ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจท่องเที่ยว สายการบินกระทบหนักขาดรายได้ จากนักท่องเที่ยวหยุดเดินทาง สายการบินแห่งชาติ “การบินไทย” ที่มีปัญหาขาดทุนมาก่อนหน้า จึงต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ ปรับโครงสร้างหนี้
ตลอดช่วงโควิด 3 ปีนี้ จึงเห็นความพยายามของหน่วยงานต่างๆ ในการบินไทยหารายได้ใหม่ๆ นอกจากบริการการบิน
ฝ่าย “ครัวการบินไทย” เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่หาช่องทางสร้างรายได้ใหม่ในช่วงโควิด อย่าง กระแสฮอต “ปาท่องโก๋” ที่สร้างปรากฏการณ์ลูกค้ามายืนรอคิวซื้อหน้าเตาตั้งแต่ตี4 จากนั้นส่ง “ครัวซองต์” เบเกอรี่สุดฮิตออกมาจำหน่าย เปิดพื้นที่สำนักงานใหญ่ทำครัวการบินไทย “อร่อยล้นฟ้า” บริการอาหารนานาชาติ แบบไม่ต้องบินก็กินได้
ส่งน้ำพริกลงเรือขายเซเว่นฯ
นอกจากนี้ “ครัวการบินไทย” ได้ใช้ศักยภาพการผลิตอาหาร ที่มีฐานการผลิตอยู่ที่สนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ มาให้บริการอาหารพร้อมทาน “Special Meal Box Set” เมนูต่างๆ ที่ขึ้นชื่อของการบินไทย ขายผ่านร้าน Puff&Pie แพลตฟอร์ม Food Delivery รวมทั้งนำผลิตภัณฑ์อาหาร เบเกอรี่ และปาท่องโก๋ ไปออกบูธขายในงานอีเวนต์ต่างๆ
ล่าสุดครัวการบินไทยเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกเต็มตัว ส่งเมนู “น้ำพริกลงเรือ” สูตรพิเศษที่ผลิตจากครัวการบินไทยดอนเมือง น้ำหนัก 70 กรัม ราคากระปุกละ 35 บาท เริ่มวางขายที่ร้าน 7-Eleven (ตอนนี้มีบางสาขา) ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา
หาก “น้ำพริกลงเรือครัวการบินไทย” ติดตลาด ก็เป็นอีกโอกาสสร้างรายได้ จากช่องทางค้าปลีกร้าน 7-Eleven ที่ปัจจุบันมีสาขาทั่วประเทศจำนวน 13,433 สาขา ตัวอย่าง ธุรกิจเอสเอ็มอี “น้ำพริกป้าแว่น” ที่มีหลากหลายเมนู ขายในร้านเซเว่นฯ สามารถสร้างรายได้กว่า 9 ล้านบาทต่อเดือน
การพัฒนาสินค้าอาหารจำหน่ายผ่านช่องทางค้าปลีก ทั้งร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ซูเปอร์มาร์เก็ตของกลุ่มเซ็นทรัล เดอะมอลล์ รวมทั้งตลาดส่งออก เป็นหนึ่งในแผนที่ครัวการบินไทยได้บอกไว้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาว่าจะเดินหน้าทำตลาดเต็มที่
โดยเริ่มจากเมนูยอดนิยมอย่าง “น้ำพริกลงเรือ” หลังจากนี้จะมีเมนูอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมตามมาเพิ่มเติมอีก รวมทั้ง ปาท่องโก๋และครัวซองต์ สินค้าสร้างชื่อให้ครัวการบินไทย ก็มีแผนจะเข้าไปวางขายในร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตเช่นกัน รวมทั้งแผนขยายธุรกิจ Master Franchise ร้าน Puff & Pie ไปทั่วประเทศ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น
ถือเป็นอีกความพยายามปรับตัว ทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้การบินไทย จากศักยภาพที่มีอยู่ โดยฝ่ายครัวการบินไทย เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2503 หรือกว่า 60 ปีมาแล้ว ปัจจุบันมีฐานการผลิต 3 แห่ง คือ 1. ครัวการบิน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พื้นที่ 120,000 ตารางเมตร 2. ครัวการบิน ท่าอากาศยานดอนเมือง พื้นที่ 40,200 ตารางเมตร 3. ครัวการบิน ท่าอากาศยานกระบี่ พื้นที่ 1,200 ตารางเมตร
โดยครัวการบิน ดอนเมือง นอกจากทำหน้าที่ผลิตอาหาร เพื่อให้บริการผู้โดยสารเที่ยวบินภายในประเทศของการบินไทยและผู้โดยสารของสายการบินอื่นๆ ยังให้บริการธุรกิจอื่นๆ อาทิ ธุรกิจภัตตาคาร ณ ท่าอากาศยานนานาชาติในประเทศไทย ธุรกิจเบเกอรี่ Puff & Pie ธุรกิจให้บริการจัดเลี้ยงทั้งในและนอกสถานที่ ร้านอาหารสวัสดิการพนักงาน ธุรกิจการบริการอาหารในโรงพยาบาล และธุรกิจการบริการอาหารในห้องรับรองพิเศษของสายการบิน (Airline Lounge) เป็นต้น
รวมทั้งพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ การขยายช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของครัวการบินไทย สำหรับ “น้ำพริกลงเรือ” แบบกระปุกขายในร้านเซเว่นฯ ก็ผลิตจากครัวการบินดอนเมือง
ก่อนสถานการณ์โควิด ครัวการบินไทย ให้บริการผลิตอาหารป้อนให้สายการบินต่างๆ กว่า 60 สายการบินที่บินออกจากประเทศไทย มีการผลิตอาหารวันละ 80,000 มื้อ พนักงานทำงาน 24 ชั่วโมง โดยสายการบินต่างประเทศที่บินออกจากสุวรรณภูมิ ส่วนใหญ่ใช้บริการผลิตอาหารเสิร์ฟบนเครื่องจากครัวการบิน สุวรรณภูมิ เพื่อให้ได้อาหารที่สดใหม่และสะดวกในกานขนส่ง
ในปี 2562 (ก่อนโควิด) ครัวการบินไทย สามารถสร้างรายได้กว่า 8,533 ล้านบาท แต่ในช่วงโควิด ทำให้ครัวการบินไทย มีรายได้ลดลงอย่างมาก ปี 2563 มีรายได้ 2,262 ล้านบาท และปี 2564 (เดือนมกราคม – ตุลาคม) มีรายได้ 451 ล้านบาท
ส่วนผลประกอบการ “การบินไทย” (THAI) ดังนี้
ปี 2562 รายได้ 184,242 ล้านบาท ขาดทุน 12,042 ล้านบาท (ก่อนโควิด)
ปี 2563 รายได้ 48,638 ล้านบาท ขาดทุน 141,170 ล้านบาท (ยื่นล้มละลายขอฟื้นฟูกิจการ)
ปี 2564 รายได้ 25,339 ล้านบาท กำไร 55,118 ล้านบาท (กำไรจากปรับโครงสร้างหนี้ ขายทรัพย์สินและเงินลงทุน)
ปี 2565 (6 เดือน) รายได้ 39,705 ล้านบาท ขาดทุน 6,467 ล้านบาท
อ่านเพิ่มเติม
- ‘การบินไทย’ ปี 64 ประกาศกำไร 55,113 ล้าน จากปรับโครงสร้างหนี้-ขายสินทรัพย์
- เบื้องหลัง “ปาท่องโก๋การบินไทย” ทำร้านอาหาร – สอนขับเครื่องบิน ดิ้นทุกทางหาเงินของ THAI