HomeInsightหนี้ครัวเรือนยังพุ่ง! SCB EIC ชี้ หนี้ครัวเรือนไทยไตรมาส 2 ทะลุ 89.3% สูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และยังสูงขึ้นได้อีก

หนี้ครัวเรือนยังพุ่ง! SCB EIC ชี้ หนี้ครัวเรือนไทยไตรมาส 2 ทะลุ 89.3% สูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และยังสูงขึ้นได้อีก

แชร์ :

นับตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 หนี้ครัวเรือนของไทยก็มีการขยายตัวสูงขึ้น จากข้อมูล SCB EIC ระบุว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เพิ่มจาก 79.8% ณ สิ้นปี 2562 เป็น 89.3% ณ ไตรมาส 2 ของปี 2564 สูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และจากสถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมาระบาดหนักจนทำให้ต้องประกาศมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ SCB EIC คาดการณ์ว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้อาจกลับมาสูงขึ้นได้อีก โดยสิ้นปี 2564 อาจจะอยู่ในช่วง 90-92%

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สินเชื่อส่วนบุคคล-พักชำระหนี้ ดันหนี้ครัวเรือนเพิ่ม

นอกจากตัวเลข GDP เงินเฟ้อ และการส่งออก “หนี้ครัวเรือน” เป็นอีกหนึ่งดัชนีชี้วัดการเติบโตและการชะลอตัวของเศรษฐกิจเช่นกัน ซึ่งก่อนการระบาดโควิด-19 หนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาที่มีมายาวนาน ยิ่งมาเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ก็ยิ่งซ้ำเติมให้ภาวะหนี้สินครัวเรือนพุ่งขึ้นไปอีก โดย SCB EIC ได้เผยผลวิจัยตัวเลขหนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 2 ปี 2564 อยู่ในระดับ 14.3 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ไตรมาส คิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อ GDP และสูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยที่เพิ่มขึ้น เกิดมาจาก 2 ปัจจัย ดังนี้

1.การเพิ่มขึ้นของสินชื่อจากธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล โดยในไตรมาส 2 ปี 2564 ยอดคงค้างของสินเชื่ออุปโภคบริโภคในระบบธนาคารพาณิชย์เติบโต 5.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เติบโต 5.3% ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนอื่นในระบบธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มทรงตัวหรือชะลอตัวทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เติบโตในอัตราเท่ากับไตรมาสก่อนหน้าที่ 6.8% ขณะที่สินเชื่อรถยนต์และบัตรเครดิตมีการชะลอตัวลงในช่วงเวลาเดียวกัน

สาเหตุสำคัญเนื่องจากครัวเรือนยังมีความต้องการสินเชื่อมาทดแทนสภาพคล่องที่ลดลงจากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา สอดคล้องกับการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับ “เงินกู้” “เงินด่วน” บน Google Trends ในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

 

2.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้รายย่อยทั้งในรูปแบบของการพักชำระหนี้ รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงที่ผ่านมาของสถาบันการเงิน ทำให้การชำระหนี้ของครัวเรือนมีน้อยลงกว่าปกติ อย่างไรก็ดี คาดว่าปัจจัยส่วนนี้จะเริ่มมีผลลดน้อยลงหลังมาตรการช่วยเหลือของลูกหนี้บางกลุ่มเริ่มทยอยหมดลงในระยะถัดไป

หนี้ครัวเรือนไทย “สูงสุด” ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

แม้หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 2 จะขยายตัวเร่งขึ้น แต่อัตราการเติบโตของ GDP ที่ปรับดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าจากปัจจัยฐานต่ำ ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยลดลงมาอยู่ที่ 89.3% ต่อ GDP จากไตรมาสก่อนหน้าที่ 90.6% โดยไตรมาส 2 ปี 2021 GDP ณ ราคาปัจจุบัน (nominal GDP) เติบโตสูงถึง 10.7% จากปีก่อน

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนหน้าที่ nominal GDP หดตัวรุนแรงที่ -14.7%YOY ส่งผลทำให้ผลรวมของ GDP ที่นำมาคำนวณสัดส่วนหนี้ครัวเรือน ปรับดีขึ้นมาเป็น -1.4% ในไตรมาสที่ 2 จาก -7.3% ในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่ 89.3% ในไตรมาส 2 แต่ก็ยังถือว่าสูงกว่าก่อนโควิด โดย ณ สิ้นปี 2019 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่เพียง 79.8% และยังเป็นประเทศที่หนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

หนี้ครัวเรือน ยังสูงได้อีก

SCB EIC ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทย อาจกลับมาสูงขึ้นได้อีก และอาจปรับเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ หากการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนยังคงขยายตัวรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลมาจากการกลับมาระบาดของโควิด 19 มากขึ้น และมีมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ส่งผลต่อเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ณ สิ้นปี 2564 จะอยู่ในช่วง 90-92%

แม้ในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 จะเริ่มคลี่คลาย นำไปสู่การทยอยเปิดเมือง และการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ตามลำดับ แต่ภาวะหนี้สูงของภาคครัวเรือนไทยยังเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องใช้เวลาแก้ไขอีกหลายปี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ เนื่องจากปริมาณหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ขณะที่รายได้ภาคครัวเรือนน่าจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ตามตลาดแรงงานที่ได้รับผลกระทบหนักและฟื้นตัวกลับมาไม่ง่าย

เพราะงานหลายประเภทโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวลดลงไปมากและจะฟื้นตัวช้า ขณะที่แนวโน้มงานที่เติบโตหลังโควิด เช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หรือ ไอที ก็ต้องการทักษะแรงงานที่ไม่เหมือนเดิม ทำให้แรงงานที่ตกงานออกมาในช่วงโควิดจำนวนไม่น้อยอาจไม่สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยที่ได้รายได้เหมือนช่วงก่อนโควิด

จากผลสำรวจผู้บริโภค (EIC Consumer Survey) พบว่า สัดส่วนเกินครึ่งหนึ่ง (55.4%) ของคนที่มีหนี้ มีปัญหาหนี้ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และที่น่ากังวลคือ 78% ของคนกลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือนกำลังเผชิญปัญหาในการชำระหนี้ และกว่า 1 ใน 4 ของคนกลุ่มนี้ มีปัญหาภาระหนี้หนัก

โดย SCB EIC คาดว่า ครัวเรือนที่มีหนี้สูงจะเข้าสู่ช่วงการปรับตัวเพื่อปรับลดสัดส่วนหนี้รายได้ให้ลดลง (deleveraging) ในระยะต่อไป ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยจะใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี โดยสิ่งที่มีส่วนสำคัญในการปรับลดหนี้ครัวเรือนโดยไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจก็คือ มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ทั้งการเยียวยาด้านรายได้ การสนับสนุนการจ้างงาน รวมถึงการปรับเพิ่มทักษะแรงงานเพื่อเพิ่มความสามารถในการหารายได้ของภาคครัวเรือน


แชร์ :

You may also like