ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ บนที่ดินกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง โดยมีบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ธุรกิจในเครือเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นผู้ได้รับสัญญาบริหารมาตั้งแต่ปี 2534 และปิดปรับปรุงไปเมื่อเดือนเมษายน 2562 ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ฯสิริกิติ์ ได้จัดประชุมและอีเวนต์สำคัญๆ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติกว่า 20,000 งาน
หลังใช้เวลาปรับปรุงกว่า 2 ปี ด้วยงบประมาณกว่า 15,000 ล้านบาท โดยบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้พัฒนาคอนเซปต์และบริหารงานก่อสร้างโครงการศูนย์ประชุมสิริกิติ์โฉมใหม่ เตรียมเปิดให้บริการอีกครั้งในเดือนกันยายน 2565
ศูนย์ฯสิริกิติ์โฉมใหม่ มีพื้นที่โครงการรวม 300,000 ตารางเมตร (สร้างเต็มพื้นที่) ใหญ่กว่าเดิม 5 เท่า หรือขนาด 50 สนามฟุตบอล สร้างใต้ดินสูง 20 เมตร และบนดินสูง 23 เมตร
พื้นที่รองรับการจัดการประชุมและนิทรรศการ 78,500 ตารางเมตร ประกอบไปด้วยฮอลล์สำหรับการจัดนิทรรศการขนาดใหญ่ 2 ฮอลล์ พื้นที่รวมมากกว่า 45,000 ตารางเมตร ห้องสำหรับจัดประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ 2 ห้อง พื้นที่ประมาณ 10,000 ตารางเมตร และห้องประชุมย่อยที่สามารถรองรับการประชุมได้กว่า 50 ห้อง และพื้นที่รีเทล บริหารโดยเฟรเซอร์สฯ
เปิดผังโครงสร้างศูนย์ฯประชุม
– ชั้น B1,B2 ชั้นใต้ดินจอดรถ 3,000 คัน (จากเดิม 600 คัน)
– ชั้น LG,G ชั้นเอ็กซิบิชั่นฮอลล์ ฟู้ดคอร์ท รีเทล รวมพื้นที่ 50,000 ตารางเมตร
– ชั้น 1,2 ชั้นเพลนารี ฮอลล์ บอลรูม มีตติ้งรูม ร้านอาหาร
5 ไฮไลต์สร้างจุดต่าง
ศูนย์ฯสิริกิติ์โฉมใหม่วางเป้าหมายเป็นศูนย์ประชุมระดับเวิลด์คลาสแห่งใหม่ของเอเชีย มี 5 ไฮไลต์ สร้างความแตกต่างจากศูนย์ฯประชุมอื่นๆ
1. Accessibility การตั้งอยู่ในทำเลใจกลางเมืองบนถนนรัชดาภิเษก เชื่อมต่อแยกพระราม 4-รัชดา สามารถเข้าออกได้จาก 4 ถนน ได้แก่ ถ.พระราม 4 ถ.สุขุมวิท ถ.รัชดาภิเษก และ ถ.ดวงพิทักษ์ นอกจากนี้ยังเชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สามารถเข้าศูนย์ฯสิริกิติ์ได้ 2 ทางทั้งทางเข้าใต้ดินและบนดิน
2. Safety ระบบรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุดตามมาตรฐานสากล คำนึงถึงความปลอดภัยด้าน Life Safety เพื่อรองรับการจัดงานระดับโลกทุกรูปแบบ
3.Technology ระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่สุดในประเทศไทยรองรับได้ถึงอนาคต (6G) เพื่อสนับสนุนการจัดอีเวนต์รูปแบบออนไลน์และไฮบริด ติดตั้งระบบเข้าใช้งานพื้นที่แบบไร้สัมผัส (Touchless Access) ใช้ระบบบริหารอาคารอัจฉริยะ (Intelligence Event Platform Management System) ในการควบคุมการให้บริการพื้นที่
4. Flexibility พื้นที่โครงการขนาด 300,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยฮอลล์ขนาดใหญ่ 2 ฮอลล์ ห้องสำหรับจัดประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ 2 ห้อง และ ห้องประชุมกว่า 50 ห้อง จึงมีความยืดหยุ่นในการรองรับความต้องการด้านอีเวนต์และงานประชุมทุกรูปแบบ ตอบโจทย์การเป็น Event Platform for All รวมทั้งพื้นที่รีเทลแหล่งรวม Active Lifestyle ใหม่ของกรุงเทพฯ
5. Sustainability เป็นศูนย์ประชุมแห่งแรกและแห่งเดียวของไทยที่ผ่านมาตรฐานอาคารเขียว LEED ระดับ Silver ที่มีการวางแผนการพัฒนาตั้งแต่ต้นจนแล้วเสร็จ เน้นการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า 25% และวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้มากกว่า 75% การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์โดยรอบโครงการ และใช้อุปกรณ์อัตโนมัติเพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์ประชุมแห่งเดียวที่อยู่ใกล้พื้นที่สีเขียว “สวนป่าเบญจกิติ” โดยจะมีทางเชื่อมจากศูนย์ฯ ไปยังสวนเบญจกิติด้วย
ปัจจุบันศูนย์ฯสิริกิติ์ มีความคืบหน้าก่อสร้างแล้ว 60% ทางเฟรเซอร์สฯ ยืนยันส่งมอบพื้นที่ให้ เอ็น.ซี.ซี. ได้ตามกำหนดในเดือนกันยายน 2565 ซึ่งมีผู้ประกอบการจองจัดงานเข้ามาแล้ว งานแรกวันที่ 12 กันยายน 2565 และมีตารางจองพื้นที่ไปถึงเดือนธันวาคม 2565 แล้ว
สำหรับการจัดประชุม APEC ซึ่งไทยเคยเป็นเจ้าภาพในปี 2003 ใช้ศูนย์ฯสิริกิติ์เป็นสถานที่จัดงาน ในปีหน้าไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม APEC 2022 ทางศูนย์ฯสิริกิติ์ พร้อมเป็นตัวเลือกในการเป็นสถานที่จัดประชุมอีกครั้ง
สรุปศูนย์ฯสิริกิติ์โฉมใหม่
– มูลค่าโครงการ 15,000 ล้านบาท
– พื้นที่โครงการรวม 300,000 ตารางเมตร ใหญ่กว่าเดิม 5 เท่า หรือขนาด 50 สนามฟุตบอล
– พื้นที่แสดงสินค้า 45,000 ตารางเมตร มี 2 ฮอลล์ใหญ่ และ 50 ห้องประชุม
– พื้นที่จัดงานรวม 78,500 ตารางเมตร
– รองรับผู้เข้าร่วมงานกว่า 100,000 คนต่อวัน
– ที่จอดรถ 3,000 คัน
– ทางเข้าออก 4 ถนน (พระราม 4 สุขุมวิท รัชดาภิเษก ดวงพิทักษ์)
– เปิดทางเชื่อม MRT สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เข้าออก 2 ทางทั้งใต้ดินและบนดิน
– ทางเชื่อมจากศูนย์ฯ ไปยังสวนป่าเบญจกิติ (ในสวนป่าเบญจกิติ มีเส้นทางเชื่อมไปยังสวนลุมได้)