ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ บริหารโดยบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ธุรกิจในเครือเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้ปิดปรับปรุงไปเมื่อเดือนเมษายน 2562 หลังจากให้บริการมา 30 ปี เริ่มจากประชุม World Bank ครั้งที่ 46 ในปี 2534 ณ เวลานั้นถือเป็นศูนย์ประชุมใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจ MICE ของประเทศไทย โดยรองรับการจัดประชุมและอีเวนต์สำคัญ ๆ ทั้งในประเทศและนานาชาติมาแล้วกว่า 30,000 งาน
โฉมใหม่ ศูนย์ฯสิริกิติ์ ใช้งบประมาณปรับปรุงกว่า 15,000 ล้านบาท มีบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้พัฒนาคอนเซ็ปต์และก่อสร้าง โดยเตรียมเปิดให้บริการอีกครั้งในเดือนกันยายน 2565
ศูนย์ฯสิริกิติ์โฉมใหม่
– ศูนย์ฯสิริกิติ์โฉมใหม่ มีพื้นที่โครงการรวม 300,000 ตารางเมตร ใหญ่กว่าเดิม 5 เท่า หรือมีขนาดเท่ากับสนามฟุตบอล 50 สนาม สูง 5 ชั้น (ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น และบนดิน 2 ชั้น)
– พื้นที่รองรับการจัดการประชุมและนิทรรศการ 78,500 ตารางเมตร ประกอบไปด้วยฮอลล์สำหรับการจัดงานขนาดใหญ่ 2 ฮอลล์ พื้นที่รวมกว่า 45,000 ตารางเมตร ห้องจัดประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ 2 ห้อง พื้นที่ประมาณ 10,000 ตารางเมตร (เพลนารี ฮอลล์และบอลรูม) และห้องประชุมย่อยรองรับการประชุมได้กว่า 50 ห้อง และพื้นที่รีเทล 11,000 ตารางเมตร
– รองรับผู้เข้าร่วมงานกว่า 100,000 คนต่อวัน มีที่จอดรถ 3,000 คัน ทางเข้าออก 4 ถนน (พระราม 4 สุขุมวิท รัชดาภิเษก ดวงพิทักษ์)
– เปิดทางเชื่อม MRT เข้าศูนย์ฯสิริกิติ์ ชั้นใต้ดินโดยไม่ต้องเดินออกมานอกสถานีเพื่อเข้าศูนย์ฯ มีทางเชื่อมจากศูนย์ฯสิริกิติ์ ไปยังสวนป่าเบญจกิติ ขนาด 450 ไร่ จะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2565 (ในสวนป่าเบญจกิติ มีเส้นทางสกายวอล์กเชื่อมไปยังสวนลุม)
ยอดจองแน่นทุกงานเดิมคอนเฟิร์มกลับศูนย์ฯ
– ก่อนปิดปรับปรุง มีงานแฟร์หลายงานที่จัดเป็นประจำที่ศูนย์ฯสิริกิติ์ และมีผู้เข้าชมงานจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น งานสัปดาห์หนังสือ, งานไทยเที่ยวไทย, Thailand Mobile Expo , Commart , Money Expo เป็นต้น โดยงานต่างๆ เหล่านี้ ต้องย้ายสถานที่จัดไปยังศูนย์ประชุมอื่นแทน ช่วงที่ศูนย์ฯสิริกิติ์ปิดปรับปรุง
– การกลับมาเปิดบริการอีกครั้งในเดือนกันยายน 2565 นี้ คุณศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่างานกลุ่มแรกที่จะเข้ามาจัดในศูนย์ฯ คืองานแฟร์ต่างๆ ที่เคยจัดที่ศูนย์ฯสิริกิติ์อยู่แล้ว เช่น งานสัปดาห์หนังสือ, งานท่องเที่ยว, งานคอมพิวเตอร์-มือถือ งานธุรกิจการเงิน ผู้จัดงานยืนยันแล้วว่าจะกลับมาจัดที่ศูนย์ฯสิริกิติ์แน่นอน เพราะมั่นใจในทำเลที่เดินทางสะดวกและภาพลักษณ์การเป็นศูนย์ประชุมนานาชาติ
– หลังกำหนดเปิดบริการในเดือนกันยายนนี้ มีผู้จัดงานทั้งไทยและต่างประเทศ (เยอรมนี อังกฤษ สิงคโปร์) จองพื้นที่ปี 2565-2566 เข้ามาแล้ว 70% (ใกล้เคียงกับก่อนปิดปรับปรุงที่ทำได้ 80%) โดยปี 2566 มีทั้งหมด 130 งาน รองรับผู้จัดงานและผู้เข้าชมงานปีละ 13 ล้านคน
– เป้าหมายมีลูกค้ากลุ่มเทรดแฟร์ใช้พื้นที่ขนาดใหญ่จากต่างชาติเพิ่มขึ้น เป็นงานรูปแบบ B2B และ Business Matching ลูกค้ากลุ่มเอ็กซิบิชั่น จาก CLMV รองรับงานระดับเวิลด์คลาส เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลาง MICE รวมทั้งงานคอนเสิร์ตใหญ่ ไลฟ์สไตล์โชว์ อีสปอร์ต อาร์ตแกลเลอรี่ โดยวางเป้าหมายลูกค้าต่างชาติจัดงาน 70% แต่ช่วงโควิดนี้คาดว่าจะทำได้ 60% และลูกค้าไทย 40%
– สำหรับงาน APEC 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ศูนย์ฯสิริกิติ์ มีความพร้อมด้านสถานที่จัดงาน ซึ่งกระทรวงต่างประเทศและรัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเลือกสถานที่
– นอกจากนี้ศูนย์ฯสิริกิติ์ โฉมใหม่ได้แก้ปัญหาเดิม ไม่ว่าจะเป็น ที่จอดรถเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 คัน (จากเดิม 600 คัน) พื้นที่ฮอลล์จัดงานไซส์ใหญ่ มีจุด loading สินค้าและอุปกรณ์สามารถขับรถขนเข้ามาในพื้นที่เอ็กซิบิชั่นฮอลล์ทั้ง 2 ชั้น
เปิดพื้นที่ค้าปลีก 11,000 ตารางเมตร
– สำหรับพื้นที่รีเทลของศูนย์ฯ สิริกิติ์ ขนาด 11,000 ตารางเมตร เพิ่มขึ้นจากเดิม 30% บริหารโดย บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นผู้บริหารพื้นที่ค้าปลีกสามย่านมิตรทาวน์ และสีลมเอจ วางคอนเซ็ปต์เป็น Bangkok Active Lifestyle Mall (BALM) หรือ แอคทีฟไลฟ์สไตล์มอลล์เต็มรูปแบบแห่งแรกของกรุงเทพฯ มีร้านค้าแบรนด์ชั้นนำกว่า 100 ร้าน รองรับผู้จัดงานและผู้เข้าชมงาน ทั้งเจรจาธุรกิจ จุดนัดพบ
– โลเคชั่นโซนพระราม 4 มีทั้งสวนเบญจกิติ สวนลุม โรงแรม อาคารสำนักงาน โดยมีผู้อยู่อาศัยพื้นที่โดยรอบประมาณ 300,000 คน , คนทำงาน 100,000 คน ผู้จัดงานและเข้าชมงาน 13 ล้านคนต่อปี ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายของพื้นที่รีเทล จึงเป็นผู้จัดงานและผู้เข้าชมงาน 75%, กลุ่มออกกำลังกาย (สวนเบญจกิติและสวนลุม) 15% และพนักงานออฟฟิศ 10%
– สรุปพื้นที่รีเทล แบ่งเป็น ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 60% เช่น Day Cafe ร้านอาหาร ฟู้ดคอร์ท, บริการอีเวนต์ 20% และกีฬา,อุปกรณ์กีฬา,เครื่องแต่งกาย และการดูแลสุขภาพ 20%
- ชั้น B1 พื้นที่ 1,600 ตารางเมตร อินเตอร์เนชั่นแนล ฟู้ดคอร์ท รองรับผู้จัดงานและผู้เข้าชมงาน
- ชั้น LG พื้นที่ 4,300 ตารางเมตร โซนเชื่อมต่อรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT Gateway และโซน F&B Corridor
- ชั้น LM พื้นที่ 2,400 ตารางเมตร ธุรกิจสนับสนุนการจัดอีเวนต์รูปแบบต่างๆ
- ชั้น G พื้นที่ 1,800 ตารางเมตร ร้านอาหารและเครื่องดื่มไลฟ์สไตล์
- ชั้น 2 พื้นที่ 900 ตารางเมตร พื้นที่บริการทุกรูปแบบสำหรับ Business Matching
ศูนย์ฯสิริกิติ์โฉมใหม่พื้นที่ใหญ่กว่าเดิม 5 เท่า หลังเปิดบริการในเดือนกันยายนนี้ จึงวางเป้าหมายรายได้เพิ่มขึ้น 5 เท่าเช่นกัน โดยพื้นที่รีเทลจะมีสัดส่วน 15% ของรายได้ศูนย์ประชุม
อ่านเพิ่มเติม