ฉลองครบรอบ 10 ปีของการทำธุรกิจในไทยไปอีกรายสำหรับ Sea (ประเทศไทย) เจ้าของ 3 แพลตฟอร์มออนไลน์ อย่าง Garena (เกมออนไลน์), Shopee (อีคอมเมิร์ซ) และบริการทางการเงินอย่าง SeaMoney ในชื่อ ShopeePay และสำหรับการก้าวเข้าสู่ปีที่ 11 ผู้บริหาร Sea (ประเทศไทย) ได้ออกมาประกาศกลยุทธ์ และแผนสร้างการเติบโตในทั้ง 3 ธุรกิจอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นการนำเกมระดับโลกเข้ามาเปิดตลาดในไทยมากขึ้น, การผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยรับคำสั่งซื้อออนไลน์จากต่างประเทศได้ รวมถึงการเปิดให้บริการสินเชื่อสำหรับพ่อค้าออนไลน์และบุคคลทั่วไปนั่นเอง
สำหรับภาพรวมการเติบโตในทั้ง 3 ธุรกิจ ของ Sea (ประเทศไทย) ใน 10 ปีที่ผ่านมา มีดังต่อไปนี้
ตลาดเกมไทยโต 15% มูลค่าแตะ 33,000 ล้านบาท
การเข้าสู่ตลาดเกมไทยของ Sea (ประเทศไทย) นั้น ทางค่ายเริ่มด้วยการเปิดตัวเกม Hon, FIFA Online 3, League of Legends ในช่วงปี 2013 ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของวงการเกมพีซีไทย ก่อนจะพัฒนาไปสู่เกม RoV สำหรับเจาะกลุ่มผู้เล่นผ่านโทรศัพท์มือถือในเวลาต่อมา โดยเกม RoV สามารถทำสถิติยอดดาวน์โหลดในไทยทะลุ 10 ล้านครั้งหลังเปิดตัวเพียง 6 เดือน
- ปัจจุบัน บริษัทเผยว่ากำลังไปได้ดีกับเกม Free Fire ที่ในตอนแรกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- อย่างไรก็ดี เกมดังกล่าวสามารถเจาะตลาดละตินอเมริกาได้ด้วย ซึ่งทาง SEA Group อ้างว่า เกม Free Fire สามารถทำสถิติเป็นเกมบนโทรศัพท์มือถือที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดติดต่อกัน 3 ปีซ้อนในช่วง 2019 – 2021
- ปัจจุบัน ข้อมูลจากรายงานผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2021 ของ Sea Group ระบุว่า เกมของ Garena เข้าถึงผู้เล่นทั่วโลกกว่า 654 ล้านคน และมีการให้บริการใน 130 ตลาดทั่วโลก โดย Active Users เติบโตถึง 65% (คิดจากปี 2017 – 2021)
คุณมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) ยังเผยด้วยว่า ตลาดเกมออนไลน์ไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และมีการเติบโตสูง โดยในปี 2020 ประเทศไทยมีนักเล่นเกม 27.8 ล้านคน แต่ปี 2021 ตัวเลขดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็น 32 ล้านคน หรือคิดเป็นการเติบโต 15%
ขณะที่มูลค่าของตลาดเกมในไทยนั้นก็เติบโตเช่นกัน โดยในปี 2020 ตลาดเกมของไทยมีมูลค่า 28,900 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 33,000 ล้านบาทในปี 2021 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 14% ซึ่งผู้บริหาร Sea (ประเทศไทย) มองว่าต้องมีการสนับสนุนให้ Ecosystem นี้แข็งแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดการแข่งขันอีสปอร์ตอย่าง Garena World หรือการสร้าง Garena Academy เพื่อสอนทักษะดิจิทัลกับคนรุ่นใหม่ในการเขียนโค้ดโปรแกรม เพื่อสร้างคนทำงานสู่วงการนักพัฒนาเกมต่อไป
ขณะที่แผนในอนาคตสำหรับธุรกิจเกมออนไลน์นั้น คุณมณีรัตน์เผยว่า จะนำเกมระดับโลกเข้ามาเปิดตัวในไทยเพิ่มขึ้น เช่น Garena Blockman Go หรือการพัฒนาเกมที่มีอยู่เดิมอย่าง Free Fire Max ให้ดีขึ้น
คาดอีคอมเมิร์ซไทยแตะ 3.5 หมื่นล้านเหรียญในปี 2025
สำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ Sea (ประเทศไทย) มีการเปิดตัวแพลตฟอร์ม Shopee ในปี 2015 ซึ่งมาพร้อมแนวคิดในการเป็น Mobile-Based Application โดยอิงจากการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนในยุคดังกล่าว และเพื่อแก้ Pain Point ของอีคอมเมิร์ซในยุคเริ่มต้นที่ยังมีความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ และไม่มั่นใจว่าจะได้สินค้าตรงตามที่สั่งหรือไม่อยู่เต็มไปหมด ทางผู้บริหาร Shopee บอกว่า ได้มีการใส่ฟีเจอร์แชทลงไปในแพลตฟอร์ม เพื่อให้ลูกค้าสามารถสอบถามกับพ่อค้าได้โดยตรง ไม่ต้องไปแชทกันบนแพลตฟอร์มอื่น
สำหรับการเติบโตของแพลตฟอร์ม Shopee นั้น คุณมณีรัตน์เผยว่ามีการเติบโตที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้
- ในช่วงปี 2018 – 2021 จำนวนพ่อค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น 3 เท่า และจำนวนแบรนด์ที่เข้ามาในแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น 4 เท่า
- ในปี 2021 พบว่ามีผู้ใช้งาน Shopee ที่อยู่นอกหัวเมืองใหญ่ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 40% (YoY) นอกจากนั้น ในแง่ของพ่อค้าออนไลน์ที่อยู่นอกหัวเมืองใหญ่ก็เพิ่มขึ้นถึง 70% (YoY) เช่นกัน
- เทศกาล 11.11 ของปี 2021 ผู้ขายรายใหม่บางรายของ Shopee สามารถสร้างยอดขายเพิ่มขึ้น 18 เท่า
คุณมณีรัตน์กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน มีผู้บริโภคชาวไทย 38% เลือกใช้ช่องทางออนไลน์ในการซื้อสินค้าเป็นตัวเลือกแรก ซึ่งถือเป็นสัญญาณดีต่อแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ พร้อมคาดการณ์ว่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมีแนวโน้มจะเติบโตไปแตะที่ 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025
ขณะที่แพลตฟอร์ม Shopee เองนั้น ผู้บริหาร Sea (ประเทศไทย) เผยว่า มีแผนจะใช้ AI เข้ามาช่วยในการนำเสนอสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากมีสถิติว่า หากผู้บริโภคเข้ามาพิมพ์ค้นหาแล้วไม่เจอสินค้าที่ต้องการ 8 ใน 10 จะออกจากแพลตฟอร์มทันที และเพื่อสร้างตลาดใหม่ ๆ ให้กับพ่อค้าออนไลน์ไทย ทางแพลตฟอร์มยังได้เปิดตัว Shopee International Platform (SIP) สำหรับให้ผู้ประกอบการไทยสามารถรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าใน สิงคโปร์, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ได้ด้วย โดยร้านค้าที่ร่วมโครงการ จะได้รับการสนับสนุนด้านการจัดการสต็อกสินค้า การแชทกับผู้ซื้อ การจัดส่งสินค้าไปต่างประเทศโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
ShopeePay เปิดตัวสินเชื่อ – รุกบริการทางการเงินดิจิทัล
สุดท้ายกับบริการทางการเงินภายใต้ชื่อ SeaMoney ที่ในระยะแรก บริษัทเริ่มต้นจากแอปพลิเคชันชื่อ AirPay ที่เน้นในธุรกิจเติมเกม – ซื้อตั๋วหนัง จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ก่อนจะมาผนวกเข้ากับบริการอีคอมเมิร์ซ และได้มีการรีแบรนด์ไปสู่ ShopeePay เมื่อปี 2021 ในที่สุด ซึ่งเส้นทางการเติบโตของ ShopeePay พบว่า
- มีจำนวนผู้ใช้งานนอกเขตหัวเมืองใหญ่เพิ่มขึ้น 50% ในปี 2021 เมื่อเทียบกับปี 2020
- บริการทางการเงินดิจิทัลของ SeaMoney ในไตรมาส 4 ของปี 2021 เข้าถึงผู้บริโภคชาวไทยกว่า 45.8 ล้านคน
- เริ่มให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เช่น SEasyCash สำหรับบุคคลทั่วไป, SEasyCash for Sellers สินเชื่อสำหรับพ่อค้าออนไลน์ หรือ SPayLater บริการทางการเงินสำหรับเสริมสภาพคล่องให้การซื้อสินค้าบน Shopee
ทั้งนี้ คุณมณีรัตน์ ยังมองว่า ธุรกิจการเงินดิจิทัลของไทยจะมีการเติบโตอย่างสูงในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะตลาดอีวอลเล็ต ที่คาดว่าจะมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นจาก 18.6 ล้านราย ในปี 2020 เป็น 41.9 ล้านคนในปี 2025 ด้วย
ไม่หวั่นปัญหาเศรษฐกิจ
เมื่อถามถึงปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าในหลายประเทศทั่วโลกเวลานี้ รวมถึงประเทศไทยด้วยว่าทาง Sea มีมุมมองอย่างไร คุณมณีรัตน์เผยว่า ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้เพิ่งเริ่ม แต่เริ่มมาตั้งแต่ 2 ปีก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งทุกวันนี้ ทาง Sea (ประเทศไทย) มองว่ายังสามารถเดินตามแผนที่วางไว้ได้ รวมถึงในส่วนของ ShopeeFood (ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวการเลย์ออฟพนักงาน) ว่ายังสามารถให้บริการได้ตามปกติ ส่วนการปรับโครงสร้างองค์กรนั้น ได้ดำเนินการเสร็จแล้ว และคาดว่าหลังจากนี้ หากไม่มีความผันผวนทางการเมืองระดับโลกเพิ่มเติม เช่น การเกิดสงคราม ก็คาดว่าจะสามารถดำเนินการตามแผนงานเดิมได้ต่อไป