ต้องบอกว่า เมื่อปลายปีที่ผ่านมา การออกมาประกาศวิสัยทัศน์สู่การเป็น Cognitive Telco หรือ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอัจฉริยะ ในวันที่ AIS มีอายุครบ 32 ปีถือเป็นสิ่งที่ท้าทายไม่น้อย และนั่นทำให้เห็นว่า AIS กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคไปอีกระดับ ทั้งการผลักดันเรื่อง Digital Literacy ผ่านการสร้างโอกาสในการเข้าถึงดิจิทัลเทคโนโลยี การกระจายโอกาสด้านการใช้งาน หรือแม้แต่สร้างความตระหนักรู้ในด้านทักษะความฉลาดด้านดิจิทัล ซึ่งในการเปลี่ยนแปลงนี้ เราได้เห็นภาพที่อาจไม่ได้พบกันบ่อยนัก และประเด็นสำคัญคือโอกาสที่ผู้บริหารหญิงแกร่งได้รับให้ก้าวขึ้นมาขับเคลื่อนแกนสำคัญของ AIS มีมากขึ้นเรื่อย ๆ
เพื่อให้ภาพนี้ปรากฏชัดขึ้น ทีมงาน Brand Buffet มีโอกาสได้สัมภาษณ์ผู้บริหารหญิงของ AIS ทั้ง 4 ท่าน เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดการทำงาน และความท้าทายในการรับมือกับโอกาสที่ได้รับ เนื่องในวันสตรีสากล International Women’s Day 8 มีนาคม 2565 ได้แก่ คุณกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล AIS และกลุ่มอินทัช ซึ่งดูแลการทรานสฟอร์มทักษะพนักงานให้ตอบรับกับโลกการทำงานยุคใหม่ อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้ง AIS Academy ในฐานะสถาบันเพื่อพัฒนาบุคลากรของ AIS โดยมุ่งเตรียมความพร้อมสำหรับยุค Digital Disruption ผ่านการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำนานาชาติ อาทิ MIT, Harvard Business School, Manchester University และ Stanford University
คุณนัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าฝ่ายงานนักลงทุนสัมพันธ์และกำกับดูแลการปฏิบัติงาน AIS ในฐานะผู้บริหารด้านกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และการสื่อสารกับนักลงทุนในด้านภาพรวมขององค์กร โดยคุณนัฐิยามีบทบาทสำคัญในการวางกลยุทธ์ด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และมีผลงานที่ได้รับการยอมรับจากทั้งนักวิเคราะห์และนักลงทุน ผ่านรางวัลจากหน่วยงานหลัก อาทิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ติดต่อกันหลายปี ในการเป็น Best Investor relations
คุณสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS กับภารกิจส่งเสริมให้คนไทยเข้าใจและมีทักษะในการนำดิจิทัลไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Digital Literacy) เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิต รวมไปถึงเสริมภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ ที่จะช่วยให้รู้เท่าทันและใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลได้อย่างไม่ตกเป็นเหยื่อกลุ่มมิจฉาชีพ
คุณรุ่งทิพย์ จารุศิริพิพัฒน์ รักษาการ กรรมการผู้จัดการ พันธมิตรธุรกิจด้านบันเทิงและคอนเทนต์ AIS โดยคุณรุ่งทิพย์เป็นผู้ปลุกปั้น One-2-Call! บริการมือถือแบบเติมเงินที่มีทั้งสัดส่วนการตลาดอันดับ 1 ในยุคเริ่มต้นของวงการเติมเงิน ก่อนจะเข้ามารับหน้าที่ดูแลสิทธิประโยชน์ หรือ Privilege ให้แก่ลูกค้าภายใต้ AIS Plus และปัจจุบัน ก็เป็นผู้ที่เข้ามาบุกเบิก new digital business ที่เริ่มจาก Esports พร้อมเปิดตัว AIS eSports Studio ที่สามย่านมิตรทาวน์ จนกลายเป็น community ของชาวเกมเมอร์จนถึงปัจจุบัน
เราพบว่าประสบการณ์การทำงานของทั้ง 4 ท่านใน 4 แกนสำคัญ เมื่อผนวกเข้ากับสภาพแวดล้อมภายในองค์กรอย่าง AIS ได้กลายเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจไม่น้อย ซึ่งเราขอขยายความของภาพดังกล่าวให้ชัดขึ้นในบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้
Women In Tech ไม่ใช่แค่ความเท่าเทียมในองค์กร
คุณกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล AIS และกลุ่มอินทัช ได้กล่าวถึงสภาพแวดล้อมการทำงานภายใน AIS ไว้อย่างน่าสนใจว่า ปัจจุบัน AIS มีพนักงานมากกว่า 14,000 คน โดยเป็นการรวมพนักงานในสายเทคโนโลยีอย่าง วิศวกร, โปรแกรมเมอร์, Data Scientist ฯลฯ และพนักงานในสาย Non-Tech เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งในภาพรวม พบว่า เอไอเอสมีพนักงานและผู้บริหารหญิงในสัดส่วนเกินครึ่งของจำนวนพนักงานทั้งหมด โดยตัวเลขล่าสุดในปี 2021 มีพนักงานหญิงถึง 7,812 คน และเป็นพนักงานหญิงในสายเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย
ในมุมของคุณกานติมา มองว่า การบริหารองค์กรที่เต็มไปด้วยความหลากหลายก็คือการเคารพในความหลากหลายนั้น
“ที่ผ่านมา AIS เคารพในความหลากหลาย รวมถึงความแตกต่างทางวิธีคิด เพศสภาพ ซึ่งสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ทำให้องค์กรได้มองที่ความสามารถของพนักงานอย่างแท้จริง และเกิดการให้โอกาสที่เท่าเทียม โดยหัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือไม่ว่าคุณจะเป็นเพศใด เมื่อได้รับโอกาส คุณมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ความสามารถของตัวเอง และแสดงศักยภาพอย่างไม่มีขีดจำกัด นั่นจึงเรียกว่าความเท่าเทียมภายในองค์กร”
Sustainability การกระจายโอกาสสู่สังคมภายนอก
นอกจากการสร้างโอกาสและความเท่าเทียมภายในองค์กรแล้ว ในแง่ของการสร้างความเท่าเทียมให้กับสังคมภายนอกก็เป็นเรื่องที่ท้าทายเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรขนาดใหญ่อย่าง AIS ซึ่งผู้ที่รับตำแหน่งดังกล่าวก็คือหญิงแกร่งอย่าง คุณนัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าฝ่ายงานนักลงทุนสัมพันธ์และกำกับดูแลการปฏิบัติงาน AIS ที่เผยว่า
“งานของเราคือการดูแล Stakeholders ภายนอก AIS ซึ่งก็คือตลาดทุน นักวิเคราะห์ นักลงทุน เรามีหน้าที่สื่อสารให้นักลงทุนเข้าใจในทิศทางและการดำเนินงานของบริษัท แต่เรายังพบด้วยว่า ในหลายปีที่ผ่านมา ตลาดทุนให้ความสนใจกับความยั่งยืน (Sustainability) มากขึ้น เพราะเขาต้องการมั่นใจว่า เขาเอาเงินมาลงทุนกับบริษัทที่มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนให้สังคมด้วย”
“กลับมาในมุมของ AIS เราตระหนักดีว่า AIS เป็นบริษัทที่แข็งแกร่งมาก และมีกำไรมาตลอดสามสิบกว่าปี มีฐานลูกค้ากว้างถึง 44 ล้านคนทั่วประเทศ มีสถานีฐานเป็นหมื่น ๆ แห่ง เมื่อเราบอกผู้บริหารว่าเราสนใจทำเรื่องความยั่งยืน ผู้บริหาร AIS ก็เปิดโอกาสให้เราทำทันที นั่นทำให้เราเห็นว่า เราทำงานอยู่ในองค์กรที่มีศักยภาพ และมองเห็นความสำคัญของการสร้างผลบวกให้สังคมได้”
ทั้งนี้ เป้าหมายด้านความยั่งยืนของ AIS ที่คุณนัฐิยาดำเนินการนั้น มีตั้งแต่การพัฒนานวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล การสนับสนุนให้สังคมเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม และการยืนหยัดเพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ฯลฯ โดยทั้งหมดนี้ ล้วนต้องทำความเข้าใจในมุมมองของแต่ละ stakeholder ที่ย่อมมีความแตกต่างกัน
“เราเน้นการพูดคุยด้วยทัศนคติที่เปิดกว้าง ทำความเข้าใจในความต่างและสร้างความชัดเจนของเป้าหมายร่วม ทำให้ทุกฝ่ายพร้อมใจสนับสนุนเพื่อผลักดันภารกิจด้านความยั่งยืนให้ได้ตามเป้าหมายในที่สุด”
AIS กับการขับเคลื่อนทักษะการใช้ชีวิตในยุคไซเบอร์
การสร้างองค์ความรู้และทักษะการใช้งานดิจิทัลหรือ Digital Literacy ให้กับผู้บริโภคคืออีกหนึ่งบทบาทที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมยุคใหม่ให้ความสำคัญ สำหรับ AIS บทบาทนี้ถูกขับเคลื่อนโดยคุณสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ ซึ่งคุณสายชลอธิบายถึงหน้าที่ดังกล่าวว่า
“ลูกค้าของ AIS เป็นกลุ่มที่หลากหลาย ในฐานะที่ AIS มีบทบาทในการทำให้เกิดนวัตกรรมในเชิงดิจิทัล พนักงานของเราเองต้องเรียนรู้เรื่องดิจิทัลให้ดีมากขึ้น รวมถึงการทำอย่างไรให้ลูกค้ารับรู้ในเชิงดิจิทัลได้ดียิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน ในมุมของการสื่อสารจะไม่ได้มองเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อเท่านั้น แต่เราต้องสื่อสารไปยังทุกกลุ่ม และทำให้เขาสามารถนำดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ได้”
“การสร้างโอกาสให้คนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล มีสองแกนหลักคือ การศึกษา และสาธารณสุข เราเชื่อว่า ถ้าคนไทยมีโอกาสได้เข้าถึงสองสิ่งนี้ ได้ ก็จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำในสังคมลงได้ นี่เป็นแรงบันดาลใจที่เรารู้สึกว่าเรามีพลัง เราสนุกที่จะทำงานนี้”
เมื่อถามว่าความเป็นผู้หญิงมีส่วนช่วยในการทำงานนี้อย่างไร คุณสายชลเผยว่า “จริง ๆ แล้ว ในความคิดของพี่ บทบาทผู้หญิง สำคัญคือแอทติจูด มากกว่าเพศสภาพ ภาพที่มองจากเลนส์ของพี่คือ genderless มาตั้งนานแล้ว”
“แต่ความท้าทายของการทำงานวันนี้คือเมื่อเรื่องเพศไม่มีผล เราจะทำอย่างไรให้ทุกคนสามารถเข้าถึงดิจิทัลและสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้คนไทยมีทักษะด้านดิจิทัลที่ต้องรู้เท่าทันภัยไซเบอร์รูปแบบต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการทำงานเชิงรุก เพื่อเชื่อมต่อภาคสังคม ชุมชน และประชาชน กับนโยบายของภาครัฐ โดยได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากพนักงานทุกเพศ ทุกวัย พร้อมผู้บริหาร ทุกท่าน ซึ่งแน่นอนว่า จะทำให้การสร้างทักษะด้าน Digital ให้แก่คนไทย สามารถขยายผลในวงกว้าง พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน”
การขับเคลื่อน Digital Economy เศรษฐกิจใหม่ของศตวรรษที่ 21
นอกจากทั้ง 3 แกนหลักที่กล่าวถึงด้านบน การก้าวสู่เศรษฐกิจใหม่อย่าง Digital Economy ของ AIS ก็ถูกกุมบังเหียนโดยผู้บริหารหญิงเช่นกัน และผู้ที่รับบทบาทดังกล่าวก็คือคุณรุ่งทิพย์ จารุศิริพิพัฒน์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ พันธมิตรธุรกิจด้านบันเทิงและคอนเทนต์ AIS ผู้อยู่เบื้องหลังในการสร้าง Digital Service รวมถึงการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ Digital Ecosystem โดยคุณรุ่งทิพย์ได้แบ่งปันประสบการณ์ในการทำงานไว้อย่างน่าสนใจว่า ที่ผ่านมา เธอมักได้รับโอกาสใหม่ ๆ หลายอย่าง เช่น การเริ่มต้นทำแผนกวันทูคอล ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่มากในยุคหนึ่ง กับบริการโทรศัพท์แบบเติมเงิน รวมถึงการได้รับมอบหมายงานด้านสิทธิประโยชน์อย่าง AIS Plus, AIS Point
เช่นเดียวกับการเข้าสู่ Digital Economy ที่คุณรุ่งทิพย์มารับบทบาทนั้นอีกครั้ง กับการดูแลธุรกิจเกม และอีสปอร์ต ซึ่งคุณรุ่งทิพทย์ให้ข้อคิดว่า การทำงานทุกอย่างต้องอาศัยการเรียนรู้ เพราะเราต้องทำงานกับพาร์ทเนอร์ที่มีความหลากหลาย
“ถามว่าเวลาได้รับโอกาส ก็มาพร้อมความท้าทายเสมอ เป้าหมายเวลาได้รับ New Assignment คืออะไร ทำอย่างไรให้บริการของเราเป็นที่หนึ่งในใจผู้บริโภค และจะตอบแทน stakeholders ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ตัวบริษัทเอง พาร์ทเนอร์ หรือแม้กระทั่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อสร้างความเข้มแข้งให้เศรษฐกิจยุคดิจิทัลได้อย่างไร”
“AIS เป็นองค์กรที่ให้โอกาสพนักงานทุกเพศ ทุกวัย ในการเรียนรู้ ทดลองทำเรื่องใหม่ๆ อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การออกแบบ Digital Service เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ เพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของ Ecosystem ในทุกอุตสาหกรรม อาทิ วงการกีฬา, เกม, และอีสปอร์ต ที่เป็นเทรนด์ซึ่งกำลังเติบโตและเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งการผลักดันงานด้านนี้ ไม่เคยมีเรื่องเพศเข้ามาเป็นเงื่อนไข ตรงกันข้าม กลับได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่ง จนทำให้เชื่อมั่นว่าการส่งต่อ Digital Service ที่จะสร้างประโยชน์ ต่อยอดการเติบโตของทุกอุตสาหกรรม จะเป็นผลสำเร็จและเสริมความแข็งแกร่งของ Digital Economy ประเทศได้อย่างแน่นอน” คุณรุ่งทิพย์กล่าว
ด้านคุณกานติมาได้กล่าวส่งท้ายเนื่องในวันสตรีสากล International Women’s Day 8 มีนาคม 2565 ด้วยว่า ขอให้ผู้หญิงนึกถึงคำ 3 คำ นั่นคือ “ธรรมชาติ-เหมาะสม-พอดี”
“สำหรับพี่มองว่า คำสามคำนี้ทำให้เราอยู่ในโลกนี้ได้อย่างสมดุล ซึ่งการเป็นผู้หญิงยุคใหม่อาจเป็นการที่เราต้องเตือนสติตัวเองว่าเราต้องหลุดจากกรอบความคิดเดิม ๆ และหยุดหาความพิเศษ หรือโอกาสที่ได้มากกว่าคนอื่นเพียงเพราะเพศสภาพเราเป็นผู้หญิง และลุกขึ้นมา แสดงศักยภาพตัวเองว่าเราเข้มแข็งเพียงใดค่ะ”