การอยู่รอดในยุค COVID-19 ผู้ประกอบการธุรกิจต้องหาหนทางใหม่ ไม่ยึดติดอยู่กับโมเดลเดิมๆ ที่เคยทำมา ยิ่งในธุรกิจร้านอาหาร จะเห็นได้ว่าต่างพยายาม Diversify รูปแบบใหม่ อย่างเคส “โชนัน” ร้านอาหารจานด่วนสไตล์ญี่ปุ่น พัฒนาโมเดลการขายใหม่ ภายใต้แบรนด์ใหม่ “ตู้กับข้าว CLOUD KITCHEN” เป็น Vending Machine ขายอาหารพร้อมรับประทานแบรนด์ในเครือโชนัน กรุ๊ป (ChouNan Group)
คิดนอกกรอบความเป็นร้านอาหาร – ออกนอกศูนย์การค้า
ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมาที่เผชิญกับสถานการณ์ COVID-19 กระทบกับธุรกิจร้านอาหาร และสร้างความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ใช้ชีวิตนอกบ้านน้อยลง ลดการเดินทางโดยไม่จำเป็น ยิ่งก่อนหน้านี้เจอกับมาตรการล็อกดาวน์ ศูนย์การค้าปิดให้บริการ ในขณะที่ร้านอาหารภายในศูนย์การค้า ให้บริการได้เฉพาะเดลิเวอรี่เท่านั้น และถึงแม้แต่ปัจจุบันได้คลายล็อกดาวน์แล้ว แต่ยังมีข้อจำกัดให้จำกัดพื้นที่นั่งภายในร้าน
ทำให้ “โชนัน กรุ๊ป” ที่สาขาส่วนใหญ่อยู่ในศูนย์การค้า ต้องปรับตัวทุกรูปแบบ เพื่อกระจายความเสี่ยงธุรกิจ ด้วยการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ ที่สามารถขยายทำเลนอกศูนย์การค้าได้
อย่างล่าสุดจับมือกับเครือ CP – CPF สร้างโมเดลร้านอาหารกล่องพร้อมรับประทานทานรับเทรนด์คนอยู่กับบ้านมากขึ้น ผ่าน Vending Machine ภายใต้แบรนด์ “ตู้กับข้าว CLOUD KITCHEN” ด้วยแนวคิด “อิ่มง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว” เสมือนตู้กับข้าวในบ้านของทุกคน เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมืองที่เน้นความสะดวกสบาย ใช้ชีวิตเร่งรีบ
ความน่าสนใจของ “ตู้กับข้าว CLOUD KITCHEN” เป็นการรวบรวมแบรนด์ และเมนูอาหารต่างๆ ของโชนัน กรุ๊ปมาไว้ในตู้เดียว
ได้แก่ ข้าวหน้าปลาไหลจากโชนัน (ChouNan) เมนูซูชิและข้าวปั้นจาก โซลชิ (SOULSHI) ก๋วยเตี๋ยวเรือพรีเมียม จากก๋วยเตี๋ยวเรือเสือหน้าหยก (JadeTiger Boat Noodle) อาหารไทยสูตรโบราณ เส้นหมี่น้ำยาปู แกงระแวงเนื้อน่องลาย จากร้านบรรจง (Bunnjong) และอาหารอีสานรสแซ่บ เช่น ส้มตำไทย ยำปลาร้า จากแบรนด์สามเกลอ เป็นต้น
ทุกเมนูทำใหม่ทุกวัน โดยอาหารจะมีอายุประมาณ 3 วัน นับจากวันที่ผลิต ปราศจากสารกันบูด ควบคุมคุณภาพของสินค้า ตลอดจนการทดสอบทุกเมนูโดยผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร
ตั้งเป้าขยาย 30 – 50 ตู้ภายในปี 2564
ในช่วงแรกของการทำตลาด “ตู้กับข้าว CLOUD KITCHEN” เน้นเจาะตลาดที่อยู่อาศัย เช่น คอนโดมิเนียม ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก นำร่องเปิดให้บริการที่ Rhythm Asoke เป็นตู้แรก
จากนั้นเตรียมขยายตู้ Vending Machine ไปยังทำเลที่มีศักยภาพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นย่านออฟฟิศ หน่วยงานราชการ สถานีขนส่ง โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล โดยตั้งเป้าหมายขยาย “ตู้กับข้าว CLOUD KITCHEN” ให้ได้ 30 – 50 ตู้ภายในปีนี้
ขณะที่ขั้นตอนการซื้ออาหารจาก “ตู้กับข้าว CLOUD KITCHEN” เพียงกดเลือกรายการอาหารที่ต้องการ จากนั้นสแกน QR Code ผ่าน True Money Wallet, E-Wallet หรือรูดบัตรเครดิต เพื่อลดการสัมผัส และรอรับสินค้าที่ด้านล่างของตู้
เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาการปรับตัวของธุรกิจร้านอาหาร ที่ไม่พึ่งพาเฉพาะโมเดลร้านอาหาร และไม่มุ่งขยายสาขาแต่ในศูนย์การค้าอย่างเดียว แต่ต้องแตกโมเดลการขาย กระจายเข้าถึงผู้บริโภคให้มากที่สุด
Photo Credit : Facebook ตู้กับข้าว CLOUD KITCHEN