HomeBrand Move !!เกาหลีใต้ เตรียมอนุญาตให้ “หุ่นยนต์ส่งอาหาร-ส่งของ” วิ่งบนถนนสาธารณะในปี 2023

เกาหลีใต้ เตรียมอนุญาตให้ “หุ่นยนต์ส่งอาหาร-ส่งของ” วิ่งบนถนนสาธารณะในปี 2023

แชร์ :

7-Eleven x Neubility_South Korea

Photo Credit : www.neubility.co.kr

ทุกวันนี้ธุรกิจต่างๆ ในหลายประเทศทดลองนำ “หุ่นยนต์” มาให้บริการลูกค้า เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน, ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

อย่างในเกาหลีใต้ เริ่มเห็นผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Food Delivery และค้าปลีกรายใหญ่ นำหุ่นยนต์มาให้บริการแก่ลูกค้าแล้ว อย่างไรก็ตามด้วยข้อกฎหมาย และยังอยู่ในช่วงทดลอง จึงยังจำกัดพื้นที่การให้บริการ

แต่เพื่อสนับสนุนให้เกิดการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี และทำให้การใช้งานหุ่นยนต์แพร่หลาย ล่าสุด “รัฐบาลเกาหลีใต้” อยู่ระหว่างศึกษาการกำหนดคำนิยามทางกฎหมายให้กับหุ่นยนต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่ออนุญาตให้หุ่นยนต์ส่งอาหาร และส่งของ สามารถวิ่งบนถนนสาธารณะได้ในปี 2023 จากปัจจุบันหุ่นยนต์เหล่านี้ถูกห้ามนำมาวิ่งบนถนนสาธารณะ เนื่องจากกฎหมายถือว่าเป็นยานพาหนะไร้คนขับ

ดังนั้น ก่อนจะอนุญาตให้หุ่นยนต์สามารถวิ่งบนถนนสาธารณะ รัฐบาลเกาหลีใต้จึงตั้งโซนพิเศษรอบบริเวณอพาร์ทเมนท์ในเมืองซูวอน ตั้งอยู่รอบนอกกรุงโซล ให้ทดลองนำหุ่นยนต์มาวิ่งให้บริการประชาชนที่อาศัยในโซนนี้

Delivery Robot

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

 

“หุ่นยนต์ส่งอาหาร” แก้โจทย์ค่าแรงสูงขึ้น

Woowa Brothers ผู้ให้บริการแอปฯ Food Delivery รายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ เริ่มทดลองจัดส่งอาหารโดยใช้หุ่นยนต์ชื่อ Dilly Drive เป็นหุ่นยนต์ที่บริษัทพัฒนาขึ้นเอง มีความสูงประมาณ 70 เซนติเมตร ขณะที่บนลำตัวของหุ่นยนต์ มีกล้อง 3 ตัว เพื่อจดจำแสงสีแดงที่ทางข้ามและหยุด มีเซ็นเซอร์ และระบบนำทาง ทั้งยังสามารถหลบหลีกผู้คนที่เดินไปมาบนถนน

ในการทดสอบการใช้งาน พนักงานร้านกาแฟ จะนำถ้วยกาแฟและแซนด์วิชใส่เข้าไปในช่องวางสินค้าของหุ่นยนต์ จากนั้นหุ่นยนต์ Dilly Drive จะวิ่งนำสินค้าไปจัดส่งยังปลายทางตามที่ระบุไว้ ด้วยความเร็ว 5 – 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเมื่อหุ่นยนต์ Dilly Drive ไปถึงที่หมายแล้ว ลูกค้าจะได้รับข้อความทางสมาร์ทโฟน เพื่อให้ไปรับสินค้า จากนั้น Dilly Drive จะกลับไปประจำจุดเดิม เพื่อรอการจัดส่งออเดอร์ต่อไป

ทั้งนี้ Woowa เริ่มพัฒนาหุ่นยนต์ในปี 2017 เนื่องจากค่าแรงในเกาหลีใต้สูงขึ้น ภายใต้นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงของประธานาธิบดีมุน แจ-อิน โดยในปี 2022 ค่าแรงขั้นต่ำโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 9,160 วอนต่อชั่วโมง หรือ 7.66 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง

Delivery Robot

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

 

หุ่นยนต์ส่งของ รองรับช้อปออนไลน์โต

นอกจากหุ่นยนต์ใช้จัดส่งอาหารแล้ว ขณะเดียวกันยังมีการนำหุ่นยนต์จัดส่งสินค้าด้วยเช่นกัน ยิ่งทุกวันนี้การสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณออเดอร์ และการจัดส่งมากขึ้นมหาศาล อย่างค้าปลีกรายใหญ่ในเกาหลีใต้ มียอดขายออนไลน์ 48% ของยอดขายรวม ซึ่งมากกว่าญี่ปุ่น เป็นผลมาจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้คนเปลี่ยนไปซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น ด้วยเหตุนี้เองค้าปลีกที่เป็น Physical Store มองว่าการใช้หุ่นยนต์จัดส่งสินค้าจะช่วยให้การบริหารจัดการต้นทุนมีประสิทธิภาพขึ้น

เช่น “Lotte” ผู้ให้บริการเชนร้านสะดวกซื้อ 7-Elevenในเกาหลีใต้ ได้จับมือกับ “Neubility” บริษัทพัฒนาหุ่นยนต์ เพื่อทดลองนำหุ่นยนต์ส่งสินค้าโดยรอบอพาร์ทเมนท์ในกรุงโซล

หุ่นยนต์สามารถบรรจุสิ่งของน้ำหนักมากถึง 25 กิโลกรัม วิ่งไปยังจุดหมายปลายทางในอพาร์ทเมนท์ โดยถูกควบคุมผ่านกล้อง และเซนเซอร์ สามารถวิ่งได้อย่างมั่นคง หลบหลีกผู้คนที่เดินอยู่บนถนนได้ และจัดส่งได้แม้ฝนตก หรือเจอกับหิมะตก ซึ่ง Lotte หวังว่าจะนำหุ่นยนต์มาใช้จัดส่งสินค้ามากขึ้น หลังจากรัฐบาลเกาหลีใต้ออกกฎหมายอนุญาตให้วิ่งในถนนสาธารณะได้

Neubility Robot

Photo Credit : Facebook Neubility

 

สตาร์ทอัพ – บริษัทใหญ่ ทุ่มวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์ รัฐบาลเกาหลีใต้หวังส่งออกหุ่นยนต์ไปตลาดโลก

ปัจจุบันในเกาหลีใต้มีบริษัทวิจัยและผลิตหุ่นยนต์จำนวนมาก ทั้งสตาร์ทอัพ และบริษัทใหญ่ โดยตามรายงานของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2020 มีการจดสิทธิบัตรการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อใช้ขายสินค้า 234 ฉบับ เพิ่มขึ้น 29%

แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของ Supply การผลิตหุ่นยนต์ป้อนเข้าสู่ตลาดจะเพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อรองรับ Demand ของธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการนำหุ่นยนต์มาใช้บริการลูกค้ามากขึ้น

เช่น Hyundai Motor เข้าซื้อกิจการ Boston Dynamics บริษัทผลิตหุ่นยนต์รายใหญ่ของอเมริกาจาก SoftBank Group ในปี 2020 เพื่อเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีควบคุมหุ่นยนต์ เพราะนอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีขับเคลื่อนด้วยตัวเอง (Self-driving Technology) แล้ว ขณะนี้ Hyundai Motor ยังมุ่งวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ขนาดเล็กสำหรับจัดส่งอาหารให้กับผู้บริโภค และพัฒนาโดรนหลากหลายประเภท

นอกจากนี้  “LG Electronics” อีกหนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ ได้พัฒนาหุ่นยนต์สำหรับส่งอาหารจากครัว ไปยังโต๊ะลูกค้าในร้านอาหาร และกำลังก้าวไปสู่การพัฒนาหุ่นยนต์ขับเคลื่อนขนาดเล็กสำหรับใช้งานกลางแจ้ง

ส่วนทาง “Samsung” อยู่ในระหว่างการพัฒนาหุ่นยนต์ทำงานบ้าน เพื่อให้ทำงานคู่กับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น หุ่นยนต์สามารถเก็บจานจากโต๊ะอาหาร แล้วนำไปใส่ในเครื่องล้างจานที่จะเปิดเครื่องทำงานโดยอัตโนมัติ ช่วยให้ผู้บริโภคสะดวก และประหยัดเวลาการทำงานบ้าน

 

Source

Source


แชร์ :

You may also like