เป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากกับกรณี ธนาคารกสิกรไทย (KBank) ได้ประกาศร่วมลงทุนกว่า 15,000 ล้านบาท กับ “บริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาว” เพื่อพัฒนาร้านสะดวกซื้อ “ถูกดี มีมาตรฐาน” ให้เป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนทั่วไทย
คำถามที่ตามมาคือ ทำไม KBank ถึงตัดสินใจทุ่มเม็ดเงินจำนวนมากลงในธุรกิจ “ร้านโชห่วย” (ร้านค้าปลีกในชุมชน) ท่ามกลางการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่กำลังรุกคืบไปทั่วประเทศ
คำตอบคือ KBank มองเห็นร้านโชห่วยเป็นธุรกิจฐานรากที่สำคัญของประเทศ เพราะเป็นแหล่งอุปโภคและบริโภคของคนในชุมชนเล็กๆซึ่งกระจายไปทั่วประเทศ ไม่เพียงแต่ร้านเล็กๆเหล่านั้นที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่ผู้คนที่อยู่ในวงจรของร้านโชห่วยตั้งแต่เจ้าของร้าน คู่ค้า ชาวบ้าน ทุกคนต่างใช้ชีวิตประจำวันในวงโคจรของกันและกัน หากห่วงโซ่เหล่านี้ได้รับผลกระทบ ก็อาจขยายต่อภาพรวมเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค
เป้าหมายร่วมลงทุน 15,000 ล้านบาทของ KBank
ภายใต้งบการลงทุน 15,000 ล้านบาท ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ แบ่งเป็นให้วงเงินกู้สำหรับบริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาวและบริษัทร่วมทุน 8,000 ล้านบาท ลงทุนผ่านตราสารการลงทุนที่ให้สิทธิการลงทุนในหุ้น ของบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด 5,000 ล้านบาท และเตรียมทยอยร่วมลงทุนในบริษัทร่วมทุนที่ชื่อ บริษัท กสิกร คาราบาว หรือ kbao มูลค่า 2,000 ล้านบาท
โดยการร่วมทุนดังกล่าว สะท้อนให้เห็นภาพ KBank ในฐานะสถาบันการเงินที่ต้องการความแข็งแกร่งให้กับชุมชน ด้วยการให้ประชาชนในชุมชนที่ยังไม่เข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคาร โดยได้มีการใช้เครือข่ายของร้านโชห่วยเป็นฐานที่มั่นสำคัญ
คุณพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ชุมชนนอกตัวเมืองในจังหวัดต่างๆ เป็นพื้นที่ที่ลูกค้ามีความต้องการใช้บริการการเงิน บางส่วนไม่มีบัญชีเงินฝาก ไม่มีหลักฐานการเงินที่ทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ และเป็นพื้นที่ที่สาขาของธนาคารยังเข้าไม่ถึง การร่วมลงทุนกับ “บริษัทในกลุ่มธุรกิจ คาราบาว” เป็นยุทธศาสตร์ของธนาคารที่ตั้งใจพัฒนาร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” ให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของชุมชน ทำให้ทุกคนที่อยู่ในวงจรของ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” ตั้งแต่เจ้าของร้าน คู่ค้า ชาวบ้านในชุมชน สามารถจับจ่ายใช้สอยและใช้บริการการเงินได้สะดวกมากยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถเข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้ง่ายขึ้น สร้างรายได้หมุนเวียนขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชน
“ธนาคารจะเข้าไปช่วยในบางเรื่องด้วย เช่น ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเงิน ซึ่งเป็นการช่วยเหลือสภาพคล่องของร้านดีขึ้น เพื่อช่วยเหลือร้านค้าชุมชนให้อยู่ได้ โดยได้อาศัยความได้เปรียบด้านหน้าร้านที่ร้านค้ารู้จักคนในชุมชนอยู่แล้ว รู้ขีดความสามารถในการจ่ายเงินอยู่แล้วก็เป็นเรื่องง่าย เป็นการใช้ DATA ในแบบชุมชนเข้ามาปล่อยสินเชื่อให้คนในชุมชน”
และนั่นเองจะเป็นการสร้างจุดแข็งให้ธนาคารมีจุดบริการเคแบงก์ เซอร์วิส (KBank Service) เพิ่มขึ้นอีก 30,000 จุด จากเดิมมีจำนวนกว่า 27,000 จุด เพิ่มช่องทางการให้บริการได้ลึกถึงแหล่งชุมชนและครอบคลุมทั่วประเทศ โดยปัจจุบัน ธนาคารมีช่องทางให้บริการผ่านสาขาจำนวน 830 สาขา ตู้เอทีเอ็มและตู้ฝากถอนเงินอัตโนมัติ รวม 11,000 ตู้ และ K PLUS ที่มีลูกค้าใช้งานกว่า 18 ล้านราย
ตั้งบริษัทร่วมทุน “บริษัท กสิกร คาราบาว จำกัด (kbao)”
สิ่งที่น่าจับตามองจากดีลในครั้งนี้คือ มีการจัดตั้ง บริษัท กสิกร คาราบาว จำกัด (kbao) เพื่อปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าร้านถูกดี ขายสินเชื่อและบริการในร้าน เบื้องต้นขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขอไลเซ่นส์สำหรับการปล่อยสินเชื่อ
ที่ผ่านมาเรามักจะคุ้นกับผู้คนในชุมชนที่มักเดินไปที่ร้านแล้วขอลงบัญชีไว้ก่อน ด้วยยังไม่มีเงินมาจ่ายในขณะนี้ กลายเป็นโอกาสที่จะทำให้ชาวบ้านกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้
ตามแผนที่วางไว้เบื้องต้นจะมีการปล่อยสินเชื่อภายใต้วงเงิน 1,000 บาท ที่แม้จะดูเป็นจำนวนไม่เยอะนัก แต่ข้อมูลจากร้านถูกดี มีมาตรฐานพบว่า ลูกค้ามักจะมานำสินค้าไปก่อนและมาจ่ายทีหลังเดือนละประมาณ 300 – 500 บาท ดังนั้นตัวเลขที่ว่ามาจึงเป็นตัวเลขที่เหมาะสม
การพิจารณาปล่อยสินเชื่อนั้นจะไม่ได้มาจากทาง KBank และ บริษัท ทีดี ตะวันแดง อย่างเดียว แต่จะเปิดให้เจ้าของร้านถูกดี มีส่วนร่วมด้วย เพราะเจ้าของร้านจะเป็นผู้รู้จักคนในชุมชนที่ดีสุด จะรู้ว่าควรปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่เข้ามาขอหรือไม่
ร้านถูกดี มีมาตรฐาน ตั้งเป้าขยายเป็น 30,000 ร้าน ในอีก 3 ปี
ขณะที่คุณเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด เผยถึงที่มาของการร่วมทุนดังกล่าวว่า ทำคาราบาวแดงกว่าสิบปีที่ผ่านมา คลุกคลีกับร้านโชห่วยซึ่งถือเป็นลูกค้าที่สำคัญ ร้านค้าเปิดหากินด้วยกัน เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ หลายร้านทยอยปิดตัวอย่างต่อเนื่อง จึงหันกลับมามองว่าร้านค้าโชห่วยเป็นธุรกิจฐานรากที่สำคัญของไทย เกิดการตั้งคำถามว่าถ้าปล่อยไปแบบนี้โชห่วยจะล้มหายตายจากไปเรื่อยๆจากการรุกคืบเข้ามาของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ และตกผลึกมาที่โชห่วยยังมีข้อจุดด้อยคือเรื่องของเทคโนโลยี และการเงินที่ยังเข้าไม่ถึง
สู่การยกระดับศักยภาพของโชห่วยในรูปแบบใหม่ “ร้านสะดวกซื้อของชุมชน” ผ่านพันธมิตรคนสำคัญอย่าง ธนาคารกสิกรไทย ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของคนในชุมชน สามารถใช้บริการ การเงินขั้นพื้นฐาน เพิ่มสภาพคล่องด้านการใช้จ่าย และจะทำให้ร้านถูก ดี มีมาตรฐาน พัฒนาจาก Point of Sale ศูนย์กลางสินค้าที่ครบครันและตอบโจทย์คนในชุมชน สู่ Point of Service ซึ่งร้านถูกดี เป็นมากกว่าจุดขายสินค้า แต่ยังมีระบบสมาชิก ให้ลูกค้าสะสมแต้ม แลกรับส่วนลดและรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ภายหลัง อีกทั้งระบบพรีออเดอร์ ที่ช่วยให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงสินค้าที่ไม่ได้มีวางขายหน้าร้าน แต่สามารถสั่งล่วงหน้าได้จากเจ้าของร้าน อีกทั้งลูกค้าไม่ต้องเสียค่าขนส่ง เพราะถูกดีมีรถที่ต้องเข้าไปส่งสินค้าที่ร้านอยู่แล้วทุกสัปดาห์ ในวันนี้ร้านถูกดี มีมาตรฐาน เตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่การเป็น Point of Everything เป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน สร้างอิมแพ็คให้เศรษฐกิจของชุมชน เป็นเครือข่ายร้านค้าที่โยงใยกันทั้งประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในอนาคต
โดยวางเป้าหมายขยายร้านถูกดี มีมาตรฐาน 30,000 ร้านค้า ในอีก 3 ปีข้างหน้า (2567) จากปัจจุบันที่มีอยู่ 5,000 แห่งทั่วไทย และนั่นคือการสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งในการเข้าถึงเศรษฐกิจชุมชนในอนาคต
ถือเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญในแวดวงการเงินและค้าปลีกชุมชน ในการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน
สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับร้านถูกดี มีมาตรฐาน คลิก https://bit.ly/3z2f5sM