ถือเป็นคดีสะเทือนวงการอสังหาฯ หลังศาลปกครองกลาง (ศาลชั้นต้น) มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ให้ “เพิกถอนใบอนุญาต” ก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมหรู “แอชตัน อโศก” ของ “อนันดา” ซึ่งเป็นอาคารสูง 51 ชั้น มีห้องพัก 783 ยูนิต ตั้งอยู่ริมถนนอโศก มูลค่าโครงการ 6,481 ล้านบาท
คดีแอชตัน อโศก “ผู้ฟ้อง” คือ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและประชาชนรวม 16 คนที่อาศัยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการ ส่วน “ผู้ถูกฟ้อง” เป็นหน่วยงานรัฐ คือ กรุงเทพมหานคร, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านอาคาร การจัดสรรที่ดินและบริการชุมชน
คดีนี้เริ่มฟ้องในปี 2559 เป็นการฟ้องร้องหน่วยงานรัฐ ที่ได้ร่วมกันออกคำสั่งอนุญาตให้ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด (เจ้าของโครงการแอชตัน อโศก) ก่อสร้างอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษ ตั้งอยู่บนถนนอโศก
ประเด็นฟ้องคดี
สำหรับประเด็นที่ฟ้องร้อง คือการใช้ “ที่ดินเวนคืน” ของ รฟม. มาให้เอกชนสร้างเป็นทางเข้าออกโครงการ ซึ่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กำหนดให้ อาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นมากกว่า 30,000 ตารางเมตร ต้องมีด้านใดด้านหนึ่งของที่ดิน กว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร
แต่ที่ดิน “แอชตัน อโศก” ทางเข้าออกไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ศาลปกครองกลาง (ศาลชั้นต้น) จึงเห็นว่า “ผิด” พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร
ดังนั้นการที่ผู้อำนวยการสำนักการโยธาปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) อนุญาตให้ก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ศาลปกครองกลางจึงพิพากษาให้ “เพิกถอน” คำสั่งอนุญาตก่อสร้างอาคารแอชตัน อโศก โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกใบอนุญาต
หลังจากแพ้คดีที่ศาลปกครองกลางมาแล้ว ทั้ง กรุงเทพมหานคร (กทม.) รฟม. และ “อนันดา” ได้ยื่นอุทธรณ์คดีที่ศาลปกครองสูงสุด
ปมคดีแอชตันอโศก
วันที่ 20 กันยายน 2565 ศาลปกครองสูงสุด ได้นั่งพิจารณาคดีอุทธรณ์ครั้งแรก ระหว่างสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับพวก (ผู้ฟ้องคดี) กับผู้อำนวยการเขตวัฒนา กทม. กับพวก (ผู้ถูกฟ้องคดี) และบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด หรือ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด (ผู้ร้องสอด) เจ้าของคอนโดมิเนียม “แอชตัน อโศก”
โดย “อนันดา” เป็นเจ้าของโครงการแอชตัน อโศก อยู่ในฐานะ “ผู้ร้องสอด” ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวโดยตรงและไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดตามคำพิพากษา แต่เป็นผู้ได้รับผลกระทบและได้รับความเสียหายจากการแพ้คดีของหน่วยงานรัฐที่ถูกฟ้อง จึงใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ที่ศาลปกครองสูงสุด
แนวทางการอุทธรณ์คดี กทม.เห็นว่าโครงการแอชตัน อโศก ที่ดินส่วนที่ใช้เป็นทางเข้าออก ซึ่งเป็นที่ดินของ รฟม.มีความกว้าง 13 เมตร (ไม่น้อยกว่า 12 เมตร ตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร) ยาวตลอดถึงที่ตั้งอาคารและถนนอโศก มีความกว้าง 27.70-30 เมตร (ไม่น้อยกว่า 18 เมตร ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร) ยาวต่อเนื่องกันเชื่อมต่อกับถนนสุขุมวิท ซึ่งมีความกว้าง 30 เมตร ได้เกณฑ์ตามกฎกระทรวง
ส่วน “อนันดา” ชี้แจงกรณีแอชตัน อโศก ว่าได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย ประกาศ และคำสั่งของหน่วยงานรัฐที่กำหนดไว้ โดยมีหน่วยงานรัฐเป็นผู้ควบคุมและตรวจสอบทุกขั้นตอน โดยการขออนุญาตก่อสร้าง “แอชตัน อโศก” ได้รับอนุมัติจาก 8 หน่วยงานราชการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), สำนักงานเขตวัฒนา, สำนักงานที่ดินพระโขนง, สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (สจส.), กรมโยธาธิการและผังเมือง, สำนักงานโยธา กรุงเทพมหานคร และ กรมที่ดิน
ประเด็นที่เป็นปัญหา จนนำไปสู่ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า แอชตัน อโศก ก่อสร้าง “ผิด” พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร เนื่องจากที่ดินโครงการไม่มีด้านใดด้านหนึ่งที่เป็นทางเข้าออกกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะ
มาจากที่ดินของแอชตัน อโศก ทางเจ้าของเดิมถูกเวนคืนสร้างรถไฟฟ้า ทำให้จากเดิมสามารถสร้างตึกสูงได้ เพราะติดถนนอโศก แต่เมื่อถูกเวนคืน รฟม.สร้างสถานีรถไฟฟ้าปิดอยู่ด้านหน้า จึงกลายเป็นที่ดินตาบอด เจ้าของเดิมฟ้องร้องขอให้เปิดทางออก โดยคำพิพากษาศาลฎีกาให้ทำทางจำเป็นกว้าง 6.4 เมตร ผ่านที่ดินเวนคืน รฟม. ออกสู่ถนนอโศก
“อนันดา” จึงได้ศึกษากฎระเบียบการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit Oriented Development หรือ TOD) ซึ่งเห็นว่าทำได้ จึงซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาด้วยราคา 1 ล้านบาทต่อตารางวา บนขนาดที่ดิน 2 ไร่ 3 งาน (หรือมูลค่าที่ดินกว่า 1,100 ล้านบาท) เพื่อทำโครงการ แอชตัน อโศก
โดยทำสัญญากับ รฟม. เพื่อใช้ที่ดินร่วมกัน สร้างทางเข้าออกโครงการกว้าง 13 เมตร (ตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร) โดยย้ายทางเข้าออกโครงการมาด้านติดที่ดินสยามสมาคมฯ ทางเข้าออกนี้ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟม. ซึ่ง อนันดา จ่ายผลประโยชน์ให้ รฟม. ด้วยการสร้างอาคารที่จอดรถ 7-8 ชั้น มูลค่า 97 ล้านบาท
ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นยกฟ้อง!!
การพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุดครั้งแรกในวันที่ 20 กันยายน 2565 “ตุลาการผู้แถลงคดี” มีความเห็นว่าการอุทธรณ์คดี “ฟังขึ้น” โดยโครงการแอชตัน อโศก มีทางเข้าออกที่มีความกว้าง 13 เมตร ยาวตลอดถึงที่ตั้งอาคารและถนนอโศก ไม่น้อยกว่า 18 เมตร ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร โดยมีการทำสัญญาใช้ประโยชน์ที่ดินทางเข้าออก รฟม. โดยชอบแล้ว
ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นให้ “กลับคำพิพากษา” ศาลปกครองชั้นต้น “ยกฟ้อง” คดีนี้
ทั้งนี้ความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดี “ไม่มีผลผูกพัน” กับองค์คณะตุลาการเจ้าของสำนวน ที่จะประชุมพิจารณาคดีนี้ และมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดออกมาอีกครั้ง ถือเป็นอันจบคดี
คาดรอคำพิพากษา 1-2 เดือน
คุณพิสิษฐ เดชไชยยาศักดิ์ ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท วีระวงค์, ชินวัฒน์ และพาร์ทเนอร์ส จำกัด ที่ปรึกษากฎหมายของโครงการแอชตัน อโศก กล่าวว่าจากความเห็นของ “ตุลาการผู้แถลงคดี” ยกฟ้อง (ยังไม่ใช่คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด) สรุปได้ว่าโครงการแอชตัน อโศก ทำโดยชอบแล้ว
“การยกฟ้อง” คือ หน่วยงานรัฐที่ถูกฟ้อง “ทำโดยชอบแล้ว” ทั้งการทำสัญญาขอใช้ประโยชน์ที่ดินเวนคืนของ รฟม. มาสร้างเป็นทางเข้าออกโครงการใช้ร่วมกัน และเป็นไปตามกฎหมายของ รฟม.ทั้งสิ้น โดย รฟม.ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่ รวมทั้งการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารของ กทม. เป็นไปอย่างถูกต้อง
โครงการแอชตัน อโศกเปิดให้อยู่อาศัยมาแล้ว 3-4 ปี ไม่ได้สร้างความเสียหายจากการเวนคืนที่ดินมาใช้ประโยชน์ของ รฟม. ซึ่งยังคงใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยรอบเป็นทางเข้าออกและมีอาคารจอดรถเพิ่มขึ้น การก่อสร้างแอชตัน อโศก มีหน่วยงานรัฐพิจารณากลั่นกรองออกใบอนุญาต 8 หน่วยงาน
คดีนี้ส่งผลต่อธุรกิจอสังหาฯ สถาบันการเงิน ประชาชนผู้ซื้อห้องชุดแอชตัน อโศกจำนวนมาก รวมทั้งส่งผลต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุนในประเทศไทยด้วย เนื่องจากเป็นโครงการร่วมทุนกับ มิตซุย ฟูโดซัง ประเทศญี่ปุ่น
หลังจากศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 20 กันยายน 2565 แล้ว คาดว่าจะมีคำพิพากษาออกมาในอีก 1-2 เดือนจากนี้ เป็นอันสิ้นสุดคดี
“ศรีสุวรรณ” เผยมีหลายอาคารถูกร้องเรียนก่อสร้าง
ด้าน คุณศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน (ผู้ฟ้องคดี) เปิดเผยว่า วันนี้ (20 กันยายน) เวลา 9.30 น. ศาลปกครองสูงสุด ได้นัดพิจารณคดีครั้งแรก หลังจากที่คู่กรณีได้ยื่นอุทธรณ์สู้คดี หลังจากที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ในคดีหมายเลขดำที่ ส.53/2559 คดีหมายเลขแดงที่ ส.19/2564 ให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้าย อาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคารโดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตาม ม.39 ทวิ และ ม.39 ตรี พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ที่ออกให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จํากัด โดยมีผลย้อนหลังจนถึงวันที่ออกใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์ดังกล่าว
ในคดีดังกล่าว สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและผู้ฟ้องคดีรวม 16 คนได้ใช้สิทธิในการยื่นอุทธรณ์คดีดังกล่าวไปด้วย แม้ว่าศาลจะพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีชนะคดีไปแล้วก็ตาม แต่มีบางประเด็นที่ศาลยกและไม่วินิจฉัยให้ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่เห็นว่าควรที่จะมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดไว้เป็นบรรทัดฐานในทางคดีต่อไป เนื่องจากสมาคมฯ มีกรณีพิพาทอีกหลายคอนโดมิเนียมที่มีการฟ้องร้องกันอยู่ในศาลปกครอง และที่กำลังจะนำเรื่องขึ้นฟ้องร้องต่อศาลก็อีกหลายคดี
ในการแถลงคดีของตุลาการผู้แถลงคดีวันนี้ สรุปในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับทางเข้า-ออกอาคารที่เป็นประเด็นหลักในคดีนี้ว่า การที่ รฟม.อนุญาตให้ผู้ประกอบการอาคารแอชตัน อโศก ใช้ที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนเพื่อเข้า-ออกอาคารดังกล่าวได้นั้น ไม่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการเพื่อการขนส่งสาธารณะของ รฟม.อีกทั้งเอกชนได้ชำระเป็นค่าเช่าให้กับ รฟม.แล้วกว่า 97.6 ล้านบาทแล้วนั้น การใช้อำนาจดังกล่าวเห็นว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงมีความเห็นต่อองค์คณะผู้พิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ว่า “ควรยกฟ้อง”
ส่วนกรณีที่เจ้าของที่ดินเดิมได้เคยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินแล้วทำการตัดที่ดินบางส่วนเพื่อทำเป็นถนนสาธารณะพร้อมกับจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายที่ดินแล้วนั้น แต่เมื่อมาทำการสำรวจรังวัดใหม่กลับไม่ปรากฏถนนสาธารณะดังกล่าว จนทำให้ผู้ประกอบการนำไปสร้างคอนโดฯได้นั้น ตุลาการผู้แถลงคดีได้ทำความเห็นเสนอต่อองค์คณะไว้แล้ว
หลังจากวันนี้ องค์คณะในศาลปกครองสูงสุดจะทำคำวินิจฉัยและคำพิพากษา ซึ่งจะสอดคล้องหรือตรงกันข้ามกับความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีก็ได้ และจะส่งไปให้ศาลปกครองกลาง เพื่อนัดคู่กรณีมาฟังคำพิพากษาต่อไป
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดเพราะคดีในลักษณะนี้จะใช้เป็นบรรทัดฐานของสังคมในอนาคตต่อไป และยังมีอีกหลายอาคารที่มีชาวบ้านร้องเรียนมายังสมาคมฯว่าก่อสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตาม EIA และการก่อสร้างได้สร้างความเดือดร้อนและเสียหายต่อชาวบ้านข้างเคียงอย่างมาก รวมทั้งการนำพื้นที่ถนนรอบอาคารที่กว้าง 6 เมตรไปทำสวนหย่อมผิดไปจากแบบแปลนซึ่งมีมากกว่า 10 อาคารที่ตรวจสอบพบ ซึ่งสมาคมฯจะยื่นเรื่องเพื่อบังคับใช้กฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ต่อไป
อ่านเพิ่มเติม