Google ประเทศไทยเปิดสถิติโครงการ “Saphan Digital” (สะพานดิจิทัล) หลังฝึกอบรมเอสเอ็มอีได้กว่า 100,000 รายในปี 2021 พร้อมเปิดตัวเลขอินไซต์ 5 ธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการสูงสุดคือ อาหาร-เครื่องดื่ม, แฟชั่น, ค้าปลีก, การบริหาร และสุขภาพความงาม ด้านผู้บริหาร Google เตรียมยกระดับเนื้อหาโครงการให้เหมาะกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในระดับภูมิภาคมากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจมีความเข้าใจ และสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการจากระดับโลกได้
อาจกล่าวได้ว่าเป็นการประกาศความสำเร็จของโครงการดังกล่าวก็ว่าได้ เพราะในปีที่ผ่านมา เมื่อตอนที่มีการตั้งเป้าโครงการ ทาง Google ประเทศไทยและพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ เผยว่า ตั้งใจอบรมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ได้ 100,000 ราย ซึ่งก็พบว่าทำได้ตามที่ระบุไว้ สำหรับผู้ที่เข้ามาเรียนในโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายนี้ คุณอภิชญา เตชะมหพันธ์ หัวหน้าฝ่าย Google Customer Solutions ประจำประเทศไทย เผยว่า 58% เป็นผู้หญิง และมาจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากที่สุด 22% รองลงมาคือเชียงใหม่ 9% ลพบุรี 3% ภูเก็ต 3% และขอนแก่น 3%
ขณะที่คุณศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย หัวหน้าฝ่ายการตลาด Google ประเทศไทยได้เผยถึงข้อมูลจากรายงาน e-Conomy SEA 2021 ระบุว่า เครื่องมือดิจิทัลจะมีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ประกอบการมากขึ้นในอนาคต โดยแนวโน้มการใช้เครื่องมือดิจิทัลในอีก 5 ปีข้างหน้าพบว่ามี 5 กลุ่มที่ได้รับความสนใจสูง ได้แก่
- การตลาดดิจิทัล 90%
- ซอฟต์แวร์ช่วยปฏิบัติงาน 84%
- พื้นที่เก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์ 81%
- ซอฟต์แวร์ช่วยทำงานกับทีม 81%
- บริการเว็บไซต์ 79%
- การวิเคราะห์ข้อมูลดิจิทัล 76%
SME ไทยสนใจหลักสูตรดิจิทัลใดบ้าง
สำหรับผลตอบรับจากโครงการหลังจากที่ได้อบรมมานั้น คุณศารณีย์เผยว่า
- 75% มองว่า สามารถช่วยให้ธุรกิจปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์ในช่วง Covid-19 ได้
- 99% บอกว่า ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์กับธุรกิจ
- 83% มีการสร้างหรืออัปเดตข้อมูลโปรไฟล์หน้าร้านออนไลน์
- 65% มีการเติบโตด้านการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าบนออนไลน์ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ทาง Google ยังเผยด้วยว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยอาจมีเวลาไม่มากนัก ในอนาคตจึงอาจมีการปรับรูปแบบคอนเทนต์ – คอร์สการเรียนให้เหมาะสมกับผู้ใช้งานให้มากขึ้นด้วย
ส่วนเนื้อหาที่ได้รับความนิยมจากผู้เข้าร่วมโครงการมากที่สุด 3 อันดับแรกนั้น ประกอบด้วย
- Surfaces across Google
- SITE: ความสำคัญของเว็บไซต์ e-Commerce และการวัดผลประสิทธิภาพจากการใช้งาน
- วิธีการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ ให้ลูกค้าหาเจอบน Search และ Maps กับ Google My Business
“สำหรับเรื่องเทรนด์ของการเรียนการสอน มองว่าเรื่องของทักษะดิจิทัลทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถออกไปแข่งขันนอกประเทศได้ ดังนั้น จึงมีการพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย อย่างเช่น เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ฯลฯ เพื่อทำความเข้าใจ SME ในประเทศเหล่านั้นด้วย และจะนำไปสู่การปรับปรุงหลักสูตรของเราให้ก้าวไปสู่ระดับภูมิภาค” คุณศารณีย์กล่าวปิดท้าย
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก IMF ระบุว่า สถานการณ์โรคระบาด Covid-19 ทำให้ GDP ของประเทศไทยตกลง 6.1% ในปี 2021 ซึ่งถือเป็นการหดตัวครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ขณะที่มีการประเมินจาก สสว. ว่า ธุรกิจ SME กว่า 1.34 ล้านรายได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งธุรกิจ SME นั้นมีส่วนช่วยสนับสนุน GDP ของประเทศไทยถึง 45% และมีส่วนในการจ้างงานในประเทศถึง 86% การพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อให้ SME ไทยสามารถกลับมาเติบโตได้อีกครั้งจึงอาจเป็นทางออกที่ดีก็เป็นได้
สำหรับพาร์ทเนอร์ภาคเอกชนที่เข้าร่วมในโครงการดังกล่าว ปัจจุบันประกอบด้วย เทพช็อป เบนโตะเว็บ สเกาท์เอาท์ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ทรู ดิจิทัล พาร์ค สํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ และดิ เอสเคิร์ฟ