หลังจากที่ช่วงเช้ามีการส่งเอกสารยืนยันว่า ทรู คอร์ปอเรชั่น กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการควบบริษัท ระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นจํากัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชันจํากัด (มหาชน) หรือ dtac
ในช่วงบ่ายที่ผ่านมาก็มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการของทั้งสองค่าย โดยมีผู้บริหารอย่างคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และ ประธานกรรมการบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และคุณซิกเว่ เบรกเก้ ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์กรุ๊ปเข้าร่วม
แม้ว่าสิ่งที่ทั้งสองผู้บริหารกล่าวในการแถลงข่าวจะมีความใกล้เคียงกับเอกสารที่ส่งให้สื่อตั้งแต่เช้า แต่หากมองให้ลึกลงไป ก็มีการสะท้อนความจริงในหลาย ๆ ด้านของวงการโทรคมนาคมอยู่ด้วยเช่นกัน
เพราะ 5G คือ Perfect Storm
ประเด็นแรกอาจเป็นการกล่าวของคุณซิกเว่ เบรกเก้ ที่มองว่า ธุรกิจโทรคมนาคมในอดีต (อาจย้อนไปราว 20 ปีก่อน) ซึ่งประเทศไทยมีการแข่งขันระหว่างเอไอเอส ทรู และดีแทค เป็นการเติบโตอย่างมีศักยภาพ
แต่ภาพการเติบโตนั้นได้จบลงไปแล้ว และบริษัทสื่อสารต้องมีการปรับตัวเพื่อก้าวไปสู่การเป็น Tech Company โดยคุณซิกเว่ถึงกับเปรียบการมาถึงของโลกการแข่งขันในอนาคต 20 ปีข้างหน้าที่เต็มไปด้วย AI, 5G, คลาวด์ และ IoT ว่าเป็นเหมือน Perfect Storm เลยทีเดียว และถ้าบริษัทโทรคมนาคมไม่เปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ ก็จะถูกพายุดังกล่าวทำลายลงอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี คุณซิกเว่เผยต่อไปว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในตำแหน่งที่ดี และประเทศไทยเองก็ยังมีโอกาสก้าวขึ้นเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ได้อยู่ พร้อมกันนั้นยังอ้างถึงความแข็งแกร่งของทั้งทรู และดีแทค ที่หากควบรวมกันก็จะอยู่ในสถานะที่ไม่แตกต่างกับ Big Brother คนปัจจุบันของวงการอย่างเอไอเอสด้วย (คุณซิกเว่เปรียบเทียบจากรายได้ของทั้งสองบริษัทรวมกันที่จะแตะ 217,000 ล้านบาท และมีกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายถึง 83,000 ล้านบาท)
ส่วนเป้าหมายของการควบรวมที่คุณซิกเว่กล่าวบนเวทีก็คือ
- เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า
- เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ดิจิทัล
- เพื่อเป็นพื้นที่ทำงานของมืออาชีพ ที่มีความสามารถและรักความท้าทาย
- เพื่อสนับสนุนการสร้างประเทศไทย 4.0
สำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป คุณซิกเว่เผยว่า ทั้งดีแทคและทรูจะยังคงให้บริการลูกค้า และดำเนินธุรกิจไปตามปกติ แต่ในเบื้องหลัง นับจากนี้ไปจนถึงไตรมาส 1 ของปี 2565 ทั้งสองบริษัทจะเริ่มกระบวนการตรวจสอบ – วิเคราะห์สถานะทางธุรกิจระหว่างกัน จากนั้น เมื่อสามารถบรรลุข้อตกลงและเงื่อนไขทางธุรกิจได้ จะมีการลงนามในข้อตกลงต่าง ๆ ในไตรมาส 2 ของปี 2565 ต่อไป
ไม่เป็นแล้ว “Dump Pipe”
ด้านคุณศุภชัย เจียรวนนท์ กล่าวเสริมคุณซิกเว่ถึงการปรับตัวของธุรกิจโทรคมนาคมในครั้งนี้ว่า หลายครั้งที่ผ่านมา บริษัทโทรคมนาคมเคยถูกเรียกว่าเป็น Dump Pipe เนื่องจากวางโพสิชันตัวเองแค่ทำหน้าที่รับส่งข้อมูลอย่างเดียว ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มใด ๆ จากการมาถึงของเทคโนโลยี 4G ได้ (ขณะที่บริษัทเทคโนโลยี เช่น Google, Facebook, Twitter, Microsoft, Apple, Amazon ฯลฯ กลับสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างชาญฉลาด และเติบโตจนเป็นบริษัทที่มีมูลค่าเกินล้านล้านเหรียญสหรัฐไปได้หลายราย)
“ทุกวันนี้ การทำวิถีชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการโทรคมนาคมมีบทบาทน้อยลงเรื่อย ๆ จนมีคนอื่นเรียกหมวดสื่อสารว่าเป็น Dump Pipe หรือท่อที่ไม่ฉลาด”
“สิ่งที่เราเผชิญคือการเปลี่ยนจากยุค 4.0 ซึ่งเป็นยุคของข้อมูล หรือ BigData ไปสู่การเป็น 5.0 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ AI, คลาวด์ ตลอดจนฮาร์ดแวร์ใหม่ ๆ และ Space Technology ซึ่งประเทศไทยต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และเราก็เล็งเห็นว่า ตัวเราทั้งสองบริษัทก็มีข้อจำกัด ที่ว่าเราไม่สามารถเพิ่มมูลค่าต่อได้ ข้อจำกัดที่ว่าเรายังเป็นผู้ประกอบการที่ทำโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมเป็นหลัก ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้เราไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผู้บริโภคและประเทศไทยได้”
บทบาทใหม่ หากได้ควบรวม
อย่างไรก็ดี คุณศุภชัยกล่าวด้วยว่า บทบาทใหม่ของธุรกิจโทรคมนาคมได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว นั่นคือการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ด้านเทคโนโลยีของไทย ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับภาครัฐ การทำงานกับเทคสตาร์ทอัพ การทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ การปฏิรูปอุตสาหกรรม การทำงานกับภาคการศึกษา ไปจนถึงการจับมือกับผู้ประกอบการระดับโลก เช่น กลุ่มเทเลนอร์ โดยทั้งหมดนี้ถือเป็นก้าวที่สำคัญมากในการทำให้ไทยเข้าสู่เทคโนโลยี 5.0
นอกจากนี้ ทั้งคุณซิกเว่ และคุณศุภชัยเห็นตรงกันว่า Venture Capital ที่จะตั้งขึ้นนั้น จะอัดฉีดงบลงทุนในเทคสตาร์ทอัพให้ได้ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้สตาร์ทอัพเหล่านี้เติบโต และมีส่วนในการขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคตด้วย