หลังปรากฏข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น ฉบับวันที่ 24 มกราคม 2565 ว่า “อาร์เอส” เตรียมปิดดีลเจรจาซื้อกิจการยูนิลีเวอร์ (ส่วนธุรกิจขายตรง) คุณวิทวัส เวชชบุษกร กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บมจ.อาร์เอส ชี้แจงตลาดหลักทรัพย์ว่า อาร์เอส ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจบันเทิงมายาวนาน รวมทั้งการสร้างจุดยืนในฐานะผู้นำการผสมผสานความบันเทิงและการค้าปลีกด้วยโมเดล Entertainmerce
กลยุทธ์การทำ Mergers and Acquisitions (M&A) และ Joint Venture (JV) ของ อาร์เอส อยู่ในระหว่างการศึกษาการเข้าลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตและขยาย Ecosystem ของอาร์เอส กรุ๊ป หากมีข้อชี้แจงใดๆ อาร์เอส จะข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป
มี 2 ดีลร่วมทุนซื้อกิจการ
ตามแผนธุรกิจปี 2565 “อาร์เอส” ยังคงมองหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจจากการทำ M&A ,JV หรือ Takeover อีก 2 ดีลภายในปีนี้ มูลค่าการลงทุนดีลละ 500-1,000 ล้านบาท โดยเป็นธุรกิจที่โฟกัสการต่อยอดโมเดลธุรกิจ Entertainmerce ขยายช่องทางการขายและแพลตฟอร์มของธุรกิจคอมเมิร์ซ รวมถึงการเพิ่มไลน์สินค้าและบริการ ส่งเสริม Ecosystem ของอาร์เอสตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและเป็นกลไกช่วยคุมต้นทุน
ส่วนกระแสข่าวเจรจาซื้อกิจการธุรกิจขายตรงของยูนิลีเวอร์ “อาร์เอส” ไม่ได้ปฏิเสธข่าวนี้ ระบุเพียงว่า “ยังไม่สามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้”
หากจับกระแสความสนใจธุรกิจขายตรง พบว่าในช่วงโควิดปี 2563 อาร์เอส ได้เปิดตัวธุรกิจขายตรงชั้นเดียว ด้วยการเปิดรับเครือข่ายผู้สนใจเป็นตัวแทนอิสระขายสินค้าของอาร์เอส โดยมองว่าธุรกิจขายตรงเป็นบิสซิเนส โมเดลที่สร้างโอกาสเติบโตได้ หากปรับรูปแบบให้ทันสมัย ก่อนโควิดภาพรวมธุรกิจขายตรงมีอัตราการเติบโตทุกปี ปัจจุบันตลาดรวมมีมูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาท
ดันรายได้ 5,100 ล้าน
คุณสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ (เฮียฮ้อ) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าช่วง 2 ปีโควิด โมเดล Entertainmerce ทำให้อาร์เอส ยังเติบโตได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากและท้าทาย ด้วยกลยุทธ์ M&A และ JV ในหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น เชฎฐ์ เอเชีย (ธุรกิจบริหารหนี้), โฟร์ท แอปเปิ้ล (ธุรกิจที่ปรึกษาการตลาดออนไลน์), แพลนบี (ธุรกิจคอมเมิร์ซและการตลาด), สเปเชียลตี้ โฮลดิ้ง (ธุรกิจกัญชา-กัญชง) ปีนี้ยังมีอีก 2 ดีล
“นับตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นไป จะเป็นปีที่อาร์เอส เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ สร้างรายได้จากธุรกิจที่เข้าไปร่วมทุนด้วย ปีนี้วางเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 5,100 ล้านบาท”
อาร์เอส ได้วาง 4 กลยุทธ์สร้างการเติบโต 1. สร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มทั้งอีคอมเมิร์ซและออนไลน์คอนเทนต์ ใช้ดิจิทัลคอนเทนต์และนำ Asset ของอาร์เอสมาใช้ประโยชน์ 2.เป็นองค์กรแห่งข้อมูล โดยนำข้อมูลของแต่ละธุรกิจมาใช้ร่วมกัน เพื่อหารายได้เพิ่มจากโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ 3. เป็น First mover ในตลาดที่เข้าไปทำธุรกิจ สร้างแบรนด์สินค้าเจาะกลุ่ม Mass Market และ 4. จับมือเป็นพันธมิตรกับหลากหลายวงการ เพื่อสร้างผลตอบแทนการลงทุนจากการ IPO ในบริษัทที่เข้าไปร่วมลงทุน
กางแผน 4 ธุรกิจปี 2565
1. ธุรกิจคอมเมิร์ซ
– อาร์เอส มอลล์ (RS Mall) ขยายช่องทางอีคอมเมิร์ซ จัดทำ Loyalty Program ในชื่อ ‘RS Mall PLUS’ ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 8 แสนราย คาดว่าในสิ้นปี 2565 จะมีสมาชิกเพิ่มเป็น 1.2 ล้านราย
– ไลฟ์สตาร์ ได้รีแบรนด์ใหม่เป็น Innovative Wellness Product Company เน้นพัฒนาสินค้านวัตกรรมใหม่ดูแลสุขภาพ โดยยุบรวมแบรนด์สินค้าทั้งหมดเหลือ 4 แบรนด์หลัก ได้แก่ 1. well u (เวล ยู) 2.Vitanature+ (ไวตาเนเจอร์พลัส) 3. CAMU C (คามู ซี) และ 4.Lifemate (ไลฟ์เมต) ผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง ปีนี้มีสินค้าใหม่ 30 รายการ (SKU)
– ไฮไลต์ปีนี้เป็นสินค้าที่มีสารสกัดจากกัญชงและ CBD ที่จะทยอยออกมาทำตลาดทั้ง 4 แบรนด์
2. ธุรกิจสื่อและบันเทิง
– ช่อง 8 ขยายช่องทางและคอนเทนต์ออนไลน์ เพื่อสร้างฐานแฟนคลับใหม่ๆ ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ (อายุ 18-24) เพิ่มออริจินัลคอนเทนต์และรายการจากโฟร์ท แอปเปิ้ล Vibe Global Audition Reality TV talent และ Food Truck Battle ซีซั่น 2
– COOLISM ด้วยการขยายฐานผู้ฟังกลุ่ม Young Generation ผ่านสมาร์ท สปีคเกอร์ และสมาร์ท ดีไวซ์ อาทิ Siri, JOOX, Apple Music, Google Home และ Huawei Harmony OS
– จัด 3 คอนเสิร์ตใหญ่ ได้แก่ kamikaze Party 2022 ในช่วงเดือนมิถุนายน, Dance Marathon 2022 ในเดือนตุลาคม และเดือนธันวาคม 21st Anniversary D2B Festival
– RS Music ทำคอนเทนต์ใหม่ๆ บนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้นเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับธุรกิจ และเพิ่มช่องทางหารายได้จากการบริหารและดูแลศิลปินด้วยการผลิตคอนเทนต์ใหม่ๆ ป้อนเข้าช่องทางออนไลน์ ทั้งช่อง RSfriends, Kamikaze และ RSiam และงานบริหารลิขสิทธิ์คลังเพลง
– โฟร์ท แอปเปิ้ล ทำรายการ Food Truck Battle ซีซั่น 2 และรายการ Men in Light Documentary นำเสนอเรื่องราวของศิลปินชาวไทยที่มีชื่อเสียงในระดับโลก คนแรก กันต์พิมุกต์ ภูวกุล หรือ แบมแบม GOT7
3. ช่องทางรายได้ใหม่จาก Asset ในองค์กร
– เข้าสู่ตลาด NFT จากฐานผู้ชมผู้ฟังเพลงรวมกว่า 50 ล้านบัญชีผู้ใช้งานผ่านทุกช่องทางออนไลน์ RS Music จะสร้างออนไลน์คอนเทนต์รูปแบบใหม่ใน youtube
– นำ “เชฎฐ์ เอเชีย” IPO โดยจะยื่น Filing ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ในไตรมาส 2 ปี 2565 และมีกำหนดการเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาส 4 ปี 2565
4. ธุรกิจ Popcoin
– Popcoin เป็นสมาร์ท มาร์เก็ตติ้ง แพลตฟอร์ม เทคโนโลยีบล็อกเชนที่จะเข้ามาเป็นแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่งและสามารถสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจรวมไปถึงพาร์ทเนอร์
– ล่าสุด Popcoin มีผู้ลงทะเบียนเป็น Popster แล้วกว่า 7 แสนราย
จากกลยุทธ์ต่าง ๆ ของ อาร์เอส กรุ๊ป จะเป็นการยกระดับโมเดล Entertainmerce เพื่อสร้าง Seamless Customer Experience และส่งเสริมให้เกิด Seamless Big Data ส่งผลให้ อาร์เอส กรุ๊ป มีฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่สามารถวิเคราะห์และพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น นำไปสู่การเติบโตสร้างรายได้ตามเป้าหมาย 10,000 ล้านบาท