เปิดบิ๊กโปรเจกต์ Popcoin “สมาร์ท มาร์เก็ตติ้ง แพลตฟอร์ม” ตั้งแต่ต้นปี 2565 “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ซีอีโอ อาร์เอส ประกาศขอเล่นใหญ่แบบทุ่มสุดตัว ในการวางแผน วางกลยุทธ์ ดีไซน์บิสซิเนส โมเดล พร้อมเปิดกว้างให้กับพันธมิตรเข้ามาใช้ประโยชน์ผ่านแพลตฟอร์ม Popcoin เพื่อสร้างคอมมูนิตี้ขนาดใหญ่ของฝั่งแบรนด์และผู้บริโภค ให้ทุกคน Win ไปด้วยกัน
ภายใต้แนวคิด “Popcoin: Join to Earn” ประเดิมเปิดตัว “แบมแบม-กันต์พิมุกต์ ภูวกุล” หนึ่งในศิลปิน GOT7 มาร่วมเป็น Platform Partner เพื่อแจ้งเกิด Popcoin
ทำความรู้จัก Popcoin
– Popcoin เป็น “สมาร์ท มาร์เก็ตติ้ง แพลตฟอร์ม” ที่พัฒนาโดย “โฟร์ท แอปเปิ้ล” บริษัทในเครือ RS Group
– Popcoin ไม่ใช่แค่โทเคนดิจิทัล หรือเหรียญคริปโทเคอร์เรนซี เพราะคำว่า POP มาจาก Popular among the people นั่นคือ อะไรที่เป็นความนิยม อยู่ในกระแส จะนำมาอยู่ในอีโคซิสเต็มของ Popcoin สร้างมูลค่าเพิ่มให้ทุกคนเป็นเจ้าของ
– แนวคิดของคอมมูนิตี้ Join to Earn (เข้าร่วมแล้วได้สิทธิประโยชน์) เป็นชุมชนของคนทุกวัย Mass Adoption หรือ One Coin For All เป็นเหรียญของทุกคนในครอบครัวใช้ได้ ตั้งแต่พ่อแม่ลูก เพราะวันนี้เทคโนโลยีอยู่ในชีวิตของคนทุกวัยทุกเจน
– ปัจจุบันเทคโนโลยี Blockchain ส่วนใหญ่ใช้ในเรื่องการเงิน แต่ Popcoin จะนำบล็อกเชน มาสร้าง บิสซิเนสโมเดล ที่ทุกวัยเข้าถึงได้ ผ่านความชื่นชอบและไลฟ์สไตล์ของแต่ละเจน
ผู้ใช้ Popcoin
– Brand ,Content Creator ใช้เป็นเครื่องมือการตลาด เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย วัดผลได้ และเป็นช่องทางสร้างธุรกิจใหม่
– คนทั่วไป หรือผู้ถือเหรียญ เรียกว่า Popster ใช้ Popcoin แลกสินค้า ของสะสม เข้าถึงคอนเทนต์ เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในรูปแบบพิเศษ ที่แบรนด์ ครีเอเตอร์ คอนเทนต์ พาร์ทเนอร์ จัดขึ้น
– หลังเปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการ ผ่านแคมเปญ Popcoin Airdrop ตั้งแต่พฤศจิกายน-ธันวาคม 2564 ปัจจุบันมีผู้ถือเหรียญแล้วกว่า 5 แสนราย ตั้งเป้าถึงเดือนกุมภาพันธ์นี้ทะลุ 1 ล้านราย
3 วิธีใช้ Popcoin
1. Redemption แลก (Redeem) สินค้าและบริการต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ของทั่วไป แต่เป็นของหายาก มีมูลค่า หรือบางชิ้นต้อง Bidding
2. Staking pool การฝากเหรียญไว้ในแพลตฟอร์ม Popcoin เพื่อรับผลตอบแทน (ซึ่งได้มาจากเมื่อมีผู้ใช้นำเหรียญมาแลกสินค้าและบริการ แพลตฟอร์มจะหัก 5% เพื่อนำมาให้ผลประโยชน์กับผู้ที่ฝากเหรียญไว้)
3. Exchange Platform เหรียญ Popcoin จะเข้าเทรดใน Bitkub ภายในเดือนมกราคม 2565 เพื่อให้ผู้ถือเหรียญได้ซื้อขายแลกเปลี่ยนเป็นเงินได้
4 ปี ปล่อย 10,000 ล้านเหรียญ
– อาร์เอส กำหนดจำนวนเหรียญ Popcoin จะทยอยปล่อยออกมาในช่วง 4 ปี (2565-2568) รวม 10,000 ล้านเหรียญ
– โควตาออกเหรียญปีละ 2,500 ล้านเหรียญ
– Popcion จะถูกขุด (Mint) ออกมาได้ ต้องมีผู้ซื้อฝั่งแบรนด์หรือสปอนเซอร์มาซื้อเหรียญไปใช้ในกิจกรรมหรือไปทำมาร์เก็ตติ้งเท่านั้น ราคาขายเหรียญให้ฝั่งแบรนด์เฉลี่ย 15-25 สตางค์ต่อเหรียญ (ซื้อจำนวนมากได้ราคาต่ำ)
– ดังนั้น Popcoin จะขายเหรียญให้กับ แบรนด์ สินค้า สปอนเซอร์ เท่านั้น ผู้บริโภคทั่วไปไม่สามารถมาซื้อเหรียญโดยตรงกับอาร์เอสได้ และแบรนด์ก็ไม่สามารถเหรียญนำไปขายหรือแจกตรงให้ผู้บริโภคได้ ต้องแจกผ่านกิจกรรมตามเงื่อนไขที่บอกไว้ตอนมาซื้อเหรียญ โดยผู้บริโภคจะได้รับเหรียญผ่านแพลตฟอร์ม Popcoin เข้าวอลเล็ท
“แบรนด์” ใช้เป็นเครื่องมือการตลาด
– คุณฐณณ ธนกรประภา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ โฟร์ท แอปเปิ้ล กล่าวว่าบทบาท Popcoin วางบิสซิเนส โมเดล เป็น “สมาร์ท มาร์เก็ตติ้ง แพลตฟอร์ม” เป็นเครื่องมือการตลาด (Marketing Tools) ให้กับแบรนด์ใช้ตอบโจทย์ทางการตลาดต่าง ๆ เช่น กระตุ้นยอดขาย สร้างเอนเกจเมนต์ สร้างการรับรู้แบรนด์ ทำ CRM หรือ Loyalty Program ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่กลุ่มลูกค้าจะได้รับเหรียญ
– Popcoin จึงวางเป้าหมายดึงเม็ดเงินการตลาดและการสื่อสาร จากอุตสาหกรรมโฆษณาที่มีมูลค่าปีละ 1 แสนล้านบาท (ในจำนวนนี้มีเม็ดเงินโฆษณาสื่อดิจิทัลปีละ 20,000 ล้านบาท) ด้วยการเปลี่ยนงบโฆษณาของแบรนด์มาเป็น Digital Token ยิงตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการแจกเหรียญเพื่อไปแลกของรางวัลและกิจกรรมที่ Popcoin ทำร่วมกับพาร์ทเนอร์
– สิ่งที่ Popcoin ต้องทำ คือ สร้างประสบการณ์ที่ยากปฏิเสธ (Undeniable Experiences) ให้กับคนที่ถือเหรียญ มาแลกสินค้าและบริการพิเศษ ที่มีเฉพาะในแพลตฟอร์ม
เปิดตัวแพลตฟอร์มพาร์ทเนอร์ ‘แบมแบม’ GOT7
– อาร์เอสและ Popcoin ได้เปิดตัว Platform Partner รายแรก คือ “แบมแบม” ศิลปิน GOT7 ซึ่งจะเข้ามาร่วมสร้างสรรค์คอนเทนต์และออกสินค้าต่างๆ เริ่มต้นด้วย Exclusive Photo Set เพื่อกระตุ้นการ Redeem เหรียญจากแฟนคลับ โดยราคาสินค้ามีทั้งกำหนดราคา และอาจเป็นรูปแบบ Bidding เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
– การดึง “แบมแบม” มาเป็นแพลตฟอร์ม พาร์ทเนอร์ ทำให้แบรนด์ต่างๆ ที่ต้องการทำกิจกรรมร่วมกับ “แบมแบม” เช่น Fan Meeting เข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องเป็นสปอนเซอร์เพียงรายเดียว ซึ่งมีต้นทุนสูง แต่สามารถเข้ามาร่วมทำกิจกรรมกับ Popcoin ได้ด้วยการซื้อเหรียญ ไปทำกิจกรรมแจกให้ลูกค้า เหมือนได้ร่วมเป็นสปอนเซอร์กับ “แบมแบม” ไปด้วยกัน เป็นโมเดลที่พาร์ทเนอร์ทุกคนจะได้ประโยชน์
ปั้นออริจินัล คอนเทนต์
– นอกจากนี้ อาร์เอส ยังมี “ออริจินัล คอนเทนต์” ที่สร้างขึ้นเอง เพื่อดึงผู้ถือเหรียญเข้ามาร่วมกิจกรรม เช่น Food Truck Battle ที่ร่วมผลิตกับ Y Global Music รายการแข่งขันขายอาหารที่มีศิลปินเกาหลีและไทยร่วมเข้าแข่งขัน 6 คน ที่ประกาศไปแล้ว 2 คน คือ มาร์ก ต้วน (Mark Tuan) GOT7
– โปรเจกต์สารคดี Men in Light ศิลปินสัญชาติไทยที่โกอินเตอร์และมีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งมีหลายคน หนึ่งในนั้นคือ “แบมแบม” GOT7
– อีเวนต์ Kamikaze Party 2022
– RS Meeting Concert Dance Marathon
– คอนเสิร์ต 21 ปี D2B Festival
สร้างพันธมิตร Brand Collaboration
Popcoin จะมีความร่วมมือกับ Content and Brand Collaboration อีกหลายราย ซึ่งจะเป็นกลไกในการทำตลาด เพิ่มมูลค่าให้กับกิจกรรมและสร้างสิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ ๆ ให้กับคอนเทนต์ในอนาคต โดยมีพาร์ทเนอร์ที่เข้ามาร่วมมือแล้วดังนี้
– ไลฟ์ เนชั่น Tero Entertainment บริษัทจัดคอนเสิร์ตนานาชาติระดับโลกในประเทศไทย
– High Cloud Entertainment ค่ายเพลงของ กอล์ฟ F.HERO
– คณะหมอลำเสียงอิสาน ตำนานหมอลำชื่อดัง “แม่นกน้อย อุไรพร” ตอบโจทย์เจนวาย เจนเอ็กซ์ แม่ยกที่ก้าวข้ามกำแพงเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนศิลปินที่ชื่นชอบ
– VOM Records ค่ายเพลง Rock น้องใหม่
– Carnival แบรนด์สตรีทแฟชั่นชั้นนำของไทย
– UNLOCKMEN พับบลิชเชอร์ออนไลน์อันดับ 1 สำหรับผู้ชาย
– Pet Hipster สื่อและนิตยสารออนไลน์สำหรับคนรักสัตว์
– Full Sense วงการ eSport ในประเทศไทยและทั่วเอเชีย
– Female Idol Trade Association (FITA) สมาคมการค้าธุรกิจไอดอลหญิง
– Bhouse Studio โรงเรียนสอนเต้นระดับแนวหน้าของประเทศไทย
บิสซิเนสโมเดล Popcoin เป็นสิ่งที่ “อาร์เอส” จะสร้าง Infrastructure ให้พันธมิตรทางธุรกิจมาใช้ประโยชน์ผ่านโมเดลธุรกิจ Entertainmerce และแชร์ Big Data ที่เกิดจากการแพลตฟอร์มร่วมกันใน “Popcoin Ecosystem” เพื่อนำข้อมูลมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ สร้างกลยุทธ์การตลาดรูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น
Popcoin ถือเป็นการสร้างบิสซิเนส โมเดลใหม่ หาโอกาสจากสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังได้รับความสนใจจากทุกธุรกิจ ตอกย้ำการปรับตัวของ “อาร์เอส” บริษัทที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ปรับตัวอย่างรวดเร็วและไม่หยุดนิ่ง เพื่อทำให้เห็นว่าสามารถฝ่าฟันช่วงเวลาที่ยากลำบากมาได้ทุกยุค
สิ่งที่ “เฮียฮ้อ” ฝากไว้ในการทำธุรกิจ “วันนี้หากเรายังคิดแบบเดิม ทำธุรกิจแบบเดิม จะอยู่ในภาวะยากลำบากและมีอุปสรรคในการทำธุรกิจอย่างมาก ที่สำคัญหากไม่รู้จักปรับตัวหรือปรับปรุง เราอาจอยู่ไม่รอดในโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นโลกที่อนาคตได้มาอยู่ตรงหน้าแล้ว”