ถือเป็นเหตุการณ์สะเทือนวงการประกันภัยไทย กับการปิดกิจการ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ “อาคเนย์ประกันภัย” อายุ 76 ปี และ “ไทยประกันภัย” บริษัทประกันภัยแห่งแรกของคนไทยอายุ 84 ปี หลังเผชิญมรสุมโควิด เจอ จ่าย จบ อย่างสาหัส จนต้องยื่นขอคืนใบอนุญาต สุดท้ายจบลงด้วยการถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ต้องปิดตัวลงในวันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นอีกบทเรียนสำคัญของธุรกิจประกันภัย
อาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัย นับเป็นบริษัทประกันภัยรายที่ 3 และ 4 ที่ต้องเลิกกิจการ จากก่อนหน้านั้น ปี 2564 มีอีก 2 บริษัทประกันภัย “เดอะวันประกันภัยและเอเชียประกันภัย” ปิดกิจการไปก่อนแล้วจากโควิดเจอ จ่าย จบ
หากดูภาพรวมธุรกิจประกันภัยปี 2564 ทั้งระบบมีตัวเลข “ขาดทุน” รวมกว่า 8,000 ล้านบาท จากการเคลมประกันโควิดสูงกว่า 40,000 ล้านบาท และยอดเคลมสูงต่อเนื่องในปี 2565 เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อยังอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” โดยกรมธรรม์ส่วนใหญ่จะจบสัญญาคุ้มครองในเดือนมิถุนายนนี้
ย้อนรอยที่มาประกันโควิด เจอ จ่าย จบ
บทเรียนเขย่าวงการประกันภัยจนมี 4 บริษัทต้องปิดกิจการไปแล้ว เริ่มต้นปี 2563 การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งแรกที่ประเทศจีน เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่และยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ และเกิดการระบาดอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก
แน่นอนว่าประเทศไทยก็ไม่รอดเช่นกัน หลังพบการระบาดในไทย ประชาชนตื่นตระหนกและกังวล ภาครัฐเองก็ได้ออกมาให้ความเชื่อมั่นว่า สามารถควบคุมได้ และขอความร่วมมือจากบริษัทประกันภัยออกกรมธรรม์มาช่วยลดความกังวลใจและแบ่งเบาความเสี่ยงจากการติดเชื้อให้กับประชาชน
กรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ จึงถือกำเนิดขึ้นใน 16 บริษัทประกันวินาศภัยไทย ซึ่งได้คำนวณความเสี่ยงและประเมินเบี้ยตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยเป็นอย่างดีแล้ว ผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับเช่นเดียวกับกรมธรรม์อื่น ๆ และออกขายให้ประชาชนด้วยราคาที่ลูกค้าทุกระดับเข้าถึงได้
โควิดคุมไม่อยู่ ยอดเคลมพุ่ง
ช่วงแรกโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิมไม่ได้แพร่ระบาดมากนัก อีกทั้งประชาชนยังมีความตื่นกลัวการติดเชื้อและป้องกันตัวเองอย่างดี ทำให้สถิติผู้ติดเชื้อโควิดช่วงปลายปี 2563 แตะแค่วันละหลักสิบคน
แต่หลังจากที่เริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันแล้ว ความเสี่ยงในการเกิดอาการหนักน้อยลง ทำให้ประชาชนกังวลน้อยลง รวมทั้งมาตรการผ่อนคลายต่าง ๆ ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในเดือนมิถุนายน 2564 แต่ละวันละเพิ่มขึ้นกว่า 3,300 คน
จุดสำคัญของเหตุการณ์คือการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด ทำให้ความเสี่ยงเปลี่ยนไปในทางที่สูงขึ้น “อาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัย” จึงหยุดการขายกรมธรรม์เจอ จ่าย จบ ทันที แต่ยังมีภาระความคุ้มครองเนื่องไปอีก 1 ปี
การกลายพันธุ์ของเชื้อโควิดที่ทำให้ระบาดได้ง่ายกว่าเดิม ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 จึงเห็นยอดผู้ติดเชื้อโควิดพุ่งทะลุหลัก 20,000 คนต่อวัน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาถึงปี 2565 เชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสูงเกินวันละ 50,000 คน
จ่ายยอดเคลมอ่วมกว่า ‘หมื่นล้าน’ ตัดสินใจปิดกิจการ
มรสุมโควิดโอมิครอน ทำให้ “อาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัย” มียอดเคลมพุ่งหลักพันกรมธรรม์ต่อวันอีกครั้ง จึงขาดสภาพคล่อง ที่สำคัญยังอาจส่งผลกระทบถึงลูกค้ากรมธรรม์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ประกันภัยโควิดอีกกว่า 8 ล้านกรมธรรม์
จึงเป็นที่มาของการตัดสินใจไม่เพิ่มทุนของผู้ถือหุ้น เพราะเห็นว่าต้องใช้เม็ดเงินอีกจำนวนมาก โดยก่อนหน้านี้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้เพิ่มเงินทุนเพื่อจ่ายสินไหมโควิดมาแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท
หากดูจากยอดเคลมประกันโควิด เรียกได้ว่าทั้ง 2 บริษัทนี้อ่วมที่สุดแล้วในบรรดาบริษัทที่รับประกันแบบ เจอ จ่าย จบ จากยอดกรมธรรม์กว่า 1.8 ล้านกรมธรรม์ โดยอาคเนย์ประกันภัย จ่ายสินไหมไปกว่า 10,101 ล้านบาท และไทยประกันภัย จ่ายไป 2,600 ล้านบาท จากยอดเคลม 166,179 กรมธรรม์
เมื่อโควิดยังไม่จบ ทั้ง 2 บริษัทประกันเก่าแก่ที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท จึงตัดสินใจออกจากตลาด โดยยื่นขอคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยแบบสมัครใจกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เมื่อปลายเดือนมกราคม 2565 เพื่อดูแลลูกค้าทุกกลุ่มในขณะที่ยังมีความมั่นคงเพียงพอ
แต่แนวทางของ คณะกรรมการ คปภ. จะอนุญาตให้เลิกกิจการได้ต่อเมื่อปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย หรือผู้มีส่วนได้เสียให้ครบถ้วนตามมาตรา 57 ก่อน
เร่งคืนเบี้ย เจอ จ่าย จบ – โอนลูกค้า Non covid
สิ่งที่ อาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัย ต้องทำก่อนปิดกิจการ คือ เคลียร์ความคุ้มครองกรมธรรม์ 2 ประเภทที่มีอยู่กว่า 10 ล้านกรมธรรม์
กรมธรรม์โควิดเจอ จ่าย จบ จำนวน 1.8 ล้านกรมธรรม์ ไม่มีบริษัทประกันอื่นรับคุ้มครองต่อและไม่สามารถยกเลิกกรมธรรม์ได้ จึงเสนอคืนเบี้ยให้ลูกค้าเต็มจำนวนโดยสมัครใจในวันที่ 1-7 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีลูกค้าลงทะเบียนสำเร็จและได้รับเบี้ยคืนเต็มจำนวนกว่า 387,000 ราย ยังเหลือลูกค้าอีก 1.4 ล้านกรมธรรม์
กรมธรรม์ประกันภัยอื่นๆ (Non covid) เช่น รถยนต์ อุบัติเหตุและสุขภาพ อัคคีภัยและทรัพย์สิน ฯลฯ ราว 8 ล้านกรมธรรม์ หลังจาก คปภ. อนุมัติรายชื่อบริษัทประกันภัย 31 แห่งเพื่อโอนกรมธรรม์ ทั้ง อาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัย ได้โอนพอร์ตกรมธรรม์ลูกค้าที่มีมูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท โดยมี 3 บริษัทที่ตอบรับเงื่อนไขการคุ้มครองลูกค้าเทียบเท่าเดิม คือ ทิพยประกันภัย, แปซิฟิค ครอส ประกันสุขภาพ และอินทรประกันภัย
บทเรียนโควิด ยักษ์ใหญ่ก็เจ็บได้
ทั้งอาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัย ขึ้นชื่อว่าเป็นบริษัทใหญ่มีแบ็คอัพแหล่งเงินทุนหนาและแข็งแกร่งมาก เจาะดูงบการเงินย้อนหลังทั้ง 2 บริษัท มีกำไรสะสมตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมารวมกันราว 2,000 ล้านบาท ตลอด 8 ทศวรรษของธุรกิจเผชิญกับวิกฤตใหญ่ ๆ ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ ภัยพิบัติธรรมชาติ รวมถึงอุบัติเหตุใหญ่ ที่แต่ละครั้งต้องจ่ายค่าสินไหมเป็นหลักพันล้านบาท
แต่วิกฤตครั้งไหน ๆ ก็สู้วิกฤตโควิด-19 ไม่ได้ เมื่อย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์โรคอุบัติใหม่ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมาจะพบว่าไม่มีโรคไหนส่งผลรุนแรงได้เท่าโควิด-19 อีกแล้ว ผ่านไป 2 ปี เชื้อไวรัสก็ยังกลายพันธุ์อยู่ตลอดและยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด
จนทั้ง 2 บริษัทต้องยกธงขาวขอปิดกิจการ เรียกได้ว่างานนี้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเจ้าของ ผู้ถือหุ้น พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า ต่างก็เจ็บหนักไปตาม ๆ กัน
ถือเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ของวงการประกันภัยไทย เมื่อต้องเจอกับความเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ บริษัทใหญ่แค่ไหนก็เจ็บได้เช่นกัน