HomeInsightทวิตเตอร์ เผยอินไซต์ “คนไทย” คุยเรื่องอาหารและเครื่องดื่มบนทวิตเตอร์เพิ่มขึ้น 26%

ทวิตเตอร์ เผยอินไซต์ “คนไทย” คุยเรื่องอาหารและเครื่องดื่มบนทวิตเตอร์เพิ่มขึ้น 26%

แชร์ :

แม้จะเป็นแพลตฟอร์มที่เน้นสื่อสารด้วยข้อความสั้นๆ แต่ความ Real และเร็วของ “ทวิตเตอร์” (Twitter) ก็ส่งผลให้เกิดบทสนทนาที่โดนใจคนไทยและสร้างอิมแพ็คในวงกว้างมากมาย จนทำให้ทวิตเตอร์กลายเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่ครองใจผู้บริโภคชาวไทยมาอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางโซเชียลมีเดียที่เกิดขึ้นมากมาย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยในช่วงที่ผ่านมามีบทสนทนาหลายหัวข้อที่คนไทยเข้ามาพูดคุยกันมากมาย แต่หนึ่งในบทสนทนาที่ได้รับความนิยมอย่างมากคือ อาหารและเครื่องดื่ม จากข้อมูลล่าสุดของทวิตเตอร์พบว่า ผู้คนบนทวิตเตอร์ให้ความสำคัญกับหัวข้อที่เกี่ยวกับอาหารและมีความสนใจในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มมากกว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปถึง 15% และบทสนทนาที่เกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นถึง 26% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งความสนใจนี้ไม่เพียงจะทำให้พลังของบทสนทนาที่เกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มเติบโตขึ้นเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นช่องทางใหม่ในการเชื่อมต่อกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ด้วย ล่าสุด “ทวิตเตอร์” จึงได้เผยอินไซต์เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยพบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

1.บทสนทนาบนทวิตเตอร์ช่วยกระตุ้นความต้องการ

หนึ่งในพฤติกรรมฮิตของคนไทยบนทวิตเตอร์คือ ชอบทวีตเกี่ยวกับอาหาร พร้อมทั้งแชร์สิ่งใหม่ๆ เทรนด์อาหารล่าสุด อาหารที่ต้องลอง รวมถึงการทวีตรีวิวอย่างตรงไปตรงมา และยังแบ่งปันเคล็ดลับในการทำอาหาร ตลอดจนแจกสูตรอาหาร โดยข้อมูลพบว่า คนไทยมีการพูดคุยและเชื่อมต่อกันผ่านบทสนทนาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของอาหารนานาชนิดและสารพัดเครื่องดื่มทุกวัน โดยผู้บริโภคที่มีแพสชั่นในเรื่องอาหารและคนที่ชอบพูดคุยถึงเรื่องอาหารต่างเข้าร่วมบทสนทนาเหล่านี้ เพื่อเข้าไปพูดคุยกับคนอื่นๆ และยังเป็นการจุดประกายบทสนทนาที่ทำให้ทวิตเตอร์ประเทศไทยลุกเป็นไฟ

ดังเช่นไม่นานมานี้ ซุปตาร์หนุ่ม “แจ็คสัน หวัง” (@JacksonWang852) หนึ่งในสมาชิกวง GOT7 (@GOT7Official) ได้มาเยือนกรุงเทพฯ ซึ่งหลังจากที่เขาพูดถึงการออกไปกินอาหารมื้อดึก แฟนคลับก็รีบเปลี่ยนจากบทสนทนาที่เกี่ยวกับเพลงของหนุ่มแจ็คสันมาเป็นเรื่องของอาหารกันในทันที จากนั้นชาวทวิตภพก็ได้มีการทวีตแชร์เมนูที่พี่เจ็คสั่งมากิน และยังทวีตแจกสูตรอาหารตามรอยพี่แจ็คให้กับแฟนคลับคนอื่นๆ เพื่อให้สามารถสัมผัสกับรสชาติอาหารตามที่พี่แจ็คสั่งมากิน

2.บทสนทนาเรื่องอาหารและเครื่องดื่มบนทวิตเตอร์เกิดขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง

ข้อมูลยังพบว่า คนไทยจะพูดคุยผ่านบทสนทนาเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มบนทวิตเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยช่วงเวลามีการทวีตมากที่สุดคือ 9 โมงเช้า และบ่าย 3 โมง โดยบทสนทนาจะเพิ่มอีกครั้งอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งคืนไปจนถึงช่วงเช้าตรู่ โดยผู้บริโภคจะเข้ามาพูดคุยกันถึง “ของว่างมื้อดึก” ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้แบรนด์ต่างๆ ใช้ประโยชน์จากเทรนด์ผู้บริโภคนี้ได้

ขณะเดียวกัน ช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองตามเทศกาลต่างๆ ยังทำให้ความต้องการอาหารและเครื่องดื่มบนทวิตเตอร์เพิ่มสูงขึ้น เช่น อาหารสำหรับฉลองในวันวาเลนไทน์ การพูดถึงอาหารจีนในเทศกาลตรุษจีน การแบ่งปันแผนการทำอาหารในช่วงคริสต์มาส ไปจนถึงขนมปีใหม่ที่ต้องไม่พลาด และเมนูเครื่องดื่มที่มีเฉพาะช่วงเทศกาล

ทั้งนี้ บทสนทนาที่เกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มไม่ได้จำกัดเฉพาะช่วงโอกาสสำคัญต่างๆ เท่านั้น แต่ยังจุดประกายได้ตลอดเวลา เช่น หลังจบแมตช์รายการใหญ่หรือหลังจากการสอบไฟนอลเสร็จแล้ว ผู้คนก็จะฉลองกันด้วยอาหาร หรือบางคนก็ตามรอยเทรนด์อาหารจากไอดอลที่พวกเขาชื่นชอบ อย่างล่าสุดที่กลายเป็นประเด็นฮอตในบทสนทนา เมื่อลิซ่า Blackpink พูดถึงโรตีสายไหม อยุธยา ทวิตเตอร์ก็แทบลุกเป็นไฟเพราะแฟนๆ เข้ามาแชร์ร้านโรตีสายไหมเจ้าอร่อย  บ้างก็ทวิตถึงโรตีที่ชอบกิน และทวิตถึงโรตีที่เคยเป็นความทรงจำในวัยเด็ก

3.การตัดสินใจซื้อสินค้าบนทวิตเตอร์เป็นเรื่องที่ละเอียดและลึกซึ้ง

ทวิตเตอร์ เปรียบเสมือนบ้านที่เป็นแหล่งรวมของอาหารและเครื่องดื่มสำหรับคนไทย และยังเปิดโอกาสให้แบรนด์เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และเชื่อมต่อกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทวิตเตอร์ได้แนะ 5 เคล็ดลับ ที่จะช่วยแบรนด์เพิ่มพลังให้กับแคมเปญอาหารและเครื่องดื่มบนทวิตเตอร์ประเทศไทย

  • รู้จักกลุ่มเป้าหมาย

การเข้าร่วมบทสนทนาของอาหารและเครื่องดื่มบนทวิตเตอร์จะทำให้ได้รู้จักกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์
ว่าพวกเขาชอบอะไร (และไม่ชอบอะไร) แม้ว่าบทสนทนาของอาหารและเครื่องดื่มบนทวิตเตอร์จะมีอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง แต่แบรนด์ควรจะพิจารณาว่ากลุ่มเป้าหมายกำลังพูดถึงเรื่องอะไรกันอยู่และพูดกันเมื่อไหร่ แล้วปรับแคมเปญให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

  • ใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาสำคัญ

เนื่องจากตลอดทั้งปีมีช่วงเวลาสำคัญแห่งการเฉลิมฉลองต่างๆ มากมาย และจากข้อมูลพบว่า 70% ของผู้คนบนทวิตเตอร์ประเทศไทยกำลังวางแผนที่จะซื้อของขวัญในช่วงเทศกาลวันหยุด และ 61% วางแผนที่จะใช้จ่ายในเรื่องของอาหารและเครื่องดื่ม จึงทำให้แบรนด์มีโอกาสในการเชื่อมต่อกับผู้บริโภคได้จากหลายๆ เทศกาล ตัวอย่าง เลย์ประเทศไทย (@laysthailand) ที่ใช้ประโยชน์จากวันแห่งมันฝรั่งทอด “Potato Chip Day” ในการสร้างเอ็นเกจเมนต์กับแฟนๆ ชาวไทยบนทวิตเตอร์ด้วยคอนเทนต์ที่สนุกๆ

  • เป็นคนแรกที่นำเทรนด์

ปฏิทินไม่สามารถบอกถึงช่วงเวลาสำคัญได้ทั้งหมดและไม่ใช่ว่าทุกช่วงเวลาจะสามารถวางแผนได้ล่วงหน้า แบรนด์จึงควรเข้าไปมีส่วนร่วมกับบทสนทนาและสร้างเอ็นเกจกับกลุ่มเป้าหมายในเรื่องของอาหารและเครื่องดื่มบนทวิตเตอร์ ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยให้แบรนด์สามารถระบุถึงเทรนด์ที่กำลังมาและสามารถเพิ่มปริมาณของบทสนทนาที่เกี่ยวกับแบรนด์ได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถนำบทสนทนาเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ต่อได้อีก เช่น วอลล์ประเทศไทย (@Walls_Thailand) ที่มองเห็นโอกาสจากอากาศร้อนในเดือนมีนาคมปีนี้ จึงได้ออกแคมเปญต้อนรับซัมเมอร์ที่สอดคล้องกับความชอบของคนไทยบนทวิตเตอร์

  • สร้างแคมเปญให้บรรลุเป้าหมายของแบรนด์

หากต้องการกระตุ้นให้ผู้บริโภครับรู้ถึงผลิตภัณฑ์ใหม่หรือแบรนด์ใหม่ การใช้ทั้งคลิปวิดีโอและรูปภาพในการทำแคมเปญบนทวิตเตอร์จะสามารถเพิ่มการรับรู้ถึงแบรนด์ได้มากขึ้น 1.5 เท่า และถ้าต้องการเพิ่มเอ็นเกจเมนต์ให้มากขึ้น การโฆษณาด้วยรูปแบบที่หลากหลายบนทวิตเตอร์จะช่วยเพิ่มความชื่นชอบที่มีต่อแบรนด์ให้เพิ่มขึ้นถึง 3.8 เท่า

  • สร้างการมีส่วนร่วมผ่านเครื่องมือโฆษณาที่หลากหลาย

หมดยุคของการคิดกลยุทธ์ทำแคมเปญรูปแบบเดียวแล้ว ปัจจุบันต้องใช้แคมเปญที่มีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น การผสมผสานคลิปวิดีโอบนทวิตเตอร์ การโฆษณาแบบ Takeover และการทำคอนเท้นท์ที่แปลกใหม่ จึงจะสามารถสร้างผลลัพธ์ให้กับแคมเปญของแบรนด์ได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ชาวทวิตภพที่ชื่นชอบเรื่องของอาหารและเครื่องดื่ม 57% จะดูคลิปวิดีโอ 54% มีเอ็นเกจกับโฆษณาแบบ Takeover และ 47% จะรีทวีตข้อความที่ตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วม

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like