ต้นไม้เล็ก ๆ ในป่า หลายครั้งไม่มีโอกาสโตเป็นต้นไม้ใหญ่ เนื่องจากป่าแห่งนั้นมีต้นไม้ (ใหญ่) เดิมอยู่แล้วอย่างหนาแน่น จนแสงแดดยากจะส่องลงมาหล่อเลี้ยงให้ต้นไม้เล็ก ๆ ได้เติบโต การเติบโตของธุรกิจขนาดเล็กในโลกทุกวันนี้ก็ไม่ต่างกัน หากธุรกิจขนาดใหญ่ไม่เปิดโอกาสให้พวกเขามีพื้นที่ยืน หรือเข้ามาช่วยสนับสนุนเพิ่มเติม โอกาสที่จะเติบโตเป็นแบรนด์ขนาดใหญ่ ก็อาจไม่มีวันเกิดขึ้น
นั่นจึงกลายเป็นที่มาของโปรเจ็ค CSR ของค่ายเอปสัน (Epson) ประเทศไทยในปี 2022 นี้ กับการจับมือ SHE KNOWS แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นรักโลก, Maddy Hopper แบรนด์รองเท้าจากวัสดุธรรมชาติของไทย และ Qualy แบรนด์สินค้าตกแต่งบ้านจากวัสดุรีไซเคิล ไปให้ความรู้ – สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ผ่านงานสัมมนา ‘Day One with Sustainability’ โดยคุณยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด เผยถึงที่มาของกิจกรรมในปีนี้ว่า
“ปัจจุบัน ความยั่งยืนไม่ใช่แค่ไอเดียเพื่อแคมเปญ CSR เท่านั้น องค์กรทั่วโลกตื่นตัวมากขึ้นกับการเชื่อมโยงธุรกิจ สินค้าและบริการเข้ากับคุณค่าด้านนี้ เช่นเดียวกับผู้บริโภคที่เราพบว่า กลุ่ม Millennial และ Gen Z ไม่ได้เลือกซื้อสินค้าเพราะราคาเพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมและมีส่วนตอบแทนสังคมด้วย”
SHE KNOWS – Maddy Hopper – Qualy สามโปรเจ็คเพื่อความยั่งยืน
อย่างไรก็ดี ในมุมของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มาบอกเล่าถึงวิธีการผสานความยั่งยืนเข้ากับธุรกิจของตนนั้น ก็พบว่ามีความท้าทายอยู่ไม่น้อย โดยคุณปานไพลิน พิพัฒนสกุล ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ SHE KNOWS เสื้อผ้าแฟชั่นผู้หญิงที่มาพร้อมสโลแกน ‘Greener Fashion for All’ เล่าว่า “แบรนด์ SHE KNOWS เกิดขึ้นในปี 2018 โดยนำแนวคิดด้านความยั่งยืนเข้ามาสร้างความแตกต่างและทางเลือกให้กับสินค้าเสื้อผ้าผู้หญิง”
สิ่งที่แบรนด์ SHE KNOWS พบว่าเป็นความท้าทายในอุตสาหกรรมแฟชั่นทุกวันนี้ก็คือ การผลิตสินค้าโดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การจ้างแรงงานที่ไม่เป็นธรรม และการออกแบบโดยไม่คำนึงถึงลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น การย้อมสีผ้าและปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ การจ้างแรงงานราคาถูกจนพวกเขาไม่สามารถมีชีวิตที่ดีได้ หรือการที่ออกแบบแต่สินค้าไซส์เล็ก จนคนที่มีรูปร่างใหญ่ไม่สามารถสวมใส่ได้ เป็นต้น
จากจุดนี้ คุณปานไพลินเผยว่า ได้มาคิดกลับด้าน โดยให้แบรนด์ SHE KNOWS เลือกใช้ผ้ารีไซเคิล – เศษผ้าเหลือจากโรงงาน ส่วนกรรมวิธีย้อมสีเป็นระบบปิด ซึ่งไม่มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ นอกจากนั้น แพคเกจจิ้งก็ใช้กระดาษรีไซเคิลและออกแบบให้ลูกค้าสามารถใช้ซ้ำได้ (เผื่อต้องส่งกลับไปเปลี่ยนไซส์) หรือในด้านการจ้างงาน ชุดของ SHE KNOWS เลือกใช้ช่างฝีมือคนไทยที่ตัดเย็บได้ประณีตกว่า จึงมีความทนทานกว่า อีกทั้งการไม่ใช้เครื่องจักรในโรงงาน จึงช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยอีกทางหนึ่ง
“เรามีขนาดของชุดให้เลือกมากถึง 18 ไซส์ ในแต่ละคอลเล็กชั่น ซึ่งฐานลูกค้า 70% ของ SHE KNOWS มาจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 19-29 ปี โดยในปีนี้ มียอดซื้อสินค้าเข้ามาเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะเติบโตไม่น้อยกว่า 50% จากปีก่อน”
อีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ SHE KNOWS อย่างคุณธัญญรัตน์ ตรีสุรมงคลโชติ กล่าวเสริมว่า “ความท้าทายในการทำธุรกิจด้วยความยั่งยืนคือต้นทุนการผลิต ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ ไม่ควรผลักให้เป็นภาระของผู้บริโภค SHE KNOWS พยายามค้นหาวัตถุดิบใหม่ ๆ และเลือกใช้ช่างตัดเย็บที่มีทักษะสูง โดยให้ผลตอบแทนที่ดี เพื่อได้คุณภาพงานที่ประณีต และตั้งราคาที่สมเหตุสมผล ผู้บริโภคสามารถจับต้องได้ง่าย เราต้องหาและรักษาจุดสมดุล เพื่อให้ทั้งธุรกิจ พาร์ทเนอร์ และลูกค้าได้รับประโยชน์ที่สมควร”
ด้านแบรนด์ Maddy Hopper ซึ่งเป็นธุรกิจรองเท้าที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลนั้น คุณชาญ สิทธิญาวณิชย์ ผู้ร่วมก่อตั้ง กล่าวว่า “Maddy Hopper เริ่มทำการตลาดอย่างจริงจังมาปีกว่า โดยต้องการนำเสนอรองเท้าที่ผสานฟังก์ชั่นเข้ากับความยั่งยืน ใส่ง่าย ดีไซน์สวย ราคาจับต้องได้ และต้องรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในตลาดเป็นแบรนด์ต่างประเทศ จึงเริ่มศึกษาวัตถุดิบธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศ และได้ค้นพบผ้าจากขวดพลาสติกรีไซเคิลที่นำมาทำเป็นตัวรองเท้า และยางพารารีไซเคิลสำหรับแผ่นรองด้านใน ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่สามารถรองรับน้ำหนักได้ดี ลดการเกิดแบคทีเรีย ทั้งยังช่วยการหมุนเวียนของเลือด นอกจากวัสดุที่ใช้ทำรองเท้า Maddy Hopper ยังเลือกใช้กระบวนการผลิตแบบแฮนด์เมด เพื่อลดการใช้เครื่องจักรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอน และใช้แพคเกจจิ้งที่ทำจากกระดาษรีไซเคิล และถุงห่อจากข้าวโพดและมันสำปะหลัง”
คุณภาคิน โรจนเวคิน อีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Maddy Hopper เสริมว่า “กลุ่มลูกค้าที่สนใจ Maddy Hopper เป็นกลุ่ม Gen Y และ Z กว่า 80% ปัจจุบัน แบรนด์ได้ทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก และมีแผนที่จะแตกไลน์สินค้าเพิ่มขึ้นจากรองเท้า แต่ยังยึดแนวทางรักษาสิ่งแวดล้อมเช่นเดิม และเตรียมจะเปิดจุดขายในโซน CBD อย่างน้อยอีก 2 จุด เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงและสัมผัสสินค้า Maddy Hopper ได้มากขึ้น โดยหลังจากทำตลาดอย่างจริงจังมาได้ปีกว่า คาดว่าภายในสิ้นปี 2565 จะมียอดขายเพิ่มขึ้น 30% และตั้งเป้าเติบโตอีกเท่าตัวในปี 2566 ก่อนจะทำตลาดส่งออกในปี 2 ปีจากนี้ โดยจะเริ่มที่ภูมิภาคนี้ก่อน เพราะมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าแบบเดียวกับคนไทย”
“การใช้ความยั่งยืนมาเป็นส่วนในการทำธุรกิจเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก ทั้งในเรื่องของ Knowhow และดีกรีของความยั่งยืนในแต่ละขั้นตอนของธุรกิจ ซึ่งมีผลโดยตรงกับต้นทุนทั้งหมด นอกเหนือจากนั้นแล้ว แนวคิดในเรื่องของความยั่งยืนควรได้รับการยกระดับจนเป็นความรับผิดชอบที่ผู้ประกอบการต้องมี เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่เป็นแค่กลวิธีในการแข่งขันเพื่อผลทางธุรกิจ แต่เป็นสิ่งที่ทุกแบรนด์ควรมีอยู่ในดีเอ็นเอ”
ในส่วนของ Qualy แบรนด์สินค้าตกแต่งบ้านที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลของคนไทย ซึ่งปัจจุบัน เป็นที่นิยมใน 66 ประเทศทั่วโลก เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่เริ่มนับหนึ่งธุรกิจพร้อมกับความยั่งยืน โดยคุณทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด Qualy Design กล่าวว่า “Qualy เริ่มสร้างแบรนด์เมื่อ 18 ปีที่แล้ว โดยยึดหลักความยั่งยืนมาตั้งแต่คอลเล็กชั่นแรก ทั้งวัสดุที่เลือกใช้เป็นวัสดุรีไซเคิล ช่วยลดการนำทรัพยากรใหม่มาใช้ การออกแบบผลิตภัณฑ์ก็คำนึงถึงอายุการใช้งานที่ยาวนาน และลดการใช้ทรัพยากร ส่วนบรรจุภัณฑ์ก็มีขนาดเล็กหรือน้ำหนักเบา เพื่อประหยัดการขนส่ง ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงและการปล่อยมลพิษจากยานพาหนะ นอกจากนี้ ทุกผลิตภัณฑ์ยังเน้นการสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมไปสู่ผู้บริโภค ปัจจุบัน Qualy ได้รับความนิยมอย่างมากจากกลุ่มผู้ที่ชอบตกแต่งบ้าน ชอบไลฟ์สไตล์ที่ดี และใส่ใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับวันฐานลูกค้ากลุ่มนี้จะขยายเพิ่มมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ”
“Qualy ทำตลาดทั้งในประเทศและตลาดส่งออกมาตั้งแต่เริ่มต้น แต่ตลาดต่างประเทศให้การตอบรับมากกว่าและรวดเร็วกว่า เนื่องจากผู้คนตื่นตัวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและพิถีพิถันกับการตกแต่งบ้านและการใช้ชีวิตประจำวัน ปัจจุบัน Qualy มีตลาดอยู่ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย และทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในเมืองไทย มีสินค้า Qualy จำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สังคมธุรกิจตื่นตัวกับกระแสความยั่งยืนอย่างมาก องค์กรธุรกิจจำนวนมากหันมาจริงจังกับประเด็นสิ่งแวดล้อม ถึงขั้นนำความยั่งยืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการออกแบบและผลิตสินค้า นอกเหนือจากกิจกรรม CSR ทำให้ Qualy ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับองค์กรขนาดใหญ่จำนวนมาก”
“การทำธุรกิจด้วยความยั่งยืนจำเป็นต้องหาจุดสมดุลที่ว่าธุรกิจต้องสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน พร้อมกับสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนด้วย เพราะธุรกิจที่ใช้วัสดุรีไซเคิลจะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าธุรกิจทั่วไป เพื่อทำให้สินค้ามีความแตกต่าง สินค้ารักษ์โลกในอดีตเป็นเรื่องของแฟชั่น คนใช้จำกัดอยู่ในวงแคบ เพราะมีราคาสูง แต่ Qualy พยายามที่จะทำให้สินค้านี้กลายเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ มีราคาจับต้องได้ เข้าถึงคนได้จำนวนมาก” คุณทศพล กล่าว