เมื่อพูดถึง “ความสวยความงาม” (Beauty) ในอดีตมักนึกถึงผู้หญิง และที่ผ่านมาแบรนด์ความงาม (Beauty Brand) ส่วนใหญ่ ทั้งการผลิตสินค้า, การใช้พรีเซ็นเตอร์ และการสื่อสาร โฟกัสที่กลุ่มผู้หญิงเป็นหลัก
แต่โลกทุกวันนี้เปิดกว้าง และเป็นยุคแห่งความหลากหลาย (Diversity) และความเท่าเทียม (Equality) ไม่มีข้อจำกัด หรือเส้นแบ่งทางเพศ เรื่องของ “ความสวยความงาม” ก็เช่นกัน ปัจจุบันผู้ชายให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองตั้งแต่ขั้นพื้นฐานอย่างการบำรุงดูแลผิว ไปจนถึงเสริมเติมแต่ง ด้วยเครื่องสำอางหลากหลายประเภท เพื่อให้บุคลิกดูดี และสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง ไม่ต่างกับผู้หญิง
“บริษัท ไอ-ดีเอซี แบงค็อก” (i-dac Bangkok) เป็น Digital Marketing Agency จับมือกับ “เอ็มไอ กรุ๊ป” (MI Group) เป็น Media Agency ให้คำปรึกษาและช่วยวางกลยุทธ์การตลาดและการสื่อสารทางการตลาด เปิดผลการสำรวจ “Beauty Beasts When Beauty Becomes Gender-less”
กลุ่ม “Beauty Beasts” ในที่นี้ หมายถึง หนุ่มสาวยุคใหม่ที่หลงใหลในเรื่องความสวยความงาม และต้องการปรับบุคลิกภาพของตนเอง โดยไม่มีการจำกัดเพศ หรือ Gender Neutral ได้เปลี่ยนทัศนคติต่อหนุ่มสาวยุคใหม่ที่มีต่อความสวยความงามเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเพศชายที่หันมาให้ความสนใจการพัฒนาบุคลิกภาพ และเลือกใช้เครื่องสำอางในหลากหลายประเภท
ดังนั้นสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์ความงาม เช่น เครื่องสำอาง, ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ตลอดจนแฟชั่น ไม่ได้มีการแบ่งแยกแล้วว่าอันนี้เป็นของผู้หญิง อันนี้เป็นของผู้ชาย แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง หรือผู้ชายสามารถใช้ได้เหมือนกัน
ปัจจุบันจะเห็นว่าผู้ชาย ก็ใช้เครื่องสำอางผู้หญิงได้ และในการสื่อสารของแบรนด์ความงาม หลายแบรนด์ไม่ได้ตีกรอบสินค้า และแบรนด์อีกต่อไปแล้วว่า สินค้านั้นๆ หรือแบรนด์นั้นๆ พัฒนาขึ้นเพื่อผู้หญิง หรือเพื่อผู้ชาย แต่เป็นสินค้าและแบรนด์สำหรับทุกคน
การสำรวจวิจัยครั้งนี้ ทำทั้งในเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) สัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มตัวอย่าง ทั้งกลุ่มผู้ชาย และกลุ่มผู้หญิง พร้อมทั้งสำรวจเชิงปริมาณ (Quantitative Research) รวม 414 คน แบ่งเป็น
– The Male Beasts เก็บกลุ่มตัวอย่าง 201คนในกลุ่มผู้ชายคนเมือง อายุ 16 – 30 ปี มีรายได้ครัวเรือนระดับกลางถึงสูง (Middle-to-Upper Class) และใช้เครื่องสำอางผู้หญิงแต่งหน้าเป็นประจำ
– The Female Beasts เก็บกลุ่มตัวอย่าง 213 คนเป็นผู้หญิงคนเมือง อายุ 20 – 35 ปี มีรายได้ครัวเรือนระดับกลางถึงสูง (Middle-to-Upper Class), ใช้เครื่องสำอางแต่งหน้าเป็นประจำ และหลงใหลใน K-Pop Culture
รวมกับการวิเคราะห์ Data ที่ได้จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ทั้ง Global Web Index, T-CUBE Thailand และ Nielsen Media Research
รู้จักตัวตน “Beauty Beasts” ใส่ใจการดูแลตัวเอง–เปิดรับเทรนด์-กล้าแสดงความเห็นบนโซเชียลมีเดีย
คาแรคเตอร์ และทัศนคติของผู้บริโภคกลุ่ม Beauty Beasts คือ
– 60% ของกลุ่ม Beauty Beasts ให้ความสำคัญกับ “ชีวิตความเป็นอยู่และความสุขของตนเอง” (Self-focused and Self-care) ก่อนที่จะให้ความสนใจกับคนรอบข้าง
Beauty Beasts บางคนเปรียบเทียบตัวเขาเอง กับรุ่นพ่อแม่ว่า พ่อแม่ใช้ชีวิตไปกับการทำมาหาได้ และพยายามจัดหาความสะดวกสบายต่างๆ ให้กับลูกๆ จนลืมนึกถึงความสุขของตัวเอง แต่สำหรับคนรุ่นเขา มองว่าต้องทำให้ตัวเองมีความสุขก่อน ถึงจะทำให้คนอื่นมีความสุขได้
– ความสุขของกลุ่มนี้เริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันมากกว่าการวางเป้าหมายเรื่องการประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ เช่น ตื่นขึ้นมาแล้วไม่เครียด ได้รับประทานอาหารอร่อย ไปคาเฟ่ ได้ถ่ายรูป ได้คุยกับเพื่อน สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคกลุ่ม Beauty Beasts มีความสุขได้แล้ว
– 96% ของกลุ่ม Beauty Beast เป็น “Trend Adapter” คือ เปิดรับเทรนด์ แล้วนำมาปรับให้เหมาะสมกับสไตล์และความชอบของตนเองมากกว่าการเลียนแบบจากกระแสนิยม
– 85% ของกลุ่ม Beauty Beasts “กล้าแสดงความคิดเห็น” (Expressive) โดยเฉพาะบน Social Media
– 75% เป็น “Tech-savvy” ด้วยความที่คนกลุ่มนี้เกิดและเติบโตในยุคเทคโนโลยี จึงเป็นกลุ่ม Digital Native
– 71% เป็น “Convenience Lover” คือ รักความสะดวกสบาย เป็นผลมาจากการเกิดและเติบโตกับเทคโนโลยี และอุปกรณ์สมาร์ทต่างๆ ทำให้เกิดวัฒนธรรม On-demand Culture
เมื่อเจาะลึกถึงความกล้าแสดงความคิดเห็นและความเป็นตัวตนใน Social Media จึงพบว่า หลาย ๆ คนอยากที่จะพัฒนาตนเองให้เป็น Content Creator หน้าใหม่ ซึ่งพวกเขาให้ความสำคัญในการออกแบบและสร้างสรรค์คอนเทนท์ก่อนโพสต์บนโซเชียลมีเดียเสมอ
– 52% ของ Male Beasts ใช้เวลาในการแก้ไขปรับแต่งรูปภาพ/คอนเทนต์ ก่อนโพสต์บน Social Media
– 56% ของ Female Beasts ใช้เวลาในการแก้ไขปรับแต่งรูปภาพ/คอนเทนต์ ก่อนโพสต์บน Social Media
แตกต่างจากในอดีตที่ผู้หญิงมักจะให้ความพิถีพิถันในการตกแต่งรูปภาพมากกว่าผู้ชาย และจากพฤติกรรมนี้ถือเป็นข้อมูลที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับนักการตลาดที่จะสามารถเข้าถึงกลุ่ม Beauty Beasts ได้ด้วยการสร้างกิจกรรมทางการตลาดที่โฟกัสไปที่สิ่งสนุกสนาน และการสร้างแคมเปญที่ดึงดูดให้กลุ่ม Beauty Beasts อยากทำคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์บน Social Media และเผยแพร่ไปยังผู้ใช้งานในแต่ละแพลตฟอร์ม
นอกจากกลุ่ม Beauty Beasts หลายคนผันตัวเองเป็น Content Creator แล้ว ขณะเดียวกันพฤติกรรมการใช้แพลตฟอร์ม Social Media ของคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ ใน 1 แพลตฟอร์มมีมากกว่า 1 บัญชี เช่น Instagram มีหลายบัญชี โดยให้ Account หนึ่งโชว์ไลฟ์สไตล์ตัวเอง อีก Account สำหรับเพื่อนสนิท ส่วนอีก Account สำหรับคนไม่สนิท หรือใช้ติดตาม Influencer ที่ชื่นชอบ เพราะต้องการให้แต่ละ Account แยกชัดเจนระหว่างพื้นที่ส่วนตัว (Me Space) กับพื้นที่สาธารณะ (Public Space)
Beauty Beasts หลงใหลใน “K-Pop Culture” ให้ความบันเทิง – ความสบายใจ – แรงบันดาลใจ
“K-Pop Effect” เป็นปรากฏการณ์ระดับโลก ทั้งในอเมริกา, ยุโรป, แถบเอเชีย รวมถึงประเทศไทย ในการสำรวจครั้งนี้ยังเจอ Insights น่าสนใจอีกอย่างสำหรับกลุ่ม Beauty Beasts ทั้งชายและหญิงว่า
– ผู้ชายชื่นชอบ K-Pop เหมือนกัน แต่ดีกรีความหลงใหล ความชอบอาจไม่เท่ากับผู้หญิง
K-Pop ในมุมของคนหนุ่มสาว Beauty Beasts คือ การให้ความบันเทิง ให้ความสบายใจ ให้แรงบันดาลใจ ไปจนถึงทำให้เกิด Passion หรือความหลงใหลบางอย่าง เช่น ด้านไลฟ์สไตล์ แฟชั่น อาหาร ภาษา
– 82% ของกลุ่ม Beauty Beasts บอกว่า K-Pop ทำให้ตัวเขาเองอยากเรียนรู้วัฒนธรรมเกาหลีเพิ่มเติม เช่น ภาษา, อาหาร, แฟชั่น
– 73% บอกว่านำเทรนด์ K-Pop เช่น การแต่งหน้า, แฟชั่น มาปรับให้เข้ากับบุคลิก และความชอบของตัวเอง
กลุ่ม Beauty Beasts ยังบอกอีกว่า K-Pop ยังเป็นเรื่องของการให้กำลังใจ หรือ Mural Support เช่น เวลาเหนื่อย ได้ดูซีรีส์เกาหลี แล้วรู้สึกหายเหนื่อย และขั้นสูงกว่านั้นคือ K-Pop ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งมีผลในด้านไลฟ์สไตล์ แฟชั่น ความชอบ และการตัดสินใจซื้อ
– 61% ของผู้หญิง (Female Beasts) บอกว่าทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวเขาเองสามารถเป็น Top Spender เพื่อซัพพอร์ตดาราศิลปินไอดอลที่เขาชื่นชอบ แม้ของสิ่งนั้นไม่เคยใช้มาก่อน หรือไม่ได้ใช้เป็นประจำก็ตาม แต่เมื่อเห็นดาราศิลปินเกาหลีที่ชื่นชอบเป็นพรีเซ็นเตอร์ ก็อยากสนับสนุนโดยการซื้อสินค้านั้นมาใช้
นอกจากนี้ยังพบว่าผู้บริโภคที่ชื่นชอบ K-Pop บางคน เวลาซื้อของ ไม่ได้ใช้เป็นประจำ หรือไม่เคยใช้ด้วยซ้ำ แต่พอเห็นพรีเซ็นเตอร์เป็นไอดอลของเขา เขารู้สึกว่าเขาต้องให้การสนับสนุนโดยการซื้อสินค้านั้นมาใช้ นี่เป็นประโยชน์กับนักการตลาด
ผู้ชายยุคใหม่เริ่มแต่งหน้าตั้งแต่อายุ 13 ปี – ใช้เครื่องสำอาง 9.3 ชนิดเป็นประจำ
เมื่อถามเจาะลึกถึงการใช้เครื่องสำอางในกลุ่ม “Male Beasts” ใช้ พบว่า ผู้บริโภคกลุ่มนี้ให้ความสำคัญในการดูแลตัวเอง รวมไปถึงการทำให้ตัวเองดูดีขึ้นจากการใช้เครื่องสำอางผู้หญิง โดยบางคนสามารถพัฒนาตนเองจนเป็นผู้เชี่ยวชาญมากกว่าผู้หญิงบางกลุ่ม
– กลุ่ม Male Beasts ใช้เครื่องสำอางผู้หญิงแต่งหน้าโดยเฉลี่ย 9.3 ชนิดเป็นประจำ
ประเภทเครื่องสำอางที่ผู้ชาย Beauty Beasts ใช้เป็นประจำ มีทั้งแป้งรองพื้น, ลิปสติก, แป้งฝุ่น, อายไลเนอร์, บีบีครีม, ดินสอเขียนคิ้ว, ซีซีครีม, คุชชั่น, แป้งแข็งอัด, ลิปไลเนอร์, อายแชโดว์, คอนซีลเลอร์, บรัชออนปัดแก้ม, ไพรเมอร์
– 78% ใช้รองพื้น
– 65%ใช้อายไลน์เนอร์
– 56% ใช้ดินสอเขียนคิ้ว
เหตุผลสำคัญที่ทำให้กลุ่ม Beauty Beasts ทั้งชายและหญิง ให้ความสำคัญกับการแต่งหน้า นั่นเพราะ
– เพื่อดูแลและพัฒนาตัวเอง (Self-care & Self-development)
– เสริมสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง (Confidence)
– สร้างความน่าสนใจในตัวเอง (Attraction)
– เรื่องของความหลงใหล (Passion)
– แก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ ทำให้ตัวเองดูดีขึ้น (Correction)
– ทำให้ตัวเองดีขึ้น (Enhancement)
เมื่อเจาะลึกถึงกลุ่ม Male Beasts เริ่มแต่งหน้าตั้งอายุเท่าไร พบว่า
– 26% เริ่มแต่งหน้าตั้งแต่อายุ 13 ปี ซึ่งเป็นวัยมัธยมต้น
– 37% บอกว่าเริ่มแต่งหน้าตั้งแต่อายุ 16 – 18 ปี
– 24% บอกว่าเริ่มแต่งหน้าตั้งแต่อายุ 19 – 22 ปี เป็นช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงจากวัยรุ่นคนหนึ่ง กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่
เหตุผลหลักที่กลุ่ม Male Beasts ตั้งแต่วัย 13 ปี ไปจนถึงวัย 19 – 22 ปี เริ่มแต่งหน้า เพราะมองว่าเป็นการเป็นพัฒนาตัวเอง (Self-development) เพื่อปรับบุคลิกภาพของตัวเองให้ดีขึ้น ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนกับการออกกำลังกาย ทำให้ตัวเองมีรูปร่างที่ดูดี โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ต้องดูแลตัวเอง เพราะฉะนั้นการแต่งหน้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขาในการพัฒนาตัวเอง
3 เส้นทางการซื้อสินค้าความงามของกลุ่ม Beauty Beasts
ขณะที่ Customer Journey การซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์ความงามของผู้บริโภคกลุ่ม Beauty Beasts ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย สามารถแบ่งออกเป็น 3 Journey เริ่มจาก Discovery ต่อด้วย Consideration และ Purchase ซึ่งแต่ละ Journey มีปัจจัยต่างๆ ที่มีอิทธิพล หรือมีบทบาทต่อผู้บริโภค
Discovery Journey
เป็น Stage แรกของทุกคน การค้นพบ ได้รู้จักแบรนด์ และผลิตภัณฑ์ความงามประเภทต่างๆ โดยในขั้นนี้แบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ
1. Passive Discovery คือ นั่งอยู่เฉยๆ แล้วได้รู้จักแบรนด์ หรือผลิตภัณฑ์ความงามต่างๆ ปัจจัยที่ทำให้เกิดการค้นพบแบรนด์ หรือสินค้าในรูปแบบนี้ เช่น
– Facebook Live Streaming ของแบรนด์เครื่องสำอาง/ความงาม
– Facebook Post ของ Beauty Blogger หรือ Celebrity
– TikTok Post ของ Beauty Blogger หรือ Celebrity
– IG Live Streaming ของแบรนด์เครื่องสำอาง/ความงาม
– Facebook Post ของแบรนด์เครื่องสำอาง/ความงาม
– IG Post ของ Beauty Blogger หรือ Celebrity
– YouTube Ads
– Twitter Post ของ Beauty Blogger หรือ Celebrity
– Facebook Ads
– Shopee Live ของแบรนด์เครื่องสำอาง/ความงาม
– TikTok Post ของแบรนด์เครื่องสำอาง/ความงาม
– Lazada Live ของแบรนด์เครื่องสำอาง/ความงาม
2. Active Discovery คือ ผู้บริโภคทำการค้นหาข้อมูลด้วยตัวเอง เพื่อให้ได้รู้จักแบรนด์ หรือผลิตภัณฑ์ความงาม
– ดูคอนเทนต์บน YouTube ของ Beauty Blogger หรือ Celebrity
– ค้นหาจาก YouTube
– ค้นหาจาก Google
– ค้นหาจาก Facebook
– ดูคอนเทนต์ในช่อง YouTube ของแบรนด์
– ค้นหาข้อมูลจาก Online Community เช่น Facebook Group
– คำแนะนำจากครอบครัว หรือเพื่อน
Consideration Journey
การคิดพิจารณาการเลือกเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ความงามต่างๆ โดยมี 5 ปัจจัยประกอบการพิจารณาการซื้อ ได้แก่
– ชื่อเสียงของแบรนด์
– รีวิวจากผู้ใช้งานจริง
– โฆษณา
– พรีเซ็นเตอร์แบรนด์
– รีวิวจาก Beauty Blogger
Purchase Journey
การตัดสินใจเลือกซื้อ ทั้งช่องทางออฟไลน์ และออนไลน์
ช่องทางออฟไลน์
– เคาน์เตอร์เครื่องสำอาง
– ซูเปอร์มาร์เก็ต
– ร้านค้าปลีกผลิตภัณฑ์ความงาม
– ร้านสุขภาพและความงาม
ช่องทางออนไลน์
– เว็บไซต์ของแบรนด์เครื่องสำอาง
– เว็บไซต์ของร้านค้าปลีกเครื่องสำอาง
– Official Store บน LazMall
– Official Store บน Shopee
– Live streaming บน Facebook ของแบรนด์
– Live stream บน Facebook ของร้านค้าปลีกอิสระ
– แอปพลิเคชันของดีพาร์ทเมนท์สโตร์
– แอปพลิเคชันของร้านค้าปลีกผลิตภัณฑ์ความงาม เช่น Sephora
Touchpoint เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่ม Beauty Beasts ผสานทั้งออฟไลน์และออนไลน์
ในส่วนของช่องทางการสื่อสาร ต้องผสานทั้งสื่อออฟไลน์ และออนไลน์เข้าด้วยกัน โดยเป็นสื่อที่อยู่ในไลฟ์สไตล์ประจำวันของผู้บริโภคกลุ่ม Beauty Beasts ซึ่งแต่ละสื่อมีบทบาทแตกต่างกัน
สื่อออฟไลน์ มี 5 สื่อหลักที่มีบทบาทกับกลุ่ม Beauty Beasts
“ทีวี” แม้ผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ใช้เวลาดูทีวีน้อยกว่าวัยผู้ใหญ่ แต่ผู้บริโภคกลุ่มนี้บอกว่าสื่อทีวีก็มีความสำคัญเช่นกัน พบว่า
– 64% ให้ความเห็นว่าสื่อทีวีช่วยให้ได้รู้จักแบรนด์ หรือสินค้าใหม่ ๆ
“สื่อนอกบ้าน” (Out of Home) คุณลักษณะเด่นของสื่อประเภทนี้ คือ ความถี่ในการเห็นสื่อ เพราะคนเราเดินทางในเส้นทางซ้ำๆ กันทุกวัน เช่น จากบ้านไปที่ทำงาน จากบ้านไปสถานศึกษา จะผ่านป้ายโฆษณา หรือสื่อกลางแจ้งประเภทอื่นๆ บ่อยครั้ง ทำให้เพิ่มการรับรู้ และการระลึกถึงแบรนด์ (Brand Recall)
– 42% เผยว่าสื่อนอกบ้าน ทำให้จดจำแบรนด์หรือสินค้าต่างๆได้ดียิ่งขึ้น
“สื่อ ณ จุดขาย” มีจุดเด่นคือ กระตุ้นการตัดสินใจซื้อ ณ จุดขาย พบว่า
– 37% เห็นด้วยว่าช่วยกระตุ้นให้ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้ทันที
“สื่อวิทยุ” เป็นสื่อสนับสนุนให้เกิด Brand Recall เพราะเป็นสื่อที่สามารถทำความถี่ในการสื่อสารได้ ในงบประมาณที่ไม่แพงเกินไป
– 37% เห็นด้วยว่าสื่อวิทยุทำให้จดจำแบรนด์หรือสินค้าต่าง ๆ ได้ดี จึงเหมาะกับการเปิดตัวสินค้าใหม่ที่ต้องการสร้างการรับรู้และทำให้สินค้าหรือแบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
“สื่อโรงภาพยนตร์” เป็นสื่อให้ความรู้สึกที่ดีและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับแบรนด์ เพราะผู้บริโภคอยู่ในโหมดผ่อนคลาย การที่แบรนด์เข้าไปให้ผู้บริโภคเห็นในช่วงเวลาที่ผู้บริโภคอยู่ในโหมดผ่อนคลาย จะช่วยสร้างการจดจำที่ดีให้กับแบรนด์
– 20% บอกว่าสื่อโรงภาพยนตร์ ทำให้รู้สึก Engage กับแบรนด์
สื่อออนไลน์ แต่ละแพลตฟอร์ม Social Media มีบทบาทแตกต่างกัน
– Facebook : 75% ยังใช้เป็นช่องทางในการอัพเดทข้อมูลข่าวสาร
– LINE : 55% ใช้เพื่อติดต่อสื่อสารกับคนรอบข้างและซื้อสินค้า
– YouTube : 55% ใช้ในการค้นหาไอเดีย และ 51% ใช้เพื่อความบันเทิง
– Facebook Messenger : 66% สำหรับตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า
– Instagram : 44% ใช้เป็นพื้นที่ในการหาแรงบันดาลใจและสร้างคอนเทนต์ของตัวเอง
– TikTok : 51% เคยมีส่วนร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ บน TikTok และใช้ TikTok เพื่อความบันเทิง
– Twitter : 59% ใช้เพื่อสื่อสาร ติดตามไอดอล หรือ Celebrity ต่าง ๆ เพื่อรู้สึกใกล้ชิดกับบุคคลที่เขาชื่นชอบมากขึ้น
แบรนด์ – นักการตลาดจะจับเทรนด์ความงามไร้เพศได้อย่างไร ?
จากการศึกษาข้อมูลเชิงลึกครั้งนี้ สิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับนักการตลาดและแบรนด์สินค้าที่ต้องการเข้าถึงกลุ่ม Beauty Beast คือ
– ต้องเน้นการสื่อสารเรื่องความสวยความงามที่เป็นกลาง ไม่แบ่งแยกว่าเป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะผู้หญิงหรือผู้ชายเท่านั้น
– ชูประโยชน์ที่ได้รับนอกเหนือการจากใช้ผลิตภัณฑ์ว่าสามารถพัฒนาตัวตนหรือบุคลิกภาพของกลุ่ม Beauty Beasts ได้
– ต้องสื่อสาร – ทำกิจกรรมทางการตลาดผ่านทาง Beauty Bloggers ทั้งหญิงและชายในช่องทางออนไลน์ต่างๆ เช่น IG Stories หรือ Tik Tok อย่างสม่ำเสมอ
– แบรนด์ควรมีช่องทางการขายผ่านทั้งทางจุดจำหน่ายตามห้างร้านค้า และทาง e-commerce เนื่องจากแต่ละช่องทางมีจุดเด่นในการกระตุ้นให้เกิดการซื้อที่ต่างกันคือ จุดจำหน่ายตามห้างหรือออฟไลน์ มีบทบาทในการสร้างประสบการณ์การใช้ผลิตภัณฑ์ ในขณะที่ออนไลน์มีบทบาทในด้านการใช้โปรโมชั่นและสามารถเข้าถึงได้ทุกที่