ทายาทรุ่น 4 “สิงห์” คุณเต้ ภูริต ภิรมย์ภักดี ที่เพิ่งก้าวขึ้นมารับตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ถือเป็นแม่ทัพอาณาจักร “แสนล้าน” อายุน้อยสุดในวัย 45 ปี
ชีวิตการทำงานของ คุณภูริต หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Bentley College เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา เคยฝึกงานที่โรงงานผลิตเบียร์ในประเทศเยอรมนีและฝึกงานกับบริษัทโฆษณาระดับโลก บริษัท โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ (ประเทศไทย) เพื่อเรียนรู้งานด้านโฆษณาและการตลาด
ปี 2547 จึงเข้ามาทำงานที่บุญรอดฯ เริ่มจากฝ่ายผลิต ตั้งแต่การล้างถังเบียร์ในโรงงานผลิต ขับโฟล์คลิฟท์ขนสินค้า เรียกได้ว่าทำทุกอย่าง เพื่อเรียนรู้การทำงานทุกขั้นตอน ศึกษาภาพรวมว่าแต่ละตำแหน่งมีความสำคัญอย่างไร
หลังจากทำงานในบุญรอดมา 18-19 ปี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 คุณภูริต ก้าวสู่ตำแหน่ง “ซีอีโอ” บุญรอดบริวเวอรี่ องค์กรอายุ 89 ปี มีธุรกิจในเครือ 159 บริษัท ในกลุ่มเครื่องดื่ม อาหาร ซัพพลายเชน โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ อสังหาริมทรัพย์
“เราทุกคนมีเวลาเท่ากัน 24 ชั่วโมง แต่คนที่จัดสรรเวลาได้ดีเท่านั้น ถึงจะประสบความสำเร็จได้ ผมเริ่มต้นจากตำแหน่งเล็กๆ ในบุญรอดฯ เพื่อศึกษาภาพรวม ว่าแต่ละตำแหน่งมีความสำคัญอย่างไร จนมาเป็นผู้บริหารได้ถึงทุกวันนี้ ผมจะใช้เวลา 1 วันให้คุ้มค่า ทั้งการทำงานและใช้ชีวิตอย่างที่เราต้องการ” คุณภูริต ให้มุมมองหลักคิดการบริหารงานและการชีวิตส่วนตัว
นั่งซีอีโอสิงห์คุม 159 บริษัท
หลังจากเข้ามารับตำแหน่งซีอีโอ บุญรอดบริวเวอรี่ คุณภูริต บอกว่าตำแหน่งเดิม ซีอีโอ บุญรอดเทรดดิ้ง ที่รับผิดชอบการขายและตลาดต่างประเทศ ดูแลธุรกิจราว 20 บริษัท แต่บุญรอดบริวเวอรี่ หรือ สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ดูแลทั้งกรุ๊ปกว่า 159 บริษัท ตอนนี้กำลังไล่ดูทุกธุรกิจ ซึ่งมีรายละเอียดเยอะ จึงต้องทำงานร่วมกับทีมงานทุกคน
ในสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาทำให้ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา จากเดิมทำแผนธุรกิจประจำปี เพื่อใช้บริหารทั้งปี เมื่อเจอโควิดก็ปรับเป็นรายเดือน จากนั้นก็เป็นปรับกันทุกสัปดาห์ โควิดทำให้รู้ว่าต้องปรับตัวเร็วขึ้น ทันเกมอยู่ตลอดเวลา แต่ยังคง Core Value สิ่งที่เป็นแกนหลักไว้ นอกจากนั้นปรับตัว เปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวเอง Up-skills และ Re-skills พัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น
โลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ คู่แข่งก็เช่นกัน ถ้าเราช้าคู่แข่งก็สามารถแซงเราได้ เราต้องเรียนรู้ที่จะปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็ตามต้องเริ่มจากความเชื่อก่อน
เจน4 ลุยจับมือพาร์ทเนอร์ขยายอาณาจักร์สิงห์
“บุญรอดบริวเวอรี่” เริ่มต้นจาก “เจ้าพระยาภิรมย์ภักดี” (คุณทวดของคุณภูริต) ได้ไปลิ้มรสเบียร์ที่ประเทศเยอรมนี แล้วถูกใจในรสชาติจึงคิดว่าน่าจะทำขายในเมืองไทยได้ จึงยื่นหนังสือขออนุญาตตั้งโรงต้มกลั่นเบียร์แห่งแรกของประเทศไทย
มาถึงวันนี้ บุญรอดบริวเวอรี่ เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่มมาเป็นเวลายาวนานกว่า 89 ปี ตลอดระยะเวลาที่ดำเนินธุรกิจได้ขยายกิจการ สร้างอาณาจักรให้แข็งแกร่ง
3 เจนแรกจึงเป็นช่วงก่อตั้งธุรกิจ สร้างการเติบโตด้วยตัวเอง มาในยุคเจน 4 สิงห์ คือการต่อยอดธุรกิจเดิมและการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ เพื่อสร้างการเติบโตใหม่ๆ เน้นทำงาน Collaborate และ Joint Venture (JV) กับพาร์ทเนอร์ เป็นหลัก
ในยุคนี้ เราไม่จำเป็นต้องกินรวบคนเดียว ไม่จำเป็นต้องรวยคนเดียว การเข้าไปเป็นพันธมิตรกับหลายบริษัทหลายองค์กร ไม่ได้มองแค่ bottom line แต่เป็นการพัฒนาคนของบุญรอดฯ ให้เก่งขึ้น สร้างโอกาสให้คนในองค์กรและคนนอกองค์กร เป็นการช่วยกันสร้างงาน สร้างอาชีพได้อีกเยอะ
ที่ผ่านมาจึงเห็น บุญรอดฯ เข้าไปขยายธุรกิจร่วมกับพันธมิตรจำนวนมาก ตั้งแต่สตาร์ทอัพผ่าน “สิงห์ เวนเจอร์” (Singha Ventures) เพื่อสร้าง New S-Curve ให้กับเครือบุญรอดฯ การร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์ต่างประเทศ
อย่าง “คาเมดะ” (KAMEDA) ผู้ผลิตขนมข้าวอบกรอบอันดับหนึ่งจากประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัท สิงห์ คาเมดะ (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตและส่งออกประเภทขนมปังอบกรอบ การเป็นพันธมิตรร่วมถือหุ้นกับ เมซาน กรุ๊ป (Masan Group) ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคในเวียดนาม รวมทั้งการขยายธุรกิจอาหารของ “ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส” ในเครือสิงห์ ที่เข้าไปร่วมกับพาร์ทเนอร์หลากหลายธุรกิจ
ดีลล่าสุดร่วมทุนกับ ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR ตั้งเป้าออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสำเร็จรูปพร้อมดื่ม (Ready To Drink) ต่อยอดแบรนด์ Cafe Amazon ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกในการซื้อเครื่องดื่มได้ทุกที่ทุกเวลา
ในแต่ละปี “สิงห์” มีดีลธุรกิจร่วมกับพาร์ทเนอร์ในรูปแบบต่างๆ 10-20 ดีล โดยธุรกิจส่งออกในทุกกลุ่มยังเติบโตได้สูง ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ส่งออก 10%
หลังโควิดมองโอกาสเศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้สูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทย ช่วยกระตุ้นธุรกิจโรงแรม อสังหาฯ เห็นโอกาสเม็ดเงินไหลเข้ามาในประเทศไทย สิงห์เองมองโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ พร้อมปรับตัวให้ทันยุคในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
สิ่งที่ต้องมาดูแลในช่วงนี้ คือต้นทุน ปีนี้เพิ่มขึ้นมา 1,500 ล้านบาท จากพลังงาน วัตถุดิบผลิตบรรจุภัณฑ์ขวด วัตถุดิบมอลต์ ปี 2566 ต้นทุนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก 1,300 -1,500 ล้านบาท แต่จะพยายามตรึงราคาสินค้าให้นานที่สุด
“สิงห์ เลมอน โซดา” ผลงานประสบความสำเร็จล่าสุด
คุณภูริต มีบทบาทสำคัญในการสร้างธุรกิจกลุ่มเครื่องดื่ม non-alcoholic หลากหลายแบรนด์ อย่าง ชาเขียว “โมชิ” เครื่องดื่มฟังก์ชันนอล “บีอิ้ง” (ปัจจุบันเลิกทำตลาดแล้ว)
ผลงานพัฒนาสินค้าล่าสุดในปี 2562 การเปิดตัวเครื่องดื่ม “สิงห์ เลมอน โซดา” (Singha Lemon Soda) เป็นสินค้าที่พัฒนาขึ้นใหม่ ชูจุดเด่นเลมอนแท้ผสมโซดา อร่อย สดชื่น ปราศจากน้ำตาลและแคลอรี่ 0% ตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพ ทำยอดขายได้สูงมากนับตั้งแต่เปิดตัว เรียกว่าประสบความสำเร็จเร็วเหมือนสตาร์ทอัพ เติบโต 200% ในแต่ละปี
คุณภูริต บอกว่าความสำเร็จของ “สิงห์ เลมอน โซดา” มาจากประสบการณ์เรียนรู้ลองผิดลองถูกในการทำสินค้าใหม่ ที่สำคัญมีทีมงานที่ดี “เราเติบโตขึ้น วิธีการทำงาน ใช้บิ๊กดาต้ามาวิเคราะห์ข้อมูลสิ่งที่ผู้บริโภคชื่นชอบ ทำ R&D พัฒนาสินค้าควบคู่ไปกับประสบการณ์ที่สั่งสมมา ไม่ได้ใช้ Gut feeling มาทำ”
อีกสิ่งที่ประสบความสำเร็จของ “สิงห์ เลมอน โซดา” ถือเป็นการใช้ประโยชน์ (Utilize) แบรนด์สิงห์ สร้างสินค้าใหม่ และทำให้แบรนด์แข็งแกร่งขึ้น
หลักคิดการทำงานและการใช้ชีวิตของ “เต้ ภูริต”
ประวัติคุณเต้ ภูริต ภิรมย์ภักดี เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2520 อายุ 45 ปี เป็นทายาทรุ่น 4 ของตระกูลภิรมย์ภักดี เป็นบุตรคนโตของ คุณสันติ – อรุณี ภิรมย์ภักดี (คุณภูริต มีน้อง 2 คน คือ คุณต๊อด -ปิติ ภิรมย์ภักดี และคุณเตย-ปรีดิ์รติ ภิรมย์ภักดี)
คุณเต้ ภูริต ถือเป็น Brewmaster หรือคนปรุงเบียร์คนที่ 3 ของตระกูลภิรมย์ภักดี โดยไปเรียนที่ประเทศเยอรมนี เป็นเวลา 8 เดือน เพราะในช่วงแรกคุณทวด ต้องจ้างชาวต่างชาติในการปรุงเบียร์ ต่อมาคุณประจวบ ภิรมย์ภักดี ซึ่งเป็นคุณปู่ของคุณเต้ ได้ไปเรียนการต้มเบียร์ ต่อมาเป็นคุณลุงปิยะ ภิรมย์ภักดี พี่ชายของคุณพ่อเป็นคนที่เรียนรู้การทำเบียร์เพื่อต่อยอดทางธุรกิจของครอบครัว
หลักคิดการทำงานของคุณเต้ ภูริต บอกว่า “ผมชอบคิดนอกกรอบ มองว่าการที่คิดแบบเดิมๆ สิ่งที่เราได้มันจะเดิมๆ ซ้ำกับคนอื่น แต่ถ้าเราคิดสิ่งใหม่ๆ เราก็จะได้สิ่งที่แปลกใหม่และการใช้ชีวิตหรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าล้ม ต้องลุกให้เร็ว อย่าสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง แต่ถ้าเมื่อไรที่คิดว่าเราแพ้ เราจะไปชนะคนอื่นได้อย่างไร ปลายทางในชีวิตของผมที่คิดไว้คืออยากให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน”
สิ่งที่สำคัญที่สุดในองค์กรคือเรื่องของระบบ ต้องพัฒนาระบบให้แข็งแกร่ง พัฒนาคนให้แข็งแรง ส่วนตัวคิดว่าความใส่ใจเป็นสิ่งที่สำคัญในการทำงาน หรือแม้กระทั่งการใช้ชีวิต อย่ามัวแต่ตำหนิอย่างเดียว คำชมเชยเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนเดินหน้าต่อไป และมันจะทำให้องค์กรเติบโตต่อไปได้
นอกจากเป็นผู้บริหารดูแลธุรกิจกลุ่มสิงห์แล้ว คุณเต้ ภูริต ยังมีความสามารถเรื่องแข่งรถ การร้องเพลง เป็นสมาชิกวงดนตรี กรุงเทพมาราธอน เวลาว่างชอบเล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีม สโนว์บอร์ด เซิร์ฟ ต่อยมวย ให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเอง เพราะมองว่าชีวิตคนเราถ้าอยากทำงานให้นานและมีชีวิตอยู่กับครอบครัวนานที่สุด ก็ต้องมีร่างกายแข็งแรง จึงให้เวลากับการออกกำลังกลายทุกวันๆ ละ 30-40 นาที ในเวลาที่สะดวก
“ในแต่ละวัน เวลาเรามีเท่ากัน 24 ชั่วโมง สิ่งที่คิดตลอดเวลา คือทำงานทุกวันให้เป็นเหมือนวันสุดท้ายของชีวิต เพราะจะทำให้เราใส่ใจในทุกวินาที เพื่อทำให้มีคุณค่ามากที่สุด ทั้งการทำงาน การใช้ชีวิต และดูแลครอบครัว”
อ่านเพิ่มเติม
- ไม่เปลี่ยน-ไม่รอด ทุกเรื่องของ Singha Ventures เมื่อ ‘สิงห์’ เตรียมบุกซิลิคอนวัลเลย์
- สิงห์ฯ บุกธุรกิจอาหารเต็มสูบ เปิดตัว Food Factors อาณาจักรอาหารครบวงจร เป้า 3 ปี 5,000 ล้าน
- OR ตั้งบริษัทร่วมทุน ‘บุญรอด’ ลงทุน 400 ล้าน บุกธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่ม Ready to Drink ต่อยอด ‘คาเฟ่ อเมซอน’