๆ  แต่ปีนี้มีการระบาดของโควิดเดลตา ทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ชาวอินโดนีเซีย จึงมองว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้า ยังไม่แน่นอนและยังไม่ดีขึ้น

เมื่อถามถึงความกังวลกับการ “ล็อกดาวน์” หากต้องเจออีกในอนาคต  ประเด็นนี้ สิงคโปร์ บอกไม่กังวล เพราะรัฐบาลให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจมาต่อเนื่อง

ขณะที่ประเทศไทยกังวลสูงสุด หากมีล็อกดาวน์อีก นั่นเป็นผลมาจากการเจอมาตรการล็อกดาวน์ครั้งแรกทั้งประเทศใน ปี 2563 ซึ่งส่งผลกระทบกับหลายอุตสาหกรรม  และครั้งล่าสุดล็อกดาวน์รายพื้นที่ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564  ทั้ง 2 ครั้ง ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัว หากต้องเจอมาตรการล็อกดาวน์อีกหลังจากนี้จึงมีความกังวลว่าธุรกิจจะได้รับผลกระทบหนัก

ipsos financial effect

2. คนไทย 1 ใน 3 การเงินในกระเป๋าเข้าขั้น “แย่”

การสำรวจสถานะการเงินของผู้บริโภคอาเซียน ค่าเฉลี่ยที่บอกว่ายังดีและปานกลางอยู่ที่ 76% (การเงินมีปัญหา 24%) ผู้บริโภคในประเทศที่บอกว่าสถานะการเงินยังดีอยู่สูงสุด คือ สิงคโปร์ 83%  ตามด้วยเวียดนาม 79%

ส่วนผู้บริโภคไทยที่มองว่าสถานะการเงินยังดีและระดับปานกลางอยู่ที่ 64% ต่ำสุดในอาเซียน  นั่นเท่ากับอีก 36% หรือ 1 ใน 3 สถานะการเงินเข้าขั้น “แย่”

หากถามถึงสถานะทางการเงินในอีก 6 เดือนข้างหน้าในกลุ่มอาเซียน  “มาเลเซีย” มองว่ายังไม่ดีขึ้น  ส่วนฟิลิปปินส์ เชื่อว่าดีขึ้น

ขณะที่ประเทศไทยเกือบ 50%  มองว่าน่าจะดีขึ้น ซึ่งก็มาจากทั้งปัจจัยเศรษฐกิจ การแพร่ระบาดโรคโควิดลดลง มีวัคซีนมากขึ้น  มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐและเอกชน ที่ช่วยส่งเสริมให้การจ้างงาน และรักษาการจ้างงานไว้  ก็จะทำให้มั่นใจในสถานะการเงินมากขึ้น

3. ความคาดหวังจากภาครัฐและธุรกิจ 5 เรื่อง

เมื่อถามถึงเรื่องเร่งด่วนในอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้า ประเด็นที่คนไทยคาดหวังสูงสุดจากภาครัฐ  5 อันดับแรก

  1. มาตรการป้องกันประชาชนให้ปลอดภัยและพ้นภัยโควิด 56%
  2. ควบคุมราคาสินค้าและบริการตลอดจนภาวะเงินเฟ้อ 36%
  3. สร้างงานคุ้มครองการจ้างงาน 34%
  4. มาตรการการช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการเงินให้ครัวเรือน 26%
  5. ลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน 24%

ipsos thai government

ส่วน 5 เรื่อง ความคาดหวังจากภาคธุรกิจ หลักๆ คือ ด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยสำคัญที่ธุรกิจจะต้องนำมาพิจารณา เพื่อเตรียมแผนการรองรับใน 6 เดือนต่อไป ดังนี้

  1. ป้องกันพนักงานให้ปลอดภัยและพ้นภัยโควิด  53%
  2. ควบคุมราคาสินค้าและบริการ  46%
  3. จ่ายค่าจ้างที่เป็นธรรมให้พนักงาน  41%
  4. มีส่วนช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยการสร้างงาน 30%
  5. ส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วยการอุดหนุนสินค้าของพ่อค้าในท้องที่  29%

4 พฤติกรรมจับจ่ายชะลอซื้อบ้าน-รถยนต์

ส่วนการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมการใช้จ่าย ที่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ พบว่าการใช้จ่ายของคนไทยในสถานการณ์โควิด จะจ่ายเงินเฉพาะกลุ่มสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น โดยตัดการใช้จ่ายกับสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น บ้าน รถยนต์ ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ มีอัตราลดลงตั้งแต่การแพร่ระบาดโควิดระลอก ปลายปีก่อน

สถานการณ์โควิดที่ยืดเยื้อมากว่า 18 เดือน มองว่ายังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง จึงเลือกใช้จ่ายเฉพาะสิ่งที่จำเป็น ถ้าไม่จำเป็นก็จะชะลอซื้อ  เพราะมั่นใจในสถานภาพการจ้างงานในอนาคต

โดยสัดส่วน 82% ยังระวังใช้จ่าย 50% มีการสต็อกสินค้าของใช้ส่วนตัว 32% ซื้อสินค้าใหม่ แบรนด์ใหม่  นั่นหมายความว่าอีก 68% ยังรอได้ ดังนั้นการออกสินค้าใหม่หรือเปิดตัวแบรนด์ใหม่ในช่วงนี้ ต้องดูว่าเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้หรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้นก็อาจจะไม่ปังอย่างที่คิด

ipsos thais spending

สินค้าที่ใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงโควิด

  • วัตถุดิบประกอบอาหารที่บ้าน 46%
  • ของส่วนบุคคล (Personal Care) 28%
  • สินค้าทำความสะอาด (Cleaning Product) 34%

สินค้าที่ใช้จ่ายลดลงในช่วงโควิด

  • การท่องเที่ยว 47%
  • กิจกรรมด้านวัฒนธรรม 42%
  • ของเล่นเด็ก 37%
  • รับประทานอาหารนอกบ้าน 35%

โดย 77% ของคนไทยยังระวังจับจ่าย แม้มองว่าอีก 6 เดือนข้างหน้าสถานะการเงินจะดีขึ้น แต่ก็ยังไม่กลับไปเหมือนก่อนโควิด เพราะโควิด ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ดังนั้นจึงยังไม่จับจ่ายมากนัก เพราะตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบันได้รับผลกระทบหนักมาก

แนวโน้มการทำกิจกรรมในอีก 3 เดือนข้างหน้า หรือไตรมาส 4 หากสถานการณ์โควิดดีขึ้น สิ่งที่คนไทยอยากทำ คือ เดินทางเยี่ยมญาติ 41% ท่องเที่ยวในประเทศ 32% ไปร้านอาหาร 28%

ipsos shopping online

5. คุ้นเคยช้อปปิ้งออนไลน์-ใช้เวลาโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น

การแพร่ระบาดโควิดยาวนานกว่า 18 เดือน ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนไปอย่างรวดเร็ว   โดยเริ่มคุ้นเคยกับการช้อปปิ้งออนไลน์ จับจ่ายแบบไร้เงินสด การใช้เวลาค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น

ช่วงโควิดระลอก 4  คนใช้เวลาบนโซเชียล มีเดียมากขึ้น 63%  การ Work From Home จึงใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น 56%  ช้อปปิ้งออนไลน์ 49% ดูสตรีมมิ่งคอนเทนท์ 42%  ใช้จ่ายแบบไร้เงินสด (Cashless) 38%

รูปแบบช้อปปิ้งออนไลน์ ที่ผู้บริโภคนิยมและใช้มากขึ้นในช่วงโควิด คือ Livestream Shopping จากการสำรวจความคิดเห็นพบว่า  82% ของประชากรในกลุ่มอาเซียน เคยได้ยินเกี่ยวกับการช้อปปิ้งในรูปแบบนี้  และ 56% ของคนกลุ่มนี้เคยเข้าร่วม โดยที่ 14% ของกลุ่มคนที่เข้าร่วมนี้ มีความตั้งใจที่จะซื้อสินค้าและ 36% ตัดสินใจซื้อสินค้า

กลุ่มสินค้ายอดฮิตที่มีการจับจ่ายผ่านรูปแบบ ไลฟ์สตรีมมิ่ง  ที่มีการซื้อขายสูงสุด คือ สินค้าแฟชั่นเครื่องแต่งกายและรองเท้า 51%  อาหาร 15% ของใช้ส่วนบุคคลและความงาม 14%   สินค้าในครัวเรือน  10%   เครื่องดื่ม 4%  ของเล่นและเกม  3% อื่นๆ  2%

ipsos vaccine covid

6. Fake News ฉุดความเชื่อมั่นฉีดวัคซีน

หนึ่งในปัจจัยสำคัญป้องกันโควิด เพื่อทำให้การใช้ชีวิตและเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ คือ การได้รับวัคซีนป้องกันโควิด จากการสำรวจช่วงปลายปีก่อน เรื่องความพร้อมของการได้รับวัคซีนให้กับทุกคนในแต่ละประเทศรวมทั้งไทย ส่วนใหญ่คาดว่าจะอยู่ในช่วงครึ่งปีหลัง 2564

ปัจจุบันหลายประเทศ วัคซีนเริ่มทยอยเข้ามาแล้วอย่างต่อเนื่อง แต่การสำรวจในรอบนี้ว่า เมื่อวัคซีนพร้อมแล้ว ประชาชนแต่ละประเทศส่วนใหญ่พร้อมฉีด 82% สูงกว่าช่วงต้นปีที่ 79%

แต่การสำรวจในประเทศไทย ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 คนที่บอกว่าพร้อมฉีดวัคซีนอยู่ 80% แต่การสำรวจระลอก 4 ในเดือนมิถุนายน 2564 เหลือ 70% ที่บอกว่าพร้อมฉีด สัดส่วนที่ลดลงนี้มาจากความลังเลว่าวัคซีนโควิดอาจส่งผลลบต่อสุขภาพและร่างกายระยะยาว

รวมทั้งการได้รับข้อมูลข่าวสารเรื่องผลกระทบจากวัคซีน ที่ได้เห็นจากประเทศต่างๆ อีกประเด็นสำคัญคือ Fake News เรื่องวัคซีน ทำให้คนลังเลที่จะฉีด แต่หลังจากประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อใหม่จำนวนมาก ส่วนใหญ่ก็เห็นว่าควรได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง

นอกจากนี้ยังพบว่าประชากรในอาเซียนมีความเจ็บป่วยทางจิตใจ รู้สึกแย่ ที่ต้องอยู่ท่ามกลางผลกระทบโควิดมาเป็นเวลายาวนานต่อเนื่อง  คนไทยมีผลกระทบด้านสุขภาพจิตและรู้สึกแย่กับสถานการณ์โควิดมากกว่าวิกฤติการเงินต้มยำกุ้งในปี 2450 จึงเป็นสิ่งที่ภาครัฐและเอกชนต้องเข้ามาดูแลทั้งเรื่องสุขภาพเร่งฉีดวัคซีน การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และภาวะจิตใจ เพราะสถานการณ์โควิดยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like