เพราะ ‘เวทีประกวดดนตรี’ เปรียบเสมือนสวนสนุกที่เปิดโลกแห่งความสุขของคนดนตรี ได้ปลดปล่อยพลังอย่างเต็มที่ และพร้อมวิ่งตามความฝันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่ในปัจจุบัน เวทีประกวดดนตรีในประเทศไทยกลับมีน้อยลง จากที่สมัยก่อน ๆ จะมีการจัดแข่งดนตรีปี ๆ นึง 2-3 รายการ แต่ลดน้อยลงไปตามยุคสมัยในปัจจุบัน เนื่องจากผู้จัดการประกวดมีน้อยลง ประกอบกับในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญและเติบโตขึ้น ทำให้น้อง ๆ สามารถทำงานเพลงได้ที่บ้าน หรือเรียกว่า Home Studio ที่สามารถจบงานโปรดักชั่นต่าง ๆ และปล่อยเพลงของตนเองได้เลย โดยไม่ต้องแข่งขัน แต่ผู้คร่ำหวอดในแวดวงดนตรีทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ก็ยังคงย้ำเป็นเสียงเดียวกันว่า เวทีประกวด ยังมีความสำคัญอยู่ เพราะการก้าวสู่การเป็นศิลปินต้องอาศัยประสบกาณ์การฟังให้มาก เล่นให้เยอะ ฝึกฝนและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้สม่ำเสมอ หรือ การได้ออกมาลงสนามจริงบนพื้นที่การประกวดนั่นเอง ซึ่งก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังชื่นชอบการประกวดดนตรี คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย จึงจับมือกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเวทีประกวดดนตรีสุดยิ่งใหญ่แห่งปี ‘THE POWER BAND’ เวทีประกวดวงดนตรีสากลสมัยนิยม ผสมเครื่องเป่า ประจำปี 2564 ผ่านการประกวดในรูปแบบ Live Streaming ในยุค New Normal COVID-19
ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนักประพันธ์ระดับโลกรางวัล The Charles Ives Awards สาขาการประพันธ์เพลง ในฐานะตัวแทนผู้ร่วมจัด THE POWER BAND กล่าวว่า “เวที THE POWER BAND เรียกได้ว่าเป็นเวทีที่มีความท้าทายอย่างมากเวทีหนึ่งเนื่องจากมีโจทย์ให้ผู้เข้าแข่งขันได้ท้าทายความสามารถ ต้องแต่งเพลงเอง เพื่อมุ่งเน้นเรื่องการสร้างสรรค์ ขณะที่เวทีอื่นไม่ได้บังคับ รวมไปถึงการเล่นเครื่องเป่าผสมผสานกับวงดนตรีสมัยนิยมไม่ใช่เรื่องง่าย เครื่องเป่าเกิดมาจากวงโยธวาทิต เน้นการอ่านโน้ตเป็นหลัก แต่วงดนตรีใช้หูแกะเพลง ซึ่งต้องใช้สกิลที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงต้องอาศัยการวางตัวโน้ต การเรียบเรียง และความพร้อมเพรียงในการเล่นร่วมกัน ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายสำคัญของเวทีนี้ คือ เน้นการสร้างสังคม รูปแบบการสร้าง Collaboration ระหว่างเด็กวงโยธวาทิต กับเด็กดนตรีสากล และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้เกิดการทำงานและเล่นดนตรีร่วมกัน มากกว่าเป็นเพียงแค่การจัดงานอีเว้นท์”
การประกวดในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากมิวสิคกูรูแถวหน้าของเมืองไทยจากหลากหลายสาขาอาชีพ ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน นำโดย นักปั้นศิลปินแถวหน้าของเมืองไทย นิค-วิเชียร ฤกษ์ไพศาล ผู้ก่อตั้งค่ายเพลง
Genie Records รวมถึงโปรดิวเซอร์มือทอง พล-คชภัค ผลธนโชติ ผู้บริหารค่ายเพลง Boxx Music อีกทั้ง
ประสบการณ์ชั้นครูของ เช่-อัคราวิชญ์ พิริโยดม นักดนตรีวง The Richman Toy และหัวหน้าสาขาวิชาดนตรีสมัยนิยม มหาวิทยาลัยมหิดล, โอ-ทฤษฎี ศรีม่วง นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ มิวสิกไดเรกเตอร์ แห่งวง Jetset’er และโปรดิวเซอร์นักแต่งเพลงมือฉมัง ฟองเบียร์-ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท มิวซิกมูฟ จำกัด มาร่วมค้นหาสุดยอดวงดนตรีหน้าใหม่ในครั้งนี้
นักปั้นศิลปินแถวหน้าของเมืองไทย นิค-วิเชียร ฤกษ์ไพศาล ผู้ก่อตั้งค่ายเพลง Genie Records กล่าวว่า “ทุกการสร้างสรรค์งานดนตรีเริ่มจากการเรียนรู้จากต้นแบบ ต้องมั่นฝึกฝน แกะเพลงให้เยอะๆ ใช้ระยะเวลา 10 ปีเป็นอย่างต่ำกว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง อาทิ BodySlam, Labanoon, Clash และ KALA ล้วนผ่านเวทีประกวดมาแล้วทั้งสิ้น แต่พื้นที่แสดงความสามารถของเด็กไทยทางดนตรีในรูปแบบเวทีการประกวดในปัจจุบันกลับน้อยลงทุกวัน ถือเป็นโอกาสดีมาก ๆ ของคนในแวดวงดนตรีที่เวที THE POWER BAND จะมาสร้างพลังและสานต่อความฝันพร้อมสร้างความคึกคักให้วงการดนตรีอีกครั้ง เพราะเป็นเวทีประกวดที่มีการส่งเสริมอย่างจริงจัง เน้นวงดนตรีที่มีการสร้างสรรค์ และความสามารถเชิงทฤษฎีที่ถูกต้อง”
ด้านโปรดิวเซอร์มือทอง พล-คชภัค ผลธนโชติ ผู้บริหารค่ายเพลง Boxx Music กล่าวว่า “ความแข็งแรงของเวทีนี้ คือ ผู้จัดงานมีเป้าหมายที่ชัดเจน ทั้งกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ที่มีนโยบายในการสนับสนุนคนไทยด้านดนตรีมาอย่างต่อเนื่อง และ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เป็นเบอร์ต้น ๆ ของประเทศในการผลิตคนคุณภาพทางดนตรีออกสู่อุตสาหกรรมเพลงไทย นี่คือโอกาสครั้งใหญ่ ขอให้น้อง ๆ เตรียมตัวมาให้พร้อม เวทีประกวดให้สิ่งดี ๆ กลับไปเสมอ ไม่ว่าจะแพ้ หรือชนะ อย่างน้อยก็ได้ชนะตัวเอง เพราะเล่นตามโจทย์ที่ได้ฝึกซ้อมมา ทั้งนี้ ที่สุดของการเป็นศิลปิน ไม่อยากให้มองแค่ความสวยหรู ว่าจะเป็นศิลปินที่อยู่เบื้องหน้าอย่างเดียว แต่ดนตรีอยู่ในทุกบทบาทที่สามารถทำได้หลายอาชีพ รวมไปถึงการทำงานเบื้องหลัง เช่น นักแต่งเพลง วิศวกรเสียง ตลอดจนช่างเทคนิคที่ดูแล ทดสอบ และเตรียมเครื่องดนตรีบนเวทีให้กับศิลปิน”
นอกจากนี้ประสบการณ์ชั้นครูของ เช่-อัคราวิชญ์ พิริโยดม นักดนตรีวง The Richman Toy และหัวหน้าสาขาวิชาดนตรีสมัยนิยม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า “ในปัจจุบันเวทีการประกวดของต่างประเทศที่น่าสนใจ อย่างการประกวดยูโรวิชั่น ซอง คอนเทสต์ ประเทศอิตาลี ที่มีมาอย่างยาวนาน มีศิลปินระดับโลกมาร่วมเล่นคอนเสิร์ตประกอบกับความร่วมสมัยของโปรดักชั่นที่ตระการตาด้วยแสง สี แสง ได้อย่างลงตัว ซึ่งตอนนี้เป็นยุคสมัยที่มีความก้าวหน้าของเทคโนโลยี นักดนตรีสามารถทำเพลงเองได้และสามารถปล่อยผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียได้อย่างง่ายดาย ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยในปัจจุบันทำให้นักดนตรีสามารถทำเพลงเองได้จากที่บ้านหรือเรียกว่า Home Studio ซึ่งต้องยอมรับว่าในปัจจุบันวงการดนตรีของไทย คนรุ่นใหม่มีฝีไม้ลายมือที่ฉกาจใกล้เคียงกับต่างประเทศมาก เพราะ เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถหาไอเดียและรู้เทรนด์เพลงทั่วโลกได้ง่ายแค่เพียงปลายนิ้ว และนำเทคนิคมาปรับใช้ เรียกได้ว่า เป็นช่วงเวลาสำคัญที่อุตสาหกรรมเพลงไทยกำลังพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งในประเทศไทยเวทีการประกวด THE POWER BAND เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนเพื่อเป็นบันไดให้เยาวชนและประชาชนคนไทยพร้อมสำหรับการก้าวสู่ระดับนานาชาติได้อย่างเต็มภาคภูมิ”
ใครจะเป็นสุดยอดคนดนตรีคนต่อไป! มารับชมพร้อมๆ กัน ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ THE POWER BAND เวทีประกวดวงดนตรีสากลสมัยนิยม ผสมเครื่องเป่า ประจำปี 2564 และมินิคอนเสิร์ตสุดพิเศษ จาก อิ้งค์-วรันธร เปานิล และ Season Five ชมถ่ายทอดสดผ่าน Facebook : King Power Thai Power
พลังคนไทย และ Facebook : Thailand International Wind Symphony Competition วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 ตั้งแต่เวลา 9.30 น. เป็นต้นไป