CPALL บริษัทในเครือซีพี ผู้ได้รับสิทธิจาก 7-Eleven Inc. สหรัฐฯ ให้ประกอบธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2531 ตัวเลขล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2565 มีร้าน 7-Eleven ทั่วประเทศรวม 13,433 สาขา
ปัจจุบันร้าน 7-Eleven แบ่งเป็น 2 รูปแบบ
1. ร้านสาขาที่ CPALL ลงทุนเอง จำนวน 6,530 สาขา สัดส่วน 49%
2. ร้านแฟรนไชส์ (Store Business Partner) และร้านที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต (Sub-Area License) ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการค้าปลีกท้องถิ่นเก่าแก่ที่อยู่คู่จังหวัดหรือภูมิภาคนั้นๆ มานาน จำนวน 6,903 สาขา สัดส่วน 51%
แม้เป็นเบอร์หนึ่งร้านสะดวกซื้อในประเทศไทยเดินไปถนนไหนก็ต้องเห็นร้าน 7-Eleven แต่ CPALL ก็ยังเดินหน้าขยายสาขาใหม่ปีละ 700 สาขา อยู่ในอัตรานี้ต่อเนื่องมาหลายปี
การเปิดสาขาใหม่จำนวนมากในแต่ละปี ทำให้บางทำเลมีร้าน 7-Eleven อยู่ใกล้ๆ กัน จึงมีข้อสงสัยว่า ร้านที่อยู่ใกล้ๆ กันนี้ ใครเป็นผู้ลงทุน เพราะก็มีทั้งแฟรนไชส์ และ CPALL ลงทุนเอง การเปิดใกล้กันแบบนี้ มาแข่งขันกับร้านที่อยู่เดิมหรือไม่
ตามดูเหตุผลทำไม 7-Eleven ต้องมีสาขาใกล้ๆกัน
– ร้าน 7-Eleven เปิดในประเทศไทยมากว่า 34 ปี เป็นรูปแบบร้านสะดวกซื้อที่ขยายร้านให้เข้าถึงทุกพื้นที่ตามการเติบโตของสังคม
– เมื่อเวลาผ่านไปพื้นที่นั้นๆ มีความเจริญมากขึ้น จำนวนลูกค้าก็เพิ่มมากขึ้น ทำให้การบริการของสาขาเดิมไม่ทันกับความต้องการของลูกค้า จึงเป็นสาเหตุให้ต้องมีการเปิดร้านใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อช่วยรองรับลูกค้าด้วยบริการที่สะดวกและรวดเร็ว (ถ้า 7-Eleven เพิ่มเอง ก็อาจมีร้านสะดวกซื้อรายอื่นเข้ามาเปิดแทน)
– ก่อนจะเปิดสาขาใหม่ใกล้เคียงกับสาขาเดิม CPALL จะให้สิทธิแฟรนไชส์เจ้าเดิม พิจารณาความพร้อมในการขยายสาขาใหม่ ถ้าแฟรนไชส์เดิมพร้อมก็สามารถใช้สิทธิบริหารร้านใหม่ได้เลย (ร้าน 7-Eleven ที่อยู่ใกล้ๆ กัน ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของแฟรนไชส์เดียวกัน)
– กรณีแฟรนไชส์เดิมยังไม่พร้อมเปิดสาขาใหม่ CPALL จะเปิดร้านไว้เอง เพื่อรอให้แฟรนไชส์เดิม มารับโอนร้านไปในอนาคตเมื่อพร้อม ซึ่งในระหว่างนั้น CPALL มีการประกันรายได้สาขาเดิมให้ด้วย (เรียกว่าเป็นการจ่ายเงินทดแทนให้แฟรนไชส์ เท่ากับรายได้ก่อนที่จะมีร้านใหม่มาเปิดเพิ่ม โดยจ่ายไปจนกว่ายอดขายจะทำได้เท่าเดิมหรือมากกว่า)
– มีตัวอย่างร้านแฟรนไชส์ ที่เปิดมานาน ล่าสุดเปิดไปแล้ว 16 สาขา, มีร้านแฟรนไชส์อีกจำนวนมากที่ถ่ายทอดธุรกิจนี้จากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนั้นการขายธุรกิจแฟรนไชส์ 7-Eleven ยังเป็นการสร้างอาชีพ สร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่และกระจายรายได้ให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นในชุมชน
– ส่วนกรณีที่ CPALL เข้าไปบริหารกิจการร้านแฟรนไชส์บางราย เป็นเพราะเจ้าของเดิมอาจมีปัญหาส่วนตัว เช่น ปัญหาสุขภาพ ปัญหาเรื่องอายุขัย ปัญหาภายในร้าน ลูกหลานไม่ต้องการทำธุรกิจต่อ ฯลฯ จึงขอคืนสิทธิร้านแฟรนไชส์ให้ CPALL และมีบางแห่งไม่สามารถทำมาตรฐานได้ตามที่กำหนด
เปิดร้าน 7-Eleven ลงทุนเท่าไหร่
นับตั้งแต่ปี 2534 CPALL ได้เปิดโอกาสให้พนักงานของบริษัทและบุคคลภายนอก เข้ามาลงทุนแฟรนไชส์ร้าน 7-Eleven โดยมี 2 รูปแบบ
แบบที่ 1 ค่าใช้จ่ายเปิดร้าน 480,000 บาท เงินประกันความเสียหาย 1,000,000 บาท รวม 1,480,000 ล้านบาท ระยะเวลาทำสัญญา 6 ปี
แบบที่ 2 ค่าใช้จ่ายเปิดร้าน 1,730,000 บาท เงินประกันความเสียหาย 900,000 บาท รวม 2,630,000 ล้านบาท ระยะเวลาทำสัญญา 10 ปี
(*เงินประกันความเสียหาย ได้รับคืนเมื่อสิ้นสุดการบริหาร โดยได้รับดอกเบี้ยคืนทุกปีอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำธนาคารกรุงเทพ ณ วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี)
อยากลงทุนแฟรนไชส์ 7-Eleven ต้องทำอย่างไร
– หากสนใจลงทุนแฟรนไชส์ 7-Eleven ผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้องมีทำเลร้านค้าเอง โดยสามารถเลือกร้านสาขา ที่ CPALL เปิดร้าน 7-Eleven ไปแล้วได้เลย แต่ในกรณีที่ผู้ลงทุนมีทำเลเอง CPALL จะสำรวจวิเคราะห์ทำเลให้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
– ผู้ลงทุนแฟรนไชส์จำเป็นต้องบริหารร้านด้วยตัวเองตลอดอายุสัญญา เพราะถือว่าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดในการได้รับการคัดเลือกจาก CPALL เพื่อทำให้ร้าน 7-Eleven มีมาตรฐานที่ดีรวมถึงการบริหารร้านอย่างประสิทธิภาพ
– ผู้ลงทุนแฟรนไชส์ ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ด้านค้าปลีกหรือธุรกิจประเภทนี้มาก่อน เพราะกว่า 70% ของร้านแฟรนไชส์ 7-Eleven ก็ไม่ใช่คนที่เคยทำธุรกิจหรือไม่มีประสบการณ์ค้าปลีกมาก่อน โดยมาจากหลากหลายอาชีพ ทาง 7-Eleven มีกระบวนการฝึกอบรมในหลักสูตรด้านค้าปลีกที่มีระบบ เพื่อให้ความรู้และทักษะการประกอบธุรกิจ ก่อนเปิดร้านจริง รวมทั้งมีทีมงานที่ปรึกษาร้านให้คำปรึกษา
ตามดูรายได้ร้าน 7-Eleven
มาตามดูตัวเลขร้าน 7-Eleven ล่าสุดจบไตรมาส 2 ปี 2565
– รายได้เฉลี่ย 77,684 บาทต่อสาขาต่อวัน
– ยอดซื้อต่อบิล 84 บาท
– จำนวนลูกค้าเข้าร้าน 918 คนต่อสาขาต่อวัน
อ่านเพิ่มเติม