หนึ่งในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนา และปฏิรูปเศรษฐกิจ คือ “เวียดนาม” นับตั้งแต่ประกาศใช้นโยบาย “Đổi Mới” ในปี 1986 เป็นต้นมาที่มุ่งเน้นสร้างความมั่นคง – มั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ และลดการผูกขาดของภาครัฐ พรัอมกับเปิดเสรีการค้าการลงทุนให้กับภาคเอกชนในประเทศ ควบคู่กับการเปิดรับเทรนด์ระดับโลก
เวียดนาม ตั้งเป้าเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2045
ระหว่างปี 2002 ถึง 2020 รายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP Per Capita) ของคนเวียดนามเพิ่มขึ้น 2.7 เท่า โดยอยู่ที่เกือบ 2,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ขณะที่อัตราความยากจน ลดลงอย่างรวดเร็ว จากมากกว่า 32% ลงมาเหลือต่ำกว่า 2%
ถึงแม้ “เวียดนาม” จะเป็นประเทศหนึ่งที่เผชิญกับวิกฤต COVID-19 แต่ก็เป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่สามารถฟื้นตัวจากวิกฤตได้อย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่า GDP ในปี 2021 จะอยู่ที่ 2 – 2.5% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่อยู่ที่ 4%
ที่สำคัญเวียดนาม ได้ตั้งเป้าหมายใหญ่ในการพัฒนาประเทศ นั่นคือ ต้องการเป็นประเทศที่มี “รายได้สูง” ภายในปี 2045 ซึ่งการจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ ต้องมีอัตรากาเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี
จากนโยบายพัฒนาประเทศเชิงรุก ปัจจุบันได้ยกระดับเวียดนาม จากประเทศยากจนที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ไปสู่ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจระดับปานกลาง (Middle-income Economy) และทำให้ทุกวันนี้เวียดนามกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่บริษัทระดับโลก (Global Company) เข้ามาลงทุน
- อ่านเพิ่มเติม: จับตา “เวียดนาม” เสือเศรษฐกิจตัวใหม่เอเชีย! แบรนด์ระดับโลกแห่ลงทุน – “MUJI” เปิดช้อปใหญ่สุดในอาเซียน
“LEGO” ลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งโรงงานผลิต รับการเติบโตกลุ่มชนชั้นกลางในเอเชีย
บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามล่าสุด คือ “LEGO Group” (เลโก้ กรุ๊ป) ผู้ผลิตและจำหน่ายของเล่นตัวต่ออายุ 89 ปีจากเดนมาร์ก ได้ประกาศเตรียมสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ของ LEGO (เลโก้) ในเวียดนาม เพื่อรองรับการเติบโตระยะยาว โดยลงนาม MOU กับ “Vietnam Singapore Industrial Park Joint Venture Company Limited (VSIP)”
โดยข้อมูลฐานการผลิต LEGO ในเวียดนาม และการขยายตลาดในภูมิภาคเอเชีย สรุปได้ดังนี้
– ลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณกว่า 33,000 ล้านบาท ขนาดพื้นที่ 44 เฮกตาร์ ตั้งอยู่ในจังหวัด Binh Duong ห่างจากเมือง Ho Chi Minh ประมาณ 50 กิโลเมตร
– โรงงานในเวียดนามแห่งนี้ ถือเป็นโรงงานลำดับที่ 6 และเป็นแห่งที่ 2 ในภูมิภาคเอเชีย โดยปัจจุบัน LEGO มีฐานการผลิตในเดนมาร์ก สาธารณรัฐเช็ก ฮังการี เม็กซิโก และจีน (ในจีน เปิดโรงงานเมื่อปี 2016)
– เป็นโรงงานแห่งแรกของ LEGO ที่เป็น Carbon Neutral Factory คือ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ และมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา นอกจากนี้ทาง “VSIP” จะสร้างโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ในบริเวณใกล้เคียงกับโรงงานของ LEGO แห่งนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เพียงพอ พร้อมทั้งออกแบบให้รองรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และติดตั้งอุปกรณ์การผลิตที่ประหยัดพลังงาน
– โรงงานแห่งใหม่นี้ จะเร่ิมผลิตในปี 2024
– LEGO Group มองว่าจะสามารถสร้างงานได้มากถึง 4,000 ตำแหน่งงานภายใน 15 ปีข้างหน้า
– นับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา “ตลาดเอเชีย” สร้างการเติบโตให้กับ LEGO Group เป็นตัวเลขสองหลักต่อปี เนื่องจากในภูมิภาคเอเชีย มีการเพิ่มขึ้นของประชากรกลุ่มชนชั้นกลาง (Middle-class income) และอัตราการเกิดสูง เมื่อเทียบกับตลาดยุโรป และอเมริกาเหนือ ที่เข้าสู่สเต็ปเติบโตเต็มที่แล้ว (Mature Stage)
Carsten Rasmussen, Chief Operations Officer ของ LEGO Group กล่าวว่า โรงงานในเวียดนามแห่งนี้ ถือเป็นแห่งที่ 2 ในเอเชีย เราสร้างขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตระยะยาวของตลาดเอเชีย เพื่อให้ LEGO ยังส่งมอบประสบการณ์การเล่นให้กับเด็กอีกเป็นจำนวนมากต่อไป
นอกจากนี้โรงงานที่เวียดนามจะช่วยให้ขยายเครือข่ายซัพพลายเชนของ LEGO Group ไปทั่วโลก ซึ่งการมีฐานการผลิตในตลาดหลัก (เอเชีย) จะสร้างความยืดหยุ่นในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคท้องถิ่นได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งทำให้ระบบซัพพลายเชนสั้นลง และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการขนส่งทางไกล
“เรารู้สึกขอบคุณทางรัฐบาลเวียดนามเป็นอย่างยิ่งที่ให้การสนับสนุนบริษัทฯ ในการบรรลุเป้าหมายการตั้งโรงงาน Carbon Neutral Factory แห่งแรกของเรา ซึ่งนโยบายการลงทุนขยายโครงสร้างพื้นฐานการผลิตพลังงานหมุนเวียน และการสร้างความร่วมมือกับบริษัทต่างประเทศ ที่มองหาการลงทุนคุณภาพสูง เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ LEGO Group ตัดสินใจมาสร้างโรงงานที่เวียดนาม
เราเชื่อว่าการลงทุนครั้งนี้ จะช่วยให้พวกเรานำพาพลังของเล่น “LEGO” มาสู่เด็กรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจ และพัฒนาเด็ก ซึ่งจะเป็นผู้สร้างอนาคต ดังนั้นเราจะดำเนินการสร้างความยั่งยืนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
Photo Credit : LEGO